Business

บีโอไอไฟเขียว “เวสเทิร์น ดิจิตอล”

ลงทุนเพิ่มกว่า 23,000 ล้านบาท

รองรับคลาวด์ – ดาต้าเซ็นเตอร์

 

บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการใหญ่ของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (WD) มูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท เพื่อขยายฐานผลิต Hard Disk Drive ที่อยุธยาและปราจีนบุรี สะท้อนแนวโน้มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวของเทคโนโลยีคลาวด์และ Data Center เพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ย้ำไทยผู้นำฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ระดับโลก

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการขยายกิจการผลิต Hard Disk Drive (ฮาร์ดดิสก์) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มูลค่าลงทุน 23,516 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี

 

บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (Western Digital: WD) เป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ระดับโลก สัญชาติอเมริกัน ที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการในธุรกิจจัดเก็บข้อมูลของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Fujitsu, Hitachi, SanDisk และ Komag ทำให้ปัจจุบันบริษัท WD มีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่กว่าร้อยละ 40 โดย WD ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตหลักในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการจ้างงานกว่า 28,000 คน โดยไทยเป็นโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์เพียงแห่งเดียวที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายและทดสอบ

 

นอกจากการผลิตฮาร์ดดิสก์แล้ว บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ยังได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกหลายอย่าง เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์ การพัฒนาบุคลากรในหลายรูปแบบทั้งโครงการสหกิจศึกษาในสาขา STEM และโครงการ Talent Mobility การใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน การพัฒนาโรงงานอัจฉริยะจนได้รับรางวัล Global Lighthouse Network และการพัฒนา SMEs ไทยในด้าน Smart Factory เป็นต้น

 

โดย การขยายการลงทุนครั้งใหญ่ของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอีกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มอีกกว่า 10,000 คน และจะสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ชิ้นส่วนโลหะและพลาสติก ชุด Power Supply เป็นต้น รวมมูลค่ากว่า 81,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 45 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น

 

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลกยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของระบบคลาวด์และ Data Center รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Generative AI และ 5G ที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้ระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลก ปัจจุบันร้อยละ 80 ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลกถูกผลิตจากประเทศไทย

 

โดยเฉพาะผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่อย่าง WD และ Seagate ซึ่งบริษัท Seagate ก็เพิ่งจะมีการขยายการลงทุนครั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – มิถุนายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์และชิ้นส่วน จำนวน 42 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 82,600 ล้านบาท

BDI หนุน SME ไทยใช้ Big data

พัฒนา AI เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

 

บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง และได้ปฏิวัติหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเรา รวมถึงปฏิวัติวิธีการทำธุรกิจด้วย ความก้าวหน้าอันรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ได้นำไปสู่การบูรณาการ AI เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจสมัยใหม่

 

โดย AI ได้มอบโอกาสมากมายให้ธุรกิจสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ตั้งแต่การปรับปรุงการดำเนินงานไปจนถึงการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า จึงทำให้ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ธุรกิจสมัยใหม่  เรามาสำรวจกันว่า AI กำลังเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั่วโลกไปอย่างไร

 

  1. การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอัตโนมัติ

ประโยชน์หลักประการหนึ่งของ AI ในกลยุทธ์ธุรกิจ คือ ความสามารถในการทำให้งานและกระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถปรับปรุงงานที่ซ้ำซากและน่าเบื่อ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรอันมีค่าที่สามารถเอาไปใช้เริ่มต้นทำสิ่งต่าง ๆ ในเชิงกลยุทธ์ได้มากขึ้นด้วยการนำระบบอัตโนมัติ AI มาใช้แทนที่มนุษย์

 

  1. การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ในโลกปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ธุรกิจต่าง ๆ มีข้อมูลจำนวนมหาศาล AI มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้องค์กร เข้าใจข้อมูล และสกัดออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ตรวจจับ patterns ต่าง ๆ ในข้อมูล และสร้างระบบธุรกิจอัจฉริยะ ที่มีคุณค่าได้โดยใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning)

 

โดย สิ่งนี้ช่วยให้บริษัท สามารถตัดสินใจจากข้อมูลที่รอบด้าน คาดการณ์แนวโน้มตลาด เพิ่มประสิทธิภาพในกลยุทธ์การตั้งราคา และปรับแต่งประสบการณ์ของลูกค้าได้ละเอียดในระดับรายบุคคล ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้วย AI จะช่วยให้ธุรกิจมีความก้าวหน้านำคู่แข่ง และช่วยขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่องค์กร

 

  1. ยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น

AI ได้ปฏิวัติวิธีที่ธุรกิจใช้เชื่อมโยงกับลูกค้าด้วยการนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวอย่างราบรื่นในช่องทางการติดต่อต่าง ๆ แชทบอทและผู้ช่วยเสมือน ที่ขับเคลื่อนโดยการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ช่วยทำให้ธุรกิจ สามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การตอบคำถามและการแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที

 

ซึ่งระบบแนะนำที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะวิเคราะห์ความชอบและพฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และจัดแคมเปญการตลาดที่มีความเหมาะสมจำเพาะเจาะจงกับลูกค้าแต่ละรายได้ นอกจากนี้แล้ว การวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกด้วย AI ยังสามารถวัดความพึงพอใจและความคิดเห็นของลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถจัดการข้อกังวลต่าง ๆ และปรับปรุงพัฒนาการให้บริการและประสบการณ์โดยรวมของลูกค้าได้แบบเชิงรุก

 

  1. การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์และการพยากรณ์

ความสามารถในการคาดการณ์ของ AI มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องการคาดการณ์แนวโน้มตลาด พยากรณ์อุปสงค์ความต้องการ และคาดคะเนถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น AI สามารถสร้างการคาดการณ์ที่แม่นยำด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในอดีต และใช้แบบจำลองการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ระดับสินค้าคงคลัง และจัดตารางเวลาในการผลิตสินค้าได้อย่างเหมาะสม

 

แนวทางเชิงรุกนี้ ช่วยลดความสิ้นเปลือง ลดต้นทุน และปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรได้ นอกจากนี้แล้ว โมเดลการประเมินความเสี่ยงด้วย AI ยังสามารถระบุภัยคุกคามและช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ธุรกิจลดความเสี่ยงและสามารถตัดสินใจได้ด้วยข้อมูล ส่งผลดีให้ธุรกิจมีความยั่งยืนได้ในระยะยาว

 

  1. ความได้เปรียบในการแข่งขันและนวัตกรรม

การนำ AI มาเป็นตัวช่วยในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างมีนัยสำคัญโดยการส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้ง AI ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่งในเชิงต้นทุนและเวลา

 

นอกจากนี้ ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จาก AI และข้อมูลด้านการตลาด ยังอำนวยความสะดวกในการเสาะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ได้ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม วางตำแหน่งตัวเองให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรม และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่

 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบ AI ให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า ล่าสุด สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) “หรือ BDI” ได้จัดทำโครงการ The UP: Unlock Potential with Data โอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากข้อมูลสร้างการเติบโต เพื่อปลดล็อคศักยภาพธุรกิจด้วยพลังของข้อมูลเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

สำหรับ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อแก้ไข Pain Points และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ศึกษาแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เรียนรู้เทคนิคและวิธีการการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกิจการ และแนวทางในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างการเติบโต รวมทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสามารถรับบริการได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ

 

โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่ วันนี้ – 31 สิงหาคม 2567 สามารถสมัครได้ที่  https://theupunlockpotentialwithdata.com  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 062-638-5542

นิคมฯแอลพีพีฯ ดึงญี่ปุ่น-ไต้หวัน

ตั้งโรงงานผลิตซิลิก้าจากแกลบเกรดผลิตชิป

 

“แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท” ตั้งนิคมฯเทคโนโลยีชั้นสูง จ.นครสวรรค์ ดึง บริษัทด้านนวัตกรรมจากญี่ปุ่น – ไต้หวัน ตั้งโรงงานผลิตซิลิก้า พร้อมยกระดับไปสู่การผลิตซิลิก้าเกรดผลิตชิป

 

นายถวิล ล้อพูนผล กรรมการบริหาร บริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ชีวภาพ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องซึ่งมีศักยภาพสูงในการเติบโตตามแนวทางของรัฐบาล อีกทั้ง บริษัทฯ ยังเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของล้อพูนผล ไรซ์มิลล์ จำกัด ที่ประกอบกิจการ โรงสีข้าว และคัดคุณภาพข้าว จึงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการใช้ผลพลอยได้จากการผลิตด้านการเกษตรไปต่อยอดธุรกิจด้วยการนำไปผลิตเป็นน้ำมันรำข้าวและมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงตัดสินใจที่จะพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและชีวภาพ แบบครบวงจร ซึ่งจะเป็น Smart Agriculture Industrial Estate ที่มีมูลค่าการลงทุนในโครงการกว่า 800 -900 ล้านบาท

 

สำหรับรูปแบบธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ได้พัฒนาแนวคิดมาจากหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “Circular Economy” ที่มุ่งเน้นการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีของเสียน้อยที่สุด และการหาทางนำของเสียมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในนิคมจะมี Central Lap ด้านเกษตรและอาหาร ที่ให้บริการทดสอบ วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่ปัจจัยการผลิตจนถึงผลิตภัณฑ์ และมีสถาบันฝึกอบรมหรือพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพป้องเข้าสูงโรงงานในนิคมฯ

 

สำหรับโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ กนอ. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยงบลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคประมาณ 854.44 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศกว่า 18,216 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 4,554 ตำแหน่ง โดยใช้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี ภายหลังได้รับการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2569

 

ทั้งนี้ ล่าสุดก็มีนักลงทุนต่างชาติได้ติดต่อเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรชั้นสูงอยู่ 2 ราย จากประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน ใช้พื้นที่ 30 – 40 ไร่ต่อราย โดยโรงงานจากญี่ปุ่นจะใช้วัตถุดิบแกลบจากโรงสีข้าวของเรามาเข้ากระบวนการผลิตเป็นซิลิก้า โดยใช้ความร้อนที่มีความเสถียร ควบคุมออกซิเจน และก๊าซในโตรเจนให้เหมาะสมด้วยนวัตกรรมชั้นสูง เพื่อให้ได้ผงซิลิก้าสีขาว ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยางรถยนต์ ที่จะป้อนไปสู่ตลาดยุโรปโดยเฉพาะ เนื่องจากข้อกำหนดที่ต้องมีส่วนผสมจากพืชธรรมชาติ ซึ่งในไทยยังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้

 

“ในประเทศญี่ปุ่นมีโรงงานแบบนี้ 1 – 2 โรง แต่มีวัตถุดิบแกลบค่อนข้างน้อย ซึ่งแกลบจะเป็นวัตถุดิบที่สำคัญเพราะมีซิลิก้าค่อนข้างสูง จึงสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯของเรา โดยใช้แกลบประมาณ 250 ตัน/วัน จะผลิตซิลิก้าได้ประมาณ 15% ของวัตถุดิบ และยังมีแผนที่จะยกระดับไปผลิตซิลิก้าเกรดผลิตชิป ในนิคมฯแห่งนี้”

 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจากไต้หวันเข้ามาลงทุนผลิตซิลิก้าจากแกลบเช่นเดียวกัน แต่ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน โดยจะผลิตเป็นซิลิก้าในรูปแบบของเหลว ใช้วัตถุดิบจากแกลบและฟางข้าว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเผาฟางข้าวได้อีกด้วย

 

จุดเด่น ที่สนใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯของเรา เพราะมีวัตถุดิบแกลบได้เขาอย่างเดียงพอแน่นอนทั้งปี ในปริมาณโรงงานละ 250 ตัน รวมทั้งประเทศไทยยังเปิดให้นักลงทุนสามารถเป็นเจ้าของโรงงานได้ 100% มีโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้านที่ดี มีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ดี และมีเทคโนโลยีภายในประเทศอยู่พอสมควร ซึ่งหลังจากที่ได้เซ็นต์สัญญาร่วมมือกับการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปแล้ว น่าจะมีโรงงานด้านการเกษตร และชีวภาพชั้นสูงเข้ามาเพิ่มอีกหลายราย

 

นอกจากนี้ ในนิคมฯ ยังมีศูนย์การวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยจะเน้นวิจัยพันธุ์พืชและสัตว์ เพื่อวิจัยนวัตกรรมใหม่ให้กับบริษัท และเกษตรกรโดยรอบ ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในการพัฒนาสินค้าเกษตร

 

สำหรับ นิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 673 ไร่ ในตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มีพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนเชิงนิเวศ และการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมาแล้วมาปรับปรุงคุณภาพ รวมทั้งได้นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารต่าง ๆ ลงดิน

 

โดยจุดเด่นของโครงการคือการส่งเสริมการจ้างงานและกระจายการผลิตไปยังภาคกลางตอนบน และยังสอดคล้องกับนโยบาย BCG ด้วยการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านความเชี่ยวชาญของบริษัท แอลพีพีอินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด

 

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานกับ บริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ เพื่อขัยเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ นับเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 69 ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.

 

“โครงการจัดตั้งนิคมแอลพีพี นครสวรรค์ เป็นโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ BIOECONOMY โดยนำผลผลิตทางเกษตร มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสินค้าที่ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทำให้เกิดเกิดความสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และด้วยศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของบริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด เชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ กนอ. พร้อมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมและประเทศต่อไป”นายวีริศ กล่าว

จีน พลิกโฉมการเลี้ยงหมู

สร้างตึก 26 ชั้น ผลิตได้ครั้งละ 1.2 ล้านตัว

 

อาคารเลี้ยงสุกรสูง 26 ชั้นถูกนำมาใช้ในหูเป่ย โดยหมูชุดแรกจำนวน 3,700 ตัว ได้อาศัยอยู่ในห้องเลี้ยงที่ทันสมัย เมื่ออากาศร้อน หรือหนาว ก็มีระบบปรับอากาศ และความชื้นที่เหมาะสม ช่วยให้หมูอยู่ได้อย่างสบาย รวมทั้งมีการให้อาหารอัตโนมัติ และอื่นๆ อีกมากมาย ระบบฆ่าเชื้อโรคช่วยให้อากาศสดชื่นตลอดเวลา

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมควรได้รับความสนใจไม่ใช่เพียงวิธีการเลี้ยงหมูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแนวคิดเบื้องหลังด้วย นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดด้านเกษตรกรรมไปสู่แนวคิดเชิงอุตสาหกรรม และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมการเพาะพันธุ์แบบดั้งเดิมแปรเปลี่ยนเป็นทิศทางที่ชาญฉลาดและเป็นสีเขียว เพราะสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารของทั้งประเทศ

 

โดย อาคารเลี้ยงหมูที่หูเป่ยทั้ง 2 อาคารนี้ คาดว่าจะผลิตสุกรได้ 1.2 ล้านตัวต่อปี ซึ่งการเลี้ยงสุกรในอาคารช่วยแก้ปัญหาการใช้ที่ดิน ซึ่งอาคารฟาร์มหมู 26 ชั้น แห่งนี้ใช้พื้นที่เพียง 5% ของรูปแบบการเลี้ยงหมูแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วยประหยัดพื้นที่ได้ถึง 95%

ลูกสุกรที่อยู่ในอาคารเลี้ยงสุกรนั่งอยู่ใน “ห้องลิฟต์” ลิฟต์บรรทุกสินค้า สามารถขนส่งสุกรได้ครั้งละหลายสิบตัว (ภาพออนไลน์)

 

สำหรับ หมูที่เลี้ยงในอาคารนี้ จะได้รับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญกว่านั้น การย้ายหมูเข้าไปในอาคารอุตสาหกรรมหลายชั้นยังนำความสะดวกสบายและผลประโยชน์มากมายมาสู่ผู้เลี้ยงหมู ตัวอย่างเช่น ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เราสามารถประหยัดต้นทุนค่าแรงได้มาก ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงของโรคสุกรและเพิ่มผลผลิตอีกด้วย

 

การเลี้ยงหมูรูปแบบใหม่นี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาการใช้ที่ดินได้อย่างมาก แต่ยังช่วยประหยัดกำลังคนอีกด้วย ถือได้ว่าอาจกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู แน่นอนว่าความคิดเห็นบางส่วนชี้ให้เห็นว่าการก่อสร้างอาคารเลี้ยงหมูจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับสภาพท้องถิ่น และไม่สามารถติดตามกระแสสุ่มสี่สุ่มห้าได้

 

ประเทศจีนมีประชากร 1.4 พันล้านคนและยังคงเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารของผู้คนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่พื้นที่เพาะปลูกและฟาร์มหมูที่ผลิตอาหารก็มีจำกัด ดังนั้นรูปแบบการเลี้ยงแบบใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความมั่นคงด่านอาหารให้กับประชาชนจีน

 

ที่มา : https://www.ourchinastory.com/zh/10842

 

รอยเท้าดิจิทัล

คือข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับคุณ

 

รอยเท้าดิจิทัลของคุณคือข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับคุณที่สามารถพบได้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงทั้งสิ่งที่คุณโพสต์และข้อมูลที่ผู้อื่นรวบรวมเกี่ยวกับกิจกรรมออนไลน์ของคุณ

 

การโพสต์บนโซเชียลมีเดีย เยี่ยมชมเว็บไซต์ และสมัครใช้งานแอพต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยเพิ่มรอยเท้าของคุณ แต่ “เส้นทาง” ดิจิทัลนี้ไม่ได้รวมเฉพาะข้อมูลที่คุณโพสต์ทางออนไลน์เท่านั้น ยังรวมถึงข้อมูลที่เว็บไซต์รวบรวมเมื่อคุณเยี่ยมชมหน้าเหล่านั้น ความคิดเห็น ข้อความ และแท็กจากบุคคลอื่น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอออนไลน์ของคุณเช่นกัน

 

รอยเท้าดิจิทัลที่ดีหรือไม่ดี ทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่างก็มีมัน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงสิ่งที่อยู่ในรอยเท้าทางดิจิทัลของคุณ

 

เมื่อมีการโพสต์บางสิ่งทางออนไลน์ จะไม่สามารถลบออกได้ทั้งหมด ความคิดเห็น หรือวีดีโอที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์หรืออาชีพในอนาคตของคุณ แม้แต่ข้อความส่วนตัวหรือรูปถ่ายสำหรับเพื่อนก็สามารถทำให้เป็นข้อมูลสาธารณะ รวมไปถึงสิ่งที่ผู้อื่นแก้ไขจ้อมูลของเราจะส่งผลต่ออนาคต

 

ซึ่งในขณะนี้วิทยาลัยและบริษัทต่างๆ มักจะค้นหาผู้สมัครทางออนไลน์ก่อนที่จะยอมรับ ข้อมูลนี้อาจใช้เพื่อพิจารณาว่าใครเหมาะสมหรือไม่ อาชญากรยังใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อทำอันตรายหรือขโมยจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การมีรอยเท้าทางดิจิทัลเชิงบวกก็มีประโยชน์เช่นกัน การแบ่งปันงานออนไลน์สามารถแสดงทักษะ และความสำเร็จของคุณได้

 

คุณจะปกป้องรอยเท้าทางดิจิทัลของคุณได้อย่างไร? ขั้นแรก ระมัดระวังเกี่ยวกับข้อมูลที่คุณแบ่งปันทางออนไลน์ อย่าโพสต์ความคิดเห็น วิดีโอ หรือรูปภาพที่อาจทำร้ายหรือทำให้ผู้อื่นขุ่นเคือง หากคุณไม่แน่ใจ ให้ขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่คุณไว้วางใจ หากคนที่คุณรู้จักโพสต์สิ่งที่เป็นเชิงลบเกี่ยวกับคุณ โปรดขอให้พวกเขาลบออก

 

นอกจากนี้ ให้เก็บรายละเอียดส่วนบุคคล เช่น ที่อยู่ วันเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ไว้เป็นส่วนตัว สร้างรหัสผ่านที่รัดกุมและเปลี่ยนบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์เข้าถึงบัญชีของคุณ อย่าคุยกับคนแปลกหน้าทางออนไลน์และอย่าตกลงที่จะพบกับพวกเขาแบบออฟไลน์ เนื่องจากบนอินเทอร์เน็ต บุคคลสามารถปลอมแปลงเป็นคนอื่นได้อย่างง่ายดาย หากคุณได้รับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจากบุคคลอื่น โปรดแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ

จีน อนุญาตผลิตรถบินได้เชิงพาณิชย์

คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

 

แท็กซี่บินได้อัตโนมัติ EHang EH216-S เป็น eVTOL ตัวแรกที่พร้อมสำหรับการผลิตจำนวนมาก และอาจเป็นผู้นำในการพัฒนารถยนต์บินทั่วโลก ซึ่งจะทำให้แท็กซี่บินได้อัตโนมัติอาจเป็นจริงได้ในไม่ช้า หลังจากได้รับใบรับรองการผลิตรายแรกของโลกในประเทศจีน

 

ยานพาหนะที่ขึ้นลงและลงจอดในแนวดิ่งด้วยไฟฟ้า (eVTOL) รุ่น EH216-S ของ EHang ได้รับการอนุมัติให้ผลิตจำนวนมากจากสำนักงานการบินพลเรือนของจีน (CAAC) โดยตัวแทนของบริษัทได้ประกาศในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีบริษัทหลายแห่งผลิต eVTOL แต่จนถึงขณะนี้ก็มีเพียงเครื่องต้นแบบสำหรับการบินทดสอบเท่านั้น ดังนั้นการที่จีนได้ออกใบรับรองการผลิตให้กับ EHang ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา eVTOL ไปสู่การใช้ในเชิงพาณิชย์

 

Huazhi Hu ซีอีโอของ EHang กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของเราคือการแนะนำเครื่องบิน eVTOL แบบไร้นักบินที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้สู่ตลาดโลก ดังนั้นจึงนำเสนอบริการการเคลื่อนที่ทางอากาศที่ปลอดภัย อัตโนมัติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่ทุกคน”

 

สำหรับใบรับรองการผลิตนี้จะช่วยให้ EHang ก้าวไปข้างหน้าในการผลิตรถยนต์บินได้ ครอบคลุมการจัดหาวัตถุดิบ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การควบคุมคุณภาพและการทดสอบ นอกเหนือจากการซ่อมบำรุงรักษาหลังการขาย ทั้งหมดนี้ได้รับการตรวจสอบอย่างครอบคลุม

 

ทั้งนี้ EHang EH216-S ได้รับการประกาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 เป็นยาน VTOL ขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเต็มรูปแบบ พร้อมลำตัวคาร์บอนไฟเบอร์ และใบพัด 16 ใบที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ 16 ตัว มีความเร็วล่องเรือ 62 ไมล์ต่อชั่วโมง (100 กม./ชม.) และระดับความสูงสูงสุดประมาณ 3,000 เมตร

 

โดย ออกแบบมาสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร รองรับผู้โดยสารได้ 2 คน และมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ไม่จำเป็นต้องใช้นักบิน EHang อ้างว่า VTOL ได้รับการทดสอบหลายครั้งกับเที่ยวบินทั้งแบบมีลูกเรือและแบบไม่มีลูกเรือ ซึ่งบริษัทหวังว่า EHang EH216-S จะทำงานในด้านต่างๆ เช่น บริการแท็กซี่ทางอากาศ การท่องเที่ยวทางอากาศ รถรับส่งสนามบิน และการขนส่งข้ามเกาะ

 

การผลิต EH216-S ในปริมาณมากถือเป็นก้าวสำคัญในการทำให้ eVTOL ไร้คนขับและเครื่องบินที่คล้ายกันเกิดขึ้นจริง เป็น eVTOL แรกที่ได้รับใบรับรองดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้จีนเป็นประเทศแรกที่ผลิตแท็กซี่บินได้เป็นบริการที่ผู้คนสามารถใช้ได้

(เครดิตรูปภาพ: EHang)

นอกจากนี้ สำนักงานการบินพลเรือนของจีน (CAAC) ยังได้ออกโครงร่างการพัฒนาการผลิตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2566-2578)ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเสนอแนวทางในการนำ eVTOL ให้ขึ้นบินเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2568 และให้บริการอัตโนมัติเต็มรูปแบบขนาดใหญ่ภายในปี 2578 รวมถึงความจำเป็นในการจัดทำกฎระเบียบเชิงปฏิบัติ และแผนประกันภัยสำหรับรถยนต์บินได้

 

ในขณะที่ แผนการดำเนินการเคลื่อนย้ายทางอากาศขั้นสูง (AAM) ของสหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป้าหมายปี พ.ศ. 2571 ซึ่งเป็นปีที่ eVTOL จะบินเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยมีกฎระเบียบและการรับรองที่เหมาะสม มีมาตรการควบคุมการผลิตและการใช้งานที่ปลอดภัย

 

ที่มา : https://www.livescience.com/technology/electric-vehicles/china-green-lights-mass-production-of-autonomous-flying-taxis-with-commercial-flights-set-for-2025

“ปุ้มปุ้ย” เอาใจคนรักสุขภาพ

เปิดตัว ปลาราดพริก สูตรน้ำตาลน้อย

 

ปุ้มปุ้ย เปิดตัว “ปลาราดพริก สูตรน้ำตาลน้อย” ลุยตลาดคนรักสุขภาพ ชูทางเลือกใหม่ ได้คุณภาพ และความสะดวก ตอกย้ำที่หนึ่งผู้นำอาหารกระป๋องปรุงรส

 

นางปวิตา โตทับเที่ยง รองประธานกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” กล่าวว่า ปุ้มปุ้ย ได้ตอกย้ำความเป็นอันดับ 1 ผลิตภัณฑ์อาหารปรุงรส เปิดตัวปลากระป๋องสูตรใหม่ “ปลาแมคเคอเรลทอดราดพริก สูตรน้ำตาลน้อย อร่อยชัวร์” หวังเป็นทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าคนรักสุขภาพ

 

โดยพัฒนาสูตรให้มีการลดน้ำตาลลงถึง 36 % และโซเดียมลงถึง 29 % แต่ยังคงรสชาติความอร่อยที่ถูกปากคนไทย “ให้ทุกมื้อมีความอร่อย” ตามแบบฉบับ และคุณภาพของปุ้มปุ้ยเช่นเดิม มั่นใจตอบโจทย์คนทุกกลุ่มด้วยรสชาติ ความคุ้มค่า และความสะดวกสามารถรับประทานได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมการันตีอันดับ 1 คู่ครัวคนไทยด้วยยอดขายอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน

 

“เพราะเราเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่มีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป มีความใส่ใจในสุขภาพมากขึ้นพิถีพิถันในการสรรหาอาหารการกินที่ดียิ่งขึ้น แบรนด์ปุ้มปุ้ยเองอยู่คู่กับคนไทยมากว่า 45 ปี จึงให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภคมาก เราจึงไม่หยุดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นเมนูปลาแมคเคอเรลทอดราดพริก สูตรน้ำตาลน้อย โซเดียมน้อย ที่เราได้พัฒนาและปรับสูตรให้ตอบโจทย์คนรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้นำปลาแมคเคอเรลเนื้อแน่นคุณภาพดีมาทอดแล้วคลุกเคล้ากับซอสรสหวานเผ็ดกำลังดี แต่ลดน้ำตาลลงถึง 36 % และโซเดียมลงถึง 29 % และยังสามารถเปิดรับประทานได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานเป็นอาหาร ราดข้าว ราดไข่ ราดสปาเก็ตตี้ ราดผัดผัก หรือจะราดเมนูไหน  ก็อร่อยได้ทุกมื้อจึงอยากให้ทุกคนได้ลิ้มลอง ” นางปวิตา กล่าว

 

สำหรับปลาแมคเคอเรลทอดราดพริก สูตรน้ำตาลน้อย ขนาดบรรจุ 185 กรัม พร้อมจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2567 ในร้านสะดวกซื้อ ซูปเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ อาทิ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านท็อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านกูร์เมต์ มาร์เก็ต เป็นต้น

นักวิจัยไทย จับมืออินเดีย

ขยายธุรกิจสเปิร์มสัตว์แช่แข็งทั่วโลก

 

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตด้านการเกษตรชั้นนำของโลก แต่ที่ผ่านมายังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้มุ่งทุ่มงบประมาณการวิจัยเทคโนโลยีด้านการเกษตร และปศุสัตว์ เพื่อให้ไทยพึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเองได้ โดยหนึ่งในนั้น ก็คือ เทคโนโลยีการคัดแยกเพศสัตว์ และการแช่แข็งสเปิร์ม

 

โดย ผศ.ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ รองคณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนบริษัท สยามโนวาส จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันความต้องการของตลาดปศุสัตว์มีความต้องการวัวเนื้อ และหมู ที่เป็นตัวเมียมากที่สุด เพราะให้ผลผลิตเนื้อที่ดีกว่า จึงเกิดธุรกิจการรับคัดเลือกสเปิร์มเพศเมียมากมายในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการคัดเลือกเพศสัตว์ที่เป็นของไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ลดลง

 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการแยกเพศในน้ำเชื้อปศุสัตว์แช่แข็งในไทยส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีของต่างชาติ แต่จากการวิจัยของเราทำให้ได้เทคโนโลยีแยกเพศสัตว์ที่ดีกว่าต่างประเทศ โดยได้เริ่มต้นทำการวิจัยในด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ทำให้ผลการแยกเพศดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คัดเลือกเพศได้แม่นยำ 70% ก็ค่อย ๆ สูงขึ้นเป็นกว่า 85% ในปัจจุบัน ทั้งนี้แม้ว่าต่างชาติจะมีความแม่นยำสูงกว่าในอัตรา 90% แต่เทคโนโลยีของเราก็มีโอกาสติดลูกได้สูงถึง 45% ซึ่งสูงกว่าเทคโนโลยีต่างชาติที่จะติดลูกได้ประมาณ 30%

 

ดังนั้นเมื่อเทียบผลผลิตจากจำนวนการติดลูกและเป็นเพศเมียแล้ว เทคโนโลยีของไทยจะเทียบเท่าหรือดีกว่าเทคโนโลยีของต่างชาติ ในขณะที่ราคาของเราถูกกว่าต่างชาติมาก โดยเกษตรกรจะมีต้นทุนเพียง 250 – 300 บาท ต่อน้ำเชื้อ 1 หลอด ในขณะที่ของต่างชาติจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2,000 บาทต่อหลอด ดังนี้เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่เท่ากัน การใช้เทคโนโลยีของเราจะมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก

 

ทั้งนี้สาเหตุที่เทคโนโลยีของเราดีกว่า เนื่องจากเทคโนโลยีการแข่แข็งของเราทำให้สเปิร์มมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เพราะการแช่แข็งน้ำเชื้อทั่วไปจะมีสเปิร์มตายไป 40% และเหลือรอดอยู่ประมาณ 60% และถ้าต่ำกว่า 40% จะต้องเททิ้ง เพราะกรมปศุสัตว์ระบุว่าน้ำเชื้อแช่แข็งจะต้องมีสเปิร์มรอดชีวิตมากกว่า 40% แต่ด้วยน้ำยาแข่งแข็งที่เราวิจัยจะมีโอกาสรอด 70% ขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าเทคโนโลยีของต่างชาติ

 

โดย ในเบื้องต้น บริษัทฯ ได้ตั้งศูนย์ผลิตน้ำเชื้อที่เชียงใหม่แล้ว และจะวิจัยพัฒนาคุณภาพต่อไป เพื่อให้มีความแม่นยำเป็นเพศเมียสูงขึ้น และมีชีวิตรอดมากขึ้น แต่โจทย์หลัก ๆ ที่เราต้องการทำมาก ก็คือ การผลิตน้ำเชื้อแบบแห้งที่ไม่ต้องแช่แข็ง และคัดแยกเพศสเปิร์มได้ ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้ยังไม่มีในโลก หากเราทำได้ก็จะเป็นรายแรกของโลก แต่การวิจัยเหล่านี้จะต้องใช้เวลานานมาก ยิ่งหากเป็นการวิจัยสเปิร์มวัวก็ยิ่งใช้เวลานาน เพราะกว่าวัว 1 ตัวจะตกลูกก็ต้องใช้เวลาเกือบปี และยิ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพแล้ว ก็มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งในเรื่องกำลังคน และเงินทุน

 

ส่วนแนวทางธุรกิจต่อไปจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดเมืองไทยก็จำกัดมีวัวเพียง 3 ล้านตัว และโตในอัตราที่ต่ำ ซึ่งขณะนี้มีพาทเนอร์จากกัมพูชาเข้ามาแล้ว และได้เริ่มลงทุนสร้างศูนย์รีดน้ำเชื้อในกัมพูชา จากนั้นบริษัทฯก็จะนำเทคโนโลยีเข้าไปดำเนินงาน และยังมีนักลงทุนจากอินเดียที่ได้ตามมาจากผลงานวิจัย ซึ่งอยากให้เรานำเทคโนโลยีนี้เข้าไปตั้งฐานการผลิตที่อินเดีย หากโครงการร่วมลงทุนกับอินเดียสำเร็จก็จะขยายตลาดได้อีกมหาศาล  ส่วนในไทยจะนำพ่อวัวเข้ามารีดน้ำเชื้อเอง จากเดิมที่เป็นเพียงการ โออีเอ็ม ให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งที่ลดลงทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยผลกระกอบการที่ผ่านมาเริ่มเป็นบวกมาได้ 2 ปีแล้ว

 

สำหรับแนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยนั้น ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการซื้อ และส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่จากบริษัทคนไทยให้มากขึ้น รวมทั้งใช้เครื่องมือของภาครัฐทั้งหมดมาช่วยในเรื่องของการตลาด เพราะคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกรไม่ค่อยเชื่อมั่นในสินค้าจากการวิจัยของคนไทย หากภาครัฐนำร่องเข้ามาซื้อและใช้ก่อน ก็จะทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นและเข้ามาซื้อมากขึ้น  ซึ่งสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการมากที่สุด คือ ตลาดที่คนไทยเข้ามาซื้อและยอมรับในสินค้าของคนไทย

สตาร์ทอัพไทยต่อยอดงานวิจัย วช.

ผลิตพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูง ย่อยสลายเร็ว

 

ในอดีตที่ผ่านมา มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากไม่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ แต่จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้เร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชน เพื่อนำผลงานวิจัยนวัตกรรมมาผลิตเป็นสินค้า โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็ได้เดินหน้าตามแนวทางนี้ ซึ่งได้นำร่องมุ่งเน้นในด้านการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ การนำงานวิจัยพลาสติกชีวภาพไปสู้สินค้านวัตกรรมที่มีศักยภาพ

 

โดย นายมนตรี อุดมฉวี Co-founder บริษัท สมาร์ทไบโอพลาสติก จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่เป็นนักวิจัยพลาสติกชีวภาพ และได้นำผลการวิจัยของ วช. มาต่อยอดผลิตสินค้า กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้นำผลการวิจัยมาพัฒนาปรับปรุงคุณสมบัติพลาสติกชีวภาพ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเข้ามาเป็นส่วนผสม เช่น ฟางข้าว ซึ่งได้นำร่องผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพจากจากฟางข้าว ที่ใช้ส่วนผสมของฟางข้าวสูงถึง 80 – 90% โดยใช้ฟางข้าวจากการปลูกแบบอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมี นำมาผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง และนำมาผสมกับเม็ดพลาสติกชีวภาพในสัดส่วน 10 – 20%

 

สำหรับ หลอดพลาสติกชีวภาพจากฟางข้าว จะมีคุณสมบัติเหนือกว่าหลอดพลาสติกชีวภาพแบบอื่น ๆ คือ มีความทนทานต่อการใช้ไม่ต่างจากหลอดพลาสติกทั่วไป และสามารถย่อยสลายในหลุ่มฝังกลบตามธรรมชาติได้ 100% โดยไม่เกิดไมโคร พลาสติก ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหรือท้องทะเล รวมทั้งยังมีอัตราย่อยสลายได้เร็วใช้เวลาประมาณ 70 วัน ในสภาวะฝังกลบ เร็วกว่ามาตรฐาน ที่กำหนดไว้ที่ 180 วัน ในสภาวะฝังกลบ

 

นอกจากนี้ ยังเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการลดมลพิษฝุ่น พีเอ็ม 2.5 จากการเผาฟางช้าว และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งแต่เดิมจะขายฟางข้าวได้ก้อนละ 20 บาท แต่บริษัทฯ ไปรับซื้อถึงราคา 100 – 200 บาทต่อก้อน ซึ่งหากหลอดพลาสติกชีวภาพจากฟางข้าวมีคนนิยมใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะช่วยลดมลพิษจากฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ได้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ยังได้วิจัยพัฒนานำไปผลิตพลาสติกชีวภาพในด้านอื่น ๆ เช่น พลาสติกเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะถุงปลูกเห็ดที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกทิ้งในพื้นที่การเกษตรสูงมาก ซึ่งถูกปลูกเห็ดของบริษัทฯ นอกจากจะย่อยสลายได้แล้ว แต่ยังสามารถเพิ่มผลผลิตเห็นให้สูงขึ้นด้วย โดยเห็ดที่ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพของเราจะเริ่มออกดอกให้ผลผลิตเพียงว 28 วัน จากถุงแบบเดิมที่จะเริ่มให้ผลผลิตใน 40 วัน จึงทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเร็วขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น และทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

 

ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะขยายไปผลิตบรรจุภัณฑ์ และช้อนส้อมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากพลาสติกชีวภาพ รวมทั้งวิจัยนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพของเราสามารถนำไปผลิตพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งได้อยางหลากหลาย

 

สำหรับในด้านการแข่งขันกับพลาสติกทั่วไปนั้น ต้องยอมรับว่าพลาสติกชีวภาพจะมีราคาสูงกว่า โดยต้นทุนหลอดพลาสติกชีวภาพของเราจะมีราคา 0.4 – 0.5 สตางค์ต่อหลอด แพงกว่าหลอดจากพลาสติกทั่วไปที่มีราคา 0.1 – 0.2 สตางค์ต่อหลอด แต่เมื่อเทียบกับหลอดพลาสติกชีวภาพทั่วไปนั้นยังสามารถแข่งขันได้

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น จะทำให้พลาสติกทั่วไปมีต้นทุนการกำจัดสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีราคาใกล้เคียงกับพลาสติกชีวภาพ ที่กำหนดให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าจะต้องรับผิดชอบขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น จึงทำให้ในอนาคตพลาสติกทั่วไปจะมีราคาสูงขึ้นจนทำให้พลาสติกชีวภาพแข่งขันได้มากขึ้น

 

ในส่วนของปัญหาหลัก ๆ ที่พบ จะเป็นเรื่องการยอมรับพลาสติกชีวภาพของเกษตรกร ที่ยังคงเชื่อถือแต่สินค้าแบบเดิม ขาดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของคนไทย และมองในเรื่องของราคาเป็นหลัก ทำให้พลาสติกชีวภาพในด้านการเกษตรแข่งขันได้ยาก รวมทั้งปัญหาทุนวิจัยภาครัฐที่ขาดความต่อเนื่อง ทำให้มีหลายโครงการในอดีตที่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การผิตสินค้าได้

 

สำหรับแนวทางการดำเนินกิจการต่อไป จะมุ่งไปสู่การจัดทำมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีผลการวิจัยที่ชัดเจน และมีคุณภาพสูง แต่การที่จะทำให้ตลาดมั่นใจ จะต้องได้รับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยในปีนี้บริษัทฯ จะเดินหน้าจัดทำมาตรฐานในทุกด้านของพลาสติกชีวภาพจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้มั่นใจในคุณภาพทั้งผู้ซื้อในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สินค้าของเรามีแต้มต่อเพิ่มขึ้น และได้รับการยอมรับมากขึ้น

 

รวมทั้งยังได้ร่วมกับบริษัทพาทเนอร์ เข้ามาร่วมมือในการผลิต โดยบริษัทจะเข้าไปให้คำแนะนำอบ่างใกล้ชิด ซึ่งในขณะนี้บริษัทฯมีกำลังการผลิตประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน และมีพาทเนอร์เข้ามาช่วยผลิตมีกำลังการผลิตประมาณ 30 ตันต่อวัน ทำให้มีกำลังขยายตลาดได้อีกมาก

มาเลเซีย รุกตั้งโรงงานกราไฟต์ในสหรัฐ

หวังลดพึ่งพาวัตถุดิบแบตฯอีวีจากจีน

 

บริษัท Graphjet Technology ของมาเลเซียกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 8 เม.ย. 2024 ว่า จะสร้างโรงงานผลิตกราไฟต์เทียมเชิงพาณิชย์ในรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังมองหาทางออกที่จะลดการพึ่งพาจีนสำหรับส่วนประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกกราไฟต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เข้มงวดการส่งออกวัสดุการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ อีวี เกือบทั้งหมด

 

โดย Graphjet ซึ่งถือสิทธิบัตรในการผลิตกราไฟต์และกราฟีนจากขยะทางการเกษตร กล่าวว่าโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตกราไฟต์เกรดแบตเตอรี่ได้ 10,000 เมตริกตัน ซึ่งเพียงพอที่จะผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100,000 คันต่อปี

 

ทั้งนี้ Graphjet คาดว่าจะลงทุนระหว่าง 150 – 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะทดสอบการใช้งานโรงงานแห่งนี้และเริ่มการผลิตในปี 2569

 

“เรามุ่งเน้นไปที่การผลิตเชิงพาณิชย์ให้เร็วที่สุด และกำลังหารือกับผู้เล่นหลายรายเพื่อรักษาข้อตกลงการรับซื้อสินค้าจากโรงงานในเนวาดาที่เราวางแผนไว้” Aiden Lee ซีอีโอกล่าว

 

สำหรับ Graphjet Technology Sdn Bhd ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 มีเป้าหมายที่จะเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำระดับโลกด้านวัสดุแอโนดที่ใช้กราฟีน และกราไฟท์ ในราคาประหยัดที่ยั่งยืน ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ได้รับสิทธิบัตรผู้บุกเบิกในการรีไซเคิลกะลาเมล็ดในปาล์มจากการผลิตน้ำมันปาล์ม เรามีความโดดเด่นในการสร้างกราฟีนชั้นเดียวและกราไฟท์เทียมคุณภาพสูงสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องใช้ในบ้าน