Sustainability

กสอ. จับมือ ไปรษณีย์ไทย

ตั้ง Green Hub นำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เสริมแกร่งเอสเอ็มอี ขายสินค้าชุมชนไทยผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ ณ ที่ทำไปรษณีย์ไทยและเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 50,000 แห่ง รวมทั้งให้สำนักงานไปรษณีย์ทั่วประเทศตั้งเป็น Green Hub รวบรวมวัสดุเหลือทิ้งในสถานประกอบการ นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่

 

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีทิศทางการทำงานที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามนโยบาย “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ภายใต้แนวคิด “ชุมชนเปลี่ยน”ผ่านการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางการตลาดในการยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจไทยให้มีความยั่งยืนผ่านการเสริมสร้างองค์ความรู้

 

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ อาทิ กล่อง ซอง ขวดน้ำ ถุงพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานไปรษณีย์ทั่วประเทศจะเป็นจุดรับวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ให้แก่สถานประกอบการ ภายใต้โครงการ Green Hub เพื่อลดขยะในสถานประกอบการ และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนตามหลักการ Circular Economy

ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต มาตรฐาน และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยสอดรับกับเทรนด์โลก รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดเก็บสินค้า และระบบคลังสินค้า ตลอดจนได้มอบสิทธิประโยชน์อัตราพิเศษในการขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้รับปลายทางอย่างมีคุณภาพ พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ ThailandpostMart และออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์และเครือข่ายพันธมิตรกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ

 

โดย ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสองหน่วยงานจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้กว่า 200 ล้านบาท

 

ด้าย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย ในฐานะหน่วยงานสื่อสารและขนส่งของชาติพร้อมสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการไทยในการช่วยขน และช่วยขายสินค้าผ่านเครือข่ายไปรษณีย์  พร้อมทั้งมีบริการอำนวยความสะดวกในการจัดการด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าช่วย “เก็บ แพ็ค ส่ง” รองรับการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce

ในส่วนของลูกค้ากลุ่มธุรกิจ B2B และ B2C ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังพร้อมช่วยผลักดันสินค้าเหล่านี้ให้ถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านเครือข่ายไปรษณีย์กว่า 50,000 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ เว็บไซต์ ThailandPostMart ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace ของไปรษณีย์ไทยที่รวบรวมสินค้าตัวท็อปทั่วไทยกว่า 20,000 รายการ จากผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย

 

รวมทั้ง ยังมีช่องทางจำหน่ายสินค้าออฟไลน์ผ่านร้านค้า ThailandPostMart 17 สาขาในพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แก่ ไปรษณีย์กลาง เคาน์เตอร์ไปรษณีย์สาขา MBK ไปรษณีย์จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ พิษณุโลก ราชบุรี กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี  และไปรษณีย์จอมสุรางค์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ถึงกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งไปรษณีย์ไทยยังมีแผนในการให้บริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon เพื่อขยายโอกาส ขยายช่องทางให้กับผู้ประกอบไทย ได้ส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้อีกด้วย

 

ในส่วนของลูกค้ากลุ่มธุรกิจ B2B และ B2C ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังพร้อมช่วยผลักดันสินค้าเหล่านี้ให้ถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านเครือข่ายไปรษณีย์กว่า 50,000 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ เว็บไซต์ ThailandPostMart ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace ของไปรษณีย์ไทยที่รวบรวมสินค้าทั่วไทยกว่า 20,000 รายการ จากผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย

 

และยังมีช่องทางจำหน่ายสินค้าออฟไลน์ผ่านร้านค้า ThailandPostMart 17 สาขาในพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แก่ ไปรษณีย์กลาง เคาน์เตอร์ไปรษณีย์สาขา MBK ไปรษณีย์จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ พิษณุโลก ราชบุรี กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี  และไปรษณีย์จอมสุรางค์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ถึงกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งไปรษณีย์ไทยยังมีแผนในการให้บริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon เพื่อขยายโอกาส ขยายช่องทางให้กับผู้ประกอบไทย ได้ส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้อีกด้วย

การศึกษาใหม่พบน้ำอสุจิของมนุษย์

มีไมโครพลาสติกในทุกตัวอย่าง

 

ในเดือนที่ผ่านมาการวิจัยได้พบว่าไมโครพลาสติกสามารถตรวจพบได้ง่ายในลูกอัณฑะของมนุษย์ แต่การศึกษาล่าสุดได้พบอนุภาคโพลีเมอร์ในน้ำอสุจิ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการมีบุตรยากในอนาคต

 

ตามรายงานใหม่ในวารสาร Science of the Total Environment ทีมแพทย์ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีน ค้นพบไมโครพลาสติกหลายประเภทภายในตัวอย่างน้ำอสุจิทุกตัวอย่างที่รวบรวมจากผู้ชายทั้งหมด 40 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มประชากรทั่วไป

 

ตามที่The Guardian ระบุไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พบพลาสติกที่แตกต่างกันทั้งหมด 8 ชนิดในตัวอย่าง ซึ่งเป็นโพลีสไตรีน และโพลีเอทิลีน ที่แพร่หลายที่สุด ที่มักใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องโฟม กล่องบรรจุภัณฑ์ และถุงพลาสติก ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ตรวจพบมากที่สุดรองลงมา คือ พีวีซี

 

ทั้งนี้ หลักฐานที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่าไมโครพลาสติกที่มีอยู่แพร่หลายในปัจจุบันเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และดูเหมือนว่าจะเชื่อมโยงกับปัญหาทางชีวภาพความผิดปกติของฮอร์โมน และอาจมีจำนวนอสุจิลดลง นอกเหนือจากลูกอัณฑะของมนุษย์ ยังตรวจพบมลภาวะในปอด เลือด รกและแม้แต่น้ำนมแม่

 

ทั้งนี้ เนื่องจากการวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่ทำให้การสัมผัสไมโครพลาสติกเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจขอบเขตของการปนเปื้อนของมนุษย์ และความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ของระบบสืบพันธุ์จึงมีความจำเป็น

 

น่าเสียดายที่ข่าวนี้ไม่ได้น่าตกใจนัก เนื่องจากเป็นการยากที่จะหาสถานที่บนโลกที่ไม่มีร่องรอยของไมโครพลาสติกในขณะนี้ จากส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทรไปจนถึงยอดเขาเอเวอเรสต์โดยพื้นฐานแล้ว ขยะพิษมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ณ จุดนี้ ไมโครพลาสติก ซึ่งมักตรวจไม่พบด้วยตาเปล่าสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางอาหารที่กิน น้ำที่พวกเขาดื่ม และแม้แต่อากาศที่พวกมันหายใจเข้าไป จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม แต่หลักฐานเบื้องต้นว่าอนุภาคสามารถทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อได้ เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย แล้วก็มีผลกระทบเฉพาะเจาะจงต่อผู้ชายด้วย

 

ในปัจจุบัน สัดส่วนของมีคู่รักทั่วโลกประมาณ 15% ประสบภาวะมีบุตรยาก โดยปัจจัยภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชายคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของกรณีทั้งหมด ซึ่งการศึกษาวิจัยเหล่านี้ มีแนวโน้มมากขึ้นที่ไมโครพลาสติกอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

 

ที่มา : https://www.popsci.com/science/semen-microplastics/

AI เครื่องจักรสูบพลังงานยุคใหม่

กระทบแผนลดปล่อยคาร์บอน

 

โมเดล AI ใหม่ ๆ ที่ทรงพลังมากกว่าในอดีต อาจเพิ่มการใช้พลังงานให้ไปได้ไกลเกินกว่าที่เราเคยคิดไว้ ในสหรัฐอเมริกาตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยพลังงานไฟฟ้า (EPRI) ศูนย์ข้อมูลที่ขับเคลื่อนโมเดล AI ขั้นสูงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 9.1% ของความต้องการพลังงานโดยรวมของประเทศภายในปี 2573 ในขณะที่ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานของศูนย์ข้อมูลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2569

 

รายงานระบุว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากโมเดล AI ที่ต้องการพลังงานเป็นจำนวนมาก โดย EPRI ประมาณการว่าข้อความค้นหาง่ายๆ ไปยัง ChatGPT ของ OpenAI ต้องใช้ไฟฟ้ามากกว่าการค้นหาโดย Google ทั่วไปประมาณ 10 เท่า

 

ความแตกต่างที่มากมายนี้ น่าจะเกิดจากข้อมูลที่ใช้ในการเพิ่มความฉลาดให้กับ AI และการใช้พลังการในการประมวลผลจำนวนมากที่จำเป็นในการทำให้โมเดลเหล่านี้ทำงานได้ตามที่ตั้งใจไว้ และนั่นเป็นเพียงการตอบกลับข้อความเท่านั้น แต่ถ้าหากเป็นโมเดลเสียงและวิดีโอ AI เจนเนอเรชั่นใหม่ เช่น Sora ของ OpenAI ก็จะยิ่งใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

 

โดยการคาดการณ์ล่าสุดที่เผยแพร่โดยยักษ์ใหญ่ทางการเงิน Goldman Sachs คาดการณ์ว่า AI เพียงอย่างเดียวจะคิดเป็น 19% ของความต้องการพลังงานของศูนย์ข้อมูลภายในปี 2571

 

ศูนย์ข้อมูลกำลังหันมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ศูนย์ข้อมูลที่หิวโหยพลังงานอาจคุกคามต่อปัญหากริดพลังงานอย่างแท้จริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตามการคาดการณ์ของ Goldman Sachs ในปี 2024 ศูนย์ข้อมูลคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 1-2% ของความต้องการพลังงานทั่วโลก ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4% ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูแลศูนย์ข้อมูลประมาณครึ่งหนึ่งของโลกสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้คาดว่าจะคิดเป็น 8% ของการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศภายในปี 2573

 

ผู้ให้บริการพลังงานกำลังเร่งรีบที่จะนำโรงไฟฟ้าใหม่เข้าสู่ระบบ Goldman Sachs ประมาณการว่าพลังงานมากกว่าครึ่ง หรือ 60% ที่ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นจะมาจากทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียน การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นการตอกย้ำรายงานก่อนหน้านี้ ซึ่งแนะนำว่าทรัพยากรหมุนเวียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการพลังงานของศูนย์ข้อมูล

 

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลและผู้ให้บริการด้านพลังงานไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงจุดเสียทางเทคโนโลยี เพื่อพยายามแก้ไขประเด็นขัดแย้งด้านพลังงานของ AI ในรายงาน EPRI เรียกร้องให้ศูนย์ข้อมูลตรวจสอบวิธีเพิ่มประสิทธิภาพภายใน โดยการลดปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในการทำความเย็น และแสงสว่าง การระบายความร้อนเพียงอย่างเดียวมีรายงานว่าคิดเป็นประมาณ 40% ของการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูล

 

นอกจากนี้ EPRI ตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ขับเคลื่อนโดยแหล่งพลังงานหมุนเวียน ยังสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนโครงข่ายพลังงานที่เชื่อถือได้และยั่งยืนมากขึ้น

 

“การเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์ข้อมูล-กริดจากแบบจำลอง ‘ภาระเชิงรับ’ ในปัจจุบัน ไปสู่ ​​’การประหยัดพลังงานร่วมกัน’ ที่ทำงานร่วมกัน” รายงานตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่เพียงช่วยให้บริษัทไฟฟ้าสามารถต่อสู้กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของ AI เท่านั้น แต่ยังช่วยให้มีความสามารถในการจ่ายและความน่าเชื่อถืออีกด้วยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน”

 “ไฮโดรเจน” พลังงานทางรอดของไทย

ลดก๊าซคาร์บอน ภาคอุตสาหกรรม-ขนส่ง

 

ไฮโดรเจน เป็นขุมพลังงานสะอาดสำหรับโลกแห่งอนาคต เว็บไซต์ World Economic forum กล่าวถึงไฮโดรเจนว่า ไฮโดรเจน เป็นทางออกที่ฝากอนาคตไว้ได้ โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ซึ่งยากที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ เช่น อุตสาหกรรมโลหะ ที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่โลกถึง 8%  และอุตสาหกรรมการขนส่งในกลุ่มยานพาหนะขนาดใหญ่ตั้งแต่ 3.5 ตันขึ้นไป  ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แก่โลกถึง 12%

 

สำหรับประเทศไทย ไฮโดรเจน  เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพลังงานชาติ และมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ทำให้ไฮโดรเจนจึงเป็นอีกตัวเลือกที่สำคัญ ในการลดภาววะโลกร้อนในขณะนี้

 

บนเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 4 :                พลังงานสะอาด : Hydrogen  & Sustainable Aviation Fuel (SAF) เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมเวทีเสวนานี้ได้เผยถึงสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งอุตสาหกรรมไทยได้รับแรงกดดันจากการที่ทั่วโลกเริ่มใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น เช่น การใช้งานมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ในยุโรป เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มในสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดย CBAM เป็นหนึ่งในมาตรการ จากแผนยุทธศาตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรป หรือ EU Green Deal

 

โดย ดร. เนรัญ สุวรรณโชติช่วง  ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ ผู้อำนวยการ Hydrogen Thailand Club กล่าวว่า ไทยมีการวางแผนการใช้พลังงานไฮโดรเจนไว้  และมีการคาดการณ์ว่าใน ปี พ.ศ. 2593 ไทยเราจะต้องการไฮโดรเจนถึง 2.2 ล้านตัน โดยจะช่วยลดคาร์บอนไทยได้ถึง 16.3 ล้านต้น หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 แบ่งเป็น พลังงาน 8.6 ล้านตัน การขนส่ง 4.7 ล้านตัน อุตสาหกรรม 2.2 ล้านตัน

 

ทั้งนี้ การใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานแก่รถยนต์และรถบรรทุก จะช่วยลดคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยสามารถลดคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 11.54

 

ขณะนี้ในไทยมีการทดลองใช้พลังงานไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์แล้ว โดยมีสถานีเติมเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนที่ จ.ชลบุรี และมีการทดลองนำรถยนต์ไฮโดรเจน มิราอิ (Mirai) จากโตโยต้ามาทดลองใช้งาน 2 คันสำหรับรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นเวลา 10 เดือน ซึ่งได้รับผลเป็นที่น่าพอใจว่า ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 34,100 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับ รถยนต์รุ่นแคมรี่ (Camry 2.5) ที่ใช้น้ำมัน

 

อย่างไรก็ตามในประเทศไทย ไฮโดรเจน ยังไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นพลังงานตามกฎหมาย เราได้คุยกับภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานแล้วว่านโยบายพลังงานได้บรรจุไฮโดรเจนเข้าไปด้วย จะทำให้มีบทรองรับในการใช้ไฮโดรเจนได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่ถัดมาคือเรื่องของกฎระเบียบของการใช้ไฮโดรเจนใรรูปบบของพลังงาน ซึ่งตอนนี้เรามีการพูดคุยหน่วยงานภายใต้กระทรวงพลังงาน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ก็เชื่อว่าแผนพลังงานที่กำลังจะออกจะบรรจุ ไฮโดรเจนเข้าไปอยู่ในนั้น  และยังเพิ่มเติมว่าไทยเริ่มการพัฒนาไฮโดรเจนก่อนใครในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในจุดนี้จะทำให้ไทยสามารถก้าวเป็นผู้นำอุตสาหกรรมไฮโดรเจนได้ในอนาคต

 

ไฮโดรเจนจะเป็นอนาคตที่ดีสำหรับโลก และจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจโดยสำหรับภาคการขนส่ง ไฮโดรเจน เป็นพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพในการเดินทางได้ไกลกว่าแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) และสามารถเติมพลังงานได้เร็วกว่า  อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ BNEF ฝ่ายงานด้านการวิจัยเศรษฐกิจของสำนักข่าว บลูมเบิร์กเผยว่า อุปสรรค์ที่สำคัญที่สุดของการผลิตไฮโดรเจนในตอนนี้คือ ราคาแพงมาก โดยเฉพาะกรีนไฮโดรเจน

 

จากการสำรวจพบว่า ไฮโดรเจนสีเทา ซึ่งสกัดจาก๊าซธรรมชาติ มีราคาอยู่ที่ 0.98 – 2.93 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อกิโลกรัม  หรือ ราว 36 -108 บาท ต่อกิโลกรัม , ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน ซึ่งสกัดจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ใช้เทคโนโลยีควบคุมการปล่อยคาร์บอนสู่ภายนอกระหว่างผลิต มีราคาอยู่ที่  1.8-4.7 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อกิโลกรัม  หรือ ราว 67 -174 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ ไฮโดรเจนสีเขียว สกัดจากแหล่งพลังงานสะอาดและมีวิธีการผลิตไม่ปล่อยคาร์บอนทั้งกระบวนการ เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  จึงมีราคา 4.5-12 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อกิโลกรัม หรือ ราว 167 -444 บาท ต่อกิโลกรัม

 

สาเหตุที่ทำให้ไฮโดรเจนมีราคาสูง เว็บไซต์ World Economic Forum เผยว่า ไม่ได้มาจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจน  แต่มาจากตัวปั๊มเติมไฮโดรเจนและการจัดส่ง โดยมีสัดส่วน ปั๊ม หรือ สถานีบริการเติม  ร้อยละ 50 , การขนส่ง  ร้อยละ 35 , ขณะที่การผลิต อยู่ที่ ร้อยละ 15 ดังนั้นหากต้องการลดราคาไฮโดรเจนลง ต้องลดใส่ส่วนของสถานีบริการ และ การขนส่ง

 

ดร. เนรัญ สุวรรณโชติช่วง  จึงให้ความเห็นว่า ถึงแม้ราคาขายของไฮโดรเจนนั้นสูง แต่ราคาผลิตจริงของตัวไฮโดรเจนนั้นเมื่อเทียบกับน้ำมันสามารถแข่งขันได้  ในการจำหน่ายไฮโดรเจนจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี  เช่น ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มที่สามารถที่จะใช้ไฮโดรเจนในประมาณมากๆ ได้  เช่น  ใช้กับภาคการขนส่งสินค้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างรถบบรทุก หรือรถกระบะ หรือใช้กับรถโดยสารประจำทาง ที่สามารถกำหนดเส้นทาง ระยะทาง และควบคุมระยะเวลาเดินทางได้   ในการตั้งปั๊มก็สามารถเจาะจงพื้นได้ และไม่จำเป็นต้องตั้งปั๊มถี่ให้เกิดต้นทุนสูง ก็จะช่วยให้ไฮโดรเจนขายได้ในราคาสมเหตุสมผล

 

เมื่อย้อนลับไปคำนึงถึงการคาดการณ์ในปี พ.ศ. 2593 ที่ว่าไทยจะต้องการไฮโดรเจนถึง 2.2 ล้านตัน การผลิตไฮโดรเจนในประเทศอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบียที่มีการผลิตไฮโดรเจนแล้วจากพลังงานแสงอาทิตย์ และอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ คือ สปป.ลาว

 

“มีผู้ประกอบการในประเทศลาวมาพูดคุยกับเราเหมือนกันว่า เนื่องจากต้องบอกว่าพลังงานไฟฟ้าเขาเหลือ ก่อนนะ เขาเหลือ เพราะฉะนั้นต้นทุนการผลิตตรงนั้นเขาแทบจะไม่มี เขามีแค่การลงทุนในการ convert พลังงานไฟฟ้าให้เป็นในรูปของไฮโดรเจน ตรงนั้นเองก็มีนักลงทุนเข้ามาคุยกับเราเหมือนเพื่อวางแนวทางเข้าไปลงทุนผลิตไฮโดรเจนสีเขียว”

 

อย่างไรก็ตาม  รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจาก สมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย ให้ความเห็นว่า การพัฒนาใช้งานไฮโดรเจน อาจไม่ง่ายเพราะจากผลวิจัยพบว่ายังไม่สามารถใช้แข่งขันได้เนื่องจากต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้นการใช้ไฮโดรเจนอาจจำเป็นต้องมีการอุดหนุนจากภาครัฐในระยะยาว

 

ปัจจุบันนี้ นอกจากประเทศไทย ประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั้งบราซิล จีน อินเดีย สเปน และสวีเดน ต่างมุ่งหน้าผลิตไฮโดรเจน และวางเป้าผลิตไฮโดรเจนจากแหล่งพลังงานสะอาดทั้งกระบวนการ หรือ กรีนไฮโดรเจน ให้ได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้

 

ดร. สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์  คณะทำงานด้าน BCG สภาอุตกสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เผยถึงอุปสรรคที่ผู้ประกอบการพบจาก CBAM เช่น ผู้ประกอบการถูกตีคืนสินค้า , ถูกปฎิเสธสินค้า และต้องส่งรายงานการผลิตที่ยืนยันว่ามีการลดคาร์บอนเครดิตจริง รายงานต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และรับรองโดยหน่วยงานที่ทางสหภาพยุโรป (EU) เชื่อถือ

 

ทั้งนี้ มาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตของไทย T. VER ไม่สามารถใช้ได้กับการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป โดยมาสหภาพยุโรปร้องขอ Emission Trading System (ETS)  หรือการทำคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานสหภาพยุโรป

 

โดยทาง ส.อ.ท. มีความเป็นห่วงผู้ประกอบ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เพราะการปรับตัวไปสู่มาตรฐานการลดคาร์บอนเป็นเรื่องยากมากแม้แต่กับผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายก็ยังปรับตัวไม่ทัน อุตสาหกรรมทั้งหมดจะไปต่ออย่างยากลำบาก นอกจากนี้ การปรับอุตสาหกรรมให้ลดคาร์บอนต้องใช้เงินทุนสูง และอาจจำเป็นต้องกู้ยืมจากต่างประเทศเมื่อเกิดความจำเป็น โดยในขณะนี้ World Bank  และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ได้ยื่นข้อเสนอในการช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับการปรับปรุงอุตสาหกรรมแล้ว

 

คุณผจญ ศรีบุญเรือง สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย ให้ความเห็นถึงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยว่าตราบใดที่ไทยเรายังไม่ประกาศใช้กฎหมาย ก็ยังคงไม่สามารถใช้ในการันตีได้ แต่อย่างน้อยหากมีการประกาศเป็น พรก. ให้ประเทศปลายทางเห็นว่าไทยเริ่มบังคับใช้กฎหมายแล้ว ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ส่วนหนึ่ง

 

“ปัญหามาเยือนถึงหน้าบ้านแล้ว หากไทยยังไม่เร่งพัฒนานโยบายด้านการลดคาร์บอน เช่นการ ผลักดัน พรบ. ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการลดคาร์บอนในราคาที่ SMEs สามารถเอื้อมถึงได้ และเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ การส่งออกที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน”

 

โดยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานในประเทศไทย เช่น ไฮโดรเจน จึงมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมให้ลดคาร์บอนลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ธัญวรัตน์ ถาวรโชติวงศ์ รายงาน

 

“ซูเปอร์ยอชต์” ลำแรกของโลก

ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 100%

 

ซูเปอร์ยอชต์เป็นของเล่นหรูหราของมหาเศรษฐี แต่ก็เป็นของเล่นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาลถึงลำละ 7,020 ตันต่อปี แต่ด้วยการเป็นมหาเศรษฐี ก็ย่อมจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นจึงเป็นแนวคิดในโครงการ 821 ใหม่ ที่ได้สร้างซูเปอร์ยอทช์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนลำแรกของโลก ที่ไม่สร้างมลพิษออกสู่โลก

 

โดย Feadship สหกรณ์อู่ต่อเรือของเดนมาร์กได้ทำการพัฒนาโครงการ 821 มากว่า 5 ปี ในการสร้างซุปเปอร์ยอชต์ลำ มหึมาด้วยความยาว 260 ฟุต ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งแม้ว่าจะมีระยะทางการเดินเรือได้สั้นกว่าเรือยอชต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล แต่ก็ยังคงบรรทุกสัมภาระและสิ่งอำนวยความสะดวกได้เหมือนโรงแรมหรูที่สมฐานะของผู้ใช้งาน

 

สำหรับขุมพลังที่ได้จากไฮโดรเจนเหลว จะต้องเก็บไว้ในถังแช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -423.4 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเซลล์ไฮโดรเจนสร้างพลังงานโดยการเปลี่ยนไฮโดรเจนเหลวที่มีน้ำหนักเบามากให้เป็นไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยสิ่งที่เซลล์ไฮโดรเจนปล่อยออกมาจะเป็นเพียงไอน้ำที่ไม่เป็นอันตรายต่อโลก แต่เทคโนโลยีนี้ยังคงมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและมีความท้าทายด้านการขนส่งมานานหลายปี แต่ความก้าวหน้าล่าสุดทำให้นักออกแบบสามารถเริ่มบูรณาการทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับรถยนต์ เครื่องบิน และเรือได้

 

อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปสรรคอยู่ในด้านการจัดเก็บอยู่บ้าง โดยไฮโดรเจนเหลวที่มีน้ำหนักเบาจะต้องถูกเก็บไว้ในถังเก็บความเย็นเยือกแข็งขนาดใหญ่ที่มีผนังสองชั้น ซึ่งจะเก็บไว้ภายในส่วนเฉพาะของเรือ ที่ต้องการพื้นที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นกว่าเครื่องยนต์ดีเซลแบบเดิมอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับการให้พลังงานที่เท่ากัน ทำให้ต้องเพิ่มความยาวพิเศษอีก 13 ฟุตจากแบบเดิมของเรือ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอในการเดินทางในระยะทางตามมาตรฐานของเรือเครื่องยนต์ดีเซลแบบเดิมได้

 

สำหรับ เรือซุปเปอร์ยอชต์ในโครงการ 821 นี้จะเป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นของเรือซุปเปอร์ยอชต์ โดยมีดาดฟ้าห้าชั้นเหนือระดับน้ำและอีกสองชั้นอยู่ใต้ระดับน้ำ มีระเบียงทั้ง 14 แห่ง และชานชาลาแบบพับได้เจ็ดแห่ง รวมทั้งยังมีสระว่ายน้ำ อ่างจากุซซี่ ห้องอบไอน้ำ สองห้องนอน สองห้องน้ำ ห้องออกกำลังกาย ห้องเตรียมอาหาร สำนักงานที่มีเตาผิง ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด และดาดฟ้าสำหรับเดินเล่นเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ความฟุ่มเฟือยดังกล่าวยังไม่สามารถแล่นเรือในระยะทางไกลได้ แต่ก็มีจุดเด่นในด้านการทำงานที่เงียบกริบ และไม่ปล่อยมลพิษ ด้วยความเร็วที่ 10 นอต

“ขณะนี้เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการจัดเก็บไฮโดรเจนเหลวด้วยความเย็นจัดภายในเรือซุปเปอร์ยอทช์นั้น เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้ และจะมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต”

 

ที่มา : https://www.popsci.com/environment/hydrogen-fuel-superyacht/

ไมโครพลาสติก แทรกซึมสู่ ตับ ไต สมอง

เสี่ยงอวัยวะภายในอักเสบ – สมองเสื่อม

 

นักวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อเส้นทางการย่อยอาหารของมนุษย์ โดยเริ่มจากลำไส้และเข้าสู่เนื้อเยื่อของไต ตับ และสมอง เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอีกมากมาย

 

โดยไมโครพลาสติกเหล่านี้ เข้าไปสะสมในร่างกายทุกวันจากน้ำ อาหาร และแม้แต่อากาศที่เราหายใจ อนุภาคพลาสติกเล็กๆ กำลังเข้าไปอยู่ในหลายส่วนของอวัยวะในร่างกาย แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออนุภาคเหล่านั้นอยู่ข้างใน? พวกมันทำอะไรกับระบบย่อยอาหารของเรา?

 

ในรายงานล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารEnvironmental Health Perspectivesนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกพบว่า ไมโครพลาสติก กำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเส้นทางการย่อยอาหารของเรา โดยเคลื่อนตัวออกมาจากลำไส้และเข้าสู่เนื้อเยื่อของไต , ตับ และสมอง

 

ดร. Eliseo Castillo รองศาสตราจารย์แผนกระบบทางเดินอาหารและวิทยาตับ แผนกอายุรศาสตร์ของ UNM School of Medicine และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือก กำลังเป็นผู้นำการวิจัยไมโครพลาสติกของ UNM

 

“ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการพบไมโครพลาสติกในมหาสมุทร ในสัตว์ และพืช ในน้ำประปา และน้ำดื่มบรรจุขวด” Castillo กล่าว “ดูเหมือนว่าพวกเขาจะอยู่ทุกหนทุกแห่ง”

 

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าผู้คนบริโภคอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปเฉลี่ย 5 กรัม ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักของบัตรเครดิต 1 ใบ ในขณะที่นักวิจัยคนอื่นๆ กำลังช่วยระบุและวัดปริมาณไมโครพลาสติกที่กินเข้าไป Castillo และทีมงานของเขามุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ไมโครพลาสติกกำลังทำภายในร่างกาย โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้

 

ตลอดระยะเวลาสี่สัปดาห์ Castillo, Marcus Garcia, PharmD นักวิจัยหลังปริญญาเอก และนักวิจัย UNM คนอื่นๆ ได้ทดลองให้หนูสัมผัสไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณไมโครพลาสติกที่มนุษย์เชื่อกันว่านำเข้าร่างกายไปในแต่ละสัปดาห์

 

ทีมวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกได้เคลื่อนที่ออกจากลำไส้ไปยังเนื้อเยื่อของตับ ไต และสมอง การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกได้เปลี่ยนกระบวนการเผาผลานอาหารในเนื้อเยื่อที่ได้รับผลกระทบ

 

“เราสามารถตรวจจับไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อบางชนิดได้หลังจากการสัมผัสไมโครพลาสติก นั่นบอกเราว่ามันสามารถข้ามสิ่งกีดขวางในลำไส้และแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นได้”  Castillo กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังกังวลเกี่ยวกับการสะสมของอนุภาคพลาสติกในร่างกายมนุษย์ด้วย ซึ่งจากผลการทดลองในหนูที่สัมผัสไมโครพลาสติกเป็นเวลาสี่สัปดาห์ ยังส่งผลชัดเจนมากถึงเพียงนี้ ลองคิดดูว่าสิ่งนี้จะเทียบเท่ากับมนุษย์ได้อย่างไร เพราะมนุษย์ต้องสัมผัสได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา

 

ทั้งนี้ ยังมีคำถามข้อใหญ่ว่า หากใครมีโรคประจำตัว การได้รับไมโครพลาสติกจะทำให้อาการที่แฝงอยู่รุนแรงขึ้นได้หรือไม่ โดยก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่า ไมโครพลาสติกได้ส่งผลต่อแมคโครฟาจ ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ทำงานเพื่อปกป้องร่างกายจากอนุภาคแปลกปลอม

 

ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Biology & Toxicologyในปี 2021 Castillo และนักวิจัย UNM คนอื่นๆ พบว่า เมื่อแมคโครฟาจพบและกลืนกินไมโครพลาสติก การทำงานของพวกมันจะเปลี่ยนไปและปล่อยโมเลกุลที่สร้างการอักเสบออกมา

 

“มันกำลังเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญของเซลล์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อการอักเสบได้” Castillo กล่าว

 

“ในระหว่างการอักเสบในลำไส้ – สภาวะของการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล และโรคโครห์น ซึ่งเป็นโรคลำไส้อักเสบทั้งสองรูปแบบ แมคโครฟาจ เหล่านี้จะเกิดการอักเสบมากขึ้น และมีจำนวนมากในลำไส้”

 

การวิจัยขั้นต่อไปของ Castillo ซึ่งนำโดย Sumira Phatak นักศึกษาหลังปริญญาเอก จะสำรวจว่าอาหารเกี่ยวข้องกับการดูดซึมไมโครพลาสติกอย่างไร

 

Castillo กล่าวว่า  จากการศึกษายังพบว่า ไมโครพลาสติกยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งหลายกลุ่มได้แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกเปลี่ยนไมโครไบโอต้า (จุลินทรีย์ทั้งหมดที่อยู่ในร่างกาย) แต่การเปลี่ยนแปลงของไมโครไบโอต้าจะส่งผลต่อมนุษย์อย่างไรนั้นยังอยู่ในขั้นการทดลองต่อไป”

 

“การวิจัยยังคงแสดงให้เห็นความสำคัญของสุขภาพของลำไส้ หากคุณไม่มีลำไส้ที่ดีก็จะส่งผลต่อสมอง ส่งผลต่อตับ และเนื้อเยื่ออื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นถึงแม้จะจินตนาการว่าไมโครพลาสติกกำลังทำอะไรในบางอย่างในลำไส้ การได้รับไมโครพลาสติกเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อระบบได้”

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ยังมัการศึกษาในเรื่องของไมโครพลาสติกที่แทรกซึมเข้าไปในทุกระบบของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

 

ศาสตราจารย์ Jaime Ross แห่งมหาวิทยาลัยโรดไอส์แลนด์ ได้มีการศึกษาครั้งใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อระบบประสาท และการตอบสนองต่อการอักเสบต่อการสัมผัสไมโครพลาสติก รวมถึงการสะสมของไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อ รวมถึงสมอง พวกเขาพบว่าการแทรกซึมของไมโครพลาสติกแพร่หลายในร่างกายพอๆ กับในสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนูทดสอบที่สูงอายุ

 

โดย ทีมงานของ Ross ได้เปิดเผยผลการทดลองในหนูอายุน้อยและหนูสูงวัยถึงระดับของไมโครพลาสติกที่แตกต่างกันในน้ำดื่มตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ พวกเขาพบว่าการสัมผัสไมโครพลาสติกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลด้านภูมิคุ้มกันในเนื้อเยื่อตับและสมอง หนูที่ทำการศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวและประพฤติตัวผิดปกติ โดยมีพฤติกรรมคล้ายกับภาวะสมองเสื่อมในมนุษย์ ผลลัพธ์ที่ได้จะลึกซึ้งยิ่งขึ้นในสัตว์ที่มีอายุมากกว่า

 

สำหรับเรา สิ่งนี้น่าทึ่งมาก ไมโครพลาสติกเหล่านี้ไม่ใช่ปริมาณที่สูงนัก แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีใครเข้าใจวงจรชีวิตของไมโครพลาสติกเหล่านี้ในร่างกายจริงๆ ดังนั้นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราต้องการจัดการ คือ คำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณอายุมากขึ้น คุณมีความเสี่ยงต่อการอักเสบอย่างเป็นระบบจากไมโครพลาสติกเหล่านี้เมื่อคุณอายุมากขึ้นหรือไม่? กำจัดพวกมันได้อย่างไร? เซลล์ของคุณตอบสนองต่อสารพิษเหล่านี้แตกต่างออกไปหรือเปล่า?

 

นอกจากนี้ การที่ไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าไปถึงเนื้อสมองนั้น อาจทำให้โปรตีนที่เป็นกรดของ glial fibrillary ลดลง (เรียกว่า “GFAP”) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สนับสนุนกระบวนการของเซลล์จำนวนมากในสมอง ผลลัพธ์แสดงให้เห็น “การลดลงของ GFAP มีความสัมพันธ์กับระยะเริ่มแรกของโรคทางระบบประสาทบางชนิด รวมถึงแบบจำลองหนูของโรคอัลไซเมอร์ และภาวะซึมเศร้า ซึ่งทำให้รู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการส่งสัญญาณ GFAP ได้”

 

เธอตั้งใจที่จะตรวจสอบการค้นพบนี้เพิ่มเติมในงานในอนาคต “เราต้องการทำความเข้าใจว่าพลาสติกอาจเปลี่ยนแปลงความสามารถของสมองในการรักษาสภาวะสมดุลของร่างกายได้อย่างไร หรือการได้รับสารอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางระบบประสาทและโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ได้อย่างไร”

 

ที่มา : https://www.sciencedaily.com/releases/2024/04/240415163703.htm

https://www.sciencedaily.com/releases/2023/08/230828162343.htm

 

โซลาร์เซลล์เจเนอเรชั่นใหม่

ปฏิวัติการผลิตไฟฟ้าสะอาด

 

จากการค้นคว้าเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ในขณะนี้ ได้ค้นพบวัสดุที่เรียกว่าเพอรอฟสกี้ (perovskites) ซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดีในการลดต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ยังไม่คงทนพอที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนากระบวนการที่เรียบง่ายในการผลิตวัสดุเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสกี้ โดยมีความทนทานและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทำให้เพอรอฟสกี้ เข้าใกล้การผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น

 

โดย Michael Saliba และ Mahdi Malekshahi นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตุ๊ตการ์ท กล่าวว่า ในขณะนี้ได้พัฒนากระบวนการใหม่ เพื่อสร้างเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยเพอร์รอฟสกี้ ซึ่งเป็นวัสดุผลึกขั้นสูงที่มีศักยภาพในการปฏิวัติเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เซลล์ของพวกเขามีประสิทธิภาพและเสถียรมาก แต่ทั้งนี้ พวกเขาไม่มีความเข้าใจโดยละเอียดว่าทำไมกระบวนการนี้ถึงทำงานได้ดีมาก

 

ผู้เปลี่ยนเกมที่มีศักยภาพสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์

เพอรอฟสกี้ มีข้อได้เปรียบมากมายเหนือแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ซิลิคอนแบบดั้งเดิม ที่ครองอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน ประการแรก พวกมันดูดซับแสงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้สามารถบางลงได้ถึง 100 เท่า และพิมพ์บนพื้นผิวได้ เนื่องจากใช้วัสดุน้อยกว่าและมีอุณหภูมิต่ำกว่าในกระบวนการผลิต จึงมีราคาถูกกว่าในการผลิต ต่างจากซิลิคอนหรือแผงเซมิคอนดักเตอร์อื่น ๆ และเพอร์รอฟสกี้ ยังทำงานได้ดีกับวัสดุเจือปน

 

องค์ประกอบของเพอร์รอฟสกี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้พวกมันดูดซับส่วนต่างๆ ของสเปกตรัมแสงอาทิตย์ ซึ่งเปิดโอกาสที่น่าตื่นเต้นในการติดฟิล์มเพอร์รอฟสกี้บางๆ กับแผงซิลิคอน แผง “ควบคู่” ที่ได้อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าแผงในปัจจุบันอย่างมาก ซึ่งอาจช่วยประหยัดต้นทุนเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด

 

แม้จะมีข้อดีเหล่านี้ แต่แผงโซลาร์เซลล์ของเพอร์รอฟสกี้ ยังไม่สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ อุปสรรคหลักคือการขาดความมั่นคงและความทนทาน แผงโซลาร์เซลล์จะต้องมีอายุการใช้งาน 20 ถึง 30 ปี ในทุกสภาพอากาศ เพอรอฟสกี้ดึงดูดน้ำและสลายตัวอย่างรวดเร็วในสภาวะที่มีความชื้น ทำให้จำกัดความทนทานในระยะยาว เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม จึงเป็นการยากที่จะสร้างเซลล์เพอร์รอฟสกี้ ให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ

 

“ห้องปฏิบัติการสองแห่งที่แตกต่างกันอาจใช้กระบวนการเดียวกันเพื่อสร้าง เพอร์รอฟสกี้ ที่มีคุณภาพแตกต่างกันอย่างมาก” Sutter-Fella กล่าว “สิ่งนี้ทำให้ยากสำหรับนักวิจัยที่จะสร้างการทดลองซ้ำ เปรียบเทียบผลลัพธ์ และหาคำตอบว่าเหตุใดเซลล์แสงอาทิตย์บางชนิดจึงทำงานได้ดีกว่าเซลล์อื่นๆ”

 

เกราะป้องกันความชื้น

วิธีหนึ่งในการปรับปรุงความทนทาน คือ การสร้างเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอร์รอฟสกี้ โดยการใช้โมเลกุลอินทรีย์ที่เรียกว่าฟีเอทิลแอมโมเนียมคลอไรด์ หรือ PEACl ไว้บนพื้นผิว นักวิจัยที่ศึกษากระบวนการสองขั้นตอนนี้พบว่า PEACl ก่อให้เกิดเกราะป้องกันบางๆ ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บความชื้น

 

ทีมงานของ Saliba จากมหาวิทยาลัย Stuttgart ได้ปรับปรุงกระบวนการนี้โดยการบูรณาการการผลิตเซลล์ perovskite และการเคลือบ PEACl ไว้ในขั้นตอนเดียว “กระบวนการที่เรียบง่ายเช่นนี้สามารถช่วยให้นักวิจัยสร้างเซลล์ที่มีคุณภาพสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวกระบวนการนี้สามารถลดต้นทุน และสามารถผลิตผลิตเซลล์ perovskite ได้ในเชิงพาณิชย์”

 

ที่มา : https://newscenter.lbl.gov/2024/04/24/new-insights-lead-to-better-next-gen-solar-cells/

ญี่ปุ่น ผลิตไบโอพลาสติกชนิดใหม่

ย่อยสลายรวดเร็วในน้ำทะเล

 

ขยะพลาสติก ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรื้อรังของโลก และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาทางทะเลอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกเบ ได้พัฒนาไบโอพลาสติกชนิดใหม่ที่ไม่เพียงแต่ทนทานเท่านั้น แต่ยังสลายตัวได้อย่างรวดเร็วในน้ำทะเลและยังสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย โดยได้ตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งน้ำทะเลในมหาสมุทรของโลกจะเป็นสถานที่กำจัดขยะพลาสติกได้

 

ศาสตราจารย์ เซอิจิ ทากูจิ จากมหาวิทยาลัยโกเบ กล่าวว่า การพัฒนาไบโอพลาสติกชนิดใหม่ จะช่วยยับยั้งภาวะโลกร้อน และได้เริ่มด้านการผลิตที่รัฐบาลสนับสนุนไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดย ไบโอพลาสติกชนิดใหม่นี้ทำจากกรดโพลีแลกติก ซึ่งเป็นโพลีเอสเตอร์ชนิดหนึ่งที่สกัดได้มาจากพืช เช่น อ้อย และข้าวโพด

 

โดย กรดโพลีแลกติกหรือที่รู้จักในชื่อโพลีแลคไทด์ ได้รับความสนใจในฐานะวัสดุทางเลือกใช้ผลิตพลาสติดที่ย่อยสลายได้ แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องความเปราะบาง ซึ่งยากต่อการขึ้นรูปและหลอมละลาย ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง และสามารถทำการผลิตในจำนวนมากได้ ทีมวิจัยจึงได้ใช้แบคทีเรียที่เรียกว่าแลคเตตดีไฮโดรจีเนส ที่สามารถนำมาผลิตพลาสติกได้ และด้วยการดัดแปลงพันธุกรรม ทีมวิจัยจึงสามารถผลิต LAHB ได้ในปริมาณมาก ซึ่งแม้ว่า LAHB โดยตัวมันเองจะมีสีขาวขุ่น แต่ทีมวิจัยได้พัฒนาเป็นโปร่งแสงได้แล้วโดยการเติมกรดพอลิแลกติก

 

จากความสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่าจะเพิ่มการใช้ไบโอพลาสติกในประเทศไปเป็นจำนวนประมาณ 2 ล้านตันภายในปี พ.ศ.2573

 

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยดังกล่าว ทำให้เกิดความหวังที่จะแก้ปัญหาขยะหลาสติกในท้องทะเลได้ในอนาคต ซึ่งในปี 2565 มีขยะพลาสติกทิ้งลงสู่ทะเลสูงถึง 35 ล้านตัน

เปิดผลวิจัยตัวอย่างครีบฉลามในไทย

พบกว่า 62% เป็นชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์

 

องค์กรไวล์เอด (WildAid) ร่วมกับทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ ได้เก็บตัวอย่างครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่างจากแหล่งค้าในหลายจังหวัด โดยผลการระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่พบค้าขายอยู่ใน ไทยโดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล พบฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ ซึ่งชนิดพันธุ์ของฉลามส่วนใหญ่ 62% เป็นฉลามที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List

 

ยกตัวอย่างเช่น ฉลามหางจุด หรือ Spottail Shark พบในตัวอย่างหูฉลามเป็นสัดส่วนมากที่สุด มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) ในระดับโลก แต่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยจากการประเมินใน Thailand Red Data นอกจากนี้พบปลาฉลามหัวค้อน สองชนิดพันธุ์ คือ ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน หรือ Scalloped Hammerhead Shark และ ฉลามหัวค้อนใหญ่ หรือ Great Hammerhead Shark ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) จากการประเมินสถานภาพในระดับโลก และในไทย ซึ่งทั้ง 2 ชนิดพันธุ์อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย

 

โดยงานวิจัยดังกล่าว ถือเป็นการศึกษาที่ระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามครั้งแรกในประเทศไทย และได้รับการเผยแพร่ใน วารสาร Conservation Genetics โดยผลการศึกษาตอกย้ำว่า หูฉลามในถ้วยซุปอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ และยังสะท้อน ว่าตลาดค้าครีบฉลามในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการนําเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง นอกจากนี้พบปลาฉลามที่มีสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในครีบที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นครีบจากฉลามวัยอ่อนอีกด้วย

 

ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้วิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร  สจล. กล่าวว่า การพบชนิดพันธุ์ฉลามที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายอยู่ในไทย สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากฉลาม โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และการพบชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม ตาม IUCN Red List ในครีบขนาดเล็ก ทำให้ต้องมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากฉลามวัยอ่อนต่อไป เนื่องจากปลาฉลามวัยอ่อนจะเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญในการฟื้นตัวของประชากรปลาฉลามในอนาคต

 

ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ปลาฉลามและกระเบนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงมากเกินขนาด เพราะความต้องการนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค สอดคล้องกับการลดลงของประชากรฉลามในหลายส่วนทั่วโลก นอกจากนี้ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยโดยองค์กรไวล์ดเอดปีพ.ศ. 2560 พบคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต เพราะความอยากรู้ อยากลอง และค่านิยมเดิม ๆ ของการบริโภคเมนูจากฉลามในงานฉลอง

 

ในช่วง 20 ปี มานี้ งานวิจัยหลายชิ้นเห็นตรงกันว่าประชากรฉลามหลายชนิดลดลงอย่างมากทั่วโลกรวมถึงในไทย จากอัตราการจับและการใช้ประโยชน์จากปลาฉลามที่มากเกินกว่าความสามารถในการฟื้นตัวของประชากรพวกมันในท้องทะเล ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ยังช่วยยืนยันว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญในการนำเข้าและส่งออกหูฉลามในภูมิภาค ผลวิจัยสะท้อนชัดเจนว่าซุปหูฉลามที่ถูกเสิร์ฟนั้นอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ แถมอาจจะเป็นฉลามวัยเด็กอีกด้วย ถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเรากำลังกินเสือหรือแม้แต่ลูกเสือที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของป่า การบริโภคของเราทุกคนจึงมีส่วนกำหนดชะตากรรมของฉลามหลายชนิดและย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด จริงๆแล้วการบริโภคที่ยั่งยืนเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดด้วยการหยุดบริโภคฉลามโดยเด็ดขาด

ไทยยูเนี่ยน จับมือ บพข.

ปรับโรงงานลดปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์

 

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก ผนึกกำลัง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวความสำเร็จ โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ เกิดศูนย์การเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์การทิ้งน้ำเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมอาหาร” โดยไทยยูเนี่ยนเป็นโรงงานต้นแบบในการติดตั้งและดำเนินการโดยวิศวกรคนไทยที่สร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการน้ำทิ้งในระบบได้สำเร็จเป็นรูปธรรม 100 เปอร์เซ็นต์

 

โดย รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการให้ทุนผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) บพข. ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศ ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ

 

ทั้งนี้ “ศูนย์เรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ การทิ้งน้ำเป็นศูนย์” ที่กำลังจะเปิดให้บริการ จะช่วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตรงตามเจตนารมณ์และภารกิจของ บพข. ในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสร้างความร่วมมือ และร่วมลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

 

“ในปีงบประมาณ 2567 นี้ บพข. มีได้มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยเรามุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนําขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนํามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรามีเป้าหมายในการลดการปล่อย GHG 30 Mt CO2 e , เพิ่ม 3% ของ GDP และลดการใช้ทรัพยากร 1 ใน 3 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทยภายในปี 2593 ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภายในประเทศ”

 

นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสนับสนุนทุนตั้งต้นวิจัยและพัฒนาให้กับไทยยูเนี่ยน เพื่อนำมาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนครั้งสำคัญนี้ได้สำเร็จ โดยใช้เม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนารวม 12 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินทุนตั้งต้นจาก บพข. 3.6 ล้านบาท และ ไทยยูเนี่ยน 8.4 ล้านบาท โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 หนึ่งในพันธกิจหลักคือการมุ่งสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ด้วยการปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ณ โรงงานหลักของไทยยูเนี่ยน 5 แห่ง ให้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573

 

“ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือด้านทุนวิจัย ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีคุณค่าจาก อว. บพข. และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงความทุ่มเทของทีมงานในการออกแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งในอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้ได้น้ำสะอาดที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนในระบบได้ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียน และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเรายินดีให้การสนับสนุน บพข. อย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเพื่อโลกของเรา” นายสุทธิเดช กล่าว

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นศูนย์ของไทยยูเนี่ยนคือการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทางทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ เริ่มตั้งแต่การดูแลให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนนำมาบำบัด ด้วยการแยกเลือดปลาและน้ำนึ่งปลาจนสามารถลดไขมันและเลือดปลาที่ปะปนมาในน้ำทิ้งให้น้อยลงได้ และใช้การกรองโดยระบบ Ultra Filtration (UF) จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดกลับออกมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป ส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO ที่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก โดยน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอก

 

โครงการนำร่อง Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน ตั้งอยู่ ณ โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 155,000 ตารางเมตร เริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยสามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ 7 ล้านลิตร ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนใช้น้ำเพียงวันละ 4 ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 27.8 ล้านบาท

 

โครงการ Zero Wastewater Discharge ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนด้วยระบบปฏิบัติการของเราเอง แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยได้ โดยโครงการนี้นับเป็นความสำเร็จของไทยยูเนี่ยนที่นำเอานวัตกรรม พันธกิจ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาสร้างสิ่งที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลผู้คน ดูแลโลก และมหาสมุทร

 

นอกจากนี้ บพข. และไทยยูเนี่ยน ยังมีความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และสารสำคัญเชิงหน้าที่มูลค่าสูงจากน้ำมันปลาทูน่า กว่า 4 โครงการ ที่ประสบความสำเร็จเตรียมออกสู่ตลาด และยังมีโครงการแพลตฟอร์มเพื่อการผลิตและวิเคราะห์เปปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์อาหาร และอาหารเสริมสัตว์