Economic

“อุตสาหกรรม” จับมือ 30 หน่วยงาน

ผุดคอมมูนิตี้ระบบนิเวศธุรกิจหนุนSME

 

กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลังเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน ประชุมหารือเพื่อผลักดันการสร้างคอมมูนิตี้นิคมอุตสาหกรรม SME หวังสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการเติบโตของ SMEs และสามารถเชื่อมโยงเป็นซัพพลายเชนกับบริษัทใหญ่

 

โดย นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้นโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย”

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม SMEs ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการเติมเต็มและขยายโอกาสให้ SMEs เป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ทำให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขัน และกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งตั้งเป้าผลักดัน GDP ประเทศให้เติบโตเพิ่มอีก 1% โดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐ และจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย

 

นอกจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในมิติต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาดและการจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบโรงงาน

 

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตอบรับนโยบายนี้ โดยได้วางแผนการดำเนินงานคอมมูนิตี้นิคมอุตสาหกรรม SMEs เพื่อวางระบบสนับสนุนครบวงจร ทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี การเงิน และการตลาด รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน หรือปัจจัยเอื้อที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ

 

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะได้เข้ามามีบทบาทในด้านการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรอุตสาหกรรม การสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างระบบอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนจากเสียงของผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการทุกระดับ ให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมทั้งมีบทบาทสำคัญด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จำเป็นของประเทศ จึงมีแนวคิดในการสร้าง “ดีพร้อมคอมมูนิตี้” (DIPROM Community) ซึ่งเป็นการนำวิสาหกิจไทยเข้ามาสู่ระบบบริหารจัดการของดีพร้อม

 

ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนใน 6 กลไกที่สำคัญ คือ 1) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 2) เทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ 3) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) การเชื่อมสิทธิประโยชน์ 5) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร และ 6) การผลักดันธุรกิจสู่สากล เพื่อให้วิสาหกิจไทยสามารถ “สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเครือข่าย” เพิ่มศักยภาพวิสาหกิจไทยให้สามารถยกระดับธุรกิจให้เติบโต และแข่งขันได้อย่างมั่นคงในอนาคต

 

รวมไปถึงการเกิดเป็นซัพพลายเชนภายในดีพร้อมคอมมูนิตี้และสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปแบบธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถดูแลธุรกิจขนาดเล็กได้ (Big Brother) เพื่อให้วิสาหกิจไทยเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

ในส่วนของการขับเคลื่อนนิคมฯ SMEs ดีพร้อม ได้ทำหน้าที่เป็นแม่สื่อในการหารือกับเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน ถึงแนวทางการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs เป็นซัพพลายเชนในนิคมฯ SMEs ร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจะสอดรับการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่และจะได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในมิติต่าง ๆ ตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากหน่วยงานพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือให้วิสาหกิจไทยอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการปรับตัวพร้อมยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย 5 อุตสาหกรรมเด่น ปี 2568  “อาหารและเครื่องดื่ม – ปิโตรเลียม – บรรจุภัณฑ์ – เครื่องใช้ไฟฟ้า – ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์” โดดเด่น วิเคราะห์จากแนวโน้มการผลิตและเทรนด์ธุรกิจรอบด้านทั้งการบริโภค การลงทุน และการค้าโลก พร้อมเร่งปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวทันเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่

 

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า ในปี 2568 อุตสาหกรรมเด่นที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 โครงการ Easy E-Receipt 2.0 รวมถึงการท่องเที่ยวที่โตต่อเนื่องตามการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และกระแส Soft Power ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกในประเทศ ประกอบกับผู้บริโภคในปัจจุบันมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Wellness) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารอนาคต (Future Food) ทั้งอาหารทางการแพทย์ อาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะรายบุคคล (Personalized Foods) ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ควบคุมน้ำหนักมีความต้องการเพิ่มขึ้น ตลอดจนประเทศไทยยังเป็นเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกหลายรายการ เช่น ไก่แปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง และ อาหารสัตว์สำเร็จรูป ช่วยให้การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในห่วงโซ่การผลิตทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับอานิสงส์จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเน้นการจัดส่งสินค้าหรือการให้บริการ Delivery ที่ขยายตัวตามธุรกิจ E-Commerce เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น

 

ต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เช่น พลาสติก กระดาษ และโลหะที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตนับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ พบว่า การผลิตเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าและตู้เย็นยังคงมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของสังคมเมือง สะท้อนจากการจำหน่ายในประเทศและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยได้แต้มต่อจากการเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งมาตรฐานของสินค้าได้รับการยอมรับระดับโลก

 

ในด้านของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ได้แรงหนุนจากการค้าผ่านช่องทาง Social Commerce และการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่าน Digital Wallet ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ควบคู่ไปกับการก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยี Cloud Computing เข้ามาใช้ประมวลผล จัดเก็บ และบริหารข้อมูล สะท้อนได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยยอดมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในปีที่ผ่านมาสูงถึง 2.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service ทำให้การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์กว่า 75% จำเป็นต้องใช้ HDD ในการเก็บข้อมูลปริมาณมาก รวมถึง 80% HDD ทั้งโลกผลิตในไทย

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป (ICE) วัสดุก่อสร้าง และ เฟอร์นิเจอร์ ต้องเร่งปรับตัวจากปัจจัยเชิงลบของหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง รวมทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ บั่นทอนให้การผลิตรองรับการบริโภคชะลอตัว ขณะเดียวกันผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญ

 

“ในปี 2568 อุตสาหกรรมดาวเด่นได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและบรรยากาศการค้าโลก ขณะที่บางอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเผชิญกับความท้าทายต่อการปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์โลกและการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ประกอบการควรปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนการนำเข้าและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก” นายภาสกร กล่าว

วิจัยกรุงศรี ได้เปิดเผยผลการวิจัยในเรื่อง ธุรกิจ “มูเตลู” ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ  จากการประเมินของ Future Market Insights ได้คาดการณ์ว่า นับจากนี้ไปอีกหนึ่งทศวรรษ มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกของการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา (Faith-based tourism) จะมีมูลค่าถึง 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2577 จากระดับปัจจุบันในปี 2567 ที่ราว 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.6 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี

 

สำหรับทวีปเอเชีย ความเชื่อเรื่องมูเตลูในแต่ละประเทศแตกต่างและหลากหลาย ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ผู้คนนิยมซื้อเครื่องรางที่วางจำหน่ายในศาลเจ้าหรือวัด เพราะเชื่อในเรื่องการช่วยปกป้องคุ้มครอง ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน หรือมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนในประเทศจีนรวมไปถึงประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก ผู้คนมักเชื่อในศาสตร์ฮวงจุ้ย และการเช่าบูชาเครื่องรางในรูปแบบต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งพลังงานดีๆ ทั้งยังช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป

 

หรือในประเทศอินเดียที่มีความหลากหลายทั้งในด้านศาสนา ลัทธิ และความเชื่อ ก็มักเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่นิยมเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น เมืองพาราณสี เมืองหริทวาร และเมืองติรุปติ หรือบริเวณตลอดริมฝั่งแม่น้ำคงคา นอกจากนี้ ชาวอินเดียบางกลุ่มยังนิยมสวมเครื่องรางติดตัวเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองหรือให้พบเจอแต่สิ่งดี ๆ เป็นต้น

 

ปี 67 ธุรกิจมูเตลู ในไทย มีเงินสะพัดกว่า 1.5 หมื่น ลบ.

 

คนไทยมีความเชื่อเรื่องมูเตลูคล้ายคลึงกับคนชาติอื่นๆ ในแถบเอเชีย โดยซื้อสินค้าและบริการสายมูเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อดังกล่าว ซึ่งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี 2567 พบว่าธุรกิจความเชื่อ สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย จะเป็นธุรกิจที่มาแรงในประเทศไทย และคาดว่าจะมีเงินสะพัดในธุรกิจกลุ่มนี้ราว 10,000-15,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย แต่เมื่อตรวจดูรายชื่อธุรกิจประเภทกิจกรรมโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย กลับพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ยังดำเนินกิจการประเภทนี้อยู่จำนวนทั้งสิ้นเพียง 164 ราย จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกัน 181 ล้านบาท และร้อยละ 72 ของบริษัทเหล่านี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

อย่างไรก็ตาม “เศรษฐกิจสายมู” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในกลุ่มธุรกิจประเภทกิจกรรมโหราศาสตร์และไสยศาสตร์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าและนำเสนอบริการด้านความเชื่อแก่ผู้บริโภคในลักษณะอื่นๆ ผ่านหลายช่องทาง ทั้งหน้าร้านแบบออฟไลน์และออนไลน์ด้วย เช่น เครื่องประดับเสริมดวง สินค้าดิจิทัลประเภทวอลเปเปอร์หรือภาพ NFT ลายมงคล หรือแม้แต่บริการทัวร์ที่พาลูกค้าไปไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  นอกจากนี้ หลายธุรกิจรวมถึงในภาคการเงินการธนาคารได้นำความเชื่อเรื่องมูเตลูมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย หรือที่เรียกว่า “Muketing” ซึ่งปรากฎการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า มูเตลูยังคงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวไทยอยู่มาก และพลังศรัทธานี้ก็ได้แผ่อิทธิพลมายังเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันด้วย

 

วิจัยกรุงศรีได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวไทยทั้งในเชิงทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการสายมู โดยเก็บข้อมูลช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับความร่วมมือจากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,213 คน ที่มีความหลากหลายของช่วงอายุ ระดับการศึกษา และรายได้

 

โดยผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าสายมู พบว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูทั้งช่องทางหน้าร้านและช่องทางออนไลน์เกินกว่า 1,000 บาทต่อปี และเมื่อมีรายได้มากขึ้นจะมีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูที่สูงขึ้น โดยสังเกตจากสัดส่วนของผู้ที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าสายมู 1,000 บาทต่อปีขึ้นไปที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น

 

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เชิงลึกจะพบว่า ผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 30,000-75,000 บาท มีโอกาสใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกิน 1,000 บาทต่อปี มากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ถึง 1.9 เท่า ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่านั้น (75,000-150,000 บาท) จะมีโอกาสดังกล่าวถึง 2.6 เท่า ทั้งนี้ กลุ่มที่มีรายได้สูง (รายได้ 150,000 บาทขึ้นไป) มีสัดส่วนของผู้ที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกินปีละ 5,000 บาทมากที่สุด (ร้อยละ 8.8)

 

เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ กว่า 1 ใน 3 ของกลุ่ม Gen Y และ Gen X จะมีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกิน 1,000 บาทต่อปี แต่กลุ่มที่ “จ่ายหนัก” ที่สุดกลับเป็นกลุ่ม Baby Boomer โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกินกว่า 5,000 บาทต่อปีสูงที่สุด (ร้อยละ 7) เมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ คือ Gen X (ร้อยละ 6) Gen Y (ร้อยละ 5) และ Gen Z (ร้อยละ 5)

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เพศชายเกือบ 1 ใน 10 มีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูมากกว่า 5,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า LGBTQ+ และเพศหญิง (ร้อยละ 3-4) ซึ่งหากพิจารณากลุ่ม “เพศชาย-สายมู-จ่ายหนัก” จะพบว่าเกือบ 2 ใน 3 จะนิยมซื้อวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเป็นประจำทุกเดือน

 

“สายมูดิจิทัล” นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

 

ราวครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจเคยซื้อสินค้าสายมูผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเมื่อเทียบระหว่างกลุ่มอายุ กลุ่ม Baby Boomer เคยซื้อสินค้าสายมูผ่านทางช่องทางออนไลน์เป็นสัดส่วนน้อยที่สุด (ร้อยละ 23.7)  ส่วนกลุ่มที่มีสัดส่วนผู้ที่เคยซื้อมากที่สุด (ร้อยละ 59.2) คือ Gen Y โดยมีโอกาสซื้อมากกว่า Baby Boomer ถึง 2.8 เท่า และเมื่อพิจารณาระดับรายได้จะพบว่า ยิ่งระดับรายได้ต่ำ สัดส่วนของผู้ตอบแบบสำรวจที่เคยซื้อสินค้าสายมูผ่านออนไลน์จะยิ่งสูง โดยผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มีโอกาสเคยซื้อสินค้าสายมูมากกว่าผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 150,000 บาทถึง 2.2 เท่า

 

นอกจากนี้ สินค้าสายมูที่ได้รับความนิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ กำไลและเครื่องประดับ (ร้อยละ 22.8) เครื่องรางและวัตถุมงคลพกพาได้ (ร้อยละ 21.9) และวอลเปเปอร์ ธีมแอปพลิเคชันโทรศัพท์ลายมงคล (ร้อยละ 21.6) (ภาพที่ 6) โดย Baby Boomer มีสัดส่วนผู้ที่เคยซื้อสินค้ากลุ่มวอลเปเปอร์และธีมมือถือมงคลน้อยที่สุด (ร้อยละ 10) ขณะที่ Gen Y และ Gen Z มีโอกาสซื้อสินค้ากลุ่มนี้มากกว่า Baby Boomer ประมาณ 9 เท่า สอดคล้องกับวิธีการชำระเงิน (ภาพที่ 7) ที่ร้อยละ 42.9 ของ Baby Boomer เลือกชำระด้วยเงินสดหรือเก็บเงินปลายทางเป็นหลัก ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลเหมือนวิธีอื่นๆ ในขณะที่ Gen X และ Gen Y ตลอดจน Gen Z เลือกจ่ายผ่านแอปพลิเคชันธนาคารมากที่สุดด้วยสัดส่วนในช่วงร้อยละ 40-50 ซึ่งนับว่าสูงว่าการชำระเงินวิธีอื่นๆ อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากรายได้พบว่า การเลือกชำระค่าสินค้าสายมูด้วยเงินสดมีแนวโน้มลดลงเมื่อรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

บริการสายมู: อีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค

 

นอกจากค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าสายมูแล้ว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการมูเตลูก็ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคไม่แพ้กัน เช่น การดูดวง ทัวร์มูเตลู การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ หรือทำพิธีกรรมต่างๆ โดยจากการสำรวจค่าใช้จ่ายบริการสายมูแบบรวมทุกช่องทาง (ทั้งหน้าร้านและออนไลน์) พบว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้จ่ายไปกับบริการสายมูมากกว่า 1,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับกลุ่มที่จ่ายเงินซื้อสินค้าสายมูมากกว่า 1,000 บาทต่อปี

 

นอกจากนี้ รายได้ก็มีผลต่อค่าใช้จ่ายบริการสายมูด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ยิ่งรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น สัดส่วนของผู้ใช้จ่ายบริการสายมูเกินปีละ 1,000 บาทจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ พบว่าผู้ที่มีรายได้สูง (มากกว่าเดือนละ 150,000 บาท) มีโอกาสใช้จ่ายเกินปีละ 1,000 บาทไปกับบริการสายมู มากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 30,000 บาท) ถึง 3.2 เท่า

 

ส่วน Gen X คือกลุ่มที่ใช้จ่ายไปกับบริการสายมูมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้จ่ายบริการสายมูต่อปีมากกว่า 1,000 บาทสูงที่สุด (ร้อยละ 36.8) รองลงมาคือ Gen Y (ร้อยละ 33.2) ในขณะที่ Baby Boomer และ Gen Z เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายไปกับบริการสายมูน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ 2 ช่วงอายุข้างต้น โดย Baby Boomer ร้อยละ 57.6 และ Gen Z ร้อยละ 47.4 จะใช้เงินเพียงปีละไม่เกิน 500 บาทเพื่อบริการสายมู

 

ความถี่ในการซื้อสินค้าหรือบริการมูเตลูผ่านแพลตฟอร์ม

 

แม้กว่า 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจจะเคยซื้อสินค้าและ/หรือใช้บริการมูเตลูผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือกลุ่ม “สายมูดิจิทัล” แต่ในบรรดาคนกลุ่มนี้ กว่า 1 ใน 4 จะซื้อสินค้า/บริการมูเตลูเพียงแค่ปีละ 1-2 ครั้ง ขณะที่มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ซื้อเป็นประจำทุกสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อสินค้า/บริการมูเตลูผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

 

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มผู้บริโภคสายมูดิจิทัลจะมีสัดส่วนสูงขึ้นในกลุ่มอายุน้อย กล่าวคือ Gen Z มีสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 70.5) รองลงมาคือกลุ่ม Gen Y (ร้อยละ 67.2) Gen X (ร้อยละ 59.3) และ Baby Boomer (ร้อยละ 32.2) ตามลำดับ โดย Gen Z มีโอกาสเคยซื้อสินค้า/บริการมูเตลูผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่ากลุ่ม Baby Boomer ถึง 3.7 เท่า

 

เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการมูเตลู

 

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์มูเตลู โดยวิจัยกรุงศรีพบว่า ในบรรดาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการมูเตลู แอปพลิเคชันดูดวงได้รับความสนใจมากที่สุด โดยมีผู้สนใจกว่าร้อยละ 67.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ รองลงมาคือ งานศิลปะ NFT เสริมดวง (ร้อยละ 26.3) การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่าน AR หรือ VR (ร้อยละ 22.3) และการร่วมพิธีกรรมสายมูผ่านการไลฟ์สด (ร้อยละ 17.2)  อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจราว 1 ใน 5 ยังคงไม่สนใจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับมูเตลู โดยกลุ่ม Baby Boomer มีสัดส่วนผู้ที่ไม่สนใจสูงสุด (ร้อยละ 35.6) โดยเมื่อวิเคราะห์เชิงลึกจะพบว่าผู้บริโภคดิจิทัลสายมูกลุ่ม Gen X Gen Y และ Gen Z  มีโอกาสสนใจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมมูเตลูมากกว่ากลุ่ม Baby Boomer ถึง 2 เท่า

 

การดูดวงโดยใช้ AI โอกาสใหม่สายมู

 

ปัจจุบัน AI ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยมนุษย์ได้แทบทุกเรื่องไม่เว้นแม้แต่มูเตลู เช่น เป็นผู้ช่วยในเรื่องการทำนายดวง11/ ทั้งนี้ หากมีการนำ AI มาใช้ในการดูดวง ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 52.2 จะมีความสนใจดูดวงเพิ่มขึ้น โดยเกินกว่าครึ่งของ Gen Y และ Gen X จะสนใจดูดวงเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ AI มาช่วย (ร้อยละ 55.7 และ ร้อยละ 52.0 ตามลำดับ) โดย Gen Y และ Gen X มีโอกาสสนใจใช้ AI ช่วยดูดวงมากกว่า Baby Boomer ถึง 2.3 เท่า

 

นอกจากนี้ พบว่าราว 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดมีความสนใจใช้ AI ช่วยดูดวงเป็นอย่างยิ่งจนต้องการทดลองใช้ทันที โดย Gen Z มีสัดส่วนดังกล่าวสูงที่สุด (ร้อยละ 28.4) นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หากนำ AI มาช่วยดูดวง ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะ “ตื่นเต้น” จนอยากทดลองใช้ทันทีมากกว่ากลุ่มที่อาวุโสกว่า ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของผู้ที่สนใจทดลองใช้ทันทีใน Gen Y ที่ร้อยละ 26.2 ขณะที่ Gen X และ Baby Boomer มีสัดส่วนที่ลดหลั่นกันมาที่ร้อยละ 25.7 และ 13.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตระหนักว่า AI อาจสร้างคำตอบหรือคำทำนายที่ผิดเพี้ยนได้ โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 12 ไม่สนใจการใช้ AI ช่วยดูดวงเพราะกังวลเรื่องความผิดพลาดจากเทคโนโลยีนี้

 

มุมมองวิจัยกรุงศรี: เมื่อพลังศรัทธานำพาโอกาสทางธุรกิจ

 

ผลการศึกษาครั้งนี้ตอกย้ำว่า ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังมงคลยังคงมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเทคโนโลยี แต่การแสดงออกถึงความเชื่อเหล่านี้อาจถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีมีมุมมองที่อาจเป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจที่เล็งเห็นโอกาสในการเข้าถึงและครองใจผู้บริโภคกลุ่ม “สายมูดิจิทัล” หรือต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีและตรงใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ดังนี้

 

จุดเด่น และจุดต่าง ของผู้บริโภคสายมูแต่ละ Gen

 

ผู้บริโภคกลุ่ม Baby Boomer จัดเป็นกลุ่ม “จ่ายหนัก” ในเรื่องการซื้อสินค้าสายมู กล่าวคือมีสัดส่วนผู้ที่ใช้จ่ายเกิน 5,000 บาทต่อปีสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ โดยสัดส่วนของการจ่ายหนักจะลดหลั่นตามช่วงอายุ (รองลงมาคือ Gen X  Gen Y และ Gen Z ตามลำดับ) โดยเป้าหมายของการมูสำหรับ Baby Boomer ส่วนใหญ่คือการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้น สินค้าสายมูเพื่อสุขภาพ เช่น สร้อยข้อมือหินสุขภาพ อัญมณีมงคลเสริมพลังชีวิต จะสามารถดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้ได้มาก แต่ต้องเป็นสินค้าที่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้ด้วยมือ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่สนใจการใช้เทคโนโลยีในเรื่องที่เกี่ยวกับสายมูเท่ากับลูกค้าในกลุ่มอายุอื่นๆ

 

กลุ่ม Gen X และ Gen Y มีความเป็น “สายมูดิจิทัล” หรือสนใจในด้านเทคโนโลยีมากกว่า Baby Boomer โดยกลุ่มใหญ่มีเป้าหมายการมูเพื่อโชคลาภและทรัพย์สิน ผู้บริโภคสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนผู้ที่ “จ่ายหนัก” หรือจ่ายมากกว่า 5,000 บาทต่อปี ในเรื่องการซื้อสินค้าสายมูใกล้เคียงกับกลุ่ม Baby Boomer และราว 1 ใน 3 ของสองกลุ่มนี้ยังคงใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกิน 1,000 บาทต่อปี และใช้จ่ายไปกับบริการสายมูมากกว่า 1,000 บาทต่อปี ดังนั้น คนสองกลุ่มนี้จึงเป็นตลาดใหญ่ของทั้งสินค้าและบริการสายมูทั้งแบบจับต้องได้และแบบใช้เทคโนโลยี เช่น สินค้าเสริมโชคลาภประเภทกำไล เครื่องประดับ วัตถุมงคล เครื่องรางดิจิทัล การดูดวงผ่านแอปพลิเคชันมือถือ โดยเฉพาะการนำ AI มาใช้ดูดวง อย่างไรก็ตาม Gen X จะมีความคล้าย Baby Boomer ในด้านความนิยมวัตถุมงคลและเครื่องราง ส่วน Gen Y จะนิยมกับการซื้อสินค้าสายมูผ่านออนไลน์มากกว่า เช่น วอลเปเปอร์มงคลสำหรับโทรศัพท์มือถือ

 

สำหรับ Gen Z ที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนหรือเริ่มทำงาน ส่วนใหญ่มักมีเป้าหมายการมูโดยเน้นหน้าที่การงานและการเรียน โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความถี่ในการดูดวงมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ กล่าวคือมีการดูดวงอย่างน้อยทุก 3 เดือนมากที่สุด และยังสนใจแอปพลิเคชันดูดวง ภาพศิลปะ NFT เสริมดวง หรือการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่าน AR / VR มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งในอนาคต เมื่อ Gen Z มีอายุมากขึ้นและมีรายได้มากขึ้น ตลาดสินค้า/บริการสายมูดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นก็น่าจะเติบโตขึ้นตามไปด้วย เพราะการนำความเชื่อมาผสมผสานกับนวัตกรรมที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ เช่น การดูดวงแบบ AI อัจฉริยะที่เรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้งานเพื่อให้คำทำนายที่เจาะจง ก็จะยิ่งสามารถดึงดูดใจลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ในอนาคต

 

LGBTQ+ โอกาสตลาดบริการสายมูดิจิทัล

 

คนทุกช่วงวัยนิยมการเดินทางไปสักการะหรือขอพรที่พึ่งทางใจ แต่ผลสำรวจบ่งชี้ว่าวัยทำงานมักมีภาระประจำมากจนไม่มีเวลาไปประกอบกิจกรรมดังกล่าว อีกทั้งผู้สูงวัยบางกลุ่มก็ไม่สะดวกในการเดินทางไปประกอบกิจกรรมมูเตลู ซึ่งอุปสรรคสำคัญสองประการนี้ได้ก่อให้เกิดตลาดบริการสายมูดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบการรับจ้างไปประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อแทน และเนื่องจากผลการวิจัยชี้ว่า LGBTQ+ คือกลุ่มที่นิยมเดินทางไปสักการะหรือขอพรที่พึ่งทางใจมากกว่าเพศหญิงและเพศชาย ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำการตลาดแก่บริการดังกล่าว โดย LGBTQ+ นิยมขอพรเรื่องความสำเร็จในหน้าที่การงานและการเรียนควบคู่ไปกับเรื่องทรัพย์และโชคลาภ

 

ผลการวิจัยยังพบอุปสรรคอื่นๆ ของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Gen X และ Gen Y คือ การไม่มีเพื่อนร่วมกิจกรรมสายมูและการขาดความรู้ว่าจะไปทำกิจกรรมสายมูได้ที่ใด ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของบริการสายมูดิจิทัลอีกหลายรูปแบบ เช่น การจัดทัวร์มูเตลูที่เน้นความสะดวกและประสบการณ์สักการะ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของทัวร์ออนไลน์ หรือการจัดทัวร์ไปยังสถานที่โดยรับจองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ได้

 

แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป..แต่พลังศรัทธาไม่เสื่อมไปตามกาลเวลา

 

เศรษฐกิจสายมูในอนาคตจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความเชื่อ แต่จะกลายเป็นโอกาสที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีและธุรกิจภาคส่วนต่างๆ โดยตลาดสายมูจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเสริมโชคลาภ การท่องเที่ยวมูเตลู และบริการทางการเงิน ดังนั้น การสร้างแพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าและบริการสายมูในที่เดียว เช่น “มูมาร์เก็ต” จะช่วยกระตุ้นตลาดและตอบสนองความต้องการนี้

 

นอกจากนี้ เมื่อพลังความเชื่อและศรัทธาได้หลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยี เช่น AI, AR/VR และ NFT จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนวิธีการประกอบกิจกรรมสายมู ผู้บริโภคจะมองหาประสบการณ์เชิงดิจิทัลมากขึ้น เช่น การทำพิธีออนไลน์ หรือการบูชาผ่านแพลตฟอร์ม (Virtual Ceremony) การดูดวงผ่านแอปพลิเคชัน หรือการซื้อเครื่องรางดิจิทัล ทั้งนี้ แม้รูปแบบของการแสดงออกจะเปลี่ยนไป แต่แก่นแท้ของศรัทธายังคงอยู่ แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่ความเชื่อและพลังศรัทธาจะยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ต่อไปในอนาคต

SMC หนุนใช้ดิจิทัลปั้นอุตสาหกรรม 4.0

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center) ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ พันธมิตรภาคอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมเปิดบ้านศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC Open House 2024) ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน (Sustainable Digital Transformation)

 

โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า เนคเทค สวทช. มีพันธกิจสำคัญในการนำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เนคเทคมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีในหลากหลายด้าน เช่น AI ระบบอัตโนมัติ และ IoT เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิต เรายังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน SMC ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานจริง SMC ช่วยเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไทย

 

ยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 3,636 ล้านบาท

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ SMC คือ การผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมและพัฒนาให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานได้อย่างยั่งยืน การดำเนินงานในปี 2567 SMC สนับสนุนการยกระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี ARI (Automation Robotic and Intelligent System) รวม 131 โรงงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 3,636 ล้านบาท

 

ผ่านบริการด้านต่าง ๆ ของ SMC เช่น การให้คำปรึกษาและช่วยขอรับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ BOI คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,036 ล้านบาท การประเมินความพร้อมอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand i4.0 Index ทั้งแบบ Full Assess และ Self Assess รวมกว่า 400 โรงงาน,การพัฒนายกระดับศักยภาพของบุคลากรในภาคการผลิตผ่านโครงการ SMC Academy 1,138 ราย จาก 35 บริษัท ใน 14 หลักสูตรด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform ในปี พ.ศ. 2565 – 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 132 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 19 ล้านบาท โดยยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่าง กรณีของบริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด ซึ่งได้เชื่อมต่อข้อมูลเข้าสู่ IDA Platform พร้อมทั้งปรับแต่ง Dashboard ให้สามารถแสดงข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานได้อย่างครบถ้วน โดยข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาวิเคราะห์และออกแบบเป็นมาตรการประหยัดพลังงานที่สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 18,850 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 226,200 บาทต่อปี

 

SMC ยังสนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในโรงงาน โดยเปิดให้บริการเครื่องมือช่วยพัฒนา Edge IoT และ Machine Learning โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม ผ่าน 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ “Daysie” แพลตฟอร์มที่ช่วยในการสร้างและกระจายซอฟต์แวร์ IoT/Edge Computing ไปยังอุปกรณ์ของท่านผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมและนำอุปกรณ์มาติดตั้งซอฟต์แวร์ทีละตัว และ “NoMadML” แพลตฟอร์ม AI ที่พัฒนาขึ้นสำหรับงานทางด้าน Computer vision นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในการตรวจสอบการผลิต ใช้งานง่าย เทรนโมเดลเองได้ ไม่ต้องเขียนโค้ด สามารถเลือกพารามิเตอร์ที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ

 

“SMC มุ่งเป้าความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก SMC ให้บริการศูนย์ทดสอบมอเตอร์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศที่สามารถทดสอบมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดสูงสุด 380 kW ได้ตามมาตรฐานนานาชาติ เช่น ISO-21782 และ UNECE-R85 และร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับใช้เป็นระบบคำนวณและทวนสอบ เพื่อให้สามารถรองรับภายใต้ข้อกำหนดของมาตรการการปรับภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)” ดร.พนิตา อธิบาย

 

เป้าหมาย แผนงาน SMC ในปี 2568

ในปี 2568 SMC มีเป้าหมายสำคัญในการต่อยอดผลการประเมินพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนี้ชี้วัด Thailand i4.0 Indexเพื่อการพัฒนาไปสู่ แผนการและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างเป็นระบบ ได้แก่

 

  1. การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (DX Roadmap) SMC จะใช้ข้อมูลการประเมินพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนี้ชี้วัด Thailand i4.0 Index มาเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการออกแบบแผนในการทำ Digital Transformation สู่อุตสาหกรรรม 4.0 อย่างเป็นขั้นตอนครอบคลุมทุกกระบวนการในโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่ การบูรณาการระบบและการจัดการภายในองค์กร การจัดการทรัพยากร การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น

 

  1. การนำแผนไปปฏิบัติจริง (Implementation) เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่การวางแผน แต่จะเน้นไปที่การนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติจริงในโรงงาน โดย SMC มุ่งเน้นสนับสนุนการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงงาน เช่น IoT, AI, และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน การผลิต ลดของเสีย และลดการใช้พลังงาน

 

  1. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการทำ Digital Transformation ในภาคอุตสาหกรรมให้สำเร็จ คือ การสร้างความพร้อมให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรม โดย SMC มุ่งพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมผ่าน SMC Academy เพื่อให้บุคลากรสามารถปรับตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0

 

  1. การสนับสนุนแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืน แผนงาน DX Roadmap & Implementation จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก SMC พัฒนา ACAMP หรือ Automated Carbon Accounting Management Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการคาร์บอนแบบอัตโนมัติ สามารถติดตามข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรแบบเรียลไทม์ บันทึกและจัดเก็บข้อมูลปีฐาน ช่วยให้เห็นภาพรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในทันที สามารถใช้ในการวางแผน การลดต้นทุนการผลิตและติดตามการใช้ทรัพยากรอย่างใกล้ชิด

“เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ”

นวัตกรรมใหม่ ปฏิวัติการขนส่งโลก

รถไฟฟ้า รถยนต์อัตโนมัติ หลีกไป รถบินได้กำลังจะมา ในปัจจุบันนี้ “เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ” ซึ่งหมายถึง ยานบินพลเรือนไร้คนขับที่บินในระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้ UAV (ยานบินไร้คนขับ) eVTOL (เครื่องบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งแบบไฟฟ้า) และยานบินระดับความสูงต่ำอื่นๆ สำหรับการใช้งานต่างๆ กำลังก้าวขึ้นมาเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่จะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปอย่างสิ้นเชิง

 

จีน ผู้นำอุตสาหกรรมการบินระดับต่ำ

โดยเศรษฐกิจการบินระดับต่ำ มีต้นกำเนิดในประเทศจีน จึงทำให้จีนเป็นผู้นำในด้านนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่ง และมีบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเมืองเซินเจิ้นอยู่ในแถวหน้า มีบริษัทประมาณ 1,500 แห่ง ในภาคส่วนนี้ ที่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.5 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ในปี 2022 และไต้ตั้งเป้าภายในปี 2025 จะมีบริษัทที่เข้าสู่ธุรกิจนี้มากกว่า 1,700 แห่ง และมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านหยวน หรือกว่า 4.7 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ นอกจากเมืองเซินเจิ้นแล้ว รัฐบาลจีนยังได้สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ไปยังเมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เช่น กว่างโจว ที่รัฐบาลท้องถิ่นได้อัดฉีดเงินอุดหนุนสำหรับโครงการที่เข้าเงื่อนไข และวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวทางอากาศยานไร้คนขับ เมืองเซี่ยงไฮ้ สนับสนุนการบูรณาการอุตสาหกรรม วิชาการ การวิจัย และการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ มณฑลอานฮุย ได้ปฏิรูปการจัดการน่านฟ้ารองรับอุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และมณฑลหูหนาน เป็นมณฑลแรกที่ได้เปิดเส้นทางการบินระดับความสูงต่ำที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว 97 เส้นทาง สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม โดยมีโครงการเมืองท่องเที่ยวการบินในระดับต่ำ Jiangmen ได้สั่งซื้อ XPeng Aeroht eVTOL จำนวน 100 เครื่อง ในขณะที่เมือง Taiyuan ซื้อ EHang EH-216 eVTOL จำนวน 500 เครื่อง

 

ทั่วโลกตื่นตัว เร่งพัฒนา eVTOL

จากความตื่นตัวในอุตสาหกรรมการบินระดับต่ำนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันระดับโลก โดยมีประเทศสหรัฐฯ ได้เร่งพัฒนา eVTOL อย่างเต็มที่ ซึ่งมีบริษัทผลิตอากาศบินชั้นนำอย่างJoby Aviation เป็นหัวหอกในการพัฒนา eVTOL และยังมีผู้บุกเบิกการขนส่งด้วยโดรน  เช่น Amazon Prime Air และ Wing Aviation โดยสหรัฐฯ มีศักยภาพสูงในด้านเทคโนโลยีและขนาดของตลาด ซึ่งในปี 2023 สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกแนวปฏิบัติด้านการเดินอากาศของ eVTOL ส่งสัญญาณถึงการสนับสนุนด้านกฎระเบียบ ในขณะที่บริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาด eVTOL อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นจากการกีดกันการค้ากับจีน ที่อาจจำกัดโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ

 

ส่วน ในยุโรป ได้มีบริษัทสตาร์ทอัพ eVTOL เช่น Volocopter และ Lilium ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Airbus และ Rolls-Royce; EASA กำลังพัฒนาข้อบังคับสำหรับการรับรองและการดำเนินงาน eVTOL อย่างแข็งขัน โดยประเทศเยอรมนี มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจการบินในระดับความสูงต่ำ โดยเฉพาะเครื่องบิน eVTOL ขนาดใหญ่สำหรับการขนส่งระยะไกล ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และอวกาศที่แข็งแกร่งของประเทศจะเป็นตัวเร่งสำคัญ รวมทั้งสหภาพยุโรปยังได้นำนโยบาย eVTOL มาใช้ในปี 2024 ซึ่งส่งผลดีต่อเยอรมนี

นอกจากนี้ ยังมีสหราชอาณาจักร ที่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมโดรน ซึ่งได้จัดทำกรอบการกำกับดูแลในด้านการขับขี่ eVTOL โดยมีบริษัทอย่าง Rolls-Royce เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา eVTOL ซึ่งการมีเทคโนโลยีด้านการบินและอวกาศที่แข็งแกร่งอาจผลักดันการเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม ขนาดตลาดของสหราชอาณาจักรค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและจีน

ในฝากฝั่งเอเชียแล้ว นอกจากประเทศจีน ก็ยังมีประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ลงทุนในระบบขนส่งในระดับความสูงต่ำ ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงและหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ต้องแข่งขันกับจีนในตลาดเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผ่านมา สตาร์ตอัปญี่ปุ่น SkyDrive เปิดตัวรถยนต์บินได้แบบ eVTOL รุ่น SD-03 ในงาน CES 2022 ซึ่งเป็นการเปิดตัวนอกประเทศครั้งแรก หลังจากผ่านการทดสอบและได้รับการรับรอง และได้เป็นรถยนต์บินได้รายแรกของประเทศญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตจึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการได้ทันภายในปี 2025

 

ขณะที่อินเดีย InterGlobe Enterprises (IGE) ผู้สนับสนุนสายการบิน IndiGo สายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดีย ได้ร่วมมือกับ Archer Aviation สตาร์ทอัพที่พัฒนา eVTOL ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Boeing, United Airlines และ Stellantis โดยได้มีการออกแบบ “Midnight” แท็กซี่บินได้ที่บรรทุกคนได้ 5 คน รวมผู้ควบคุมการบินด้วย โดยสามารถบินได้เป็นระยะทาง 160 กิโลเมตร และทั้งสองบริษัทหวังจะเปิดตัวบริการแท็กซี่บินได้ ภายในปี 2026

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ ถือได้ว่าเป็นผู้นำธุรกิจการบินระดับต่ำของอาเซียน โดยได้ร่วมกับ Volocopter ผู้บุกเบิกการเคลื่อนย้ายทางอากาศในเมือง (UAM) จากยุโรป จากการการศึกษา พบว่า บริการ UAM สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 4.18 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และสร้างงานในท้องถิ่นได้มากถึง 1,300 ตําแหน่งภายในปี 2030 ซึ่งการเปิดตัวครั้งแรกจะเป็นเที่ยวบินท่องเที่ยวเหนืออ่าวมารีน่าและเซ็นโตซ่า จากนั้นขยายเครือข่ายเพื่อรวมเที่ยวบินข้ามพรมแดนไปยังอินโดนีเซียและมาเลเซีย และได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีสถานี VoloCity ให้บริการ 46 แห่ง ภายในปี 2030 โดยกําลังพิจารณาในพื้นที่ Marina South, Sentosa และ Changi

 

ภาคส่วนสำคัญภายในเศรษฐกิจระดับต่ำ

การสัญจรทางอากาศในเมือง (UAM) เกี่ยวข้องกับการใช้ eVTOL สำหรับการขนส่งผู้โดยสารในสภาพแวดล้อมในเมือง ภาคส่วนนี้มีเป้าหมายเพื่อให้บริการแท็กซี่ทางอากาศที่สามารถบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกที่คับคั่งและช่วยให้เดินทางภายในเมืองได้เร็วขึ้น เซินเจิ้นในประเทศจีนได้เปิดตัวเส้นทางแท็กซี่ทางอากาศแล้วหลายเส้นทางแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และการยอมรับของสาธารณะชนในเทคโนโลยีนี้ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารในเมือง

 

นิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา Joby Aviation และ BLADE Urban Air Mobility ร่วมมือกันเปิดตัวบริการแท็กซี่ทางอากาศภายในเมือง โดยเชื่อมต่อแมนฮัตตันกับสนามบิน JFK บริการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ eVTOL ในการลดเวลาเดินทางและบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งในเมืองที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

ปารีส ประเทศฝรั่งเศส Volocopter ร่วมมือกับ Groupe ADP และ RATP Group ดำเนินการทดสอบเที่ยวบิน eVTOL หลายเที่ยวในภูมิภาคปารีส เที่ยวบินดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการบูรณาการบริการ eVTOL เข้ากับเครือข่ายการขนส่งที่มีอยู่ และศักยภาพในการเชื่อมโยงสนามบินหลักกับศูนย์กลางเมือง

 

ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นผู้นำด้านการนำเทคโนโลยี eVTOL มาใช้ โดยที่สำนักงานถนนและการขนส่งแห่งดูไบ (RTA) ร่วมมือกับบริษัท Volocopter ของเยอรมนีเพื่อเปิดตัวบริการแท็กซี่บินได้ โดยเมืองนี้มีเป้าหมายที่จะให้การเดินทางขนส่งทั้งหมด 25% เป็นระบบอัตโนมัติภายในปี 2030 โดย eVTOL จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ

 

เซาเปาโล บราซิล ได้มีโครงการสาธิต Voom UAM ดำเนินการมาเป็นเวลา 4 ปี โดยให้บริการการสัญจรทางอากาศในเมืองโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ มีผู้โดยสารเดินทางด้วยเครื่องบินมากกว่า 15,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของแท็กซี่ทางอากาศในการลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง

 

โดรนขนส่ง ปฎิวัติระบบโลจิสติกส์

นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว การยกระดับโลจิสติกส์ด้วยการใช้โดรนในการขนส่งสินค้า ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำ ซึ่งรวมถึงการขนส่งสินค้าในเมืองเดียวกันและข้ามเมือง สามารถลดเวลาและต้นทุนการจัดส่งได้อย่างมาก บริษัทใหญ่ๆ เช่น Amazon และ DHL กำลังทดลองใช้ระบบการจัดส่งด้วยโดรน ซึ่งมี Amazon Prime Air ของ Amazon กำลังทดสอบโดรนส่งของรุ่น MK27 ซึ่งสามารถบรรทุกพัสดุที่มีน้ำหนักสูงสุด 5 ปอนด์ได้ภายในระยะ 7.5 ไมล์ โดรนรุ่นนี้ใช้เทคโนโลยีตรวจจับและหลีกเลี่ยงเพื่อนำทางอย่างปลอดภัย ส่วน DHL ได้ทำการทดสอบระบบส่งของด้วยโดรน Parcelcopter ในประเทศเยอรมนี และได้ดำเนินการทดลองมาแล้วหลายครั้ง

 

และยังมี Wing ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ดำเนินการบริการจัดส่งด้วยโดรนในออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และสหรัฐฯ โดรนของบริษัทสามารถขนส่งพัสดุที่มีน้ำหนักสูงสุด 3.3 ปอนด์ได้ในระยะ 6 ไมล์ UPS Flight Forward ของ UPS ร่วมมือกับ Matternet เพื่อจัดส่งเวชภัณฑ์ด้วยโดรน โดยโดรน M2 สามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงสุด 5 ปอนด์ และมีระยะทางบิน 12.5 ไมล์

ในขณะที่ FedEx ได้ร่วมมือกับ Elroy Air เพื่อพัฒนาเครื่องบินขนส่งสินค้าไร้คนขับ Chaparral เครื่องบินขนส่งอัตโนมัติแบบไฮบริดไฟฟ้าลำนี้สามารถขนส่งสินค้าหนัก 300-500 ปอนด์ได้ไกลถึง 300 ไมล์ และ SF Express ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งของจีน กำลังทดสอบโดรนขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ในมณฑลยูนนาน โดรนรุ่น FH-98 มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 1.5 ตัน และมีพิสัยการบิน 1,200 กม.

 

ธุรกิจท่องเที่ยวด้วย eVTOL

ในส่วนของการท่องเที่ยวการบินในระดับความสูงต่ำ ได้นำ eVTOL มาให้บริการ เพื่อชมทัศนียภาพทางอากาศและมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ภาคส่วนนี้สามารถมอบทัศนียภาพอันน่าทึ่งและประสบการณ์ที่ดื่มด่ำซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีอื่น โดยใช้รถโดยสารบินได้รุ่น EH216-S eVTOL ของ EHang เพื่อการท่องเที่ยวชมสถานที่สวยงาม เช่น Landing Lake ในประเทศจีน

 

ด้านยุโรป VoloCity ของ Volocopter ซึ่งเป็นบริษัทของเยอรมัน ได้นำเสนอบริการการท่องเที่ยวแบบ eVTOL ในประเทศสิงคโปร์ โดยมอบมุมมองที่ไม่ซ้ำใครให้กับผู้โดยสารเกี่ยวกับเส้นขอบฟ้าของเมืองแห่งนี้ รวมทั้งยังมี eVTOL ของ Joby Aviation ซึ่งเป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ ได้ทำการทดสอบเครื่องบิน eVTOL เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งแกรนด์แคนยอนด้วย

 

การท่องเที่ยวด้วย eVTOL มอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครและน่าตื่นเต้นในการสัมผัสกับทัศนียภาพที่สวยงาม โดยให้ผู้โดยสารได้ชมทัศนียภาพจากมุมสูง ขณะเดียวกันก็เพิ่มการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีดั้งเดิม ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับจุดหมายปลายทางที่ยังไม่เคยสำรวจมาก่อนได้

 

ในด้านภาคเกษตรกรรม โดรนใช้สำหรับการติดตามพืชผล การพ่นยา และการเกษตรแม่นยำ การใช้งานเหล่านี้สามารถเพิ่มผลผลิตพืชผล ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร โดรนที่ติดตั้งเซ็นเซอร์สามารถให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสุขภาพพืชผล สภาพดิน และการระบาดของแมลงศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินการทางการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งในระบบแบบเก่าไม่สามารถทำได้ทั่วถึง

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำ ยังช่วยในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบ โดยโดรนถูกนำมาใช้มากขึ้นในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน การรักษาความปลอดภัย และบริการฉุกเฉิน โดรนสามารถตรวจสอบพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สะพานและท่อส่งน้ำ และให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ในกรณีฉุกเฉิน ความสามารถนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดต้นทุนการตรวจสอบ และทำให้ตอบสนองได้เร็วขึ้นในสถานการณ์วิกฤต รวมทั้งยังได้นำโดรนมาใช้ด้านความปลอดภัยสาธารณะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ตอบสนองเหตุฉุกเฉินและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมาก

 

โดย กรมดับเพลิงลอสแองเจลิส ได้ใช้โดรนจำนวนมากในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การประเมินความเสี่ยง การตอบสนองต่อภัยพิบัติ และปฏิบัติการสืบสวน โดรนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุอันตราย ภารกิจค้นหาและกู้ภัยในเมือง และการกู้ภัยทางน้ำ โดยให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์และมุมมองทางอากาศที่ช่วยปรับปรุงการรับรู้สถานการณ์และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

 

โอกาสทางอาชีพในอุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำ

โดยในอุตสาหกรรมใหม่นี้ จะมีความต้องการนักบิน UAV และโดรน เพื่อถ่ายภาพทางอากาศ การสำรวจ การขนส่ง และการตรวจสอบ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังต้องการนักบิน eVTOL สำหรับบริการการสัญจรทางอากาศในเมือง เช่น แท็กซี่ทางอากาศ วิศวกรและช่างเทคนิค ออกแบบ พัฒนา และบำรุงรักษา UAV และ eVTOL โดยเน้นที่อากาศพลศาสตร์ ระบบขับเคลื่อน อากาศยาน และวัสดุ ตลอดจนความต้องการนักวิเคราะห์ข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญด้านไอที จัดการข้อมูลที่สร้างขึ้นโดย UAV และ eVTOL เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและรับรองความปลอดภัย โดยอุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำ จะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ที่หลากหลาย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่อีกเป็นจำนวนมาก

 

ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคต

แม้ว่าเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น ความปลอดภัยและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ยังคงบดบังการพัฒนาเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำ มาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดและกรอบการกำกับดูแลที่เข้มแข็งมีความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากสาธารณชน

นอกจากนี้จะเป็นเรื่องต้นทุน ซึ่งในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับเครื่องบิน eVTOL และบริการโดรนขนส่งยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการประหยัดต่อขนาด คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว

 

รวมทั้งยังต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาสถานีรับส่งอากาศยานที่บินแนวตั้ง สถานีชาร์จ และระบบ UTM ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรองรับการปฏิบัติการบินในระดับต่ำ และการยอมรับของสาธารณะ เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องเสียง ความเป็นส่วนตัว และมลภาวะทางสายตา จะเป็นสิ่งสำคัญในการได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนสำหรับการดำเนินธุรกิจในพื้นที่เขตเมือง รวมทั้งยังมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานพาหนะการบินในระดับความสูงต่ำ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ระบบการบินอัตโนมัติ และความสามารถในการหลีกเลี่ยงการชน

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำจะสร้างโอกาสในการทำงานที่หลากหลายในด้านวิศวกรรม การดำเนินงาน การวิเคราะห์ข้อมูล การบำรุงรักษา กิจการกำกับดูแล การวางผังเมือง โลจิสติกส์ และอื่นๆ ความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะหลายสาขา เช่น การบิน หุ่นยนต์ และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำ มีแนวโน้มที่จะปฏิวัติการขนส่งในเมือง โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดยความก้าวหน้าของ UAV, eVTOL และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของการค้า การเดินทาง และชีวิตในเมืองทั่วโลกในอนาคต

 

โอกาสของประเทศไทย

ในส่วนของอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำแล้ว ประเทศไทยแม้ว่าจะยังห่างไกลจากเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ก็มีโอกาสพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้โดยเริ่มด้วยการสร้างความร่วมมือกับประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิต เช่น ส่งเสริมผู้ผลิตโดรนภายในประเทศไปสู่การผลิตโดรนเชิงพาณิชย์ ยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไปสู่การผลิตชิ้นส่วนของโดรน หรือ eVTOL ปรับปรุงกฎระเบียบปูทางให้กับธุรกิจการบินในระดับต่ำ รวมทั้งใช้จุดเด่นการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก นำ eVTOL มาให้บริการนักท่องเที่ยว หรือใช้ในพื้นที่เมืองที่มีจราจรติดขัด ซึ่งเมื่อเกิดตลาดภายในประเทศแล้ว ก็ไม่ยากที่จะดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาผลิตภายในประเทศ และอาจจะเห็นไทยขยายจากผู้นำผลิตยานยนต์ในภูมิภาค ไปสู่ฮับอุตสาหกรรมการบินระดับต่ำของอาเซียนได้ในอนาคต

รัฐบาล หนุน เศรษฐกิจอวกาศ

เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต 15 ลล.บาท

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ เพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุ ชิ้นส่วนด้านอากาศยาน และอวกาศ เพื่อเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และยังเป็น S-Curve ใหม่ ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคต  รวมทั้งเศรษฐกิจอวกาศยังเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีอวกาศ จึงช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก และก้าวนำประเทศคู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามาสร้างโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจอวกาศให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาเติมเต็มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ

โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตโดยการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก

นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุและชิ้นส่วนด้านอากาศยานและอวกาศ สนับสนุนการเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่อไปอีกด้วย

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การลงนามครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ GISTDA จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันการใช้ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน GISTDA ได้ตระหนักถึงความสำคัญและแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขพบว่าทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 8.1 มูลค่าสูงราว 415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14.9 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากการศึกษาวิเคราะห์ของ GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงสะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต

ดังนั้น GISTDA จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ บุคลากร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่จะสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป

ฮุนได เลือกไทยตั้งฐานผลิต EV

จับมือธนบุรีฯเดินเครื่องผลิตปี 69

 

“ฮุนได” เชื่อมั่นนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย หนุนประเทศไทยฐานผลิต EV ระดับโลก ทุ่มงบ 1,000 ล้านบาท จับมือ “ธนบุรีประกอบรถยนต์” เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV และแบตเตอรี่ครบวงจร พร้อมเดินเครื่องผลิตต้นปี 2569

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการของบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งจากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) และผลิตแบตเตอรี่ โดยเริ่มจากขั้นตอนการประกอบโมดูล เพื่อป้อนให้กับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

 

โดยมีบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นพันธมิตรสำคัญในการลงทุนครั้งนี้ ซึ่งบริษัทพร้อมจะเริ่มลงทุนทันที และตั้งเป้าจะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2569 นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งบีโอไอจะทำงานร่วมกับบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศให้ได้มากที่สุด

 

ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก และค่ายรถยนต์รายใหญ่อย่างฮุนได ก็ถือเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล การลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ EV ของค่ายเกาหลีในครั้งนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยและนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย

 

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของฮุนไดในครั้งนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับไทยเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก และจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยในการเข้าสู่ Supply Chain ของอุตสาหกรรมระดับโลกด้วย

 

ในส่วนของแนวโน้มตลาด EV ทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง จากข้อมูล Global EV Outlook 2024 โดย IEA พบว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดขายรถยนต์ EV ทั่วโลก มีอัตราเติบโตร้อยละ 25 และคาดว่าสิ้นปี 2567 จะมียอดขายรถยนต์ EV รวมกันกว่า 17 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก โดยปัจจุบันบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตยานยนต์ BEV ประเภทต่าง ๆ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท

บีโอไอ เปิดตัว Matching Fund

หนุน Startup ผลิตนวัตกรรมสู่ตลาดโลก

 

บีโอไอ ออกมาตรการสนับสนุน Startup ไทย รับกระแสการลงทุนยุคใหม่ พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เปิดตัว Matching Fund ภายใต้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ลงเงินร่วมกับกองทุนของเอกชน (Venture Capital) โดยบีโอไอจะสนับสนุน Startup ศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท ติดปีก Startup ไทย ให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (บอร์ดกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง” เพื่อส่งเสริม Startup ไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอยู่ในระยะการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ ตั้งแต่ระดับ Pre Series A ถึง Series A

 

โดยบีโอไอจะให้เงินสนับสนุนแก่ Startup รายละ 20 – 50 ล้านบาท ในลักษณะการร่วมลงทุน (Matching Fund) ร่วมกับกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ของเอกชน เพื่อสนับสนุน Startup ที่มีศักยภาพของไทยให้สามารถต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพื่อขยายธุรกิจในตลาดโลกและเติบโตไปสู่ระดับยูนิคอร์นได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอรับการส่งเสริม จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย มีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และกลุ่มผู้ก่อตั้ง (Founder) ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 โดยต้องดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ เกษตร อาหาร การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ เป็นต้น และต้องเสนอแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะแผนการออกสู่เวทีระดับโลก เช่น แผนระดมทุนรอบถัดไปในต่างประเทศ แผนส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการไปจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ มีเงื่อนไขว่าบริษัทต้องได้รับเงินทุนจากกองทุน Venture Capital (VC) มาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท และต้องมีกองทุน VC ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (Listed VC) แสดงเจตจำนงจะลงทุนเพิ่มเติม โดยบีโอไอจะพิจารณาให้เงินสนับสนุนรายละ 20 – 50 ล้านบาท แต่ต้องไม่เกินมูลค่าเงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก Listed VC ซึ่งบีโอไอจะจ่ายเงินสนับสนุนร้อยละ 50 เมื่อบริษัทได้รับเงินสนับสนุนจาก Listed VC ตามจำนวนที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกร้อยละ 50 จะจ่ายเมื่อบริษัทดำเนินการตามตัวชี้วัดที่กำหนดสำหรับแต่ละรายแล้วเสร็จ นอกจากเงินสนับสนุนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในบริษัทจะได้รับการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และบริษัทยังคงสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรได้ตามมาตรการปกติของบีโอไออีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อน “มาตรการส่งเสริม Startup ที่มีศักยภาพสูง” ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองโครงการ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบีโอไอและหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการส่งเสริม Startup เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น

 

“แหล่งเงินทุนและบุคลากร เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของ Startup บีโอไอจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนทั้งสองด้านนี้ ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับกองทุน Venture Capital ระดับมืออาชีพ ในการร่วมกันส่งเสริม Startup ไทยที่มีศักยภาพ ให้มีเงินทุนเพียงพอในการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ให้ขยายออกไปสู่ตลาดโลก และเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตไปสู่ระดับยูนิคอร์นต่อไป อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทย

พุ่งสู่อันดับ 5 ของโลก

 

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center โดยในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปีที่แล้ว และอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 1 ของโลก ซึ่งดีกว่าปีที่ผ่านมาที่ไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยใช้ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2567 มีรายละเอียดที่สำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้

 

  1. ด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)

ภาพรวมไทยมีอันดับดีขึ้นจากปี 2566 ถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 5 ของโลกในปี 2567 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 23 อันดับ จากอันดับ 29 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 6 ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศ อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ จากอันดับที่ 44 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 39

 

  1. ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)

ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่แล้ว โดยปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้น คือการคลังภาครัฐ  ปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 ปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัย ย่อยคือ นโยบายภาษี อันดับ 8 และกรอบการบริหารสังคม อันดับ 47 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 2 ปัจจัยย่อยคือ กรอบการบริหารภาครัฐ ลดลง 5 อันดับ จากอันดับ 34 มาอยู่ที่อันดับ 39 และกฎหมายธุรกิจ ลดลง 8 อันดับ จากอันดับ 31 มาอยู่ที่อันดับ 39

 

  1. ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)

ภาพรวมปรับอันดับดีขึ้นจากปี 2566 เล็กน้อย 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 ในปี 2567 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการบริหารจัดการ (ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 22 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 15 และทัศนคติและค่านิยม ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย 1 อันดับ จากอันดับ 19 มาอยู่ที่อันดับ 18

 

  1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่แล้ว โดยไม่มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้ว ในขณะที่ มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัยย่อยคือ โครงสร้างด้านเทคโนโลยี อันดับ 25 และการศึกษา อันดับ 54 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 3 ปัจจัยย่อยคือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 22 มาอยู่ที่อันดับ 23 โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์  ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 39 มาอยู่ที่อันดับ 40 และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ลดลง 2 อันดับ จากอันดับ 53 มาอยู่ที่อันดับ 55

 

อย่างไรก็ตามจากเขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ มีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2567 อันดับ 1 ยังคงเป็นสิงคโปร์ และยังเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาเป็นไทย อันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 25 ของโลก อินโดนีเซีย อันดับ 3 ของอาเซียนและอันดับ 27 ของโลก มาเลเซีย อันดับ 4 ของอาเซียน และอันดับ 34 ของโลก และฟิลิปปินส์ อันดับ 5 ของอาเซียน และอันดับ 52 ของโลก

 

ส่วนผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 ภาพรวมทั่วโลก มีดังนี้

อันดับ 1 สิงคโปร์ ขยับขึ้นมา 3 อันดับ จากปีที่แล้ว

อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ขยับขึ้นมาเล็กน้อย 1 อันดับจากปีที่แล้ว

อันดับ 3 เดนมาร์ก ร่วงลงเล็กน้อย 2 อันดับ จากปีที่แล้ว

อันดับ 4 ไอร์แลนด์ ซึ่งลดลงจากอันดับ 2 ในปีที่แล้ว

อันดับ 5 ฮ่องกง ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2566

อันดับ 6 สวีเดน ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2566

อันดับ 7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดีขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน

อันดับ 8ไต้หวัน ที่อันดับลดลง 2 อันดับ

อันดับ 9 เนเธอร์แลนด์ ลดลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว

อันดับ 10 นอร์เวย์ ที่อันดับดีขึ้น 4 อันดับจากปีก่อน

BOI ดันไทยติด 1 ใน 10 ผู้ผลิตรถอีวีโลก

มียอดผลิตรวม 7.6 แสนคันต่อปี

 

บีโอไอ ตั้งเป้าดันไทยติด 1 ใน 10 ผู้ผลิตรถยนต์อีวีระดับโลก ภายในปี 2573 มียอดการผลิตรวมกว่า 7.5 แสนคันต่อปี พร้อมดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์สูงสุด โดยล่าสุด ค่ายรถยนต์อีวี 5 ราย ตกลงซื้อชิ้นส่วนของไทยแล้วกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีวีที่ผ่านมา ได้มีค่ายรถยนต์อีวีจากทั่วโลก และของไทย เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว 18 โครงการ โดยได้ตั้งเป้าหมายภายในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 จะผลิตรถยนต์อีวีให้ได้ 759,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง และรถกระบะ 725,000 คัน และรถบัส รถบรรทุก 34,000 คัน และผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอีก 675,000 คัน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีติด 1 ใน 10 ของโลก และคงความเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์อีวีของอาเซียน

 

นอกจากนี้ บีโอไอ ยังได้เร่งส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยปรับตัวเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตกับบริษัทรถยนต์อีวีเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนของไทยได้รับประโยชน์จากการดึงดูดการลงทุนให้ได้มากที่สุด โดยที่ผ่านมา บีโอไอ ได้จัดงาน Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ บีวายดี , เนต้า , เอ็มจี , บีเอ็มดับบลิว และฉางอัน มีมูลค่าการซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยในเบื้องต้นกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

 

สำหรับ ค่ายรถยนต์อีวี ที่ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนจะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในไทย ได้แก่ ฉางอาน ได้แสดงถึงความตั้งใจจริงที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยได้ประกาศเป้าหมายการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2568 และจะเพิ่มถึงร้อยละ 80 ภายใน 5 ปีอีกด้วย

 

บีวายดี BYD เตรียมใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า ร้อยละ 40 จากผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายในประเทศไทย และมีแผนการจัดซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี ในอนาคตจะยกระดับการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศให้เป็น “Made in Thailand” เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน

 

เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อีวีของอาเซียน โดยจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงยกระดับ Supply Chain ของไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้นและสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทยในระยะยาว โดยจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ร้อยละ 80 – 90 ภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า

 

เนต้า มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 60 จากผู้ผลิต 16 ราย และตั้งเป้าเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้ได้ถึงร้อยละ 85 โดยเชื่อมั่นด้านความพร้อมของ Supply Chain ที่แข็งแกร่งในประเทศไทย

 

โดยความร่วมมือเหล่านี้ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศใน Tier ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดซื้อชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิต หรือการร่วมมือเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยเกิดการพัฒนาเทคโนโลยี และขยายไปสู่ห่วงโซ่การผลิตรถยนต์อีวีในระดับโลก