Economic

สงครามเทคโนโลยีเดือด

จีน – สหรัฐ ชิงมหาอำนาจโลก

 

จากความกังวลอย่าวยิ่งยวดในการคงความเป็นผู้นำอันดับ 1 ของเทคโนโลยีโลก ที่ถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากประเทศจีน ได้กลายเป็นสงครามเทคโนโลยีที่เข้มข้นไม่ต่างจากการแข่งขันด้านอวกาศที่ต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างสหรัฐ กับสหภาพโซเวียต ที่ในช่วงเริ่มต้นโซเวียตได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศเป็นคนแรก และต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการไปเหยียบดวงจันทร์ โดยสหรัฐได้ทุ่มหมดหน้าตักไปกว่า 158,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันไปกับโครงการอพอลโล จนประสบผลสำเร็จในการไปเยือนดวงจันทร์เป็นประเทศแรกของโลก หลังจากนั้นเทคโนโลยีสหรัฐก็ค่อย ๆ ทิ้งห่างสหภาพโซเวียดและกลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด

 

ทั้งนี้ ในภาพการแข่งขันดังกล่าว ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยคู่แข่งรายใหม่คือประเทศจีนที่มีสรรพกำลังเหนือกว่าคู่แข่งเดิมอยู่มาก โดยการเดิมพันครั้งใหม่ ก็คือ สมรภูมิการผลิตชิป ซึ่งหากฝ่ายใดความความเป็นผู้นำ ก็จะสามารถเอาชนะในเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างหาศาล เพราะชิปเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี AI , 5G และเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกมาก ดังนั้นสหรัฐจะต้องทุ่มเททุกอย่าง เพื่อคงความเป็นผู้นำในด้านนี้

 

โดยผลการศึกษาของ โครงการ Special Competitive Studies Project หรือ SCSP ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์ หากประเทศจีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า “ต้องจินตนาการถึงโลกที่ถูกควบคุมโดยรัฐที่เป็นเผด็จการ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การควบคุมการผลิตเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจและการทหาร อย่างเช่น เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีพลังงานใหม่”

 

ในรายงาน ยังคาดการณ์ถึงอนาคตของประเทศจีน ที่จะสามารถทำเงินได้มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ และช่วยยกระดับการปกครองระบอบเผด็จการให้เหนือกว่าประชาธิปไตย

 

นอกจากนี้ยังประเมินความน่ากลัวของสถานการณ์ ที่ประเทศจีนส่งเสริมแนวคิดการใช้งานอินเทอร์เน็ต “แบบควบคุมเบ็ดเสร็จจากศูนย์กลาง” (sovereign internet) ซึ่งแต่ละประเทศจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตของประชาชน ซึ่งจีนอาจจะเป็นผู้ที่พัฒนาและควบคุมเทคโนโลยีหลัก สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กองทัพสหรัฐฯ อาจจะสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ให้แก่จีนและประเทศคู่แข่งอื่น ๆ และจีนอาจที่จะตัดขาดการจัดส่ง “ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตด้านเทคโนโลยี”

 

ในขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในการก้าวตามให้ทันการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ของประเทศจีน ซัลลิแวนกล่าวว่า “ไม่มีอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันระดับโลก และดำรงความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ การที่อเมริกาจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี จำเป็นที่จะต้อง เริ่มใหม่ ฟื้นฟู และจัดการดูแล” ซัลลิแวนเสริมว่า “เรากำลังเผชิญกับคู่แข่งที่มุ่งมั่นที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยพร้อมที่จะทุ่มทรัพยากรในระดับที่แทบจะไร้ขีดจำกัดเพื่อการนี้”

 

ด้าน ชมิดต์ อดีต CEO ของบริษัท Google แสดงความเห็นว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของ 5G ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก เราไม่ต้องการทำงานภายใต้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน และถูกควบคุมโดยระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นระบบปิด” ชมิดต์ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะก้าวนำประเทศจีนในด้านเทคโนโลยี โดยเขาคาดว่าจีนจะเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น ในด้านปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม เทคโนโลยีชีวภาพ และด้านอื่น ๆ

 

จอน ฮันต์สแมน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานบริษัท Ford Motor กล่าวว่า คนอเมริกันมักที่จะไม่ทราบว่าประเทศจีนนำหน้าสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีไปไกล เพียงใด ตัวอย่างเช่น จีนนำหน้าสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วอย่างน้อย 5 ปี

 

จากความกังวลของสหรัฐฯ ดังที่กล่าวมาขั้นต้น ทำให้เห็นได้ชัดว่าในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ใช่การเดิมพันการเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ได้ลงลึกไปถึงการชิงชัยของระบอบการปกครอง 2 ขั้ว ระหว่างประชาธิปไตย และเผด็จการ ซึ่งหากฝ่ายเผด็จการมีชัยชนะมีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ดีกว่า มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า มีพลังอำนาจทางทหารที่ดีกว่า และสุดท้ายทำให้ปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีกว่า ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าระบอบของจีนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบอบของสหรัฐ และหากสหรัฐฯเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก็จะเหมือนโดมิโนที่ทำให้โครงสร้างของสหรัฐฯพังทลายลงไปในทุกด้าน

 

ทั้งนี้ เมื่อลงลึกถึงแผ่นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีน จะพบว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2021-2025) จีนได้ทุ่มเงินกว่า 1.3 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.5 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนา 300 โครงการที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาชีวิต นวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งอาจจะทำให้จีนอาแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2028 ตามผลการวิจัยจาก Centre for Economics and Business (ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2020)

 

ประกอบกับมีการคาดการณ์จาก UBS ว่า ในปี 2025 การบริโภครวมของจีนจะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปี 2020 เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการยกระดับการบริโภคของจีนตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงนำไปสู่การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การพัฒนาตนเอง และการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเบื้องหลังที่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

โดย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2021 – 2025 ในส่วนของยกระดับการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศเป็น Tech-power House สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะ Semiconductor ที่เป็นเบื้องหลังหลายๆ เทคโนโลยีที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, 5G, Next Generation Smartphone, Supercomputing, Renewable Energy, New Energy Vehicles และ Biotechnology โดยจีนได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มงบประมาณการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ระดับ 7% ของ GDP ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก ทั้งในมิติมูลค่าและสัดส่วนต่อ GDP

 

จากนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน ได้เริ่มส่งผลเป็นรูปธรรม โดย สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (The Australian Strategic Policy Institute: ASPI) เปิดเผยผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า จีนมีผลิตผลงานวิจัย  37 ชิ้น จาก 44 ชิ้นที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างผลกระทบต่อโลก ขณะที่ชาติตะวันตกกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน  โดยเฉพาะผลงานวิจัยสำคัญๆ ทั้งด้านการป้องกันประเทศ อวกาศ พลังงาน และ เทคโนโลยีชีวภาพ

 

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า สถาบันวิจัยชั้นนำที่คิดค้นงานวิจัยเฉพาะทาง 10 อันดับแรกของโลก มีอยู่ 7 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน และผลการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯ มักจะอยู่ในอันดับ 2 ของเทคโนโลยีด้านต่างๆ แม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นผู้นำการวิจัยระดับโลกในด้านคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง การประมวลผลแบบควอนตัม ดาวเทียมขนาดเล็ก และวัคซีน  ส่งผลให้ชาติประชาธิปไตยตะวันตก กำลังสูญเสียการแข่งขันทางเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงการแข่งขันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการวิจัย

 

สาเหตุหลักที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำ “การผลิตผลงานวิจัยอันน่าทึ่ง” เป็นเพราะสถาบันวิจัยของจีน “อยู่ภายใต้โครงการของรัฐบาล” รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ชาติประชาธิปไตยตะวันตก ร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัยและ “พัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญเชิงกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน”

 

นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 48.49% ของเอกสารการวิจัยที่มีผลกระทบสูงของโลกมาจากจีน ทั้งในด้านเครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง รวมถึงระบบไฮเปอร์โซนิก นอกจากนี้มีข้อมูลว่า ผลงานวิจัยด้านเซ็นเซอร์โฟโตนิก (Photonic sensors) และการสื่อสารควอนตัม (Quantum communication) ที่แข็งแกร่งของจีน อาจนำไปสู่ “ยุคมืด” ของชาติตะวันตกกลุ่ม “Five Eyes” ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์

 

โดย จีนมีแนวโน้มจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยี 10 สาขา ซึ่งรวมถึงชีววิทยาสังเคราะห์  (Synthetic biology)โดยจีนผลิตงานวิจัย 1 ใน 3 ของทั้งหมด เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ไฟฟ้า, 5G และการผลิตด้านนาโน

 

สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences)  ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของรัฐบาล ถูกจัดอันดับที่ 1 หรือ 2 ของการคิดค้นเทคโนโลยี 44 ประเภท เช่น เทคโนโลยีการป้องกันประเทศ อวกาศ วิทยาการหุ่นยนต์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) วัสดุขั้นสูง และเทคโนโลยีควอนตัม โดยมีข้อมูลว่า สาเหตุหนึ่งที่จีนพัฒนาเทคโนโลยีได้ก้าวกระโดด เพราะนักวิจัยของจีนได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากต่างประเทศ  “1 ใน 5” ของนักวิจัยชั้นนำของจีน ได้รับการฝึกฝนมาจากประเทศกลุ่ม Five Eyes ทั้งสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตาสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็ไม่ยอมให้จีนก้าวขึ้นมาแซงอย่างง่าย ๆ ล่าสุดรัฐบาลของโจ ไบเดน ก็ได้ทุ่มงบกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ในกรอบเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 54,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิปและการทำวิจัย และ 170,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และอวกาศ

 

โดยเงินจำนวนนี้นับได้ว่าเป็นเงินลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และอนุมัติเพิ่มเติมนอกจากงบจากรัฐบาลกลางอีก 82,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เช่น AI, ควอนตัมคอมพิวเตอร์, 6G เป็นต้น รวมไปถึงก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค ส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยพร้อมกับลดความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีระดับสูง และยังส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์

 

ดังนั้น ไทยจะต้องจับตา สงครามเทคโนโลยีของ 2 มหาอำนาจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะด้วยเงินลงทุนที่มากเป็นประวัติการจะทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกไปอย่างมหาศาล หากไทยสามารถปรับตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็จะสปริงบอร์ดสำคัญที่ทำให้ไทยกระโดดออกจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศชั้นนำได้ในอนาคต โดยไทยจะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านของงบประมาณ และความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อให้ความความพร้อมในการเข้าร่วมในห่วงโซ่เทคโนโลยีระดับโลกเหล่านี้

 

ไทยจะรับมืออย่างไร กับการก้าวเข้ามาของ

“การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 5”

 

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกที่เกิดในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1760 จนถึงขณะนี้ได้ผ่านกาลเวลามาแล้วถึง 264 ปี และก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 5 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่คนไทยจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และปรับตัวให้กับกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด

 

โดย อุตสาหกรรมยุคที่ 1 เริ่มต้นในปี 1760 – 1870 (มีระยะเวลาประมาณ 110 ปี) เป็นยุคที่เปลี่ยนจากการใช้แรงงานของคนและสัตว์ในระบบการผลิต ไปเป็นการใช้พลังงานเครื่องจักรไอน้ำ

 

อุตสาหกรรมยุคที่ 2 เริ่มต้นในปี 1870 – 1970 (มีระยะเวลาประมาณ 100 ปี)เป็นยุคที่มีการนำเอาพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหินเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงมีการใช้ระบบการผลิตแบบสายพาน ทำให้สามารถผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ หรือ Mass Production

 

อุตสาหกรรมยุคที่ 3 เริ่มต้นในปี 1970 – 2000 (มีระยะเวลาประมาณ 30 ปี) เป็นยุคที่นำเอาเทคโนโลยี IT ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน ทำให้เกิดระบบการผลิตแบบอัตโนมัติในโรงงาน หรือ Manufacturing Automation

 

อุตสาหกรรมยุคที่ 4 เริ่มต้นในปี 2000 – 2020  (มีระยะเวลาประมาณ 20 ปี) เป็นยุคที่ระบบการผลิตถูกบูรณาการเข้ากับเครือข่าย Iot (Internet of Things) ซึ่งส่งผลให้ระบบการผลิตสินค้าเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล และยังมีการใช้ AI มาช่วยให้ระบบการผลิตเกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม

 

และในปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคที่ 5 ที่เริ่มตั้งแต่  2020 – ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ผลักดันเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมก้าวไปข้างหน้าอย่าวรวดเร็ว จากการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมยุคที่ 1 ไปยุคที่ 2 ใช้เวลา 110 ปี และจากยุคที่ 2 ไปยุคที่ 3 ใช้เวลา 100 ปี จากยุคที่ 3 ไปยุคที่ 4 เหลือ 30 ปี และจากยุคที่ 4 ไปยุคที่ 5 ใช้เวลาเพียง 20 ปี

 

ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทย จะก้าวไปตามขั้นตอน และวิธีการแบบเดิมคงต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงไปได้ยาก เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากเกินกว่าจะคาดเดาได้ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาที่ทุกหลักสูตรจะมีระยะเวลาการใช้ที่สั้นมาก ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่ออัปเกรดความรู้จากการเรียนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และสามารถต่อยอดรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 

ในส่วนของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลดีพอสมควรจากมาตรการส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ทั้งมาตรการด้านการเงิน ภาษี และแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ส่วนที่สำคัญ ก็คือ ภาคเอกชนได้ตระหนักและเร่งปรับตัว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ต่อสู้ได้ในเวทีโลก

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5 ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งเรียนรู้ และเตรียมปรับตัวให้ก้าวทันกับยุคที่ 5 นี้ เพราะการเปลี่ยนผ่านจะไปอย่างรวดเร็วมาก หากก้าวตามไม่ทันก็จะถูกทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำ ที่เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก

 

โดยในอุตสาหกรรมยุคที่ 5  จะเป็นการต่อยอดพื้นฐานเดิมแต่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ว่า “การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ (Collabrolative Robot)” อย่างลงตัว

 

ดังนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5.0 จึงเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจโลกของการผลิต และมีผลโดยตรงต่อการผลิต การขาย การตลาด และระบบเศรษฐกิจต่างๆ หากว่าบริษัทที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจะกลายเป็นบริษัทสิ่งที่ล้าสมัย และไม่สามารถแข่งกับตลาดได้ เพราะคู่แข่งที่ไปสู่ยุคที่ 5 จะมีต้นทุนน้อยกว่า , ผลิตสินค้าผลิตไวกว่า  และสามารถเข้าถึงลูกค้ามากกว่าจากการทำ Digital Marketing ที่ดีกว่า สุดท้ายก็ไม่มีจุดยืนในตลาดและต้องออกจากตลาดไป

 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยุค 5.0 จะมีคุณลักษณะที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1. การผลิตแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตรงจุด (Mass Customisation) อุตสาหกรรม 5.0 ทางโรงงานสามารถควบคุมการผลิตและปรับแต่งสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดและราคา ซึ่งผลมาจากการทำระบบ IoT ในการเก็บข้อมูลทั้งในด้านของการเงิน ตลาด และระบบ Autonnomous ที่สั่งการแบบอัตโนมัติมาเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้แบบ Real Time เพื่อให้กำไรของบริษัทหรือโรงงานสูงที่สุด บางที่ในอุตสาหกรรมอาจจะเรียกว่า Advance Control System ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตสินค้าให้เหมาะสมด้วยการปรับแต่งกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่รวดเร็ว

 

  1. การปรับไปใช้โคบอท หรือหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติการ มาจากคำว่า Collaborative Robots โดยเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมา เพื่อปฏิบัติการร่วมกับมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม เป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้งานได้หลากหลายลักษณะงาน มีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆได้รวดเร็ว จากระบบ Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพ

 

  1. การเพิ่มความสามารถของบุคลากร(Competecny Management) จากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ ที่รวดเร็ว และกระทันหัน ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทั้งสองมุม คือ หุ่นยนต์มาแทนที่คนใช้แรงงาน และคนเหล่านี้จะไม่มีงานทำ และสอง คือขาดคนทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อย่างเหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ การพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้สูงขึ้น จนสามารถที่จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้ ซึ่งหากมีความสามารถมากขึ้นผลตอบแทนก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

 

ส่วนในระดับผู้บริหารก็ต้องเป็นคนที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งยุคนี้อาจจะเป็นตำแหน่ง CTO (Chief Technology Officer) ที่ดูด้านเทคโนโลยีต่างๆ แต่ในยุค 5.0 อาจจะต้องมีอีกตำแหน่ง คือ CRO (Chief Robotic Officer) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์โดยเฉพาะ

 

  1. ความเร็วและคุณภาพ (Lead Time & Quality) โดยการเข้ามาของหุ่นยนต์ เทคโนโลยี AI การเชื่อมต่อระบบแบบ IoT และระบบควบคุมอัตโนมัติแบบ Autononomous สามารถเข้ามาเพิ่มความเร็ว และคุณภาพได้อย่างแม่นยำมากๆในยุคนี้ จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมได้อย่างมาก ซึ่งหากไปเทียบกับโรงงานที่ยังใช้คนอยู่ใน Scale เท่ากัน โรงงานที่ใช้คนอยู่จะเสียเปรียบในด้านของความเร็ว และคุณภาพ อย่างมาก

 

  1. การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment Recognization) ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกในขณะนี้ เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนลงให้ได้มากที่สุด ทำให้มีการออกข้อกำหนดมากมายในอุตสาหกรรม ดังนั้นบริษัทหรือโรงงานจะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านั้น หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานใหม่เหล่านี้ ก็จะไม่สามารถค้าขายในโลกนี้ได้ ดังนั้นการควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำ จะส่งผลให้การปล่อยมลพิษลงได้มาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะมาจากเทคโนโลยียุค 5.0 รวมถึงเรื่องการนำพลังงานสะอาดมาใช้งานในทุกกระบวนการผลิต และการขนส่ง

 

สำหรับ ประโยชน์ที่ได้จากอุตสาหกรรมยุค 5.0

– ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

– เป็นบริษัทที่เป็นมิตรและคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม

– เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กร

– เพิ่มความยั่งยืนให้แก่บริษัท

– เพิ่มความสามารถของบุคลากรในบริษัท

 

ในส่วนของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในยุคอุตสาหกรรม 5.0 นั้น อาจจะต้องระบุว่างานแบบไหนควรจะถูกรับผิดชอบโดยหุ่นยนต์หรือมนุษย์ และงานแบบไหนเหมาะกับหุ่นยนต์รุ่นใด กล่าวคือ ความสำคัญและความรับผิดชอบของฝ่ายนี้จะกว้างและสูงขึ้น โดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะได้รับมอบหมายให้ทำการจัดหาและดูแลรักษาหุ่นยนต์ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นองค์กรอาจจะต้องก่อตั้ง “ฝ่ายหุ่นยนต์” ขึ้นมาเพื่อพัฒนาและรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาความลับข้อมูลที่จะซับซ้อนขึ้นอีกมาก

 

ด้านสังคมมนุษย์อาจจะพบเจอกับบรรทัดฐานและจริยธรรมใหม่ ซึ่งจะแตกต่างไปจากแค่การคาดหวังให้ทุกคนทำงานหนักและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไปสู่สิ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากการที่หุ่นยนต์นั้นมีความเสียสละ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีความขี้เกียจ และโกหกไม่เป็น

 

ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงในสังคมจะยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากบางกลุ่มจะสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมมนุษย์ เพราะว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะการณ์ตกงานและรู้สึกว่าถูกคุกคาม แต่บางกลุ่มยังคงต้องการให้มีหุ่นยนต์ที่จะสามารถทดแทนตำแหน่งพนักงาน เพื่อที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์

 

อย่างไรก็ตาม คนมักจะคิดว่าหุ่นยนต์กำลังจะมามีบทบาทแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสำหรับอุตสาหกรรม 5.0 ความเชื่อเหล่านี้อาจจะเกินจริงไปบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงยังจะมีงานหรืออาชีพใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

เนื่องจาก 20-80% ของระบบงานที่นำเอาเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้นั้น ยังไม่สามารถทำได้ด้วยระบบอัตโนมัติแบบ 100% ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายระบบการทำงานสักเพียงใด สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ยังต้องทำงานควบคู่ไปกับหุ่นยนต์อยู่ดี และยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพงานอีกด้วย

 

รวมถึงมุมมองที่ว่า ผู้บริโภคในอนาคตอาจจะต้องการสินค้าที่มนุษย์มีส่วนร่วม หรือมนุษย์สัมผัส (Human Touch) ดังนั้นในอุตสาหกรรมยุค 5.0 แม้ว่าการผลิตสินค้าจะเป็นการผลิตในครั้งละมากๆ และราคาต่ำ แต่มีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่า บทบาทของมนุษย์จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อันเป็นการตอบโจทย์ค่านิยมอย่างหนึ่งของผู้บริโภคในยุคนั้น

 

ซึ่งเห็นได้ว่าจากแนวคิดต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ใช่บทสรุปสำหรับการมองภาพอนาคตสำหรับ Industry 5.0 เสียทีเดียว แต่ก็เปิดมุมมองสำหรับผู้ประกอบการให้มีการวิเคราะห์ภาพอุตสาหกรรมในอนาคต และอาจไม่ได้มองถึงความเป็นไปได้ด้านเดียวที่จะเกิดขึ้น

 

เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่สังคม เศรษฐกิจ สิงแวดล้อม และพฤติกรรมผู้บริโภคถูกแรงขับของเทคโนโลยีเร่งเร้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทว่าที่สุดแล้วเมือถึงจุดหนึ่ง ‘คน’ ต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันจากเทคโนโลยี กฎ ข้อบังคับ ตลอดจนถึงเรื่องจริยธรรมในการทำธุรกิจระหว่างแรงงานคนและหุ่นยนต์ จะมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากขึ้น และถึงตอนนั้นอาจจะถึงจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีอีกครั้ง คือจุดที่คนอาจเริ่มต่อต้านหุ่นยนต์และโหยหาความดั้งเดิมมากขึ้น

 

แหล่งอ้างอิง : https://piu.ftpi.or.th/   /   https://naichangmashare.com/2023/05/02/industry5-0-revolution-history/

การเกิดขึ้นของยุคอีวี

จุดเริ่มต้นรถยนต์สัญชาติไทย

 

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก และรถยนต์ก็เป็นสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าเป็นอันดับ 1 ของประเทศ รวมทั้งมีประสบการณ์การผลิตมากว่า 50 ปี ทำให้เกิดคำถามมาโดยตลอดว่า ทำไมไทยถึงไม่มีแบรนด์รถยนต์เป็นของตัวเองเสียที เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

 

อย่างไรก็ตาม หากจะตอบโจทย์ปัญหานี้ จะต้องกลับไปดูในภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก ซึ่งมีประเทศที่เป็นเจ้าของบริษัทรถยนต์เพียง 10 ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน 4 บริษัท ญี่ปุ่น 8 บริษัท สหรัฐ 4 บริษัท ฝรั่งเศส 2 บริษัท อิตาลี 1 บริษัท เกาหลีใต้ 2 บริษัท รัสเซีย 2 บริษัท จีน 14 บริษัท อินเดีย 2 บริษัท และสวีเดน 1 บริษัท ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ของตัวเองมาอย่างยาวนาน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตรถยนต์เข้ามาขายในแต่ละรุ่นจะมีต้นทุนการออกแบบ พัฒนาเทคโนโลยี และการประชาสัมพันธ์ สูงมาก เช่น หากแบรนด์ไทย 1 ราย ผลิตรถยนต์เข้ามาขาย 1 รุ่น ขายได้ 1,000 คัน ในขณะที่โตโยต้าที่มีต้นทุนพัฒนาเท่ากันแต่ขายได้ 1 แสนคันทั่วโลก ดังนั้นแค่เพียงต้นทุนรถเพียงรุ่นเดียวก็สู้ไม่ได้แล้ว ซึ่งหากกัดฟันสู้ต่อไป บวกกับรัฐบาลให้การอุดหนุน ก็อาจจะอยู่ในตลาดได้เพียงระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด เหมือนกับรถยี่ห้อ โปรตอน ของมาเลเซีย ที่รัฐบาลได้สนับสนุนมายาวนานหลายสิบปี สุดท้ายก็สู้ไม่ได้และต้องขายบริษัทให้กับประเทศจีน เนื่องจากรถยนต์ไม่เพียงแต่จะสู้ด้วยราคา แต่ยังรวมไปถึงความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย เทคโนโลยี และมูลค่าของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์น้องใหม่ที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา และมีตลาดภายในประเทศขนาดเล็ก ก็ยิ่งไม่สามารถต่อสู้กับแบรนด์ต่างชาติได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีบริษัทผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของไทยเกิดขึ้นหลายราย แต่ก็ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในขณะนี้มีรถยนต์สัญชาติไทยเหลืออยู่เพียง 2 ค่าย คือ ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ ที่จะเป็นรถยนต์ที่ผลิตจากค่าย TOYOTA ISUZU NISSAN และ CHEVROLET  และนำมาดัดแปลงตัวถังให้เป็นรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง โดยใช้เครื่องยนต์ และคัทซีเดิมของรถยนต์นั้นๆ   และในปัจจุบันได้มีการทำโครงสร้างตัวถังใหม่ แต่ยังคงใช้เครื่องยนต์ และช่วงล่างของรถยนต์โตโยต้า เป็นหลัก แต่ยอดขายก็ยังมีอยู่น้อย และมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อ GPX ที่เป็นสัญชาติไทย 100% ซึ่งครองยอดขายอันดับ 4 ของไทย มีจำนวนกว่า 1.5 แสนคันในปี 2564

 

จากความยากลำบางของการสร้างแบรนด์รถยนต์แห่งชาติดังที่กล่าวมาขั้นต้น ทำให้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ได้เลือกที่จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้กับต่างชาติ มากกว่าการสร้างแบรนด์ของประเทศ โดยได้เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนการผลิตรับผิดชอบในเรื่องการสร้างแบรนด์ และการทำตลาด ส่วนไทยจะเน้นในเรื่องการผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ไทยลดความเสี่ยงในอุตสาหกรรมรถยนต์ไปได้มาก และสร้างผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เป็นจำนวนมากที่เป็นของคนไทย หรือร่วมทุนกับต่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนที่เข้มแข็งและส่งออกไปได้ทั่วโลก

 

โดยเมื่อ 40 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายตั้งอัตราภาษีการนำเข้ารถยนต์ในอัตราส่วนสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการขายรถยนต์ในประเทศไทยหรือต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานประกอบรถยนต์ต้องร่วมทุนกับบริษัทไทยเพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศ โรงงานแห่งแรกในประเทศไทยคือโรงงาน Anglo-Thai Motor Company ซึ่งเป็นการลงทุนระหว่างบริษัท Ford Motor และบริษัทนำเข้ารถยนต์ Ford ในขณะนั้น ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายย่อยของประเทศโดยการระบุให้ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ รวมถึงกำหนดให้รถยนต์ที่ประกอบในประเทศไทยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัทไทยบางส่วน

 

นโยบายดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยของประเทศไทยได้ประโยชน์และช่วยให้พัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยอีกด้วย ในช่วงทศวรรษ 1990 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่โดยกำหนดว่าประเทศไทยต้องเป็น “Detroit of Asia” คือเป็นประเทศที่สามารถส่งออกรถยนต์รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ที่มีความตกลงทางการค้า

 

ซึ่งถือได้ว่าไทยเดินมาถูกทาง เห็นได้จากยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2566 ไทยผลิตได้เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีจำนวนกว่า 1.8 ล้านคัน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 1.3 ล้านคัน มาเลเซีย 7.7 แสนคัน เวียดนาม 1.7 แสนคัน และฟิลิปปินส์ 1.1 แสนคัน และปัจจุบันประเทศไทยเริ่มนโยบายในการส่งเสริมผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นมาตรฐานของเครื่องรถขับเคลื่อนในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงยุครถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ถือเป็นการปฏิวัติวงการรถยนต์ทั้งระบบ ทำให้ทุกประเทศมีจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีรถยนต์อีวีที่ใกล้เคียงกัน เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในมาต่อยอด และมีชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงไปมาก โดยรถยนต์อีวี มีชิ้นส่วนประมาณ 3,000 ชิ่น แต่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันมีชิ้นส่วนกว่า 40,000 ชิ้น ทำให้รถยนต์อีวีผลิตได้ง่ายขึ้น

 

จึงเกิดค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย และบางค่ายก็สามารถสั่นสะเทือนค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ได้ เช่น เทสล่า ของสหรัฐ และค่ายรถยนต์อีวีน้องใหม่จากจีนที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งค่ายรถยนต์อีวีเหล่านี้แทบจะไม่มีฐานความรู้ในด้านเครื่องยนต์สันดาปภายในเลย แต่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ มอเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์มาหลอมรวมกันเป็นรถยนต์อีวียุคใหม่ ที่มีอัตราการเร่ง และความเร็วสูงกว่ารถยนต์น้ำมัน มีต้นทุนพลังงานที่ต่ำกว่า และที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงทำให้ความต้องการรถยนต์อีวีโตอย่างก้าวกระโดด

 

ส่วนในประเทศไทย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดทั้งผลบวก และลบ โดยผลลบ ก็คือ การเกิดขึ้นของรถยนต์อีวี ทำให้ค่ายรถยนต์เดิมสามารถย้ายไปเริ่มต้นตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศอื่นได้ทันที เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีแบบเดิม ทำให้มีความเสี่ยงที่ต่างชาติจะย้ายไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ และมีทรัพยากรแร่ธาตุที่จำเป็นมากกว่า ทำให้ไทยต้องตายไปพร้อมกับเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์แบบเดิม ส่วนผลบวก จะทำให้ไทยเริ่มต้นผลิตรถยนต์อีวีแบรนด์ของคนไทยได้ง่ายขึ้น

 

จากปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทยได้แก้เกม โดยการอัดฉีดสิทธิประโยชน์การลงทุนในระดับสูงสุด และที่เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ คือ การอัดฉีดเม็ดเงินให้รถยนต์อีวีของบริษัทที่จะสร้างโรงงานรถยนต์อีวีในไทย ทำให้มียนต์อีวีที่ขายในประเทศไทยมีราคาลดลงไปมากจนคนทั่วไปเอื้อมถึงได้ จนทำให้ในปี 2566 ไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีสูงถึง  76,314 คัน ขยายตัว 684% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบตลาดทั้งอาเซียนแล้ว ไทยมีสัดส่วนการซื้อรถยนต์อีวีสูงถึง 78.7% ของทั้งอาเซียน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 8% เวียดนาม 6.8% สิงคโปร 4.1% และมาเลเซีย 2.4%

 

ทั้งนี้ จากความได้เปรียบของขนาดตลาดรถยนต์อีวีของไทยที่ใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ทำให้เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญให้บริษัทผลิตรถยนต์อีวีของทั่วโลกได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อส่งไปขายในอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งจากมาตรการของรัฐบาลที่กล่าวมาขึ้นต้น ทำให้ไทยพลิกจากความเสียเปรียบไปสู่ประเทศที่ชนะในสงครามการลงทุนรถยนต์อีวีได้ในปัจจุบันนี้

 

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดโอกาสของค่ายรถยนต์สัญชาติไทยอีกมากมาย โดยที่โดดเด่นจะเป็นของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ได้เริ่มสร้างแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ก่อน เช่น รถบัสไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้า และหัวรถจักรไฟฟ้า ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ระดับโลกที่สร้างหัวรถจักรรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสาเหตุที่เริ่มบุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ก่อน ก็เพราะว่ามีคู่แข่งไม่มาก และสามารถสร้างแบรนด์รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของไทยในระดับโลกได้ ซึ่งโรงงานในปัจจุบันก็มีกำลังการผลิตใกล้เคียงกับโรงงานขนาดใหญ่ของจีนแล้ว

 

โดย ยอดขายในปี 2566 ได้ส่งมอบยานยนต์ไฟฟ้าได้ที่ระดับกว่า 3,000 คัน ซึ่งเห็นได้จากจำนวนรถเมล์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก และในปี 2567 คาดว่ามียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าที่ 3,300 คัน แบ่งเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า 1,650 พันคัน และอีก 1,650 คัน จะเป็นรถบัสไฟฟ้า ซึ่งหากมีฐานของแบรนด์ในด้านรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่แข็งแกร่งแล้ว ก็สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปได้ไม่ยาก

 

นอกจากนี้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ของ ปตท. ที่มีเป้าหมายการสร้างระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยได้ร่วมทุนกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก และ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก เพื่อผลิตแบตเตอรี่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อการเป็นผู้ผลิตรถยนต์อีวี ให้กับบริษัทชั้นนำทั่วโลก ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะผลิตรถยนต์อีวีของไทยต่อไป

 

จากการเกิดขึ้นของยุครถยนต์อีวี ทำให้สร้างโอกาสที่จะเกิดแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยอีกหลายราย และจะทำให้คนไทยจำนวนมากที่เฝ้ารอแบรนด์รถยนต์ของไทยมาอย่างยาวนาน ก็จะมีโอกาสเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยเสียที และยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะทำให้แบรนด์รถยนต์อีวีของไทย ก้าวไปโด่งดังในต่างประเทศได้ในอนาคต

สอวช. สำรวจข้อมูลเชิงลึกภาคเอกชน

ปรับหลักสูตรผลิตคนรองรับอุตฯเป้าหมาย

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเติบโตได้ไม่เต็มที่ ก็คือ การขาดบุคลากรที่มีความสามารถทักษะชั้นสูงเข้ามารองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ดังนั้น สอวช. จึงได้เข้าไปรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อนำมาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการ

 

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. ได้สำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม สำหรับปี 2568 – 2572 หรือ “Thailand Talent Landscape” เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการในประเทศไทยกว่า 300 ราย ภายใต้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และนำมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

โดย ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จะนำข้อไปพัฒนาหลักสูตรหรือคอร์สเรียนต่าง ๆ ให้สามารถพัฒนาบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ ในขณะที่ สอวช. เองก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานฝึกอบรม โดยหน่วยงานที่ส่งบุคลากรเข้าอบรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% และหน่วยงานที่มีการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM สามารถนำค่าจ้างบุคลากรมาลดหย่อนภาษีได้ 150% ในปีที่ผ่านมามีบุคลากรที่ผ่านการรับรองการจ้างงานแล้วกว่า 5,000 ราย ปีนี้ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นไปถึง 10,000 ราย และตั้งเป้าให้มีผู้ที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง 100,000 ราย

 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังพบว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีผู้เล่นรายใหญ่ไม่ถึง 100 บริษัท ครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทของไทย และอีกครึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัว หากภาวะเศรษฐกิจไม่เสถียรก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องสร้างผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้โครงสร้างประชากร ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างประชากรของไทยเป็นรูปแบบพีระมิดฐานกว้าง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานของพีระมิด สอวช. จึงได้ทำโครงการ Social Mobility เพื่อยกฐานะทางสังคมของประชากรฐานราก โดยมีเป้าหมายทำให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570

 

ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงกระทบกับการค้า การลงทุน ซึ่งการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้จะหาทางออกได้ยากหากขาดกำลังคนที่เพียงพอ และกำลังคนที่มีทักษะ หรือมีสมรรถนะสูง

‘เศรษฐกิจอวกาศ’ แหล่งโอกาสที่น่าจับตามองของไทย

 

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy เป็นโอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคตที่หลายประเทศกําลังจับตามอง การเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในปัจจุบันได้กลายเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานสําคัญในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านข้อมูล การให้บริการอินเทอร์เน็ต ระบบนําทางในรถยนต์ สัญญาณโทรศัพท์ ข้อมูลสภาพอากาศ การจัดการและวางแผนฉุกเฉิน และข้อมูลด้านการเกษตร เป็นต้น ในต่างประเทศได้คาดการณ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะมีแนวโน้มสูงถึง 30 ล้านล้านบาท ในปี 2040 โดยในปี 2021 มีการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศมากกว่า 236,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากบริษัทวิจัย ยูโรคอนเซาท์)

 

โอกาสของประเทศไทยในเศรษฐกิจอวกาศ

 

ปัจจุบันภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยมีความน่าสนใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเริ่มมีนโยบายจากภาครัฐเป็นแนวทาง ยิ่งทําให้ภาคเอกชนและภาคการวิจัยตื่นตัวกันมากขึ้น

 

สําหรับประเทศไทย รัฐบาลกําหนดให้อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศ (New Engine of Growth) ประเทศไทยมีโครงสร้างหน่วยงานที่ร่างนโยบายอวกาศ หน่วยงานด้านสารสนเทศ หน่วยงานวิจัย รวมทั้งการตั้งงบประมาณในส่วนที่รองรับการทํางานด้านอวกาศ ซึ่งความพร้อมของประเทศไทยคงไม่ใช่การสร้างยานอวกาศแข่งกับมหาอํานาจ แต่เป็นการคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

 

THEOS-2 กับการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจอวกาศไทย

 

GISTDA หรือสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของไทย และผู้ให้บริการด้านภูมิสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีอวกาศ จับมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาทั้งในและนอกประเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้ที่อยู่ในสายงานอุตสาหกรรมอวกาศ

 

โครงการพัฒนาระบบดาวเทียมสํารวจโลก หรือ THEOS-2 ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังเป็นการมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีทักษะ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย เตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศผ่านการสร้างนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสําคัญที่ขับเคลื่อนกิจการต่าง ๆ ในทุกมิติของสังคมปัจจุบัน สอดรับกับกระแสเศรษฐกิจอวกาศของโลกในอนาคต

 

ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรแล้ว การสนับสนุนของภาครัฐ การลงทุนในภาคเอกชน รวมถึงการเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีของภาคประชาชน นับเป็นปัจจัยสำคัญสําหรับประเทศไทยในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความเป็นไปของโลกและก้าวสู่เศรษฐกิจอวกาศระดับโลกได้

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือด้านอวกาศกับหลากหลายประเทศ เช่น ความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (The Excellence Centre of Space Technology and Research: ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ In-Space Missions Limited ประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาและยกระดับกิจการด้านอวกาศของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า มุ่งมั่นพัฒนากิจการด้านอวกาศของไทย ต่อยอดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอวกาศ ด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ และการสร้างดาวเทียมในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและเจตนารมย์ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศอย่างรอบด้าน

 

จากความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์หลากหลายด้าน เช่น ในการพัฒนาดาวเทียมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน การพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาไฟป่า และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันในเดือนมีนาคม 2567 และภายใน 2 ปี จะมีการดำเนินการผลิตดาวเทียมร่วมกัน และสามารถใช้งานดาวเทียมได้ภายในระยะเวลา 3 ปี

 

หนึ่งในนั้น ได้แก่ โครงการผลิตดาวเทียม Faraday Dragon ที่เป็นความร่วมมือจากหลากหลายประเทศ ร่วมกับ In-Space Missions Limited เพื่อผลิตดาวเทียมภูมิภาค ที่มีจุดประสงค์ใช้งานในด้านที่เกี่ยวกับรัฐบาล การค้า การเงิน และการศึกษา โดยประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการนี้ รวมถึงโครงการอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิตดาวเทียมร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ การพัฒนากิจการอวกาศ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเทคโนโลยีและสร้างงานให้กับคนไทย ส่งผลดีทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากล และการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูง ทำให้การร่วมมือพัฒนายกระดับด้านอวกาศเป็นสิ่งสำคัญของการเดินหน้าประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

โดย การร่วมมือพัฒนายกระดับกิจการอวกาศ ด้านเทคโนโลยีและดาวเทียม จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าครอบคลุมทุกด้านในอนาคต ซึ่งเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย มีเศรษฐกิจอวกาศที่เติบโต และสามารถสร้างดาวเทียมที่ใช้งานได้จริงภายในประเทศ ภายในอีก2 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประเทศแห่งเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ สามารถผลิตเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

เปิดแผนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

สร้างมูลค่าเพิ่ม 7 หมื่นล้านบาท

 

ในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ในการนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ เพื่อรักษาความพร้อมรบของกองทัพ มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งจำนวนนี้เป็นการซื้อภายในประเทศเพียง 2%รวมทั้งในปัจจุบันได้มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศต่างต้องพึ่งพาตนเองในด้านความมั่นคงใกขึ้น เพราะเมื่อถึงเวลาคับขันก็ยากที่จะพึ่งพาประเทศอื่นได้

 

ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลได้ยกอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้นเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ต้องให้การส่งเสริมอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาขอรับการลงทุนเพียง 10 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1,271 ล้านบาท ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับแผนเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

โดยล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมาตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล โดยในแผนดังกล่าวมีเป้าหมายให้เกิดการขยายตัวของมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมความมั่นคงไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี และได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาวุธปืน และกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา 2. กลุ่มยานพาหนะรบ และยานพาหนะช่วยรบ 3. กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ (UAV) 4. กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีมากกว่า 225,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการผลิตในประเทศจะมีการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงมากกว่า 69,000 ล้านบาท

 

สำหรับในกลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬาตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่มาก จากผลสำรวจสถิติล่าสุดประจำปี 2566 โดย World population review พบว่าคนไทยมีอาวุธปืนในครอบครองมากถึง 10.3 ล้านกระบอก สูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดภายในประเทศ โดยคาดว่ามูลค่าตลาดในกลุ่มนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่ากว่าเกือบ 40,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตไทยมีศักยภาพในการผลิต และใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 70-80% สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 28,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืน จำนวน 8 บริษัท

 

ส่วน กลุ่มยานพาหนะรบ หรือ กลุ่มยานหุ้มเกราะ ในปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์อยู่ในอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน สามารถนำมาประยุกต์ต่อยอด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์หุ้มเกราะต่อได้ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ศอทพ.) พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความต้องการยานยนต์หุ้มเกราะประมาณ 700 คัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 51,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่จะไปถึงจุดนั้นได้อุตสาหกรรมยานยนต์หุ้มเกราะจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตยานยนต์หุ้มเกราะไม่น้อยกว่า 5 ราย โดยคาดว่ามาก ตลาดของโดรนขนส่งของโลกในปี 2565 มีมูลค่า 530.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 42.6 ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2573 ซึ่งในขณะนี้ไทยมีผู้ผลิตรถเกราะ 5 ราย ที่สามารถต่อยอดเพิ่มศักยภาพในการผลิตได้

 

ด้าน กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ หรือ (UAV) เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลายภาคธุรกิจ ตั้งแต่ภาคการเกษตร การสำรวจพื้นที่ การส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค รวมถึงในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยตลาดของโดรนขนส่งของโลกในปี 2565 มีมูลค่า 530.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 42.6% ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2573 ซึ่งไทยมีผู้ผลิตโตรนประมาณ 9 ราย

 

สำหรับตลาดโดรนของไทย ศอพท. คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรม UAV จะมีขนาดตลาดประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันต้องนำเข้าชิ้นส่วนสูงถึง 80% แต่ทั้งนี้หากในอนาคตไทยมีขีดความสามารถในการผลิตที่สูงขึ้นจะสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

 

ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เช่น การผลิตเรือรบ หรือเรือขนส่ง ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและซ่อมบำรุงเรือรบจำนวน 23 ราย  ซึ่งคาดว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะมีความต้องการเรือรบรวมมูลค่ากว่า 87,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงได้มากกว่า 17,000 ล้านบาท รวมถึงการผลิตเพื่อทดแทนเรือรบที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี ที่มีจำนวนกว่า 17 ลำ มูลค่ากว่า 166,000 ล้านบาท

 

จากสถิติการส่งออกย้อนหลัง ปี 2564 – 2566 ประเทศไทยส่งออกเรือ ปีละ 2 – 4 หมื่นล้านบาท ตลาดที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการส่งออกในมูลค่าที่สูง แต่ประเทศไทยยังขาดดุลมากกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการส่งเสริมอย่างเต็มที่ จะช่วยลดการขาดดุลการค้า สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้

 

สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในภาพรวม ระยะสั้น (1-2 ปี) จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เกิดคล่องตัว ลดอุปสรรค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาฐานอุตสาหกรรมไปสู่การเป็น OEM Plus ที่มีขีดความสามารถในการผลิต และเพิ่มความสามารถในการวิจัยและพัฒนา โดยการผลักดัน ติดตามการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วให้มีผลในการปฏิบัติโดยเร็วแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

 

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดเงื่อนไขให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ หรือการกำหนดสัดส่วน Local Content เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้ง Start-up หรือ กลุ่ม SME เพื่อนำไปสู่ปลายทาง OEM หรือ ผู้รับจ้างการผลิตที่สมบูรณ์ ทั้งการผลิต คิดค้นนวัตกรรม และสามารถประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในภารกิจอื่น ๆ ตลอดจนการสนับสนุนแหล่งเงินทุน และออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน คล่องตัว เปิดกว้างต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อการยอมรับของตลาด

 

ส่วนในระยะกลาง (2-5 ปี) จะเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมจาก OEM Plus ไปสู่ระดับ ODM หรือผู้รับจ้างผลิตที่สามารถออกแบบและผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีของตนเองได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศยกระดับไปสู่ Tier 2 โดยการเพิ่มบทบาทของหน่วยงานเครือข่าย เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ให้เป็น One Stop Service ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในทุกด้าน และเป็นหน่วยบูรณาการด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง

 

รวมทั้งจะต้องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่มีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ เพื่ออำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย และเสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และจัดตั้งศูนย์แนะนำหรือการช่วยเหลือผู้ส่งออก ตลอดจนการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยความร่วมมือของกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน

 

ส่วนในระยะยาว (5-10 ปี) จะมุ่งเน้นให้สามารถยกระดับจาก ODM เป็น OBM หรือผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง ซึ่งจะเป็นการยกระดับสู่ Tier 2 อย่างเต็มตัว และมีความยั่งยืนในระยะยาว โดยจะต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะและคุณภาพ การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยเพื่อยกระดับจาก R&D ไปสู่ R&I หรือการวิจัยเพื่อคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดนโยบายบังคับให้บริษัทที่ส่งอาวุธเข้ามาขายกับประเทศไทยจะต้องชดเชยการเสียดุลทางการค้า ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือมีการลงทุนร่วมกับภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงความร่วมมือในการวิจัย และเชื่อมโยงแผนพัฒนากองทัพ แผนการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน วิจัยออกมาแล้วได้ใช้งานจริง รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการพัฒนากิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างประเทศ เพื่อสร้าความแข็งแกร่ง และลดจุดอ่อนของอุตสาหกรรมนี้

สวทช. เร่งวิจัยสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง

เพิ่มมูลค่าทะลุ 1 แสนล้าน ภายในปี 2570

 

ประเทศไทยถือได้ว่ามีความร่ำรวยด้านชีวภาพสูงมาก และติดอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรของโลก ดังนั้นไทยจึงมีต้นทุนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสูงมาก และยังได้มีการก่อตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอแบงค์ เป็นแห่งแรกของอาเซียน เพื่อเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพไม่ให้สูญหาย และเป็นแหล่งในการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มากมายในอนาคต

 

ทั้งนี้ จากความพร้อมดังกล่าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้มุ่งเน้นในเทคโนโลยีชีวภาพทุกด้าน โดยเฉพาะพืชสมุนไพร โดยในในภาพรวมของสมุนไพรไทย มีมูลค่าการตลาดในปี 2566 เป็นจำนวนถึง 52,104.3 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตสูง คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าการตลาดถึง 1 แสนล้านบาท  มีกลุ่มสินค้า เช่น อาหารเสริมพร้อมดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้รักษาอาการไอ หวัด แพ้อากาศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไป ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบพืชพรรณสมุนไพร มีภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ แต่สมุนไพรไทยก็มีอุปสรรค ได้แก่

 

  1. คุณภาพของวัตถุดิบมีความแปรปรวน ความไม่สม่ำเสมอของปริมาณสารสำคัญ และการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กระบวนการผลิตสารสกัดยังให้ปริมาณสารสำคัญน้อย และใช้สารเคมีในการสกัดสูง รวมถึงขาดระบบการผลิตสารสกัดมาตรฐานสำหรับการสกัดในระดับอุตสาหกรรม

 

  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรยังมีจำนวนน้อย และผลิตภัณฑ์อาศัยเพียงความเชื่อและความรู้สึกตอบสนองของผู้ใช้เป็นส่วนใหญ่หรือเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น ไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้มาช่วยยืนยันคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

 

จากปัญหาและอุปสรรคของสมุนไพรดังกล่าว การพัฒนานวัตกรรมการผลิตสารสกัดเพิ่มมูลค่า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรโดยมีสมุนไพรนำร่อง 3 ชนิดได้แก่ กระชายดำ บัวบก และกะเพรา เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร อุตสาหกรรมสารสกัด และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสมุนไพรไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนให้สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐาน ผลักดันให้เกิด “Hub of Thai Herbal Extract” ในการส่งเสริมพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและคว้าโอกาสตลาดสมุนไพรให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่

 

โครงการที่ 1 นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานกะเพรา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ที่จะสร้างรายได้ของผู้ประกอบการไทยจากนวัตกรรมจากสารสกัดมาตรฐาน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่า ในปี 2571 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สารแต่งกลิ่นรสผงแห้งจากสารสกัดกะเพรา , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดสภาวะเครียด จากสารสกัดมาตรฐานกะเพรา , กระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐานกะเพรา ระดับอุตสาหกรรม

 

 

โครงการที่ 2 การขยายผลนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานกระชายดำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ที่จะสร้างรายได้ของผู้ประกอบการไทยจากนวัตกรรมจากสารสกัดมาตรฐาน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าในปี 2571 ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568

 

โดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัย (Anti-Aging) จากสารสกัดมาตรฐานกระชายดำ , ผลิตภัณฑ์ต้านการอักเสบจากสารสกัดกระชายดำ , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชะลอวัย ลดไขมัน/และน้ำตาลในเลือด จากสารสกัดมาตรฐานกระชายดำ และกระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐานกระชายดำระดับอุตสาหกรรม

 

โครงการที่ 3 การเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานบัวบกด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม โดยมีเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ที่จะสร้างรายได้ของผู้ประกอบการไทยจากนวัตกรรมสารสกัดมาตรฐานให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าในปี 2571 ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568

 

โดยมีสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัย (Anti-Aging) จากสารสกัดบัวบก , ผลิตภัณฑ์ลดการอักเสบของสิว (Anti-Acne) จากสารสกัดบัวบก , ผลิตภัณฑ์ยาทาสมานแผลจากสารสกัดบัวบก และกระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐานบัวบกระดับอุตสาหกรรม

 

สำหรับ ผลงานเด่นที่คาดว่าจะเกิดในปี 2567 คือ สารสกัดมาตรฐานของกระชายดำ สำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัย , ถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลสารสกัดมาตรฐานของกระชายดำสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง , ต้นแบบผลิตภัณฑ์ต้านการอักเสบจากสารสกัดกระชายดำ , ผงแต่งกลิ่นจากสารสกัดกะเพรา เสมือนกลิ่นกะเพราสด , ขยายขนาดกระบวนการกักเก็บกลิ่นกะเพรา ที่มีกลิ่นเสมือนกะเพราสดในระดับอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง /เวชสำอางชะลอวัย / เวชสำอางต้านสิว จากอนุภาคนำส่งสารสกัดบัวบก , ถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง / เวชสำอางชะลอวัย (Anti-Aging) จากอนุภาคนำส่งสารสกัดบัวบก ร่วมกับผู้ประกอบการ และอนุภาคกักเก็บสารสกัดกะเพราลดกรด/ลดความเครียด

 

ทั้งนี้ ในการวิจัยและผลิตสารสกัดจากกะเพราสดที่มีกลิ่นไม่ต่างจากกะเพราสด จะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอด ซอฟต์เพาเวอร์ อาหารไทย ที่มีเมนูจำนวนมากที่ใช้กะเพรา ให้แพร่ขยายได้มากขึ้น เพราะพืชกะเพราไม่สามารถปลูกได้ในเมืองหนาว ทำให้อาหารไทยในยุโรป หรือ อเมริกาเหนือ มีรสชาติและกลิ่นต่างจากอาหารไทยต้นตำหรับ และยังช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบอาหารในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นแบบอย่างให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ต่อไป โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพรเหล่านี้ได้อีกหลายเท่าตัว และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย

จีน เล็งเช่าพื้นที่“สมาร์ท ปาร์ค” ลงทุนชิ้นส่วน EV – พลังงาน
นักลงทุนจีน ปักหมุดลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม supply chain ชิ้นส่วนยานยนต์ EV และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ขณะที่การก่อสร้างโครงการคืบหน้ากว่า 82.55% เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ชูโปรโมชั่น ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ปีแรก จูงใจนักลงทุน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค มีความก้าวหน้ากว่า 82.55% และมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนจากหลายประเทศ หลังจากที่ กนอ. มีการโรดโชว์ โดยล่าสุดกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีนแสดงความสนใจที่จะเช่าที่ดินแปลงใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เพื่อประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
“ผมได้พูดคุยกับกลุ่มนักลงทุนชาวจีนที่สนใจจะลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 มี.ค.67) และได้มอบหมายให้กองการตลาดของ กนอ. พานักลงทุนกลุ่มนี้ลงพื้นที่ไปดูพื้นที่จริงที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ซึ่งทางนักลงทุนชาวจีนได้ให้ความสนใจอย่างมากในการเช่าพื้นที่แบบเหมาแปลงทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจ (Feasibility Study) ซึ่งจะมีการประชุมหารือร่วมกับ กนอ. ในรายละเอียดต่อไป” นายวีริศ กล่าว
โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีพื้นที่โครงการ 1,383.71 ไร่ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่ก้าวข้ามการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นฐานเดิม โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความเป็น
เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย ปลอดภัย ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ
ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 ทั้งนี้ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ และดำเนินโครงการแล้ว จะเกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพื้นที่ประมาณ 1,342 ล้านบาทต่อปี และยังสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชน ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567
สำหรับมาตรการส่งเสริมการให้เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป กำหนดระยะเวลามาตรการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2567 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาเช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เป็นฐานการผลิตและการลงทุน ประกอบด้วย ยกเว้นค่าเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดิน และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 1 ปีแรกนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการจาก กนอ. ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จะเป็นไปตามที่ กนอ. กำหนด

สอวช. เร่งสร้างธุรกิจนวัตกรรม 1 หมื่นราย

เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ 1 ล้านล้านบาท

 

ปัญหาหลักที่ทำให้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน ก็คือการพึ่งพาเทคโนโลยี และนวัตกรรมจากต่างชาติมากจนเกินไป และขาดการผลิตเทคโนโลยีของตัวเอง และนำเอานวัตกรรมที่สร้างขึ้นภายในประเทศมาต่อยอดสร้างมูลค่าทางการค้า แต่หลังจากที่ได้ก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ก็เริ่มเดินหน้าผลักดันให้มหาวิทยาลัยทำการวิจัยและสร้างนวัตกรรมภายในประเทศร่วมกับภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน

 

โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า สอวช. มีเป้าหมายนำเอาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. มาขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ 5 ทิศทาง คือ ทิศทางที่ 1 ยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีเป้าหมาย 2 ประการคือ เป้าหมายที่ 1 ทำให้คนไทยมีรายได้สูงขึ้น เฉลี่ย 400,000 บาท/คน/ปี

 

เป้าหมายที่ 2 การกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ซึ่งวิธีการขับเคลื่อนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายจะต้องเน้นการพัฒนานวัตกรรม คือการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) โดยเน้นการพัฒนามาตรการและกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจนวัตกรรม สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านกลไกสำคัญ เช่น การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค การส่งเสริมศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมและ Deep-tech Startups รวมถึงการปลดล็อกให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การมหาชนในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง

 

หนุนมหาวิทยาลัย สร้างธุรกิจนวัตกรรม 1 พันราย เพิ่มรายได้ 1 ล้านล้านบาท

 

ทั้งนี้ กลุ่มที่เน้นและให้ความสำคัญมาก คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะเป็นอนาคตของประเทศ โดยในกลุ่มนี้เราตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการให้ได้ 1,000 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยรายได้อยู่ที่รายละ 1,000 ล้าน ก็จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ 1 ล้านล้านบาท ได้ภายในปี 2570

 

สำหรับแนวทางการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมให้เติบโตแบบก้าวกระโดด จะส่งเสริมให้จัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคลให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งบริษัท ชื่อว่า บริษัท ซี ยู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง Deep-Tech Startup ต่อยอดงานวิจัยที่มีอยู่ในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สังคม

 

โดยดำเนินงานร่วมกับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ในการให้คำแนะนำบ่มเพาะผู้ประกอบการ ระดมทุน รวมทั้งร่วมลงทุนในบริษัทสปินออฟ (University Spin-offs) ที่ดำเนินงานโดยคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพ 354 ทีม และมีบริษัทสปินออฟเกิดขึ้นแล้ว จำนวน 100 บริษัท สร้างมูลค่าทางการตลาด กว่า 22,000 ล้านบาท รวมทั้งยังมีการรวมตัวกันของนักวิจัยก่อตั้งชมรม Club Chula Spin-off มีสมาชิกกว่า 200 คน ที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะเริ่มประกอบการธุรกิจต่อไป

 

ส่วน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้ง Angkaew Holding Company และบริษัทในเครือ เช่น Angkaew Start up มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวบริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งบริษัทร่วมทุนสตางค์ จำกัด (STANG Holding Company) เพื่อร่วมทุนในผลงานวิจัยที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้จัดตั้ง บริษัท เคยูนิเวิร์ส จำกัด เป็นต้น โดยแนวทางนี้จะขยายตัวไปในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ทั่วประเทศต่อไป ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ใช้นวัตกรรมกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยนำจุดเด่นในพื้นที่มาสร้างเป็นนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าต่อไปในอนาคต

 

Reskill/Upskill แรงงาน ยกระดับไปสู่งานรายได้สูง

 

ทิศทางที่ 2 การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย สอวช. จะเน้นการออกแบบกลไกสนับสนุนการยกสถานะทางสังคมของคนหรือครัวเรือน ในประชากรฐานราก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเยาวชน ให้มีหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและเข้าสู่เส้นทางอาชีพ โดยการพัฒนา Inclusive Higher Education Platform เพื่อให้มีโอกาสใช้ประโยชน์ หรือเข้าถึงการอุดมศึกษาที่เหมาะสม อีกกลุ่ม คือ คนวัยทำงาน ให้สามารถเข้าถึงตำแหน่งงานทักษะกลาง-สูง โดยเน้นยกระดับศักยภาพแรงงานเชื่อมโยงสู่การจ้างงาน โดยใช้กลไกการพัฒนากำลังคน Reskill/Upskill Account เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรค่าตอบแทนสูงหรือ Premium Workers

 

รวมทั้งกระตุ้นการจ้างงานแรงงานกลุ่มฐานรากผ่านการอุดหนุนค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายในการอบรม ร่วมกับภาคเอกชน และกลุ่มสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการชุมชน โดยส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการชุมชน สร้างเครือข่ายที่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนศึกษาแนวทางการขยายพื้นที่ดำเนินงานในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

 

นำ “เทคโนโลยี – นวัตกรรม” เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนแบบก้าวกระโดด

 

ในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่จะทำให้คนในจังหวัดที่อยู่ในระดับยากจนสามารถยกระดับขึ้นด้วยตัวของเขาเอง โดยใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่มาเป็นพี่เลี้ยง นำเอางานด้านความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าไปหนุนในการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเมื่อเรานำนวัตกรรมใส่ลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณภาพสินค้าจะเกิดการพัฒนาขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสื่อกระจูด จากเดิมราคาเสื่อผืนละ 100-150 บาท พอเอานักออกแบบลงไปช่วยพัฒนาให้เป็นกระเป๋าส่งไปขายในห้างสรรพสินค้า ขายในตลาดวัฒนธรรม ราคาเพิ่มขึ้นถึง 3,000-5,000 บาทต่อใบ เป็นต้น

 

การนำเอาวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำเป็นตลาดวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเข้ามา ประชาชนที่ผลิตสินค้าพื้นเมืองก็สามารถขายได้ มีเงินหมุนเวียนและกระจายรายได้สู่ชุมชน อย่างตลาดวัฒนธรรมที่ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จัดตลาดครั้งหนึ่งมีเงินหมุนเวียนประมาณ 500,000-600,000 บาท ถึงตอนนี้จัดกันมาเกือบสองร้อยครั้ง เพราะฉะนั้นเงินหมุนเวียนในพื้นที่ก็อยู่หลักร้อยล้านบาทแล้ว ซึ่งตลาดวัฒนธรรมในลักษณะนี้ ที่ผ่านมา บพท.ได้ดำเนินการให้เกิดขึ้นไปแล้วประมาณ 50- 60 จังหวัด

 

ตั้ง “สระบุรีโมเดล” หวังลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

 

สำหรับ ทิศทางที่ 3 ได้ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า โดย สอวช. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ปรับตัวตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและสอดคล้องกับมาตรการของนานาชาติ โดยตั้งเป้าหมายการทำงาน “50% ของบริษัทส่งออกบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมีแผนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน ผ่านการสร้างเมืองต้นแบบที่ จ.สระบุรี ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

 

โดยได้ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม คือ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ส่วนราชการองค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคประชาชน จะสร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ พัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว การเกษตรที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชน ถ้าทำที่จังหวัดสระบุรีได้ ต่อไปก็สามารถขยายผลไปพื้นที่อื่น ๆ ได้เช่น อ.แม่เมาะ และพื้นที่ EEC เช่น จ.ระยอง เป็นต้น อีกแนวทางหนึ่ง คือ การพัฒนาให้เกิดมหาวิทยาลัยสีเขียว พัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยในบทบาทผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคส่วนต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือของมหาวิทยาลัยในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย และขยายการให้บริการออกไปสู่สังคมด้วย

 

“ในมุมของ สอวช. เราทำ 2 อย่าง อย่างที่หนึ่ง คือ เราลงไปดูเป็นรายพื้นที่ ที่เราเรียก Area-Based ปัจจุบันเราเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการซีเมนต์ไทยที่ จ.สระบุรี เราก็เอาสิ่งที่เป็น อววน. เข้าไปหนุนเขา ส่งทีมงานเข้าไปช่วยทำเรื่องแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยี เข้าไปดูเรื่อง Energy Transition ก็คือการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานที่จะใช้ รวมถึงดูเรื่องของกระบวนการภายในภาคอุตสาหกรรมว่าถ้าจะปรับระบบการผลิตต่าง ๆ จะสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้นได้อย่างไร และมีหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยในการสร้างนวัตกรรมเข้าไปร่วมด้วย ตอนนี้เริ่มที่ จ.สระบุรี ซึ่งเวลาที่เราทำตามรายจังหวัดแบบนี้ เราไม่ได้ดูเฉพาะอุตสาหกรรมแต่ดูเรื่องของภาคชุมชนและภาคเกษตรควบคู่ไปด้วย อย่างภาคเกษตรเรามีหน่วยงานที่เรียกว่า บพท. เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชด้วยระบบใหม่ ๆ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็ไปช่วยเรื่องการนำเทคโนโลยีที่จะสามารถนำมาช่วยเรื่องการจัดการขยะแบบครบวงจร มีการดึงประชาชนในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน ทำแบบมีส่วนร่วม และสร้างความตระหนัก ทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อย เมื่อเรามีจังหวัดต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ อนาคตการขยายโมเดล “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก” ดร.กิติพงค์ กล่าว

 

เพิ่มแรงงานทักษะสูง 25% ในปี 2570

 

ทิศทางที่ 4 สัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปี 2570 โดย สอวช. ได้ออกแบบระบบสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม Upskill/Reskill/New Skill (URN) : STEM One Stop Service (STEM-OSS) ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem (EWE) Platform) ที่เป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญด้านกำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมในอนาคต

ไทยครองตลาดรถอีวีอาเซียน 80%

คาดยอดซื้อปี 67 ทะลุ 1.3 แสนคัน

 

หลังจากที่รัฐบาลได้ออกนโยบายสนับสนุนการลงทุน และการอุดหนุนตลาดรถยนต์อีวีภายในประเทศ ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีของไทย ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2563 มียอดจดทะเบียน 1,056 คัน ปี 2564 มีจำนวน 1,935 คัน ขยายตัว 83.24% ปี 2565 มีจำนวน 9,729 คัน ขยายตัว 402.79% และในปี 2566 มีจำนวนสูงถึง 76,314 คัน ขยายตัว 684% คิดเป็นสัดส่วน 12.02% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะมียอดจดทะเบียนรถยนต์อีวี ไม่ต่ำกว่า 130,000 คัน หรือมีสัดส่วน 15% ของตลาดรถยนต์โดยรวม

 

สำหรับในภาพรวมการใช้รถยนต์อีวีของอาเซียน ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 จากการวิจัยล่าสุดจากSEA Passenger Electric Vehicle Model Sales Trackerของ Counterpoint ส่วนแบ่งของ BEV มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 สูงถึง 3.8% เมื่อเทียบกับเพียง 0.3% ในปี 2565 โดยประเทศไทยกลายเป็นประเทศชั้นนำมียอดขาย BEV กินสัดส่วนกว่า 78.7% ของยอดรวมในอาเซียนทั้งหมด ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 8% เวียดนาม 6.8% สิงคโปร์ 4.1% มาเลเซีย 2.4% และฟิลิปปินส์ 0.04%

 

ในส่วนของการลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยตัวเลขการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีในประเทศไทย ล่าสุดในปี 2566 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

 

รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท

รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท

รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท

แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท

ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท

สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ จากมาตรการดึงดูดการลงทุนที่ดี และการที่ไทยมียอดขายรถยนต์อีวีที่สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนเป็นอย่างมาก ส่งผลบวกให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ในปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ EV ทั้งในรายที่เข้ามาลงทุนแล้ว กำลังเตรียมตัวเข้ามาลงทุนในปี 2567มากกว่า 30 บริษัท แต่ทั้งนี้ต้องจับตาประเทศอินโดนีเซียเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจุดแข็งในเรื่องของขนาดตลาด และแหล่งแร่นิกเกิน รวมทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้เร่งปรับปรุงนโยบายดึงดูดการลงทุนจนเป็นคู่แข่งในด้านการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีในภูมิภาคนี้ ซึ่งหากไทยปรับตัวได้เร็วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้ไทยยังคงเป็นผู้นำในด้านการผลิตรถยนต์ และรถยนต์อีวี ต่อไปได้ในอนาคต