Opinion

นักวิจัยไทย จับมืออินเดีย

ขยายธุรกิจสเปิร์มสัตว์แช่แข็งทั่วโลก

 

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตด้านการเกษตรชั้นนำของโลก แต่ที่ผ่านมายังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้มุ่งทุ่มงบประมาณการวิจัยเทคโนโลยีด้านการเกษตร และปศุสัตว์ เพื่อให้ไทยพึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเองได้ โดยหนึ่งในนั้น ก็คือ เทคโนโลยีการคัดแยกเพศสัตว์ และการแช่แข็งสเปิร์ม

 

โดย ผศ.ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ รองคณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนบริษัท สยามโนวาส จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันความต้องการของตลาดปศุสัตว์มีความต้องการวัวเนื้อ และหมู ที่เป็นตัวเมียมากที่สุด เพราะให้ผลผลิตเนื้อที่ดีกว่า จึงเกิดธุรกิจการรับคัดเลือกสเปิร์มเพศเมียมากมายในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการคัดเลือกเพศสัตว์ที่เป็นของไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ลดลง

 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการแยกเพศในน้ำเชื้อปศุสัตว์แช่แข็งในไทยส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีของต่างชาติ แต่จากการวิจัยของเราทำให้ได้เทคโนโลยีแยกเพศสัตว์ที่ดีกว่าต่างประเทศ โดยได้เริ่มต้นทำการวิจัยในด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ทำให้ผลการแยกเพศดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คัดเลือกเพศได้แม่นยำ 70% ก็ค่อย ๆ สูงขึ้นเป็นกว่า 85% ในปัจจุบัน ทั้งนี้แม้ว่าต่างชาติจะมีความแม่นยำสูงกว่าในอัตรา 90% แต่เทคโนโลยีของเราก็มีโอกาสติดลูกได้สูงถึง 45% ซึ่งสูงกว่าเทคโนโลยีต่างชาติที่จะติดลูกได้ประมาณ 30%

 

ดังนั้นเมื่อเทียบผลผลิตจากจำนวนการติดลูกและเป็นเพศเมียแล้ว เทคโนโลยีของไทยจะเทียบเท่าหรือดีกว่าเทคโนโลยีของต่างชาติ ในขณะที่ราคาของเราถูกกว่าต่างชาติมาก โดยเกษตรกรจะมีต้นทุนเพียง 250 – 300 บาท ต่อน้ำเชื้อ 1 หลอด ในขณะที่ของต่างชาติจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2,000 บาทต่อหลอด ดังนี้เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่เท่ากัน การใช้เทคโนโลยีของเราจะมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก

 

ทั้งนี้สาเหตุที่เทคโนโลยีของเราดีกว่า เนื่องจากเทคโนโลยีการแข่แข็งของเราทำให้สเปิร์มมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เพราะการแช่แข็งน้ำเชื้อทั่วไปจะมีสเปิร์มตายไป 40% และเหลือรอดอยู่ประมาณ 60% และถ้าต่ำกว่า 40% จะต้องเททิ้ง เพราะกรมปศุสัตว์ระบุว่าน้ำเชื้อแช่แข็งจะต้องมีสเปิร์มรอดชีวิตมากกว่า 40% แต่ด้วยน้ำยาแข่งแข็งที่เราวิจัยจะมีโอกาสรอด 70% ขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าเทคโนโลยีของต่างชาติ

 

โดย ในเบื้องต้น บริษัทฯ ได้ตั้งศูนย์ผลิตน้ำเชื้อที่เชียงใหม่แล้ว และจะวิจัยพัฒนาคุณภาพต่อไป เพื่อให้มีความแม่นยำเป็นเพศเมียสูงขึ้น และมีชีวิตรอดมากขึ้น แต่โจทย์หลัก ๆ ที่เราต้องการทำมาก ก็คือ การผลิตน้ำเชื้อแบบแห้งที่ไม่ต้องแช่แข็ง และคัดแยกเพศสเปิร์มได้ ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้ยังไม่มีในโลก หากเราทำได้ก็จะเป็นรายแรกของโลก แต่การวิจัยเหล่านี้จะต้องใช้เวลานานมาก ยิ่งหากเป็นการวิจัยสเปิร์มวัวก็ยิ่งใช้เวลานาน เพราะกว่าวัว 1 ตัวจะตกลูกก็ต้องใช้เวลาเกือบปี และยิ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพแล้ว ก็มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งในเรื่องกำลังคน และเงินทุน

 

ส่วนแนวทางธุรกิจต่อไปจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดเมืองไทยก็จำกัดมีวัวเพียง 3 ล้านตัว และโตในอัตราที่ต่ำ ซึ่งขณะนี้มีพาทเนอร์จากกัมพูชาเข้ามาแล้ว และได้เริ่มลงทุนสร้างศูนย์รีดน้ำเชื้อในกัมพูชา จากนั้นบริษัทฯก็จะนำเทคโนโลยีเข้าไปดำเนินงาน และยังมีนักลงทุนจากอินเดียที่ได้ตามมาจากผลงานวิจัย ซึ่งอยากให้เรานำเทคโนโลยีนี้เข้าไปตั้งฐานการผลิตที่อินเดีย หากโครงการร่วมลงทุนกับอินเดียสำเร็จก็จะขยายตลาดได้อีกมหาศาล  ส่วนในไทยจะนำพ่อวัวเข้ามารีดน้ำเชื้อเอง จากเดิมที่เป็นเพียงการ โออีเอ็ม ให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งที่ลดลงทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยผลกระกอบการที่ผ่านมาเริ่มเป็นบวกมาได้ 2 ปีแล้ว

 

สำหรับแนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยนั้น ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการซื้อ และส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่จากบริษัทคนไทยให้มากขึ้น รวมทั้งใช้เครื่องมือของภาครัฐทั้งหมดมาช่วยในเรื่องของการตลาด เพราะคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกรไม่ค่อยเชื่อมั่นในสินค้าจากการวิจัยของคนไทย หากภาครัฐนำร่องเข้ามาซื้อและใช้ก่อน ก็จะทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นและเข้ามาซื้อมากขึ้น  ซึ่งสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการมากที่สุด คือ ตลาดที่คนไทยเข้ามาซื้อและยอมรับในสินค้าของคนไทย

สตาร์ทอัพไทยต่อยอดงานวิจัย วช.

ผลิตพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูง ย่อยสลายเร็ว

 

ในอดีตที่ผ่านมา มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากไม่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ แต่จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้เร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชน เพื่อนำผลงานวิจัยนวัตกรรมมาผลิตเป็นสินค้า โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็ได้เดินหน้าตามแนวทางนี้ ซึ่งได้นำร่องมุ่งเน้นในด้านการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ การนำงานวิจัยพลาสติกชีวภาพไปสู้สินค้านวัตกรรมที่มีศักยภาพ

 

โดย นายมนตรี อุดมฉวี Co-founder บริษัท สมาร์ทไบโอพลาสติก จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่เป็นนักวิจัยพลาสติกชีวภาพ และได้นำผลการวิจัยของ วช. มาต่อยอดผลิตสินค้า กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้นำผลการวิจัยมาพัฒนาปรับปรุงคุณสมบัติพลาสติกชีวภาพ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเข้ามาเป็นส่วนผสม เช่น ฟางข้าว ซึ่งได้นำร่องผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพจากจากฟางข้าว ที่ใช้ส่วนผสมของฟางข้าวสูงถึง 80 – 90% โดยใช้ฟางข้าวจากการปลูกแบบอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมี นำมาผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง และนำมาผสมกับเม็ดพลาสติกชีวภาพในสัดส่วน 10 – 20%

 

สำหรับ หลอดพลาสติกชีวภาพจากฟางข้าว จะมีคุณสมบัติเหนือกว่าหลอดพลาสติกชีวภาพแบบอื่น ๆ คือ มีความทนทานต่อการใช้ไม่ต่างจากหลอดพลาสติกทั่วไป และสามารถย่อยสลายในหลุ่มฝังกลบตามธรรมชาติได้ 100% โดยไม่เกิดไมโคร พลาสติก ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหรือท้องทะเล รวมทั้งยังมีอัตราย่อยสลายได้เร็วใช้เวลาประมาณ 70 วัน ในสภาวะฝังกลบ เร็วกว่ามาตรฐาน ที่กำหนดไว้ที่ 180 วัน ในสภาวะฝังกลบ

 

นอกจากนี้ ยังเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการลดมลพิษฝุ่น พีเอ็ม 2.5 จากการเผาฟางช้าว และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งแต่เดิมจะขายฟางข้าวได้ก้อนละ 20 บาท แต่บริษัทฯ ไปรับซื้อถึงราคา 100 – 200 บาทต่อก้อน ซึ่งหากหลอดพลาสติกชีวภาพจากฟางข้าวมีคนนิยมใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะช่วยลดมลพิษจากฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ได้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ยังได้วิจัยพัฒนานำไปผลิตพลาสติกชีวภาพในด้านอื่น ๆ เช่น พลาสติกเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะถุงปลูกเห็ดที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกทิ้งในพื้นที่การเกษตรสูงมาก ซึ่งถูกปลูกเห็ดของบริษัทฯ นอกจากจะย่อยสลายได้แล้ว แต่ยังสามารถเพิ่มผลผลิตเห็นให้สูงขึ้นด้วย โดยเห็ดที่ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพของเราจะเริ่มออกดอกให้ผลผลิตเพียงว 28 วัน จากถุงแบบเดิมที่จะเริ่มให้ผลผลิตใน 40 วัน จึงทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเร็วขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น และทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

 

ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะขยายไปผลิตบรรจุภัณฑ์ และช้อนส้อมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากพลาสติกชีวภาพ รวมทั้งวิจัยนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพของเราสามารถนำไปผลิตพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งได้อยางหลากหลาย

 

สำหรับในด้านการแข่งขันกับพลาสติกทั่วไปนั้น ต้องยอมรับว่าพลาสติกชีวภาพจะมีราคาสูงกว่า โดยต้นทุนหลอดพลาสติกชีวภาพของเราจะมีราคา 0.4 – 0.5 สตางค์ต่อหลอด แพงกว่าหลอดจากพลาสติกทั่วไปที่มีราคา 0.1 – 0.2 สตางค์ต่อหลอด แต่เมื่อเทียบกับหลอดพลาสติกชีวภาพทั่วไปนั้นยังสามารถแข่งขันได้

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น จะทำให้พลาสติกทั่วไปมีต้นทุนการกำจัดสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีราคาใกล้เคียงกับพลาสติกชีวภาพ ที่กำหนดให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าจะต้องรับผิดชอบขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น จึงทำให้ในอนาคตพลาสติกทั่วไปจะมีราคาสูงขึ้นจนทำให้พลาสติกชีวภาพแข่งขันได้มากขึ้น

 

ในส่วนของปัญหาหลัก ๆ ที่พบ จะเป็นเรื่องการยอมรับพลาสติกชีวภาพของเกษตรกร ที่ยังคงเชื่อถือแต่สินค้าแบบเดิม ขาดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของคนไทย และมองในเรื่องของราคาเป็นหลัก ทำให้พลาสติกชีวภาพในด้านการเกษตรแข่งขันได้ยาก รวมทั้งปัญหาทุนวิจัยภาครัฐที่ขาดความต่อเนื่อง ทำให้มีหลายโครงการในอดีตที่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การผิตสินค้าได้

 

สำหรับแนวทางการดำเนินกิจการต่อไป จะมุ่งไปสู่การจัดทำมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีผลการวิจัยที่ชัดเจน และมีคุณภาพสูง แต่การที่จะทำให้ตลาดมั่นใจ จะต้องได้รับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยในปีนี้บริษัทฯ จะเดินหน้าจัดทำมาตรฐานในทุกด้านของพลาสติกชีวภาพจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้มั่นใจในคุณภาพทั้งผู้ซื้อในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สินค้าของเรามีแต้มต่อเพิ่มขึ้น และได้รับการยอมรับมากขึ้น

 

รวมทั้งยังได้ร่วมกับบริษัทพาทเนอร์ เข้ามาร่วมมือในการผลิต โดยบริษัทจะเข้าไปให้คำแนะนำอบ่างใกล้ชิด ซึ่งในขณะนี้บริษัทฯมีกำลังการผลิตประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน และมีพาทเนอร์เข้ามาช่วยผลิตมีกำลังการผลิตประมาณ 30 ตันต่อวัน ทำให้มีกำลังขยายตลาดได้อีกมาก

เปิดอก นักวิจัยไทย ผู้หยุดยั้งโรค ASF ในหมู

ไทยเบอร์ 1 วิจัยวัคซีนของอาเซียน แต่……

 

ในภาวะที่โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งคนและสัตว์ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือในทุกด้าน และพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของวัคซีนที่เป็นหัวใจสำคัญในการหยุดการแพร่ระบาด โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการวิจัยพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ ขึ้นมายับยั้งโรค ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ประเทศไทยคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้พร้อม ๆ กับPfizer หรือ Moderna

 

แต่ด้วยความไม่พร้อมในด้านปัจจัยเงินลงทุนเพื่อขยายด้านการทดสอบในคน การขาดแคลนห้องแล็ปวิจัยไวรัสความปลอดภัยสูง ซึ่งมีเพียง 1 แห่ง ทำให้วัคซีนที่ผ่านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยลและหน่วยงานวิจัยของรัฐต้องต่อคิวในการทำการทดสอบทดลองจนเป็นคอขวดที่ทำให้การวิจัยล่าช้า และยังขาดแคลนโรงงานขนาดใหญ่เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งความไม่พร้อมเหล่านี้ ทำให้การพัฒนาวัคซีนเดินหน้าไปได้ช้ากว่าประเทศที่มีความพร้อมและเงินทุนที่มากกว่า

 

ซึ่งในเรื่องเทคโนโลยีการวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเรื่องความมั่นคงของชาติที่สำคัญ เพราะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดจะหวังพึ่งพาต่างชาติได้ยาก เพราะทุกประเทศก็ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของไวรัสในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน และพันธุกรรมของคนแต่ละภูมิภาคก็ต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาวัคซีนที่เป็นของตัวเองจะมีความเหมาะสมมากกว่า และสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วกว่าการรอผลการวิจัยของต่างชาติ และยังช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศจากการซื้อวัคซีนจากต่างประเทศได้มหาศาล

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสัตว์ที่ใช้เงินลงทุน และมีขั้นตอนน้อยกว่าวัคซีนในคนนั้น ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน โดยที่ผ่านมาได้เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในฟาร์มสุกรทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้สุกรล้มตายเป็นจำนวนมากอันตราการคายเกือบ 100% ของจำนวนสุกรในฟาร์ม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และเชื้อนี้จะอยู่กับประเทศไทยตลอด หากสุกรไม่มีภูมิก็จะตายทั้งหมด

 

โดยในช่วงแรกเกิดความแตกตื่นในเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก ทำให้เร่งนำเข้าวัคซีนจากจีนเข้ามาใช้โดยยังไม่ได้ผ่านการทดสอบจากภาครัฐ โดยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นไวรัสเป็นจากธรรมชาติที่ยังมีคุณภาพไม่ดีพอเพราะต้องเร่งรีบในการผลิต เมื่อนำมาใช้ในไทยส่งผลให้เกิดการระบาดติดเชื้อไปทั่วประเทศ

 

ดังนั้น สวทช. โดยไบโอเทคจึงได้เร่งวิจัยผลิตวัคซีนที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์ โดยได้พัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรโดยเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัส ASFV และนำมาเพาะเลี้ยงในเซลล์ที่พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการให้มีปริมาณสูงขึ้น และถูกปรับให้มีคุณสมบัติความร้ายแรงเชื้ออ่อนลง เมื่อเชื้อถูกเลี้ยงเป็นเวลาที่เหมาะสมไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ไม่ก่อโรครุนแรงในสุกรเหมือนเชื้อเริ่มต้น แต่ยังคงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อให้แก่สุกรในรูปของวัคชีนเชื้อเป็น

 

จากการทดสอบในสุกรเบื้องต้นพบว่า วัคซีน ASF ที่พัฒนาขึ้นมีความปลอดภัยสูงในสุกร และสุกรที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอต่อการป้องกันอาการป่วยตายจากการได้รับเชื้อสายพันธุ์รุนแรงตามธรรมชาติ ซึ่งไวรัสวัคซีนต้นแบบดังกล่าวได้ถูกขยายขนาดให้สูงขึ้นในระดับอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดใช้จริงในระดับฟาร์มสุกรต่อไป ซึ่งในอนาคตแม้ว่าเชื้อ ASF จะปรับตัวจนวัคซีนเก่าเริ่มได้ผลลดลง ก็สามารถผลิตวัคซีนใหม่ขึ้นมาต่อต้านได้อย่างรวดเร็ว เพราะเรามีความรู้ที่เป็นของตัวเอง ทำให้ได้เปรียบกว่าชาติอื่นที่ซื้อวัคซีนมาใช้เพียงอย่างเดียว

 

โดย โครงการวัคซีน ASF นี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ เพราะเห็นถึงศักยภาพของวัคซีน รวมทั้งวัคซีนที่ผลิตในประเทศก็ถูกกว่านำเข้ามา และยังสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก ซึ่งจากศักยภาพการวิจัยพัฒนาวัคซีนสัตว์ของไทยทำให้มั่นใจว่าแม้จะเกิดโรคอุบัติใหม่ ไทยก็ยังผลิตวัคซีนขึ้นมาใช้เองได้อย่างรวดเร็ว และมีเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนสัตว์ไม่แพ้ใครในอาเซียน