สงครามเทคโนโลยีเดือด

จีน – สหรัฐ ชิงมหาอำนาจโลก

 

จากความกังวลอย่าวยิ่งยวดในการคงความเป็นผู้นำอันดับ 1 ของเทคโนโลยีโลก ที่ถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากประเทศจีน ได้กลายเป็นสงครามเทคโนโลยีที่เข้มข้นไม่ต่างจากการแข่งขันด้านอวกาศที่ต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างสหรัฐ กับสหภาพโซเวียต ที่ในช่วงเริ่มต้นโซเวียตได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศเป็นคนแรก และต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการไปเหยียบดวงจันทร์ โดยสหรัฐได้ทุ่มหมดหน้าตักไปกว่า 158,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันไปกับโครงการอพอลโล จนประสบผลสำเร็จในการไปเยือนดวงจันทร์เป็นประเทศแรกของโลก หลังจากนั้นเทคโนโลยีสหรัฐก็ค่อย ๆ ทิ้งห่างสหภาพโซเวียดและกลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด

 

ทั้งนี้ ในภาพการแข่งขันดังกล่าว ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยคู่แข่งรายใหม่คือประเทศจีนที่มีสรรพกำลังเหนือกว่าคู่แข่งเดิมอยู่มาก โดยการเดิมพันครั้งใหม่ ก็คือ สมรภูมิการผลิตชิป ซึ่งหากฝ่ายใดความความเป็นผู้นำ ก็จะสามารถเอาชนะในเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างหาศาล เพราะชิปเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี AI , 5G และเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกมาก ดังนั้นสหรัฐจะต้องทุ่มเททุกอย่าง เพื่อคงความเป็นผู้นำในด้านนี้

 

โดยผลการศึกษาของ โครงการ Special Competitive Studies Project หรือ SCSP ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์ หากประเทศจีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า “ต้องจินตนาการถึงโลกที่ถูกควบคุมโดยรัฐที่เป็นเผด็จการ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การควบคุมการผลิตเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจและการทหาร อย่างเช่น เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีพลังงานใหม่”

 

ในรายงาน ยังคาดการณ์ถึงอนาคตของประเทศจีน ที่จะสามารถทำเงินได้มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ และช่วยยกระดับการปกครองระบอบเผด็จการให้เหนือกว่าประชาธิปไตย

 

นอกจากนี้ยังประเมินความน่ากลัวของสถานการณ์ ที่ประเทศจีนส่งเสริมแนวคิดการใช้งานอินเทอร์เน็ต “แบบควบคุมเบ็ดเสร็จจากศูนย์กลาง” (sovereign internet) ซึ่งแต่ละประเทศจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตของประชาชน ซึ่งจีนอาจจะเป็นผู้ที่พัฒนาและควบคุมเทคโนโลยีหลัก สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กองทัพสหรัฐฯ อาจจะสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ให้แก่จีนและประเทศคู่แข่งอื่น ๆ และจีนอาจที่จะตัดขาดการจัดส่ง “ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตด้านเทคโนโลยี”

 

ในขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในการก้าวตามให้ทันการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ของประเทศจีน ซัลลิแวนกล่าวว่า “ไม่มีอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันระดับโลก และดำรงความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ การที่อเมริกาจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี จำเป็นที่จะต้อง เริ่มใหม่ ฟื้นฟู และจัดการดูแล” ซัลลิแวนเสริมว่า “เรากำลังเผชิญกับคู่แข่งที่มุ่งมั่นที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยพร้อมที่จะทุ่มทรัพยากรในระดับที่แทบจะไร้ขีดจำกัดเพื่อการนี้”

 

ด้าน ชมิดต์ อดีต CEO ของบริษัท Google แสดงความเห็นว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของ 5G ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก เราไม่ต้องการทำงานภายใต้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน และถูกควบคุมโดยระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นระบบปิด” ชมิดต์ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะก้าวนำประเทศจีนในด้านเทคโนโลยี โดยเขาคาดว่าจีนจะเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น ในด้านปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม เทคโนโลยีชีวภาพ และด้านอื่น ๆ

 

จอน ฮันต์สแมน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานบริษัท Ford Motor กล่าวว่า คนอเมริกันมักที่จะไม่ทราบว่าประเทศจีนนำหน้าสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีไปไกล เพียงใด ตัวอย่างเช่น จีนนำหน้าสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วอย่างน้อย 5 ปี

 

จากความกังวลของสหรัฐฯ ดังที่กล่าวมาขั้นต้น ทำให้เห็นได้ชัดว่าในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ใช่การเดิมพันการเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ได้ลงลึกไปถึงการชิงชัยของระบอบการปกครอง 2 ขั้ว ระหว่างประชาธิปไตย และเผด็จการ ซึ่งหากฝ่ายเผด็จการมีชัยชนะมีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ดีกว่า มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า มีพลังอำนาจทางทหารที่ดีกว่า และสุดท้ายทำให้ปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีกว่า ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าระบอบของจีนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบอบของสหรัฐ และหากสหรัฐฯเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก็จะเหมือนโดมิโนที่ทำให้โครงสร้างของสหรัฐฯพังทลายลงไปในทุกด้าน

 

ทั้งนี้ เมื่อลงลึกถึงแผ่นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีน จะพบว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2021-2025) จีนได้ทุ่มเงินกว่า 1.3 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.5 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนา 300 โครงการที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาชีวิต นวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งอาจจะทำให้จีนอาแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2028 ตามผลการวิจัยจาก Centre for Economics and Business (ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2020)

 

ประกอบกับมีการคาดการณ์จาก UBS ว่า ในปี 2025 การบริโภครวมของจีนจะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปี 2020 เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการยกระดับการบริโภคของจีนตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงนำไปสู่การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การพัฒนาตนเอง และการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเบื้องหลังที่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

โดย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2021 – 2025 ในส่วนของยกระดับการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศเป็น Tech-power House สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะ Semiconductor ที่เป็นเบื้องหลังหลายๆ เทคโนโลยีที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, 5G, Next Generation Smartphone, Supercomputing, Renewable Energy, New Energy Vehicles และ Biotechnology โดยจีนได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มงบประมาณการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ระดับ 7% ของ GDP ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก ทั้งในมิติมูลค่าและสัดส่วนต่อ GDP

 

จากนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน ได้เริ่มส่งผลเป็นรูปธรรม โดย สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (The Australian Strategic Policy Institute: ASPI) เปิดเผยผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า จีนมีผลิตผลงานวิจัย  37 ชิ้น จาก 44 ชิ้นที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างผลกระทบต่อโลก ขณะที่ชาติตะวันตกกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน  โดยเฉพาะผลงานวิจัยสำคัญๆ ทั้งด้านการป้องกันประเทศ อวกาศ พลังงาน และ เทคโนโลยีชีวภาพ

 

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า สถาบันวิจัยชั้นนำที่คิดค้นงานวิจัยเฉพาะทาง 10 อันดับแรกของโลก มีอยู่ 7 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน และผลการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯ มักจะอยู่ในอันดับ 2 ของเทคโนโลยีด้านต่างๆ แม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นผู้นำการวิจัยระดับโลกในด้านคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง การประมวลผลแบบควอนตัม ดาวเทียมขนาดเล็ก และวัคซีน  ส่งผลให้ชาติประชาธิปไตยตะวันตก กำลังสูญเสียการแข่งขันทางเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงการแข่งขันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการวิจัย

 

สาเหตุหลักที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำ “การผลิตผลงานวิจัยอันน่าทึ่ง” เป็นเพราะสถาบันวิจัยของจีน “อยู่ภายใต้โครงการของรัฐบาล” รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ชาติประชาธิปไตยตะวันตก ร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัยและ “พัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญเชิงกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน”

 

นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 48.49% ของเอกสารการวิจัยที่มีผลกระทบสูงของโลกมาจากจีน ทั้งในด้านเครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง รวมถึงระบบไฮเปอร์โซนิก นอกจากนี้มีข้อมูลว่า ผลงานวิจัยด้านเซ็นเซอร์โฟโตนิก (Photonic sensors) และการสื่อสารควอนตัม (Quantum communication) ที่แข็งแกร่งของจีน อาจนำไปสู่ “ยุคมืด” ของชาติตะวันตกกลุ่ม “Five Eyes” ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์

 

โดย จีนมีแนวโน้มจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยี 10 สาขา ซึ่งรวมถึงชีววิทยาสังเคราะห์  (Synthetic biology)โดยจีนผลิตงานวิจัย 1 ใน 3 ของทั้งหมด เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ไฟฟ้า, 5G และการผลิตด้านนาโน

 

สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences)  ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของรัฐบาล ถูกจัดอันดับที่ 1 หรือ 2 ของการคิดค้นเทคโนโลยี 44 ประเภท เช่น เทคโนโลยีการป้องกันประเทศ อวกาศ วิทยาการหุ่นยนต์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) วัสดุขั้นสูง และเทคโนโลยีควอนตัม โดยมีข้อมูลว่า สาเหตุหนึ่งที่จีนพัฒนาเทคโนโลยีได้ก้าวกระโดด เพราะนักวิจัยของจีนได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากต่างประเทศ  “1 ใน 5” ของนักวิจัยชั้นนำของจีน ได้รับการฝึกฝนมาจากประเทศกลุ่ม Five Eyes ทั้งสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตาสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็ไม่ยอมให้จีนก้าวขึ้นมาแซงอย่างง่าย ๆ ล่าสุดรัฐบาลของโจ ไบเดน ก็ได้ทุ่มงบกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ในกรอบเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 54,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิปและการทำวิจัย และ 170,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และอวกาศ

 

โดยเงินจำนวนนี้นับได้ว่าเป็นเงินลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และอนุมัติเพิ่มเติมนอกจากงบจากรัฐบาลกลางอีก 82,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เช่น AI, ควอนตัมคอมพิวเตอร์, 6G เป็นต้น รวมไปถึงก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค ส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยพร้อมกับลดความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีระดับสูง และยังส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์

 

ดังนั้น ไทยจะต้องจับตา สงครามเทคโนโลยีของ 2 มหาอำนาจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะด้วยเงินลงทุนที่มากเป็นประวัติการจะทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกไปอย่างมหาศาล หากไทยสามารถปรับตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็จะสปริงบอร์ดสำคัญที่ทำให้ไทยกระโดดออกจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศชั้นนำได้ในอนาคต โดยไทยจะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านของงบประมาณ และความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อให้ความความพร้อมในการเข้าร่วมในห่วงโซ่เทคโนโลยีระดับโลกเหล่านี้

 

สามารถติดตาม THE DIMENSION ได้ตามช่องทางต่าง ๆ

related news

LATEST NEWS