Sustainability

NIA เปิด 3 เทรนด์ นวัตกรรมไทย รับการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคม และการเมืองในเวทีโลก ส่งผลให้ทุกประเทศต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อกระแสโลก และยกระดับระบบอุตสาหกรรมและบริการให้เชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าโลก ภายใต้แนวคิดการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยจากการประเมินของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้คาดการณ์ว่าเทรนด์นวัตกรรมที่สำคัญที่เหมาะสมกับประเทศไทยในปี 2567 จะประกอบด้วย 3 เทรนด์สำคัญ ได้แก่

 

  1. Climate Tech – เทคโนโลยีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการตื่นตัวและร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมองหาพลังงานทางเลือก ที่เป็นพลังงานสะอาดและหมุนเวียนได้ ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าในการกักเก็บพลังงาน รวมถึงบางอุตสาหกรรมมีการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตที่หลากหลายต่อไป ซึ่งถือเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในคราวเดียวกัน

อีกทั้งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายต่อยอดเพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่อย่าง ที่มีทั้งผู้เล่นรายใหม่อย่างบริษัท Startup และผู้เล่นรายใหญ่ที่มองหาเทคโนโลยีทางเลือกที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น เทรนด์ดังกล่าวนำมาซึ่งการสร้างคุณค่าในการมีส่วนร่วมให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวของผู้คนในสังคม เช่น เทรนด์สินค้ารักษ์โลก แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

 

  1. EV Tech – เทคโนโลยีเพื่อตอบกระแสยานยนต์ยุคใหม่

 

เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า กำลังเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายในปี 2573 ประเทศไทยมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในแต่ละปี ภาครัฐมีแผนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นแรงหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงที่ช่วยให้ยานยนต์มีความคล่องตัว ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่เข้ามาเปิดโลกใหม่ในการขับขี่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

รวมถึงมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับผู้ผลิตและผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า จึงดึงดูดให้ตลาดกลุ่มนี้มีผู้เล่นหลากหลายตลอดห่วงโซ่คุณค่า ส่งผลให้เกิดกลไกการแข่งขันที่ผลักดันมาตรฐานสินค้าและบริการของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านโครงสร้างพื้นฐานในการอัดประจุไฟฟ้า และแพลตฟอร์มใช้บริการร่วมกัน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายและมีความเชื่อมั่นในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

 

  1. Creative Tech – เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนขุมพลังใหม่เศรษฐกิจไทย

 

Creative Tech หรือ เทคโนโลยีสร้างสรรค์กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ด้านศิลปะ วัฒนธรรม การออกแบบ และความบันเทิงในสังคมไทย ทุนทางปัญญาและทุนวัฒนธรรมในรูปแบบเดิม ๆ กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนให้น่าตื่นตาตื่นใจและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โลกจริงและโลกเสมือนจะถูกเชื่อมต่อกันผ่านเลนส์บาง ๆ ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ด้วยการอำนวยความสะดวกอย่างไร้ที่ติทั้งในมิติของเวลา ประสิทธิภาพและคุณค่า

 

โดยในปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงต่อขยาย (Extended reality: XR) ระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ และการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามามีบทบาทกับกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยว สื่อดิจิทัล ภาพยนตร์ แฟชั่น เกมและแอนิเมชั่น

 

นอกจากจะช่วยยกระดับประสบการณ์ความเพลิดเพลินในระดับบุคคลได้แล้ว ยังช่วยยกระดับเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศในเวทีโลกผ่าน Soft power ได้อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยมุ่งผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยชูธงไปที่ 5F ได้แก่ อาหาร (Food), ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film), การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion), ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ให้เป็นตัวตั้งต้นในการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากลและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

 

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือที่สร้างเสน่ห์และสีสันให้กับ “นวัตกรรม” อย่างไรก็ตามนวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีพลวัตและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่นวัตกรรมเกิดขึ้นถูกที่ ถูกเวลา ถูกจริตของผู้ใช้งาน นวัตกรรมนั้นก็จะได้รับการยอมรับและต่อยอดไปสู่การเติบโต ดังนั้น ในการลงทุนทางเทคโนโลยีผู้ประกอบการจึงต้องคำถึงความยั่งยืนของเทคโนโลยีและโอกาสทางตลาดเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ

ภาวะโลกร้อน กดดัน เอสเอ็มอี ปรับตัวรับกติกาโลกใหม่

หากตามไม่ทันจะหลุดจากซัพพลายเชนตลาดโลก

 

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกดดันให้รัฐบาลในหลายประเทศออกมาตรการกีดกันการค้ากับบริษัทที่มีกระบวนการผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจะเพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งศึกษา และปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานใหม่นี้ โดยเฉพาะกลุ่ม เอสเอ็มอี ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และขาดศักยภาพในการปรับตัว ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเข้ามาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวเข้าสู่กติกาโลกใหม่นี้ให้ได้

 

โดย นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ให้ความเห็นว่า ภาวะวิกฤตโลกร้อนได้ก้าวเข้ามาเป็นวาระสำคัญของโลก และจะกลายมาเป็นข้อจำกัดทางการค้า และการผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจที่ส่งออกหลัก ๆ จะได้รับผลกระทบตั้งแต่การส่งออกอาหารแปรรูป ไปจนถึงชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้เป็นสิ่งที่ท้าทายกับภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม เอสเอ็มอี ที่ยังชาดความรู้ในเรื่องนี้ ต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ปรับตัวไปมากแล้ว ซึ่งหากเอสเอ็มอีปรับตัวไม่ทัน ก็จะเชื่อมต่อในห่วงโซ่การผลิตกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้มาก

 

ดังนั้น กสอ. จึงได้นำเรื่องนี้เข้ามาเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาเอสเอ็มอีต่อจากนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่สำคัญของไทย เช่น ในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยที่ผ่านมาได้หารือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (เมติ) ในเรื่องความร่วมกับ กสอ. ในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน เพราะไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น โดยจะร่วมมือค้นความเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน และจะลงนามความร่วมมือต่อไป ซึ่งจะมีรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาอีกมาก

 

นอกจากนี้ จะเร่งให้ความรู้กับ เอสเอ็มอี ในเรื่องการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) หรือ LCA ในด้านการปล่อยมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนการผลิตไปถึงการขนส่ง การใช้งาน และการรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ประเทศผู้นำเข้าชั้นนำจะเพิ่มความเข้มงวดในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดช่วยชีวิตของผลิตภัณฑ์

 

รวมทั้งจะกำหนดค่ากลางในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้เป็นกรอบในการปรับปรุงสายการผลิตให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามมาตรฐาน โดยจะต้องเข้าไปวิเคราะห์ทั้งกระกบวนการผลิตว่าในส่วนใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปแก้ไขให้ตรงจุด รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี เอไอ เข้ามาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุง และมอนิเตอร์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต โดยในปี 2567 กสอ. ได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาโรงงานให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 300 โรง

 

ไม่เพียงเท่านี้ กสอ. ยังให้การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นหลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในเรื่องนี้จะได้ประโยชน์

ทั้งตัวโรงงาน และเกษตรกร โดยในขั้นต้นจะเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุการเกษตร เช่น ชานอ้อย ใบอ้อย ฟางข้าว ซัง และใบข้าวโพด ต้นมันสำปะหลัง หรือ อื่น ๆ นำมาผลิตเป็นวู้ดเพลเลท หรือชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งเทคโนโลยีเครื่องจักรอัดแท่งในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงมากสามารถนำไปอัดแท่งวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ได้ในพื้นที่ไร่นา ทำให้การขนส่งเชื้อเพลิงชีวมวลมีราคาลดลงจากเดิมที่ต้องขนใบอ้อย ต้นข้าวโพด และอื่น ๆ ทางรถบรรทุก ทำให้บรรทุกได้น้อยมีต้นทุนขนส่งสูง ซึ่ง กสอ. จะเข้าไปสนับสนุนในด้านเครื่องจักร และความรู้ เพื่อให้ของเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

 

“ที่ผ่านมามีกลุ่มสมาคมไม้ยางพารา ได้เข้ามาหารือในเรื่องการส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งมากขึ้น เพราะในขณะนี้กลุ่มไม้ยางพารามีศักยภาพที่จะขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการของโรงงานได้อีกมาก ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งโรงงาน ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล สิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

 

รวมทั้ง กสอ. จะเข้าไปส่งเสริมให้โรงงานปรับปรุงกระบวนการผลิตให้หันไปใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้นทั้งในด้านเทคโนโลยี และเงินลงทุน โดยจะเริ่มในโรงงานที่มีบอยเลอร์ หรือหม้อต้ม ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงงานแปรรูปอาหาร ซึ่งในปัจจุบันยังใช้ถ่านหินอยู่เป็นจำนวนมาก โดยโรงงานเหล่านี้ปรับปรุงไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่ยาก จากนั้นจะจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลกับโรงงาน เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้ทันกับความต้องการของโรงงาน และมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

 

นอกจากนี้ จะเร่งสนับสนุนนโยบาย บีซีจี ของรัฐบาล โดยในเรื่องของเทคโนโลยีชีวภาพ กสอ. จะเข้าไปผลักดันอุตสาหกรรมซุปเปอร์ฟู้ด หรือ อาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่เข้มข้นเมื่อเทียบกับจำนวนแคลอรี่ต่อแคลอรี่ มีโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพพร้อมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ พฤกษเคมี ที่มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ ช่วยลด ชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคบางชนิดได้ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมมากทั้งด้านวัตถุดิบ โรงงานผลิต และเทคโนโลยี ซึ่งในขณะนี้ศูนย์วิจัย และภาคเอกชนต่างมุ่งวิจัยค้นคว้าเทคโนโลยีด้านนี้

 

โดย กสอ. จะเข้าไปร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำผลการวิจัย หรือร่วมวิจัยกับภาคเอกชน ผลิตซุปเปอร์ฟู้ดในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำโกโก้มาผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง น้ำผึ้งชาญณรงค์ ที่มีสารสกัดช่วยรักษามะเร็งได้ รวมทั้งการผลิตโปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนจากแมลง จากไข่ผำ ที่เป็นพืชน้ำขนาดเล็กที่ให้โปรตีนสูงมาก และยังเป็นโปรตีนคุณภาพสูงกว่าเนื้อสัตว์ ซึ่งโปรตีนทางเลือกเหล่านี้จะค่อย ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก เพราะฟาร์มเลี้ยงวัว หรือสัตว์อื่น ๆ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูง

 

ตลอดจนการเข้าไปส่งเสริมการผลิต และแปรรูปสมุนไพรให้เป็นสารสกัดมูลค่าสูง ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปง่าย ๆ เช่น การทำน้ำมันนวดที่ผลิตออกมาแข่งขันกับมากมาย โดยจะร่วมกับ อว. และบริษัทขนาดใหญ่ ปรับปรุงไปสู่การแปรรุปชั้นสูง ซึ่ง กสอ. อว. และบริษัทขนาดใหญ่ จะเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ยังอยู่ในการผลิตชั้นต้น ให้ยกระดับไปสู่การผลิตชั้นกลาง เพื่อเป็นวัตถุดิบส่งต่อให้กับบริษัทขนาดใหญ่นำไปผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี และมีมูลค่าสูง

 

โดยแนวทางนี้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีมีพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยปรับปรุงการผลิต และบริษัทขนาดใหญ่ก็ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งจะเป๋นการนำเอสเอ็มอีเข้ามาเชื่อต่อในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อเอสเอ็มอีกลุ่มนี้เติบโตมีความพร้อม ก็จะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ในอนาคต โดยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้เกิดการผลิตซุปเปอร์ฟู้ด และสมุนไพรใหม่ ๆ ได้ประมาณ 170 ผลิตภัณฑ์

 

“ประเทศไทยมีวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปผลไม้ และพืชผลต่าง ๆ ที่มีสารสกัดที่มีมูลค่าสูง ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง และสารสกัดทางการแพทย์ ซึ่ง กสอ. จะประสานงานนำผลการวิจัยของ อว. มาต่อยอดให้กับภาคการผลิต เพื่อให้การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ไม่ต้องเริ่มต้นนับศูนย์ ทำให้การพัฒนาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น”

 

รวมทั้งการนำผลิตการเกษตรมาผลิตเป็นเส้นใยคุณสมบัติพิเศษชนิใหม่ ๆ เพื่อใช้ในวงการแฟชั่น สิงทอคุณสมบัติพิเศษ เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงสิ่งทอทางการแพทย์ โดย กสอ. ได้งบประมาณในการซื้อเครื่องตีเส้นไย ก็จะนำเข้ามาพัฒนาในเรื่องวัสดุ เช่น เช่น เส้ยใยกัญชง สับปะรด เปลือกทุเรียน และไผ่ เป็นต้น

 

ในด้าน เซอกูลาร์ จะมุ่งไปที่การนำวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงาน และจากชุมชน เช่น พลาสติก มาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าใหม่ เช่น สิ่งทอ รวมทั้งประสานงานกับโรงงานต่าง ๆ ที่มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง มาจับคู่กับโรงงานที่ต้องการวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้ลดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานลงไปได้มาก

 

โดย กสอ. จะผลักดันให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตในของ บีซีจี รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ที่มีผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ภายในกลุ่มคลัสเตอร์เกิดความร่วมมือช่วยเหลือกันและกัน เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตเข้มแข็ง เติบโต และยั่งยืน