Economic

BOI เผยยอดขอลงทุน ไตรมาส 1 โต 31%

มูลค่าเงินลงทุน ทะลุ 2.2 แสนล้านบาท

 

ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริม 724 โครงการ เงินลงทุน 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% นำโดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31

 

สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ของบีโอไอ

 

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ เป็นต้น

 

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินลงทุนสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับ Power Electronics และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ

 

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)

 

ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 105 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต

MID จัดอันดับเมืองอัจฉริยะ ปี 67

กทม. ติดอันดับ 84 ของโลก ที่ 3 อาเซียน

 

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการจัดการ หรือ MID ได้รวบรวมข้อมูลเมืองใหญ่ทั่วโลก 142 เมือง มาจัดอันดับเมืองอัจฉริยะประจำปี 2567 ที่พึ่งประกาศในเดือนเมษายน พบว่า เมืองที่มีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ ซูริก สวิสแลนด์ อันดับ 2 ออสโล นอร์เวย์ อันดับ 3 แคนเบอร์รา ออสเตรเลีย อันดับ 4 เจนีวา สวิสแลนด์ อันดับ 5 สิงคโปร์ อันดับ 6 โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก อันดับ 7 โลซาน สวิสแลนด์ อันดับ 8 ลอนดอน อังกฤษ อันดับ 9 เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ และอันดับ 10 อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

โดยมีเมืองอัจฉริยะที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศสวิสแลนด์ติดอันดับถึง 3 เมือง ในขณะที่เอเชียติดอันดับ 2 เมือง ในส่วนของประเทศไทย กรุงเทพอยู่ในอันดับที่ 84 ดีขึ้น 4 อันดับจากปี 2566 ที่อยู่ในอันดับ 88  และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อันดับ 5 ของโลก , กัวลาลัมเปอร์ อันดับ 73 ของโลก , กรุงเทพฯ อันดับ 84 ของโลก , ฮานอย อันดับ 97 ของโลก , จาการ์ตา อันดับ 103 ของโลก , โฮจิมินห์ อันดับ 105 ของโลก และมะนิลา อันดับ 121 ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตในการจัดอันดับปี 2567 อันดับของไทยใกล้เคียงกับกรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น ที่อยู่ในอันดับที่ 86 ต่ำกว่ากรุงเทพฯ 2 อันดับ เมืองเบอมิ่งแฮม อังกฤษ อันดับที่ 83 มิลาน อิตาลี อันดับที่ 91 และเทลอาวีฟ อิสราเอล อันดับที่ 94

 

สำหรับ ในการจัดอันดับจะใช้ตัวชี้วัดหลักที่สำคัญ คือ 1. ดัชนีเมืองอัจฉริยะของ IMD ปี 2024 ที่ประเมินการรับรู้ของผู้อยู่อาศัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในเมืองของตน 2. SCI ฉบับนี้จัดอันดับ 142 เมืองทั่วโลกโดยรวบรวมการรับรู้ของผู้อยู่อาศัย 120 คนในแต่ละเมือง คะแนนสุดท้ายของแต่ละเมืองคำนวณโดยใช้การรับรู้ของการสำรวจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีน้ำหนัก 3:2:1 สำหรับปี 2024:2023:2021

 

3 มีเสาหลักสองประการ คือ เสาโครงสร้างหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของเมือง และเสาเทคโนโลยีที่อธิบายข้อกำหนดและบริการทางเทคโนโลยีที่มีให้กับผู้อยู่อาศัย 4 แต่ละเสาหลักได้รับการประเมินในห้าประเด็นสำคัญ ได้แก่ สุขภาพและความปลอดภัย ความคล่องตัว กิจกรรม โอกาส และการกำกับดูแล 5 เมืองต่างๆ แบ่งออกเป็นสี่กลุ่มตามคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ของ Global Data Lab ของเมืองที่พวกเขาอยู่

 

6 ภายในกลุ่ม HDI แต่ละกลุ่ม เมืองจะได้รับ ‘ระดับการให้คะแนน’ (AAA ถึง D) ตามคะแนนการรับรู้ของเมืองที่กำหนด เปรียบเทียบกับคะแนนของเมืองอื่นๆ ทั้งหมดภายในกลุ่มเดียวกัน  และ 7 การจัดอันดับจะแสดงในสองรูปแบบ คือ การจัดอันดับโดยรวม (1 ถึง 142) และการจัดอันดับสำหรับแต่ละเสาหลักและโดยรวม

 

ในส่วนของ กรุงเทพฯ เคยอยู่สูงสุดในอันดับ 78 เมื่อปี 2563 จากนั้นก็ลดลงเรื่อย ๆ และพึ่งกระเตื้องขึ้นมาในปีนี้ และถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 3 มีปัจจัยเมืองอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับ CCC และปัจจัยในด้านเทคโนโลยีในระดับ อย่างไรก็ตาม ในการจัดเรตติ้งของโครงสร้างกรุงเทพฯ คะแนนจะอยู่ในระดับค่ากลางของกลุ่ม 3 แต่เรตติ้งในด้านเทคโนโลยีจะมีคะแนนสูงกว่าในกลุ่ม 3 อย่างเห็นได้ชัด

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามถึงปัญหาสำคัญของเมืองกรุงเทพฯ จากตัวบ่งชี้ 15 ตัว ผู้ตอบแบบสำรวจถูกขอให้เลือก 5 ตัวที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดสำหรับเมืองกรุงเทพฯ พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ 64% รองลงมาเป็นความปลอดภัย 54% คอรัปชั่น 47% ความแออัดของถนน 45% สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน 39% การขนส่งสาธารณะ 35%

เปิดผลสำรวจประเทศน่าลงทุน

ไทยอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน

 

ในปัจจุบันหลายฝ่ายมองว่าศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนของไทยลดลงมากจนยากที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่หากมองในด้านตัวเลขเศรษฐกิจในทุกด้าน และจากการวิเคราะห์ของต่างชาติ พบว่า ศักยภาพการแข่งขันด้านดึงดูดการลงทุนของไทยยังคงอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน

 

โดย จากการสำรวจของ US News & World Report ประจำปี 2566 จาก 87 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศที่ดีที่สุดในการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ไอ้แก่ อันดับ 1 สิงคโปร์ และเป็นอันดับ 5 ของโลก อันดับ 2 ไทย และเป็นอันดับ 31 ของโลก อันดับ 3 มาเลเซีย และเป็นอันดับ 32 ของโลก อันดับ 4 อินโดนีเซีย และเป็นอันดับ 38 ของโลก อันดับ 5 เวียดนาม และเป็นอันดับ 42 ของโลก และอันดับ 6 ฟิลิปปินส์ และเป็นอันดับ 59 ของโลก

 

ในขณะที่ประเทศที่ดีที่สุดในการตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ อันดับ 1 สิงคโปร์ และเป็นอันดับ 13 ของโลก ดีขึ้นกว่าปีก่อน 4 อันดับ , อันดับ 2 ไทย และเป็นอันดับ 34 ของโลก ดีกว่าปีก่อน 6 อันดับ , อันดับ 3 มาเลเซีย และเป็นอันดับ 36 ของโลก ดีขึ้นกว่าปีก่อน 13 อันดับ , อันดับ 4 อินโดนีเซีย และเป็นอันดับ 51 ของโลก ลดลงจากปีก่อน 5 อันดับ , อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ และเป็นอันดับ 61 ของโลก ลดลงจากปีก่อน 1 อันดับ และอันดับ 6 เวียดนาม และเป็นอันดับ 64 ของโลก ลดลงจากปีก่อน 2 อันดับ

 

ในด้านองค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ อย่างเช่น การเปิดทำการสำหรับธุรกิจ ที่พิจารณาจาก 5 ปัจจัย คือ ระบบราชการ ต้นทุนการผลิต การทุจริต สภาพแวดล้อมทางภาษี และ แนวปฏิบัติของรัฐบาลที่โปร่งใส พบว่า อันดับ 1 ยังคงเป็นสิงคโปร์ และอยู่ในอันดับ 7 ของโลก , อันดับ 2 ไทย และอยู่ในอันดับ 9 ของโลก , อันดับ 3 มาเลเซีย และอยู่ในอันดับ 12 ของโลก , อันดับ 4 อินโดนีเซีย และอยู่ในอันดับ 19 ของโลก , อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ และอยู่ในอันดับ 21 ของโลก และอันดับ 6 เวียดนาม และอยู่ในอันดับ 31 ของโลก

 

จากการจัดอันดับดังกล่าว ประเทศสิงคโปร์ ยังครองอยู่ในอันดับ 1 ทุกรายการ และเป็นอันดับต้นของโลก รองลงมาจะเป็นประเทศไทย และมาเลเซีย ที่มีอันดับอยู่ใกล้เคียงกันมาก ในขณะที่ประเทศเวียดนามที่หลายคนแสดงความกังวลว่าจะเข้ามาเป็นคู่แข่งแย่งการลงทุนจากไทย พบว่าจากการจัดอันดับของต่างชาติ ยังมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนรั้งท้ายตาราง อยู่ในอันดับ 5 – 6 ของอาเซียน ซึ่งแม้ว่าเวียดนามจะมีความได้เปรียบไทยอยู่หลายด้าน ทั้งในเรื่องค่าจ้างแรงงาน และเป็นตลาดรองรับสินค้าขนาดใหญ่ แต่ไทยก็ได้เร่งพัฒนาปรับตัว เพื่อให้คงความเป็นผู้นำของอาเซียนในทุกด้าน

 

นอกจากนี้ จากผลวิจัยของ CEOWORLD magazine ได้จัดอันดับ ประเทศที่ดีที่สุดในโลกในการลงทุนหรือทำธุรกิจในปี 2567 โดยได้พิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 11 ประการ ได้แก่ ระดับการทุจริต เสรีภาพส่วนบุคคล การค้า และการเงิน คุณภาพของแรงงาน มาตรการคุ้มครองนักลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายภาษี ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพของระบบราชการ และความพร้อมทางเทคโนโลยี ด้วยการประเมินประเด็นเหล่านี้อย่างครอบคลุม โดยตั้งเป้าที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นแนวทางกระบวนการตัดสินใจ

 

โดยจากการสำรวจทั้งหมด 199 ประเทศทั้งโลก ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มอาเซียน  พบว่า อันดับ 1 สิงคโปร์ และอันดับ 1 ของโลก , อันดับ 2  อินโดนีเซีย และอันดับ 5 ของโลก , อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ และอันดับ 9 ของโลก , อันดับ 4 มาเลเซีย และอันดับ 11 ของโลก , อันดับ 5 ไทย และอันดับ 12 ของโลก , อันดับ 6 เวียดนาม และอันดับ 26 ของโลก , อันดับ 7 เมียนมา และอันดับ 113 ของโลก , อันดับ 8 กัมพูชา และอันดับ 130 ของโลก , อันดับ 9 บรูไน และอันดับ 152 ของโลก และอันดับ 10 ลาว และอันดับ 156 ของโลก

 

ทั้งนี้ จากการจัดอันดับ และคะแนนที่ได้ จะพบว่าประเทศหลักของอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน คือ ติด 1 ใน 12 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่สูงมาก ในขณะที่เวียดนามตามมาห่าง ๆ ในอันดับที่ 26 แล้วในกลุ่มอาเซียนที่เหลือก็หล่นไปอยู่ในอันดับที่ 113 – 156 ของโลก ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุน และการดำเนินธุรกิจสูง และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

 

ที่มา : https://www.usnews.com/news/best-countries/best-countries-to-invest-in

https://ceoworld.biz/2024/04/09/ranked-worlds-best-countries-to-invest-in-or-do-business-for-2024/

สื่อต่างชาติยกประเทศไทยอันดับ 28

ประเทศที่มองไปสู่อนาคตดีที่สุดในโลก

 

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกในการจัดอันดับในด้านต่าง ๆ มากนัก แต่ในภาพรวมประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มประเทศชั้นนำ และหลายครั้งก็อยู่ในอันดับเหนือกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 ในรายงานประเทศที่ดีที่สุดของ US News & World Report ประจำปี 2023 จาก 85 ประเทศทั่วโลก อยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศที่น่าประทับใจในการเริ่มต้นธุรกิจ และอันดับที่ 18 ในประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการเกษียณอายุที่สะดวกสบาย  เป็นต้น

 

ในด้านมรดกทางวัฒนธรรม อยู่ในอันดับ 9 ของโลก มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ จัดอันดับไทยดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ด้านความมั่นคงด้านสุขภาพที่แข็งแกร่งที่สุด และ CEOWORLD ได้จัดอันดับการดูแลสุขภาพของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก

 

โดย ล่าสุดในการสำรวจของ US News & World Report ประจำปี 2566 ได้จัดอันดับประเทศที่มองไปข้างหน้ามาที่สุดในโลก หรือประเทศที่มีแผนในการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่โลกในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่ง US News & World Report ได้ให้ความเห็นถึงความสำคัญในหัวข้อนี้ว่า  ในขณะที่มนุษยชาติต้องต่อสู้กับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามด้านสาธารณสุข และวิกฤตการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ผู้นำระดับโลกจะต้องมุ่งเน้นไปที่งานที่มีอยู่และในอนาคตไปพร้อมๆ กัน และบางประเทศก็ถือว่ามีความรอบคอบมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำประเทศให้อยู่รอดต่อไปในโลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ การจัดอันดับประเทศ ที่มองไปข้างหน้ามากที่สุดประจำปี 2566 โดยมาจาก การสำรวจความคิดเห็นของผู้คนมากกว่า 17,000 คนทั่วโลก โดยพิจารณาจากวิธีที่ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 4,600 รายจัดอยู่ในประเภท “ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจ” โดยจะพิจารณาคุณสมบัติที่ใน 5 ประการ ได้แก่ระบบราชการที่มีพลวัต , ศักยภาพของผู้ประกอบการ , ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

 

สำหรับ ในปี 2566 ได้จัดอันดับ 85 ประเทศ โดยประเทศที่มีการมองไปที่อนาคตข้างหน้ามาที่สุดประจำปี 2566 ได้แก่ อันดับ 1 คือ สหรัฐ อันดับ 2 สิงคโปร์ อันดับ 3 เกาหลีใต้ อันดับ 4 ญี่ปุ่น อันดับ 5 จีน อันดับ 6 เยอรมัน อันดับ 7 สวีเดน อันดับ 8 อังกฤษ อันดับ 9 สวิตเซอร์แลนด์ และอันดับ 10 แคนาดา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าใน 5 อันดับแรก เป็นประเทศในเอเชียถึง 4 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าประเทศในเอเชียมีความตื่นตัวในการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตมากที่สุด

ในส่วนของอาเซียน ประเทศที่มีอันดับดีที่สุด คือ สิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 2 ของโลก ลดลง 1 อันดับจากปีก่อน ตามมาด้วยไทย อันดับ 28 ของโลก เท่ากับปีก่อน ,  มาเลเซีย อันดับ 31 ของโลก เท่ากับปีก่อน , เวียดนาม อันดับ 34 ของโลก เพิ่มขึ้น 11 อันดับจากปีก่อน , อินโดนีเซียน อันดับ 38 ของโลก ลดลง 4 อันดับจากปีก่อน , ฟิลิปปินส์ อันดับ 62 ของโลก ลดลง 13 อันดับจากปีก่อน , กัมพูชา อันดับ 73 ของโลก ลดลง 8 อันดับจากปีก่อน และเมียนมา อันดับ 85 ของโลก ลดลง 2 อันดับจากปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีคะแนนในด้านการมองไปข้างหน้าในระดับที่ดี แต่จากปัจจัยด้านการเมืองในปัจจุบัน ที่มีนโยบายมุ่งแต่คะแนนเสียงในระยะสั้น เช่น การแจกเงิน 5 แสนล้านบาท จนอาจทำให้ประเทศต้องขาดแคลนงบประมาณในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ควรจะเป็น และหลุดออกจากแผนพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งผลให้สูญเสียศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวได้ในอนาคต

 

ที่มา :  https://www.usnews.com/news/best-countries/most-forward-thinking-countries

สตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่เศรษฐกิจไทย

อีวี – อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ – ชีวภาพ

 

จากกระแสความกังวลในด้านการส่งออกของไทย ที่ยังคงจมอยู่กับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่า ที่แข่งขันได้ยากยิ่งในปัจจุบัน และมีมูลค่าต่ำลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้

 

อย่างไรก็ตาม ความกังวลดังกล่าวก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง และก็มีบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง เพราะภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมานาน จึงได้เร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ตลาดมีความต้องการสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่ไฮเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว แนวนโยบายหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ มาตรการดึงดูด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศ ซึ่งได้ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2560

 

โดยแบ่งออกเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีฐานการผลิตที่เข้มแข็งให้ยกระดับไปสู่เทคโนโลยีใหม่ และเทคโนโลยีต้นน้ำ  ได้แก่ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายไปสู่อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ 2. ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งรวมไปถึงรถยนต์อีวีทุกประเภท 3. เกษตรและแปรรูปอาหาร ที่รวมไปถึงอาหารแห่งอนาคต และฟังชั่นนัลฟู้ด 4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 5. การท่องเที่ยว  ที่ขยายไปสู่การท่องเที่ยวรายได้สูง

 

ส่วนอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ คือ 1. ดิจิทัล 2. การแพทย์ 3. เทคโนโลยีชีวภาพ 4. ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 5. อากาศยาน โดยทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 มียอดเงินลงทุนรวมกว่า 1.94 ล้านล้านบาท และอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยครั้งใหญ่ไปสู่การผลิตยุคใหม่ในสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง และมีมูลค่าสูง

 

จากการลงทุนที่กล่าวมานี้ ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี อาหารแห่งอนาคต และเทคโนโลยีชีวภาพ มีความโดดเด่นมากที่สุด และมียอดการลงทุนสูงอย่างต่อเนื่อง และจะเข้ามาเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของไทยในอนาคต โดยเฉพาะรถยนต์อีวี ที่ไทยสามารถดึงค่ายรถยนต์อีวีชั้นนำทั่วโลกเข้ามาได้มากที่สุด และกำลังจะเข้ามาอีกหลายราย รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่อีวีต้นน้ำ เช่น CATL ที่เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่อีวีระดับโลก

 

ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่อุดหนุนทั้งภาคการผลิตครบวงจรไปจนถึงชิ้นส่วนหลักที่มีความสำคัญ และการอุดหนุนตลาดภายในประเทศ ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงรถยนต์อีวีได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิต และตลาดรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน  คาดว่าจะเห็นยอดส่งออกได้ชัดเจนในช่วงปี 2568 และอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ยังเป็นส่วนสำคัญในการดึงซัพพลายเชนการผลิตชิป และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอีกด้วย

 

ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาได้มีผู้ผลิตชิปต้นน้ำ และพีซีบี หลายรายได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิต และยังมีอีกหลายรายที่เตรียมจะเข้ามา โดยหลังจากนี้จะทยอยสร้างโรงงานเสร็จและผลิตชิปออกสู่ตลาด และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ก็ประกาศสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิปสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย

 

ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเทค ก็ได้มีหลายแบรนด์ของต่างชาติเข้ามาลงทุนใหม่ และรายที่อยู่ในไทยอยู่แล้วก็ขยายการลงทุนเพิ่ม ทำให้คาดว่าในอุตสาหกรรมผลิตชิปต้นน้ำ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเติบโตขึ้นมากในอนาคต แต่ในระยะสั้น ไทยยังคงตามหลังประเทศมาเลเซีย และเวียดนามอยู่ เพราะ 2 ประเทศนี้มีต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนอย่างยาวนาน โดยเฉพาะซัมซุง ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามในหลากหลายผลิตภัณฑ์

 

ในขณะนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ไทยก็มีความโดดเด่นในด้านการผลิตเม็ด และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสูงมาก ซึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลก โดยในอนาคตมั่นใจว่าความต้องการพลาสติกชีวภาพของโลกจะเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากกระแสการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการลดภาวะโลกร้อน ในด้านอุตสาหกรรมชีวภาพชั้นสูงรวมถึงยาและวัคซีนชีวภาพ ก็เริ่มมีการลงทุนในไทยหลายรายทั้งของนักลงทุนไทย และต่างชาติ และในช่วงโควิด 19 ก็เป็นสปริงบอร์ดสำคัญที่ทำให้วัคซีน และยาชีวภาพที่วิจัย และผลิตในไทยเติบโตขึ้นเร็วมาก

 

ด้าน อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ก็จะเริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญในการนำรายได้เช้าสู่ประเทศ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีเทคสตาร์ทอัพต่างชาตินำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยตั้งโรงงานผลิตเนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในระดับโรงงานเป็นแห่งแรกในอาเซียน และยังมีเทคโนโลยีการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารผู้ป่วย อาหารเสริม อีกมากมายที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

สำหรับอาวุธสำคัญในการดึงดูดการลงทุน ก็คือ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ตั้งต้นกองทุนนี้มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้ใช้ไปหมดแล้วและได้รับอนุมัติวงเงินก้อนใหม่ 15,000 ล้าน โดยกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ และเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะให้เงินสนับสนุนในการสร้างโรงงาน 30 – 50% แล้วแต่การเจรจา การอุดหนุนในการฝึกอบรมเสริมทักษะแรงงานชั้นสูง และการวิจัยพัฒนา ซึ่งผลที่ได้จากการอุดหนุนการลงทุนจะเปลี่ยนกลับมาในรูปแบบภาษีอากร การส่งออก การเพิ่มทักษะแรงงานชั้นสูง และที่สำคัญยังเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศชั้นนำให้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย

 

ในขณะนี้เงินสนับสนุนกองทุนฯ จะขออนุมัติใหม่เป็นครั้ง ๆ หากเงินกองทุนหมด แต่โดยส่วนตัวมองว่ากองทุนนี้ควรจะมีเม็ดเงินมากกว่านี้ เพราะเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมายเข้ามาตั้งในไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ในอาเซียนยังไม่มี แต่ในประเทศชั้นนำอื่น ๆ ก็มีกองทุนในลักษณะนี้ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ หากไทยมีขนาดกองทุนฯที่เพียงพอและต่อเนื่อง จะเป็นแต้มต่อสำคัญในการดึงดูดการลงทุน เพื่อพลิกฟื้นโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูง

 

นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งขยายการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือการทำข้อตกลงเอฟทีเอ กับประเทศชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้โรงงานที่เข้ามาตั้งในไทยได้สิทธิประโยชน์การส่งออกเทียบเท่ากับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ทั้งนี้หากไทยยังตามหลังคู่แข่งในด้านเอฟทีเอ ก็จะส่งผลต่อการดึงดูดการลงทุน เพราะภาษีที่ต้องจ่ายสูงขึ้นเพียง 10% ก็ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกบางอุตสาหกรรมที่ไทยสูญเสียศักยภาพการแข่งขันไปแล้ว และฟื้นฟูให้กลับมาใหม่ได้ยาก คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เรื่องจากไทยเสียเปรียบคู่แข่งในเรื่องค่าแรงงานอยู่มาก และอุตสาหกรรมเหล่านี้นำเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนได้ยาก ดังนั้นไทยอาจจะเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอเพียงบางด้านเท่านั้น เช่น สิ่งทอทางการแพทย์ และสิ่งทอที่มีฟังชั้นการใช้งานแบบพิเศษ

 

ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทย ก็แข่งขันได้ยาก เพราะสินค้าเหล็กจากประเทศจีนมีราคาถูกมากจนไม่สามารถผลิตแข่งขันได้ ดังนั้นโรงงานเหล็กที่มีอยู่จึงเพียงแต่ประคองตัวผลิตป้อนให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็ก ยังคงเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดโรงถลุงเหล็กภายในประเทศ เพื่อผสมเหล็กสูตรพิเศษ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต้องการเหล็กเกรดพิเศษ ซึ่งหากไทยผลิตได้ก็จะสร้างความมั่นคงด้านการผลิต และเร่งให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้

 

จากมาตรการที่กล่าวมาขั้นต้น และความสำเร็จที่เกิดขึ้น พอให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ที่ไปในทิศทางที่ดีขึ้น และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าหากมาตรการดึงดูดการลงทุน และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยังเดินต่อไปได้ตามแผน อุตสาหกรรมไทยก็จะพลิกโฉมกลายเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

สงครามเทคโนโลยีเดือด

จีน – สหรัฐ ชิงมหาอำนาจโลก

 

จากความกังวลอย่าวยิ่งยวดในการคงความเป็นผู้นำอันดับ 1 ของเทคโนโลยีโลก ที่ถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากประเทศจีน ได้กลายเป็นสงครามเทคโนโลยีที่เข้มข้นไม่ต่างจากการแข่งขันด้านอวกาศที่ต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างสหรัฐ กับสหภาพโซเวียต ที่ในช่วงเริ่มต้นโซเวียตได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศเป็นคนแรก และต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการไปเหยียบดวงจันทร์ โดยสหรัฐได้ทุ่มหมดหน้าตักไปกว่า 158,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันไปกับโครงการอพอลโล จนประสบผลสำเร็จในการไปเยือนดวงจันทร์เป็นประเทศแรกของโลก หลังจากนั้นเทคโนโลยีสหรัฐก็ค่อย ๆ ทิ้งห่างสหภาพโซเวียดและกลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด

 

ทั้งนี้ ในภาพการแข่งขันดังกล่าว ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยคู่แข่งรายใหม่คือประเทศจีนที่มีสรรพกำลังเหนือกว่าคู่แข่งเดิมอยู่มาก โดยการเดิมพันครั้งใหม่ ก็คือ สมรภูมิการผลิตชิป ซึ่งหากฝ่ายใดความความเป็นผู้นำ ก็จะสามารถเอาชนะในเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างหาศาล เพราะชิปเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี AI , 5G และเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกมาก ดังนั้นสหรัฐจะต้องทุ่มเททุกอย่าง เพื่อคงความเป็นผู้นำในด้านนี้

 

โดยผลการศึกษาของ โครงการ Special Competitive Studies Project หรือ SCSP ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์ หากประเทศจีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า “ต้องจินตนาการถึงโลกที่ถูกควบคุมโดยรัฐที่เป็นเผด็จการ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การควบคุมการผลิตเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจและการทหาร อย่างเช่น เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีพลังงานใหม่”

 

ในรายงาน ยังคาดการณ์ถึงอนาคตของประเทศจีน ที่จะสามารถทำเงินได้มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ และช่วยยกระดับการปกครองระบอบเผด็จการให้เหนือกว่าประชาธิปไตย

 

นอกจากนี้ยังประเมินความน่ากลัวของสถานการณ์ ที่ประเทศจีนส่งเสริมแนวคิดการใช้งานอินเทอร์เน็ต “แบบควบคุมเบ็ดเสร็จจากศูนย์กลาง” (sovereign internet) ซึ่งแต่ละประเทศจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตของประชาชน ซึ่งจีนอาจจะเป็นผู้ที่พัฒนาและควบคุมเทคโนโลยีหลัก สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กองทัพสหรัฐฯ อาจจะสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ให้แก่จีนและประเทศคู่แข่งอื่น ๆ และจีนอาจที่จะตัดขาดการจัดส่ง “ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตด้านเทคโนโลยี”

 

ในขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในการก้าวตามให้ทันการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ของประเทศจีน ซัลลิแวนกล่าวว่า “ไม่มีอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันระดับโลก และดำรงความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ การที่อเมริกาจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี จำเป็นที่จะต้อง เริ่มใหม่ ฟื้นฟู และจัดการดูแล” ซัลลิแวนเสริมว่า “เรากำลังเผชิญกับคู่แข่งที่มุ่งมั่นที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยพร้อมที่จะทุ่มทรัพยากรในระดับที่แทบจะไร้ขีดจำกัดเพื่อการนี้”

 

ด้าน ชมิดต์ อดีต CEO ของบริษัท Google แสดงความเห็นว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของ 5G ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก เราไม่ต้องการทำงานภายใต้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน และถูกควบคุมโดยระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นระบบปิด” ชมิดต์ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะก้าวนำประเทศจีนในด้านเทคโนโลยี โดยเขาคาดว่าจีนจะเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น ในด้านปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม เทคโนโลยีชีวภาพ และด้านอื่น ๆ

 

จอน ฮันต์สแมน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานบริษัท Ford Motor กล่าวว่า คนอเมริกันมักที่จะไม่ทราบว่าประเทศจีนนำหน้าสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีไปไกล เพียงใด ตัวอย่างเช่น จีนนำหน้าสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วอย่างน้อย 5 ปี

 

จากความกังวลของสหรัฐฯ ดังที่กล่าวมาขั้นต้น ทำให้เห็นได้ชัดว่าในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ใช่การเดิมพันการเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ได้ลงลึกไปถึงการชิงชัยของระบอบการปกครอง 2 ขั้ว ระหว่างประชาธิปไตย และเผด็จการ ซึ่งหากฝ่ายเผด็จการมีชัยชนะมีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ดีกว่า มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า มีพลังอำนาจทางทหารที่ดีกว่า และสุดท้ายทำให้ปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีกว่า ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าระบอบของจีนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบอบของสหรัฐ และหากสหรัฐฯเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก็จะเหมือนโดมิโนที่ทำให้โครงสร้างของสหรัฐฯพังทลายลงไปในทุกด้าน

 

ทั้งนี้ เมื่อลงลึกถึงแผ่นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีน จะพบว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2021-2025) จีนได้ทุ่มเงินกว่า 1.3 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.5 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนา 300 โครงการที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาชีวิต นวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งอาจจะทำให้จีนอาแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2028 ตามผลการวิจัยจาก Centre for Economics and Business (ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2020)

 

ประกอบกับมีการคาดการณ์จาก UBS ว่า ในปี 2025 การบริโภครวมของจีนจะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปี 2020 เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการยกระดับการบริโภคของจีนตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงนำไปสู่การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การพัฒนาตนเอง และการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเบื้องหลังที่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

โดย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2021 – 2025 ในส่วนของยกระดับการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศเป็น Tech-power House สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะ Semiconductor ที่เป็นเบื้องหลังหลายๆ เทคโนโลยีที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, 5G, Next Generation Smartphone, Supercomputing, Renewable Energy, New Energy Vehicles และ Biotechnology โดยจีนได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มงบประมาณการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ระดับ 7% ของ GDP ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก ทั้งในมิติมูลค่าและสัดส่วนต่อ GDP

 

จากนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน ได้เริ่มส่งผลเป็นรูปธรรม โดย สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (The Australian Strategic Policy Institute: ASPI) เปิดเผยผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า จีนมีผลิตผลงานวิจัย  37 ชิ้น จาก 44 ชิ้นที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างผลกระทบต่อโลก ขณะที่ชาติตะวันตกกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน  โดยเฉพาะผลงานวิจัยสำคัญๆ ทั้งด้านการป้องกันประเทศ อวกาศ พลังงาน และ เทคโนโลยีชีวภาพ

 

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า สถาบันวิจัยชั้นนำที่คิดค้นงานวิจัยเฉพาะทาง 10 อันดับแรกของโลก มีอยู่ 7 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน และผลการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯ มักจะอยู่ในอันดับ 2 ของเทคโนโลยีด้านต่างๆ แม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นผู้นำการวิจัยระดับโลกในด้านคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง การประมวลผลแบบควอนตัม ดาวเทียมขนาดเล็ก และวัคซีน  ส่งผลให้ชาติประชาธิปไตยตะวันตก กำลังสูญเสียการแข่งขันทางเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงการแข่งขันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการวิจัย

 

สาเหตุหลักที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำ “การผลิตผลงานวิจัยอันน่าทึ่ง” เป็นเพราะสถาบันวิจัยของจีน “อยู่ภายใต้โครงการของรัฐบาล” รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ชาติประชาธิปไตยตะวันตก ร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัยและ “พัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญเชิงกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน”

 

นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 48.49% ของเอกสารการวิจัยที่มีผลกระทบสูงของโลกมาจากจีน ทั้งในด้านเครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง รวมถึงระบบไฮเปอร์โซนิก นอกจากนี้มีข้อมูลว่า ผลงานวิจัยด้านเซ็นเซอร์โฟโตนิก (Photonic sensors) และการสื่อสารควอนตัม (Quantum communication) ที่แข็งแกร่งของจีน อาจนำไปสู่ “ยุคมืด” ของชาติตะวันตกกลุ่ม “Five Eyes” ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์

 

โดย จีนมีแนวโน้มจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยี 10 สาขา ซึ่งรวมถึงชีววิทยาสังเคราะห์  (Synthetic biology)โดยจีนผลิตงานวิจัย 1 ใน 3 ของทั้งหมด เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ไฟฟ้า, 5G และการผลิตด้านนาโน

 

สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences)  ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของรัฐบาล ถูกจัดอันดับที่ 1 หรือ 2 ของการคิดค้นเทคโนโลยี 44 ประเภท เช่น เทคโนโลยีการป้องกันประเทศ อวกาศ วิทยาการหุ่นยนต์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) วัสดุขั้นสูง และเทคโนโลยีควอนตัม โดยมีข้อมูลว่า สาเหตุหนึ่งที่จีนพัฒนาเทคโนโลยีได้ก้าวกระโดด เพราะนักวิจัยของจีนได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากต่างประเทศ  “1 ใน 5” ของนักวิจัยชั้นนำของจีน ได้รับการฝึกฝนมาจากประเทศกลุ่ม Five Eyes ทั้งสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตาสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็ไม่ยอมให้จีนก้าวขึ้นมาแซงอย่างง่าย ๆ ล่าสุดรัฐบาลของโจ ไบเดน ก็ได้ทุ่มงบกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ในกรอบเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 54,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิปและการทำวิจัย และ 170,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และอวกาศ

 

โดยเงินจำนวนนี้นับได้ว่าเป็นเงินลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และอนุมัติเพิ่มเติมนอกจากงบจากรัฐบาลกลางอีก 82,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เช่น AI, ควอนตัมคอมพิวเตอร์, 6G เป็นต้น รวมไปถึงก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค ส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยพร้อมกับลดความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีระดับสูง และยังส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์

 

ดังนั้น ไทยจะต้องจับตา สงครามเทคโนโลยีของ 2 มหาอำนาจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะด้วยเงินลงทุนที่มากเป็นประวัติการจะทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกไปอย่างมหาศาล หากไทยสามารถปรับตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็จะสปริงบอร์ดสำคัญที่ทำให้ไทยกระโดดออกจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศชั้นนำได้ในอนาคต โดยไทยจะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านของงบประมาณ และความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อให้ความความพร้อมในการเข้าร่วมในห่วงโซ่เทคโนโลยีระดับโลกเหล่านี้

 

ไทยจะรับมืออย่างไร กับการก้าวเข้ามาของ

“การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 5”

 

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกที่เกิดในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1760 จนถึงขณะนี้ได้ผ่านกาลเวลามาแล้วถึง 264 ปี และก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 5 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่คนไทยจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และปรับตัวให้กับกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด

 

โดย อุตสาหกรรมยุคที่ 1 เริ่มต้นในปี 1760 – 1870 (มีระยะเวลาประมาณ 110 ปี) เป็นยุคที่เปลี่ยนจากการใช้แรงงานของคนและสัตว์ในระบบการผลิต ไปเป็นการใช้พลังงานเครื่องจักรไอน้ำ

 

อุตสาหกรรมยุคที่ 2 เริ่มต้นในปี 1870 – 1970 (มีระยะเวลาประมาณ 100 ปี)เป็นยุคที่มีการนำเอาพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหินเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงมีการใช้ระบบการผลิตแบบสายพาน ทำให้สามารถผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ หรือ Mass Production

 

อุตสาหกรรมยุคที่ 3 เริ่มต้นในปี 1970 – 2000 (มีระยะเวลาประมาณ 30 ปี) เป็นยุคที่นำเอาเทคโนโลยี IT ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน ทำให้เกิดระบบการผลิตแบบอัตโนมัติในโรงงาน หรือ Manufacturing Automation

 

อุตสาหกรรมยุคที่ 4 เริ่มต้นในปี 2000 – 2020  (มีระยะเวลาประมาณ 20 ปี) เป็นยุคที่ระบบการผลิตถูกบูรณาการเข้ากับเครือข่าย Iot (Internet of Things) ซึ่งส่งผลให้ระบบการผลิตสินค้าเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล และยังมีการใช้ AI มาช่วยให้ระบบการผลิตเกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม

 

และในปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคที่ 5 ที่เริ่มตั้งแต่  2020 – ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ผลักดันเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมก้าวไปข้างหน้าอย่าวรวดเร็ว จากการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมยุคที่ 1 ไปยุคที่ 2 ใช้เวลา 110 ปี และจากยุคที่ 2 ไปยุคที่ 3 ใช้เวลา 100 ปี จากยุคที่ 3 ไปยุคที่ 4 เหลือ 30 ปี และจากยุคที่ 4 ไปยุคที่ 5 ใช้เวลาเพียง 20 ปี

 

ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทย จะก้าวไปตามขั้นตอน และวิธีการแบบเดิมคงต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงไปได้ยาก เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากเกินกว่าจะคาดเดาได้ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาที่ทุกหลักสูตรจะมีระยะเวลาการใช้ที่สั้นมาก ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่ออัปเกรดความรู้จากการเรียนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และสามารถต่อยอดรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 

ในส่วนของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลดีพอสมควรจากมาตรการส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ทั้งมาตรการด้านการเงิน ภาษี และแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ส่วนที่สำคัญ ก็คือ ภาคเอกชนได้ตระหนักและเร่งปรับตัว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ต่อสู้ได้ในเวทีโลก

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5 ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งเรียนรู้ และเตรียมปรับตัวให้ก้าวทันกับยุคที่ 5 นี้ เพราะการเปลี่ยนผ่านจะไปอย่างรวดเร็วมาก หากก้าวตามไม่ทันก็จะถูกทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำ ที่เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก

 

โดยในอุตสาหกรรมยุคที่ 5  จะเป็นการต่อยอดพื้นฐานเดิมแต่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ว่า “การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ (Collabrolative Robot)” อย่างลงตัว

 

ดังนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5.0 จึงเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจโลกของการผลิต และมีผลโดยตรงต่อการผลิต การขาย การตลาด และระบบเศรษฐกิจต่างๆ หากว่าบริษัทที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจะกลายเป็นบริษัทสิ่งที่ล้าสมัย และไม่สามารถแข่งกับตลาดได้ เพราะคู่แข่งที่ไปสู่ยุคที่ 5 จะมีต้นทุนน้อยกว่า , ผลิตสินค้าผลิตไวกว่า  และสามารถเข้าถึงลูกค้ามากกว่าจากการทำ Digital Marketing ที่ดีกว่า สุดท้ายก็ไม่มีจุดยืนในตลาดและต้องออกจากตลาดไป

 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยุค 5.0 จะมีคุณลักษณะที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1. การผลิตแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตรงจุด (Mass Customisation) อุตสาหกรรม 5.0 ทางโรงงานสามารถควบคุมการผลิตและปรับแต่งสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดและราคา ซึ่งผลมาจากการทำระบบ IoT ในการเก็บข้อมูลทั้งในด้านของการเงิน ตลาด และระบบ Autonnomous ที่สั่งการแบบอัตโนมัติมาเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้แบบ Real Time เพื่อให้กำไรของบริษัทหรือโรงงานสูงที่สุด บางที่ในอุตสาหกรรมอาจจะเรียกว่า Advance Control System ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตสินค้าให้เหมาะสมด้วยการปรับแต่งกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่รวดเร็ว

 

  1. การปรับไปใช้โคบอท หรือหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติการ มาจากคำว่า Collaborative Robots โดยเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมา เพื่อปฏิบัติการร่วมกับมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม เป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้งานได้หลากหลายลักษณะงาน มีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆได้รวดเร็ว จากระบบ Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพ

 

  1. การเพิ่มความสามารถของบุคลากร(Competecny Management) จากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ ที่รวดเร็ว และกระทันหัน ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทั้งสองมุม คือ หุ่นยนต์มาแทนที่คนใช้แรงงาน และคนเหล่านี้จะไม่มีงานทำ และสอง คือขาดคนทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อย่างเหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ การพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้สูงขึ้น จนสามารถที่จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้ ซึ่งหากมีความสามารถมากขึ้นผลตอบแทนก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

 

ส่วนในระดับผู้บริหารก็ต้องเป็นคนที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งยุคนี้อาจจะเป็นตำแหน่ง CTO (Chief Technology Officer) ที่ดูด้านเทคโนโลยีต่างๆ แต่ในยุค 5.0 อาจจะต้องมีอีกตำแหน่ง คือ CRO (Chief Robotic Officer) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์โดยเฉพาะ

 

  1. ความเร็วและคุณภาพ (Lead Time & Quality) โดยการเข้ามาของหุ่นยนต์ เทคโนโลยี AI การเชื่อมต่อระบบแบบ IoT และระบบควบคุมอัตโนมัติแบบ Autononomous สามารถเข้ามาเพิ่มความเร็ว และคุณภาพได้อย่างแม่นยำมากๆในยุคนี้ จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมได้อย่างมาก ซึ่งหากไปเทียบกับโรงงานที่ยังใช้คนอยู่ใน Scale เท่ากัน โรงงานที่ใช้คนอยู่จะเสียเปรียบในด้านของความเร็ว และคุณภาพ อย่างมาก

 

  1. การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment Recognization) ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกในขณะนี้ เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนลงให้ได้มากที่สุด ทำให้มีการออกข้อกำหนดมากมายในอุตสาหกรรม ดังนั้นบริษัทหรือโรงงานจะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านั้น หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานใหม่เหล่านี้ ก็จะไม่สามารถค้าขายในโลกนี้ได้ ดังนั้นการควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำ จะส่งผลให้การปล่อยมลพิษลงได้มาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะมาจากเทคโนโลยียุค 5.0 รวมถึงเรื่องการนำพลังงานสะอาดมาใช้งานในทุกกระบวนการผลิต และการขนส่ง

 

สำหรับ ประโยชน์ที่ได้จากอุตสาหกรรมยุค 5.0

– ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

– เป็นบริษัทที่เป็นมิตรและคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม

– เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กร

– เพิ่มความยั่งยืนให้แก่บริษัท

– เพิ่มความสามารถของบุคลากรในบริษัท

 

ในส่วนของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในยุคอุตสาหกรรม 5.0 นั้น อาจจะต้องระบุว่างานแบบไหนควรจะถูกรับผิดชอบโดยหุ่นยนต์หรือมนุษย์ และงานแบบไหนเหมาะกับหุ่นยนต์รุ่นใด กล่าวคือ ความสำคัญและความรับผิดชอบของฝ่ายนี้จะกว้างและสูงขึ้น โดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะได้รับมอบหมายให้ทำการจัดหาและดูแลรักษาหุ่นยนต์ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นองค์กรอาจจะต้องก่อตั้ง “ฝ่ายหุ่นยนต์” ขึ้นมาเพื่อพัฒนาและรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาความลับข้อมูลที่จะซับซ้อนขึ้นอีกมาก

 

ด้านสังคมมนุษย์อาจจะพบเจอกับบรรทัดฐานและจริยธรรมใหม่ ซึ่งจะแตกต่างไปจากแค่การคาดหวังให้ทุกคนทำงานหนักและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไปสู่สิ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากการที่หุ่นยนต์นั้นมีความเสียสละ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีความขี้เกียจ และโกหกไม่เป็น

 

ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงในสังคมจะยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากบางกลุ่มจะสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมมนุษย์ เพราะว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะการณ์ตกงานและรู้สึกว่าถูกคุกคาม แต่บางกลุ่มยังคงต้องการให้มีหุ่นยนต์ที่จะสามารถทดแทนตำแหน่งพนักงาน เพื่อที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์

 

อย่างไรก็ตาม คนมักจะคิดว่าหุ่นยนต์กำลังจะมามีบทบาทแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสำหรับอุตสาหกรรม 5.0 ความเชื่อเหล่านี้อาจจะเกินจริงไปบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงยังจะมีงานหรืออาชีพใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

เนื่องจาก 20-80% ของระบบงานที่นำเอาเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้นั้น ยังไม่สามารถทำได้ด้วยระบบอัตโนมัติแบบ 100% ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายระบบการทำงานสักเพียงใด สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ยังต้องทำงานควบคู่ไปกับหุ่นยนต์อยู่ดี และยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพงานอีกด้วย

 

รวมถึงมุมมองที่ว่า ผู้บริโภคในอนาคตอาจจะต้องการสินค้าที่มนุษย์มีส่วนร่วม หรือมนุษย์สัมผัส (Human Touch) ดังนั้นในอุตสาหกรรมยุค 5.0 แม้ว่าการผลิตสินค้าจะเป็นการผลิตในครั้งละมากๆ และราคาต่ำ แต่มีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่า บทบาทของมนุษย์จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อันเป็นการตอบโจทย์ค่านิยมอย่างหนึ่งของผู้บริโภคในยุคนั้น

 

ซึ่งเห็นได้ว่าจากแนวคิดต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ใช่บทสรุปสำหรับการมองภาพอนาคตสำหรับ Industry 5.0 เสียทีเดียว แต่ก็เปิดมุมมองสำหรับผู้ประกอบการให้มีการวิเคราะห์ภาพอุตสาหกรรมในอนาคต และอาจไม่ได้มองถึงความเป็นไปได้ด้านเดียวที่จะเกิดขึ้น

 

เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่สังคม เศรษฐกิจ สิงแวดล้อม และพฤติกรรมผู้บริโภคถูกแรงขับของเทคโนโลยีเร่งเร้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทว่าที่สุดแล้วเมือถึงจุดหนึ่ง ‘คน’ ต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันจากเทคโนโลยี กฎ ข้อบังคับ ตลอดจนถึงเรื่องจริยธรรมในการทำธุรกิจระหว่างแรงงานคนและหุ่นยนต์ จะมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากขึ้น และถึงตอนนั้นอาจจะถึงจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีอีกครั้ง คือจุดที่คนอาจเริ่มต่อต้านหุ่นยนต์และโหยหาความดั้งเดิมมากขึ้น

 

แหล่งอ้างอิง : https://piu.ftpi.or.th/   /   https://naichangmashare.com/2023/05/02/industry5-0-revolution-history/

การเกิดขึ้นของยุคอีวี

จุดเริ่มต้นรถยนต์สัญชาติไทย

 

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก และรถยนต์ก็เป็นสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าเป็นอันดับ 1 ของประเทศ รวมทั้งมีประสบการณ์การผลิตมากว่า 50 ปี ทำให้เกิดคำถามมาโดยตลอดว่า ทำไมไทยถึงไม่มีแบรนด์รถยนต์เป็นของตัวเองเสียที เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

 

อย่างไรก็ตาม หากจะตอบโจทย์ปัญหานี้ จะต้องกลับไปดูในภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก ซึ่งมีประเทศที่เป็นเจ้าของบริษัทรถยนต์เพียง 10 ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน 4 บริษัท ญี่ปุ่น 8 บริษัท สหรัฐ 4 บริษัท ฝรั่งเศส 2 บริษัท อิตาลี 1 บริษัท เกาหลีใต้ 2 บริษัท รัสเซีย 2 บริษัท จีน 14 บริษัท อินเดีย 2 บริษัท และสวีเดน 1 บริษัท ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ของตัวเองมาอย่างยาวนาน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตรถยนต์เข้ามาขายในแต่ละรุ่นจะมีต้นทุนการออกแบบ พัฒนาเทคโนโลยี และการประชาสัมพันธ์ สูงมาก เช่น หากแบรนด์ไทย 1 ราย ผลิตรถยนต์เข้ามาขาย 1 รุ่น ขายได้ 1,000 คัน ในขณะที่โตโยต้าที่มีต้นทุนพัฒนาเท่ากันแต่ขายได้ 1 แสนคันทั่วโลก ดังนั้นแค่เพียงต้นทุนรถเพียงรุ่นเดียวก็สู้ไม่ได้แล้ว ซึ่งหากกัดฟันสู้ต่อไป บวกกับรัฐบาลให้การอุดหนุน ก็อาจจะอยู่ในตลาดได้เพียงระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด เหมือนกับรถยี่ห้อ โปรตอน ของมาเลเซีย ที่รัฐบาลได้สนับสนุนมายาวนานหลายสิบปี สุดท้ายก็สู้ไม่ได้และต้องขายบริษัทให้กับประเทศจีน เนื่องจากรถยนต์ไม่เพียงแต่จะสู้ด้วยราคา แต่ยังรวมไปถึงความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย เทคโนโลยี และมูลค่าของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์น้องใหม่ที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา และมีตลาดภายในประเทศขนาดเล็ก ก็ยิ่งไม่สามารถต่อสู้กับแบรนด์ต่างชาติได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีบริษัทผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของไทยเกิดขึ้นหลายราย แต่ก็ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในขณะนี้มีรถยนต์สัญชาติไทยเหลืออยู่เพียง 2 ค่าย คือ ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ ที่จะเป็นรถยนต์ที่ผลิตจากค่าย TOYOTA ISUZU NISSAN และ CHEVROLET  และนำมาดัดแปลงตัวถังให้เป็นรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง โดยใช้เครื่องยนต์ และคัทซีเดิมของรถยนต์นั้นๆ   และในปัจจุบันได้มีการทำโครงสร้างตัวถังใหม่ แต่ยังคงใช้เครื่องยนต์ และช่วงล่างของรถยนต์โตโยต้า เป็นหลัก แต่ยอดขายก็ยังมีอยู่น้อย และมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อ GPX ที่เป็นสัญชาติไทย 100% ซึ่งครองยอดขายอันดับ 4 ของไทย มีจำนวนกว่า 1.5 แสนคันในปี 2564

 

จากความยากลำบางของการสร้างแบรนด์รถยนต์แห่งชาติดังที่กล่าวมาขั้นต้น ทำให้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ได้เลือกที่จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้กับต่างชาติ มากกว่าการสร้างแบรนด์ของประเทศ โดยได้เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนการผลิตรับผิดชอบในเรื่องการสร้างแบรนด์ และการทำตลาด ส่วนไทยจะเน้นในเรื่องการผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ไทยลดความเสี่ยงในอุตสาหกรรมรถยนต์ไปได้มาก และสร้างผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เป็นจำนวนมากที่เป็นของคนไทย หรือร่วมทุนกับต่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนที่เข้มแข็งและส่งออกไปได้ทั่วโลก

 

โดยเมื่อ 40 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายตั้งอัตราภาษีการนำเข้ารถยนต์ในอัตราส่วนสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการขายรถยนต์ในประเทศไทยหรือต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานประกอบรถยนต์ต้องร่วมทุนกับบริษัทไทยเพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศ โรงงานแห่งแรกในประเทศไทยคือโรงงาน Anglo-Thai Motor Company ซึ่งเป็นการลงทุนระหว่างบริษัท Ford Motor และบริษัทนำเข้ารถยนต์ Ford ในขณะนั้น ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายย่อยของประเทศโดยการระบุให้ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ รวมถึงกำหนดให้รถยนต์ที่ประกอบในประเทศไทยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัทไทยบางส่วน

 

นโยบายดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยของประเทศไทยได้ประโยชน์และช่วยให้พัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยอีกด้วย ในช่วงทศวรรษ 1990 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่โดยกำหนดว่าประเทศไทยต้องเป็น “Detroit of Asia” คือเป็นประเทศที่สามารถส่งออกรถยนต์รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ที่มีความตกลงทางการค้า

 

ซึ่งถือได้ว่าไทยเดินมาถูกทาง เห็นได้จากยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2566 ไทยผลิตได้เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีจำนวนกว่า 1.8 ล้านคัน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 1.3 ล้านคัน มาเลเซีย 7.7 แสนคัน เวียดนาม 1.7 แสนคัน และฟิลิปปินส์ 1.1 แสนคัน และปัจจุบันประเทศไทยเริ่มนโยบายในการส่งเสริมผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นมาตรฐานของเครื่องรถขับเคลื่อนในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงยุครถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ถือเป็นการปฏิวัติวงการรถยนต์ทั้งระบบ ทำให้ทุกประเทศมีจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีรถยนต์อีวีที่ใกล้เคียงกัน เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในมาต่อยอด และมีชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงไปมาก โดยรถยนต์อีวี มีชิ้นส่วนประมาณ 3,000 ชิ่น แต่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันมีชิ้นส่วนกว่า 40,000 ชิ้น ทำให้รถยนต์อีวีผลิตได้ง่ายขึ้น

 

จึงเกิดค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย และบางค่ายก็สามารถสั่นสะเทือนค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ได้ เช่น เทสล่า ของสหรัฐ และค่ายรถยนต์อีวีน้องใหม่จากจีนที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งค่ายรถยนต์อีวีเหล่านี้แทบจะไม่มีฐานความรู้ในด้านเครื่องยนต์สันดาปภายในเลย แต่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ มอเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์มาหลอมรวมกันเป็นรถยนต์อีวียุคใหม่ ที่มีอัตราการเร่ง และความเร็วสูงกว่ารถยนต์น้ำมัน มีต้นทุนพลังงานที่ต่ำกว่า และที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงทำให้ความต้องการรถยนต์อีวีโตอย่างก้าวกระโดด

 

ส่วนในประเทศไทย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดทั้งผลบวก และลบ โดยผลลบ ก็คือ การเกิดขึ้นของรถยนต์อีวี ทำให้ค่ายรถยนต์เดิมสามารถย้ายไปเริ่มต้นตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศอื่นได้ทันที เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีแบบเดิม ทำให้มีความเสี่ยงที่ต่างชาติจะย้ายไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ และมีทรัพยากรแร่ธาตุที่จำเป็นมากกว่า ทำให้ไทยต้องตายไปพร้อมกับเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์แบบเดิม ส่วนผลบวก จะทำให้ไทยเริ่มต้นผลิตรถยนต์อีวีแบรนด์ของคนไทยได้ง่ายขึ้น

 

จากปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทยได้แก้เกม โดยการอัดฉีดสิทธิประโยชน์การลงทุนในระดับสูงสุด และที่เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ คือ การอัดฉีดเม็ดเงินให้รถยนต์อีวีของบริษัทที่จะสร้างโรงงานรถยนต์อีวีในไทย ทำให้มียนต์อีวีที่ขายในประเทศไทยมีราคาลดลงไปมากจนคนทั่วไปเอื้อมถึงได้ จนทำให้ในปี 2566 ไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีสูงถึง  76,314 คัน ขยายตัว 684% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบตลาดทั้งอาเซียนแล้ว ไทยมีสัดส่วนการซื้อรถยนต์อีวีสูงถึง 78.7% ของทั้งอาเซียน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 8% เวียดนาม 6.8% สิงคโปร 4.1% และมาเลเซีย 2.4%

 

ทั้งนี้ จากความได้เปรียบของขนาดตลาดรถยนต์อีวีของไทยที่ใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ทำให้เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญให้บริษัทผลิตรถยนต์อีวีของทั่วโลกได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อส่งไปขายในอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งจากมาตรการของรัฐบาลที่กล่าวมาขึ้นต้น ทำให้ไทยพลิกจากความเสียเปรียบไปสู่ประเทศที่ชนะในสงครามการลงทุนรถยนต์อีวีได้ในปัจจุบันนี้

 

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดโอกาสของค่ายรถยนต์สัญชาติไทยอีกมากมาย โดยที่โดดเด่นจะเป็นของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ได้เริ่มสร้างแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ก่อน เช่น รถบัสไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้า และหัวรถจักรไฟฟ้า ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ระดับโลกที่สร้างหัวรถจักรรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสาเหตุที่เริ่มบุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ก่อน ก็เพราะว่ามีคู่แข่งไม่มาก และสามารถสร้างแบรนด์รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของไทยในระดับโลกได้ ซึ่งโรงงานในปัจจุบันก็มีกำลังการผลิตใกล้เคียงกับโรงงานขนาดใหญ่ของจีนแล้ว

 

โดย ยอดขายในปี 2566 ได้ส่งมอบยานยนต์ไฟฟ้าได้ที่ระดับกว่า 3,000 คัน ซึ่งเห็นได้จากจำนวนรถเมล์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก และในปี 2567 คาดว่ามียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าที่ 3,300 คัน แบ่งเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า 1,650 พันคัน และอีก 1,650 คัน จะเป็นรถบัสไฟฟ้า ซึ่งหากมีฐานของแบรนด์ในด้านรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่แข็งแกร่งแล้ว ก็สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปได้ไม่ยาก

 

นอกจากนี้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ของ ปตท. ที่มีเป้าหมายการสร้างระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยได้ร่วมทุนกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก และ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก เพื่อผลิตแบตเตอรี่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อการเป็นผู้ผลิตรถยนต์อีวี ให้กับบริษัทชั้นนำทั่วโลก ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะผลิตรถยนต์อีวีของไทยต่อไป

 

จากการเกิดขึ้นของยุครถยนต์อีวี ทำให้สร้างโอกาสที่จะเกิดแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยอีกหลายราย และจะทำให้คนไทยจำนวนมากที่เฝ้ารอแบรนด์รถยนต์ของไทยมาอย่างยาวนาน ก็จะมีโอกาสเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยเสียที และยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะทำให้แบรนด์รถยนต์อีวีของไทย ก้าวไปโด่งดังในต่างประเทศได้ในอนาคต

สอวช. สำรวจข้อมูลเชิงลึกภาคเอกชน

ปรับหลักสูตรผลิตคนรองรับอุตฯเป้าหมาย

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเติบโตได้ไม่เต็มที่ ก็คือ การขาดบุคลากรที่มีความสามารถทักษะชั้นสูงเข้ามารองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ดังนั้น สอวช. จึงได้เข้าไปรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อนำมาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการ

 

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. ได้สำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม สำหรับปี 2568 – 2572 หรือ “Thailand Talent Landscape” เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการในประเทศไทยกว่า 300 ราย ภายใต้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และนำมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

โดย ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จะนำข้อไปพัฒนาหลักสูตรหรือคอร์สเรียนต่าง ๆ ให้สามารถพัฒนาบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ ในขณะที่ สอวช. เองก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานฝึกอบรม โดยหน่วยงานที่ส่งบุคลากรเข้าอบรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% และหน่วยงานที่มีการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM สามารถนำค่าจ้างบุคลากรมาลดหย่อนภาษีได้ 150% ในปีที่ผ่านมามีบุคลากรที่ผ่านการรับรองการจ้างงานแล้วกว่า 5,000 ราย ปีนี้ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นไปถึง 10,000 ราย และตั้งเป้าให้มีผู้ที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง 100,000 ราย

 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังพบว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีผู้เล่นรายใหญ่ไม่ถึง 100 บริษัท ครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทของไทย และอีกครึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัว หากภาวะเศรษฐกิจไม่เสถียรก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องสร้างผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้โครงสร้างประชากร ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างประชากรของไทยเป็นรูปแบบพีระมิดฐานกว้าง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานของพีระมิด สอวช. จึงได้ทำโครงการ Social Mobility เพื่อยกฐานะทางสังคมของประชากรฐานราก โดยมีเป้าหมายทำให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570

 

ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงกระทบกับการค้า การลงทุน ซึ่งการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้จะหาทางออกได้ยากหากขาดกำลังคนที่เพียงพอ และกำลังคนที่มีทักษะ หรือมีสมรรถนะสูง

‘เศรษฐกิจอวกาศ’ แหล่งโอกาสที่น่าจับตามองของไทย

 

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy เป็นโอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคตที่หลายประเทศกําลังจับตามอง การเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในปัจจุบันได้กลายเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานสําคัญในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านข้อมูล การให้บริการอินเทอร์เน็ต ระบบนําทางในรถยนต์ สัญญาณโทรศัพท์ ข้อมูลสภาพอากาศ การจัดการและวางแผนฉุกเฉิน และข้อมูลด้านการเกษตร เป็นต้น ในต่างประเทศได้คาดการณ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะมีแนวโน้มสูงถึง 30 ล้านล้านบาท ในปี 2040 โดยในปี 2021 มีการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศมากกว่า 236,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากบริษัทวิจัย ยูโรคอนเซาท์)

 

โอกาสของประเทศไทยในเศรษฐกิจอวกาศ

 

ปัจจุบันภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยมีความน่าสนใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเริ่มมีนโยบายจากภาครัฐเป็นแนวทาง ยิ่งทําให้ภาคเอกชนและภาคการวิจัยตื่นตัวกันมากขึ้น

 

สําหรับประเทศไทย รัฐบาลกําหนดให้อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศ (New Engine of Growth) ประเทศไทยมีโครงสร้างหน่วยงานที่ร่างนโยบายอวกาศ หน่วยงานด้านสารสนเทศ หน่วยงานวิจัย รวมทั้งการตั้งงบประมาณในส่วนที่รองรับการทํางานด้านอวกาศ ซึ่งความพร้อมของประเทศไทยคงไม่ใช่การสร้างยานอวกาศแข่งกับมหาอํานาจ แต่เป็นการคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

 

THEOS-2 กับการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจอวกาศไทย

 

GISTDA หรือสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของไทย และผู้ให้บริการด้านภูมิสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีอวกาศ จับมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาทั้งในและนอกประเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้ที่อยู่ในสายงานอุตสาหกรรมอวกาศ

 

โครงการพัฒนาระบบดาวเทียมสํารวจโลก หรือ THEOS-2 ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังเป็นการมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีทักษะ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย เตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศผ่านการสร้างนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสําคัญที่ขับเคลื่อนกิจการต่าง ๆ ในทุกมิติของสังคมปัจจุบัน สอดรับกับกระแสเศรษฐกิจอวกาศของโลกในอนาคต

 

ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรแล้ว การสนับสนุนของภาครัฐ การลงทุนในภาคเอกชน รวมถึงการเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีของภาคประชาชน นับเป็นปัจจัยสำคัญสําหรับประเทศไทยในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความเป็นไปของโลกและก้าวสู่เศรษฐกิจอวกาศระดับโลกได้

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือด้านอวกาศกับหลากหลายประเทศ เช่น ความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (The Excellence Centre of Space Technology and Research: ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ In-Space Missions Limited ประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาและยกระดับกิจการด้านอวกาศของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า มุ่งมั่นพัฒนากิจการด้านอวกาศของไทย ต่อยอดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอวกาศ ด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ และการสร้างดาวเทียมในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและเจตนารมย์ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศอย่างรอบด้าน

 

จากความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์หลากหลายด้าน เช่น ในการพัฒนาดาวเทียมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน การพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาไฟป่า และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันในเดือนมีนาคม 2567 และภายใน 2 ปี จะมีการดำเนินการผลิตดาวเทียมร่วมกัน และสามารถใช้งานดาวเทียมได้ภายในระยะเวลา 3 ปี

 

หนึ่งในนั้น ได้แก่ โครงการผลิตดาวเทียม Faraday Dragon ที่เป็นความร่วมมือจากหลากหลายประเทศ ร่วมกับ In-Space Missions Limited เพื่อผลิตดาวเทียมภูมิภาค ที่มีจุดประสงค์ใช้งานในด้านที่เกี่ยวกับรัฐบาล การค้า การเงิน และการศึกษา โดยประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการนี้ รวมถึงโครงการอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิตดาวเทียมร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ การพัฒนากิจการอวกาศ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเทคโนโลยีและสร้างงานให้กับคนไทย ส่งผลดีทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากล และการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูง ทำให้การร่วมมือพัฒนายกระดับด้านอวกาศเป็นสิ่งสำคัญของการเดินหน้าประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

โดย การร่วมมือพัฒนายกระดับกิจการอวกาศ ด้านเทคโนโลยีและดาวเทียม จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าครอบคลุมทุกด้านในอนาคต ซึ่งเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย มีเศรษฐกิจอวกาศที่เติบโต และสามารถสร้างดาวเทียมที่ใช้งานได้จริงภายในประเทศ ภายในอีก2 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประเทศแห่งเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ สามารถผลิตเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล