สวทช. เร่งวิจัยสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง

เพิ่มมูลค่าทะลุ 1 แสนล้าน ภายในปี 2570

 

ประเทศไทยถือได้ว่ามีความร่ำรวยด้านชีวภาพสูงมาก และติดอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรของโลก ดังนั้นไทยจึงมีต้นทุนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสูงมาก และยังได้มีการก่อตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอแบงค์ เป็นแห่งแรกของอาเซียน เพื่อเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพไม่ให้สูญหาย และเป็นแหล่งในการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มากมายในอนาคต

 

ทั้งนี้ จากความพร้อมดังกล่าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้มุ่งเน้นในเทคโนโลยีชีวภาพทุกด้าน โดยเฉพาะพืชสมุนไพร โดยในในภาพรวมของสมุนไพรไทย มีมูลค่าการตลาดในปี 2566 เป็นจำนวนถึง 52,104.3 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตสูง คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าการตลาดถึง 1 แสนล้านบาท  มีกลุ่มสินค้า เช่น อาหารเสริมพร้อมดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้รักษาอาการไอ หวัด แพ้อากาศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไป ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบพืชพรรณสมุนไพร มีภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ แต่สมุนไพรไทยก็มีอุปสรรค ได้แก่

 

  1. คุณภาพของวัตถุดิบมีความแปรปรวน ความไม่สม่ำเสมอของปริมาณสารสำคัญ และการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กระบวนการผลิตสารสกัดยังให้ปริมาณสารสำคัญน้อย และใช้สารเคมีในการสกัดสูง รวมถึงขาดระบบการผลิตสารสกัดมาตรฐานสำหรับการสกัดในระดับอุตสาหกรรม

 

  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรยังมีจำนวนน้อย และผลิตภัณฑ์อาศัยเพียงความเชื่อและความรู้สึกตอบสนองของผู้ใช้เป็นส่วนใหญ่หรือเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น ไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้มาช่วยยืนยันคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

 

จากปัญหาและอุปสรรคของสมุนไพรดังกล่าว การพัฒนานวัตกรรมการผลิตสารสกัดเพิ่มมูลค่า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรโดยมีสมุนไพรนำร่อง 3 ชนิดได้แก่ กระชายดำ บัวบก และกะเพรา เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร อุตสาหกรรมสารสกัด และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสมุนไพรไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนให้สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐาน ผลักดันให้เกิด “Hub of Thai Herbal Extract” ในการส่งเสริมพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและคว้าโอกาสตลาดสมุนไพรให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่

 

โครงการที่ 1 นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานกะเพรา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ที่จะสร้างรายได้ของผู้ประกอบการไทยจากนวัตกรรมจากสารสกัดมาตรฐาน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่า ในปี 2571 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สารแต่งกลิ่นรสผงแห้งจากสารสกัดกะเพรา , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดสภาวะเครียด จากสารสกัดมาตรฐานกะเพรา , กระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐานกะเพรา ระดับอุตสาหกรรม

 

 

โครงการที่ 2 การขยายผลนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานกระชายดำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ที่จะสร้างรายได้ของผู้ประกอบการไทยจากนวัตกรรมจากสารสกัดมาตรฐาน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าในปี 2571 ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568

 

โดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัย (Anti-Aging) จากสารสกัดมาตรฐานกระชายดำ , ผลิตภัณฑ์ต้านการอักเสบจากสารสกัดกระชายดำ , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชะลอวัย ลดไขมัน/และน้ำตาลในเลือด จากสารสกัดมาตรฐานกระชายดำ และกระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐานกระชายดำระดับอุตสาหกรรม

 

โครงการที่ 3 การเพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานบัวบกด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม โดยมีเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ที่จะสร้างรายได้ของผู้ประกอบการไทยจากนวัตกรรมสารสกัดมาตรฐานให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าในปี 2571 ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568

 

โดยมีสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัย (Anti-Aging) จากสารสกัดบัวบก , ผลิตภัณฑ์ลดการอักเสบของสิว (Anti-Acne) จากสารสกัดบัวบก , ผลิตภัณฑ์ยาทาสมานแผลจากสารสกัดบัวบก และกระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐานบัวบกระดับอุตสาหกรรม

 

สำหรับ ผลงานเด่นที่คาดว่าจะเกิดในปี 2567 คือ สารสกัดมาตรฐานของกระชายดำ สำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัย , ถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลสารสกัดมาตรฐานของกระชายดำสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง , ต้นแบบผลิตภัณฑ์ต้านการอักเสบจากสารสกัดกระชายดำ , ผงแต่งกลิ่นจากสารสกัดกะเพรา เสมือนกลิ่นกะเพราสด , ขยายขนาดกระบวนการกักเก็บกลิ่นกะเพรา ที่มีกลิ่นเสมือนกะเพราสดในระดับอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง /เวชสำอางชะลอวัย / เวชสำอางต้านสิว จากอนุภาคนำส่งสารสกัดบัวบก , ถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง / เวชสำอางชะลอวัย (Anti-Aging) จากอนุภาคนำส่งสารสกัดบัวบก ร่วมกับผู้ประกอบการ และอนุภาคกักเก็บสารสกัดกะเพราลดกรด/ลดความเครียด

 

ทั้งนี้ ในการวิจัยและผลิตสารสกัดจากกะเพราสดที่มีกลิ่นไม่ต่างจากกะเพราสด จะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอด ซอฟต์เพาเวอร์ อาหารไทย ที่มีเมนูจำนวนมากที่ใช้กะเพรา ให้แพร่ขยายได้มากขึ้น เพราะพืชกะเพราไม่สามารถปลูกได้ในเมืองหนาว ทำให้อาหารไทยในยุโรป หรือ อเมริกาเหนือ มีรสชาติและกลิ่นต่างจากอาหารไทยต้นตำหรับ และยังช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบอาหารในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นแบบอย่างให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ต่อไป โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพรเหล่านี้ได้อีกหลายเท่าตัว และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย

สามารถติดตาม THE DIMENSION ได้ตามช่องทางต่าง ๆ

related news

LATEST NEWS