Innovation

วช. ผลิตนวัตกรรมป้องกันประเทศ

ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจสอบการบุกรุกชายแดน

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมมือกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม วิจัยผลิตเซ็นเซอร์ตรวจสอบการบุกรุกตามแนวชายแดน ป้องกันการข้ามเขตแดนผิดกฎหมาย ช่วยลดการใช้กำลังพล และมีประสิทธิภาพการปกป้องชายแดนเพิ่มขึ้น

 

นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานหลักของการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม มีการขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมในหลากหลายมิติ ในส่วนของมิติทางด้านสังคมและความมั่งคงเป็นหนึ่งในมิติที่ วช. ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งโครงการวิจัยและพัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดนด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดการสั่นสะเทือน และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ อยู่ภายใต้แผนงานกลุ่มเรื่องสังคมไทยไร้ความรุนแรง ทำให้ประชาชนปลอดภัยทางด้านทรัพย์สินและสวัสดิภาพสาธารณะ

 

โดย โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมได้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ลดปัญหาการข้ามแดนผิดกฎหมาย สร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ และสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไป

 

ร.ศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดนด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดการสั่นสะเทือน และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัตินี้ ซึ่งมีการพัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดนให้มีความทนทานและทันสมัยยิ่งขึ้น

 

โดยดำเนินการวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศและกำหนดพื้นที่วิจัยสำหรับการออกแบบ วางระบบ ออกแบบ และติดตั้งโครงข่ายสื่อสารสำหรับเฝ้าตรวจแนวชายแดนที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศของไทย และพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยความมั่นคง โดยใช้โครงข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในอนาคต

 

ด้าน พลอากาศตรี จิรชัย ผุดผ่อง รองเจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กล่าวถึงแนวคิดที่มารวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ของโครงการวิจัยว่า โครงการวิจัยและพัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดนด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดการสั่นสะเทือน และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ป้องกันการข้ามแดนผิดกฎหมายโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์ สามารถใช้งานได้ง่าย และควบคุมพื้นที่เข้าถึงยาก

 

รวมถึงลดปริมาณกำลังทหารตรวจแนวชายแดนลง ซึ่งได้พัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดน โดยใช้โครงข่ายสื่อสารระยะไกลที่มีคุณสมบัติกินพลังงานต่ำ ใช้เซ็นเซอร์วัดการสั่นสะเทือนและเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน โดยระบบเซ็นเซอร์จะทำงานคล้ายกับการนำหูแนบพื้นดิน สามารถตรวจจับและคัดกรองเสียงหรือความถี่ในการสั่นสะเทือนของก้าวเดินมนุษย์ที่มีความแตกต่างจากสัตว์หรือการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ประชาชนจะมีความสงบ ปลอดภัย และเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่อไป

 

ทั้งนี้ วช.ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 แผนงาน P14 พัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะในการดำรงชีวิตโดยใช้การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม สังคมไทยไร้ความรุนแรงและอยู่รวมกันอย่างสันติ

 

ซึ่งการลงพื้นที่ติดตาม ประเมินผล และร่วมสังเกตการณ์การสาธิตการใช้งานในครั้งนี้ เพื่อนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ และนำข้อบกพร่องมาแก้ไขทำให้เซ็นเซอร์ตรวจวัดการสั่นสะเทือน และเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติสามารถใช้งานได้ในระยะที่ไกลขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น และทำให้การเฝ้าตรวจแนวชายแดนสะดวกยิ่งขึ้น

นักวิจัยค้นพบ “วัคซีนเชิงรุก”

ป้องกันโควิดทุกชนิด จนถึงสายพันธุ์ในอนาคต

 

นักวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนสุดล้ำที่เรียกว่า “วัคซีนวิทยาเชิงรุก” ซึ่งฝึกระบบภูมิคุ้มกันให้จดจำบริเวณเฉพาะของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงส่วนที่ยังไม่ทราบด้วย เทคโนโลยีนี้ช่วยให้วัคซีนสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในอนาคตได้ในวงกว้าง แนวทางนี้แตกต่างกับวิธีการแบบดั้งเดิม โดยการเตรียมไวรัสก่อนที่จะเกิดขึ้น

 

โดยใช้โครงสร้างอนุภาคนาโน ‘Quartet Nanocage’ เพื่อแนบแอนติเจนของไวรัสและกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน วิธีการเชิงรุกนี้สามารถปฏิวัติวิธีการพัฒนาวัคซีนสำหรับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ช่วยป้องกันการระบาดใหญ่ในอนาคต

 

นักวิจัยได้สร้างเทคโนโลยีวัคซีนแบบใหม่ ซึ่งในการทดสอบกับหนู พบว่าสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ ได้ รวมถึงไวรัสที่อาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคในอนาคต แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุชื่อได้ก็ตาม นี่เป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาวัคซีนที่เรียกว่า ‘วัคซีนวิทยาเชิงรุก’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สร้างวัคซีนก่อนที่เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

 

วัคซีนใหม่ทำงานโดยการฝึกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้จดจำบริเวณเฉพาะของเชื้อไวรัสโคโรนา 8 ชนิด รวมถึง SARS-CoV-1, SARS-CoV-2 และอีกหลายสายพันธุ์ที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในค้างคาว และมีศักยภาพที่จะกระโดดเข้าหามนุษย์และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งต่างจากวัคซีนทั่วไปที่ประกอบด้วยแอนติเจนตัวเดียว เพื่อฝึกระบบภูมิคุ้มกันให้กำหนดเป้าหมายไวรัสจำเพาะตัวเดียว สิ่งนี้อาจไม่สามารถป้องกันโคโรนาไวรัสที่มีอยู่หลากหลายหรือป้องกันเชื้อโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นได้

 

สำหรับ กุญแจสำคัญในประสิทธิผล คือ บริเวณไวรัสเฉพาะที่เป็นเป้าหมายของวัคซีนยังปรากฏในโคโรนาไวรัสที่เกี่ยวข้องหลายชนิดด้วย การฝึกระบบภูมิคุ้มกันให้โจมตีบริเวณนี้ จะช่วยป้องกันโคโรนาไวรัสอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีน รวมถึงที่ยังไม่สามารถระบุได้

 

ตัวอย่างเช่น วัคซีนใหม่ไม่รวมถึงไวรัสโคโรนา SARS-CoV-1 ซึ่งทำให้เกิดการระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 แต่ยังคงกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนั้นได้

 

“เป้าหมายของเราคือการสร้างวัคซีนที่จะปกป้องเราจากการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสครั้งต่อไป และเตรียมพร้อมก่อนที่การระบาดจะเริ่มต้นขึ้น” โรรี่ ฮิลส์ นักวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาจากภาควิชาเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และผู้เขียนคนแรกของรายงาน กล่าว

 

เขากล่าวเสริมว่า “เราได้สร้างวัคซีนที่ให้การป้องกันโคโรนาไวรัสหลากหลายชนิด รวมถึงโคโรนาไวรัสที่เรายังไม่รู้จักด้วยซ้ำ”

 

“เราไม่ต้องรอให้เกิดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เรารู้เพียงพอเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันต่อพวกมัน ว่าเราสามารถสร้างวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสที่ไม่รู้จักได้ในตอนนี้” ศาสตราจารย์มาร์ก ฮาววาร์ธ ในภาควิชาเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้เขียนอาวุโสของรายงานกล่าว

 

วัคซีน ‘Quartet Nanocage’ ใหม่มีพื้นฐานมาจากโครงสร้างที่เรียกว่าอนุภาคนาโน ซึ่งเป็นก้อนโปรตีนที่รวมตัวกันด้วยปฏิกิริยาที่รุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ สายโซ่ของแอนติเจนของไวรัสต่างๆ ติดอยู่กับอนุภาคนาโนนี้โดยใช้ ‘protein superglue’ ชนิดใหม่ แอนติเจนหลายตัวรวมอยู่ในสายโซ่เหล่านี้ ช่วยฝึกระบบภูมิคุ้มกันเพื่อกำหนดเป้าหมายไปยังพื้นที่เฉพาะที่เหมือนกันในโคโรนาไวรัสหลากหลายชนิด

 

วัคซีนชนิดใหม่นี้มีการออกแบบที่เรียบง่ายกว่าวัคซีนป้องกันในวงกว้างอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาอยู่มาก ซึ่งควรเร่งผลการวิจัยไปสู่การทดลองทางคลินิก เทคโนโลยีพื้นฐานที่พวกเขาพัฒนาขึ้นยังมีศักยภาพสำหรับใช้ในการพัฒนาวัคซีน เพื่อป้องกันความท้าทายด้านสุขภาพอื่นๆ อีกมากมาย

 

งานนี้เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และคาลเทค โดยปรับปรุงจากงานก่อนหน้าของกลุ่มอ็อกซ์ฟอร์ดและคาลเทค เพื่อพัฒนาวัคซีนออลอินวันแบบใหม่ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากไวรัสโคโรนา วัคซีนที่พัฒนาโดยอ็อกซ์ฟอร์ดและคาลเทคควรเข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ในช่วงต้นปี 2568 แต่ลักษณะที่ซับซ้อนของมันอาจทำให้การผลิตขนาดใหญ่ทำได้ยาก

 

ที่มา : https://scitechdaily.com/revolutionary-quartet-nanocage-vaccine-effective-against-coronaviruses-that-havent-even-emerged-yet/

ไทยจับมือฮ่องกง ร่วมวิจัยด้านจุลินทรีย์

ผลิตโพรไบโอติกส์ที่เหมาะสมกับคนไทย

 

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท ไบโอเมด เทคโนโลยี โฮลดิ้งส์ ประเทศไทย จำกัด (BioMed) และสมาคมจุลินทรีย์ลำไส้ฮ่องกง (HKSGM) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางการวิจัยและวิชาการ โดยมีจุดประสงค์ในการศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านจุลินทรีย์และโพรไบโอติกส์ในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมากกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ แต่เซลล์มนุษย์แท้จริงมีเพียง 30 ล้านเซลล์ ที่เหลืออีกกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ เป็นเซลล์ของจุลินทรีย์ ซึ่งอาศัยอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้อาศัยอยู่รวมกันเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่จะเรียกว่า “ไมโครไบโอม” (Microbiome) ซึ่งหมายถึงสังคมจุลินทรีย์ เช่น ไมโครไบโอมในลำไส้จะประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ มีความหลากหลายในแต่ละบุคคล

 

จุลินทรีย์ที่พบในระบบทางเดินอาหารเหล่านี้มีทั้งชนิดดีที่ช่วยทำหน้าที่ย่อยอาหาร เสริมการเผาผลาญ ดูแลระบบภูมิคุ้มกัน สังเคราะห์วิตามิน และช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย สมอง และอารมณ์ และกลุ่มจุลินทรีย์ที่ก่อโรค เมื่อองค์ประกอบของไมโครไบโอมมีความสมดุลจะส่งผลให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบของไมโครไบโอมทำให้เกิดการเสียสมดุล (dysbiosis) จะสามารถก่อให้เกิดโรค หรือความผิดปกติได้

 

โดย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. เปิดเผยว่า ทีมวิจัยจากไบโอเทค มีการศึกษาเรื่องไมโครไบโอมในเชิงลึก ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีฐาน multi-omics ที่ครอบคลุมทั้งองค์ความรู้ไมโครไบโอม (microbiome) การตอบสนองของสิ่งมีชีวิตที่ระดับยีน (transcriptome) และเมตาบอไลท์ (metabolome) เพื่อนำมาศึกษาความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรแบคทีเรียในลำไส้ต่อระบบภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิต

 

องค์ความรู้และเทคโนโลยีฐานที่ได้พัฒนาขึ้นช่วยให้การศึกษาไมโครไบโอม มีความแม่นยำและละเอียดลึกมากขึ้น ช่วยให้การวิจัยและพัฒนาด้านไมโครไบโอม สามารถนํามาสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ความเข้าใจการอยู่รวมกันของกลุ่มจุลินทรีย์กับเซลล์เจ้าภาพ หรือสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เราสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อปรับเปลี่ยนและควบคุมให้จุลินทรีย์มีคุณสมบัติหรือเป็นแหล่งผลิตสารชีวภาพที่อุตสาหกรรมหลากหลายประเภทที่เราต้องการได้

 

ในปัจจุบันการวิจัยไมโครไบโอมในมนุษย์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลของอาหารที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงไมโครไบโอมในลําไส้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกาย สุขภาพและการเป็นโรคของมนุษย์ แทบจะกล่าวได้ว่าไมโครไบโอมเกี่ยวข้องกับการทำงานในร่างกายทุกส่วนของมนุษย์ ซึ่งนํามาสู่การวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์เสริมสุขภาพหรือโพรไบโอติกส์ (probiotics)

 

นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติชื่อ Cell Journal เผยแพร่เรื่องการมีไมโครไบโอมในลำไส้ ที่แตกต่างกันของประชากรแต่ละภูมิภาคเนื่องจากอาหารที่บริโภคเข้าไปในร่างกาย

 

ไบโอเทค , BioMed และ HKSGM ได้จับมือร่วมวิจัย พัฒนานวัตกรรมโพรไบโอติกส์ที่เหมาะกับประชากรไทย โดยมุ่งศึกษารูปแบบไมโครไบโอมของประชากรไทยโดยพิจารณาจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและพฤติกรรมการบริโภคอาหารแต่ละพื้นที่ โดยข้อมูลการศึกษาเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ไมโครไบโอมจะนำมาใช้พัฒนาสูตรผลิตโพรไบโอติกส์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่น ๆ ซึ่งออกแบบมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายยังจะมีการศึกษาสายพันธุ์จุลินทรีย์เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรไทย

 

ดร.วรรณพ กล่าวต่อว่า BioMed มีความเชี่ยวชาญที่ครอบคลุมตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ การทดสอบคุณสมบัติของโพรไบโอติกส์ การพัฒนากระบวนการผลิตเซลล์จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ในระดับห้องปฏิบัติการ และขยายขนาดการผลิตผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ในระดับอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการต้นน้ำ (USP) และกระบวนการปลายน้ำ (DSP) ได้แก่ การผลิตเซลล์ด้วยการหมักแบบเหลว การเก็บเกี่ยวเซลล์ การทำแห้ง และการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่มีคุณลักษณะตามสเปคที่กำหนดภายใต้มาตรฐาน GMP สำหรับใช้เป็นสารเสริมอาหารในมนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือในครั้งนี้

 

BioMed ในประเทศไทยนั้น มี นพ.พิชัย นำศิริกุล และ นายวันวนัส มาอินทร์ ดำรงตำแหน่ง Chairperson และ CEO ตามลำดับ มีบริษัทแม่อยู่ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเก็บสะสมฐานข้อมูลจุลินทรีย์มากว่า 20 ปี ทั้งของคนในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่ Hong Kong Science and Technology Park (HKSTP) และมีผู้ถือหุ้นที่น่าสนใจอย่าง Alibaba, Chinese University of Hong Kong และ Gobi Partners

 

ซึ่งเรามีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนบริษัทบน 3 แนวทาง ได้แก่ 1) เพิ่มจำนวน sample size ของตัวอย่างจุลินทรีย์ 2) ทำงานวิจัย ที่ครอบคลุมกลุ่มโรคมากขึ้น 3) explore แนวทางการรวมโพรไบโอติกส์กับ ingredients อื่นๆ เช่น เห็ด สมุนไพร ฯลฯ โดยปัจจุบันในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ให้บริการการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้ทราบว่าโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ใดที่พร่องไปในร่างกายของผู้รับการตรวจ ซึ่งจำหน่ายคู่กับโพรไบโอติกส์ทั้งแบบเฉพาะบุคคล และยังมีโพรไบโอติกส์แบบทั่วไป (เลือกทานได้โดยไม่ต้องตรวจจุลินทรีย์ก่อน) โดยเลือกสายพันธุ์โพรไบโอติกส์แตกต่างกันตามกลุ่มอาการที่ต้องการการดูแล ซึ่งคิดค้นสูตรจากฐานข้อมูลจุลินทรีย์ของคนในประเทศไทยโดยเฉพาะ

 

นายวันวนัส มาอินทร์ CEO บริษัท ไบโอเมด เทคโนโลยี โฮลดิ้งส์ ประเทศไทย จำกัด (BioMed)  กล่าวเสริมว่า นโยบายของกลุ่มบริษัท BioMed เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการ บนแนวคิด scientific และ precision-based กล่าวคือ solution ทุกอย่างที่บริษัทฯ นำเสนอ ต้องมีที่มาที่ไปรองรับอย่างชัดเจนและพิสูจน์ได้ ด้วยเหตุนี้ BioMed ฮ่องกง จึงได้ทุ่มเทงบประมาณ และบุคลากรไปกับการทำวิจัยเกี่ยวกับลักษณะจุลินทรีย์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มโรคผื่นแพ้ผิวหนัง สะเก็ดเงิน โรคทางสมอง ฯลฯ รวมถึงการบรรเทาอาการของโรคดังกล่าว

 

ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีงานวิจัยรองรับว่าช่วยบรรเทาโรคดังกล่าวได้ และดูลักษณะการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ ควบคู่ไปกับการสังเกตอาการ ซึ่งงานวิจัยทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์แล้ว โดยความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัย ระหว่าง ไบโอเทค Biomed รวมถึง HKSGM ในประเทศไทยนั้น จะใช้ methodology หรือวิธีการที่ใกล้เคียงกับการวิจัยที่ทำสำเร็จแล้วในฮ่องกง แต่ปรับเปลี่ยนในบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการวิจัยในไทย ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญจากไบโอเทคมาประกอบกัน จึงทำให้ร่นระยะเวลาการทำวิจัยรวมถึงทรัพยากร แต่ยังคงไว้ซึ่งแนวทางนำไปสู่ข้อสรุปด้านจุลินทรีย์ที่เหมาะสมกับคนในประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ทั้งสามฝ่ายจะร่วมกันเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจุลินทรีย์และโพรไบโอติกส์ให้กับผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจโพรไบโอติกส์ให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ และช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ว่าแท้จริงแล้วโพรไบโอติกส์นั้นมีประโยชน์มากมายกว่าเพียงแค่เรื่องการขับถ่าย

 

ดร.วรรณพ กล่าวปิดท้ายความร่วมมือครั้งนี้ว่า เราโชคดีและถือเป็นเกียรติมากที่ได้ทำงานร่วมกับ Prof. Stephen Tsui (TSUI Kwok Wing) นอกจากจะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง BioMed และรองประธาน HKSGM แล้ว ยังเป็น Head of Division of Genomics and Bioinformatics, School of Biomedical Sciences, Chinese University of Hong Kong (CUHK) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกสาขาชีวสารสนเทศศาสตร์ โรคทางพันธุกรรมของมนุษย์ และจุลชีววิทยาระดับโมเลกุล

 

โดยเมื่อปี 2014 Prof. Tsui นำทีมจาก CUHK Medical School ถอดรหัสพันธุกรรมไรฝุ่นได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญต่อการวิจัยเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ และที่สำคัญ Prof. Tsui และทีมยังเป็นทีมแรก ๆ ในโลก ที่ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส SARS-CoV อีกด้วย ซึ่งความร่วมมือกับไบโอเทค จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ บนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสร้างฐานความเข้มแข็งในด้านอุตสาหกรรมการพัฒนาจุลินทรีย์เสริมสุขภาพของไทย

“ซูเปอร์ยอชต์” ลำแรกของโลก

ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 100%

 

ซูเปอร์ยอชต์เป็นของเล่นหรูหราของมหาเศรษฐี แต่ก็เป็นของเล่นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาลถึงลำละ 7,020 ตันต่อปี แต่ด้วยการเป็นมหาเศรษฐี ก็ย่อมจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นจึงเป็นแนวคิดในโครงการ 821 ใหม่ ที่ได้สร้างซูเปอร์ยอทช์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนลำแรกของโลก ที่ไม่สร้างมลพิษออกสู่โลก

 

โดย Feadship สหกรณ์อู่ต่อเรือของเดนมาร์กได้ทำการพัฒนาโครงการ 821 มากว่า 5 ปี ในการสร้างซุปเปอร์ยอชต์ลำ มหึมาด้วยความยาว 260 ฟุต ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งแม้ว่าจะมีระยะทางการเดินเรือได้สั้นกว่าเรือยอชต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล แต่ก็ยังคงบรรทุกสัมภาระและสิ่งอำนวยความสะดวกได้เหมือนโรงแรมหรูที่สมฐานะของผู้ใช้งาน

 

สำหรับขุมพลังที่ได้จากไฮโดรเจนเหลว จะต้องเก็บไว้ในถังแช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -423.4 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเซลล์ไฮโดรเจนสร้างพลังงานโดยการเปลี่ยนไฮโดรเจนเหลวที่มีน้ำหนักเบามากให้เป็นไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยสิ่งที่เซลล์ไฮโดรเจนปล่อยออกมาจะเป็นเพียงไอน้ำที่ไม่เป็นอันตรายต่อโลก แต่เทคโนโลยีนี้ยังคงมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและมีความท้าทายด้านการขนส่งมานานหลายปี แต่ความก้าวหน้าล่าสุดทำให้นักออกแบบสามารถเริ่มบูรณาการทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับรถยนต์ เครื่องบิน และเรือได้

 

อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปสรรคอยู่ในด้านการจัดเก็บอยู่บ้าง โดยไฮโดรเจนเหลวที่มีน้ำหนักเบาจะต้องถูกเก็บไว้ในถังเก็บความเย็นเยือกแข็งขนาดใหญ่ที่มีผนังสองชั้น ซึ่งจะเก็บไว้ภายในส่วนเฉพาะของเรือ ที่ต้องการพื้นที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นกว่าเครื่องยนต์ดีเซลแบบเดิมอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับการให้พลังงานที่เท่ากัน ทำให้ต้องเพิ่มความยาวพิเศษอีก 13 ฟุตจากแบบเดิมของเรือ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอในการเดินทางในระยะทางตามมาตรฐานของเรือเครื่องยนต์ดีเซลแบบเดิมได้

 

สำหรับ เรือซุปเปอร์ยอชต์ในโครงการ 821 นี้จะเป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นของเรือซุปเปอร์ยอชต์ โดยมีดาดฟ้าห้าชั้นเหนือระดับน้ำและอีกสองชั้นอยู่ใต้ระดับน้ำ มีระเบียงทั้ง 14 แห่ง และชานชาลาแบบพับได้เจ็ดแห่ง รวมทั้งยังมีสระว่ายน้ำ อ่างจากุซซี่ ห้องอบไอน้ำ สองห้องนอน สองห้องน้ำ ห้องออกกำลังกาย ห้องเตรียมอาหาร สำนักงานที่มีเตาผิง ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด และดาดฟ้าสำหรับเดินเล่นเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ความฟุ่มเฟือยดังกล่าวยังไม่สามารถแล่นเรือในระยะทางไกลได้ แต่ก็มีจุดเด่นในด้านการทำงานที่เงียบกริบ และไม่ปล่อยมลพิษ ด้วยความเร็วที่ 10 นอต

“ขณะนี้เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการจัดเก็บไฮโดรเจนเหลวด้วยความเย็นจัดภายในเรือซุปเปอร์ยอทช์นั้น เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้ และจะมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต”

 

ที่มา : https://www.popsci.com/environment/hydrogen-fuel-superyacht/

วันนี้ในอดีต   27 เมษายน พ.ศ. 2334

เป็นวันเกิดของ ซามูเอล เอฟ. บี. มอร์ส

 

มอร์ส นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์เครื่องโทรเลข ซึ่งมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในการสื่อสารที่รวดเร็ว ซึ่งต่อมาโทรเลขถือว่าเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของมนุษย์เลยทีเดียว

 

มอร์สมีชื่อเต็มว่า แซมมวล ฟินเลย์ บรีส มอร์ส (Samuel Finley Breeze Morse) เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2334 ที่รัฐแมศซาชูเซส ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาชื่อว่า เจดิเดียท มอร์ส มีอาชีพเป็นนักบวช และนักเขียน มอร์สเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่ใกล้บ้าน หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้วมอร์สได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในวิชาศิลปะ ซึ่งเป็นวิชาที่เขาชอบมากอีกทั้งเขายังมีพรสวรรค์ในเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก

 

นอกจากวิชาศิลปะแล้ว มอร์สได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายเกี่ยวกับวิชาไฟฟ้า เคมี และฟิสิกส์ อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ทำให้มอร์สมีความชำนาญด้านนี้มากนัก เพราะว่าเขามีความสนใจด้านศิลปะมากกว่า อีกทั้งทางครอบครัวก็ให้การสนับสนุนด้านนี้ด้วย ดังนั้นเมื่อมอร์สจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยลในปี พ.ศ. 2353 เขาได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษเพื่อศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ซึ่งในระหว่างนี้ต้องดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องทำงานให้กับทางสถาบันราชศิลป์ เพื่อหาเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย

 

นอกจากนี้แล้วเขายังได้วาดภาพเพื่อขายสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ต่อมามอร์สได้ปั้นรูปเฮอร์คิวลิสด้วยดินเหนียวส่งเข้าประกวด ตามคำแนะนำของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งในสถาบันราชศิลป์ ซึ่งมอร์สได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองของสมาคมศิลป์อเดลฟี มอร์สยังคมทำงานด้านศิลปะต่อไป ในปี ค.ศ. 1813 ภาพเขียนสีน้ำมันชื่อว่า การตายของเฮอร์คิวลิส (The Dead of Hercules) ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 ภาพ ของงานนิทรรศการแสดงภาพของสถาบันราชศิลป์ ปัจจุบันภาพนี้ได้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะของมหาวิทยาลัยเยล และในปี ค.ศ. 1815 ภาพเขียนสีน้ำมันของเขาได้ร่วมในงานนี้อีกครั้ง ภาพนี้มีชื่อว่าการตัดสินใจของจูปีเตอร์ (The Decide of Jupiter) หลังจากประสบความสำเร็จทางด้านศิลปะในประเทศอังกฤษ มอร์สจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2358

 

เมื่อกลับมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาเขาได้เปิดร้านจำหน่ายภาพเขียน (Gallery) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักจากนั้นเขาจึงรับวาดภาพเหมือน ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้นเพราะเขาได้วาดภาพเหมือนของบุคคลสำคัญหลายคนแต่ก็ไม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2361 มอร์สแต่งงานกับ ลูเครเทีย พิกเคอริง วอล์ค หลังจากแต่งงานแล้วมอร์สจำเป็นต้องหารายได้จากงานอื่น เพราะรายได้จากงานวาดภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว และเพราะเหตุนี้เขาและภรรยา

 

ต้องแยกกันอยู่ชั่วคราว โดยมอร์สได้เดินทางไปทำงานที่เมืองนิวยอร์ค และได้เข้าทำงานในตำแหน่งนักเขียน และผู้บรรยายวิชาศิลปะในเมืองนิวยอร์ค ในระหว่างที่ทั้งสองต้องแยกกันอยู่นี้เอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2368 ภรรยาของมอร์สเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย แต่การโทรคมนาคมในสมัยนั้นยังล้าช้า ทำให้กว่าจะทราบข่าวก็ล่วงเลยไปหลายวันแล้ว มอร์สรู้สึกเสียใจมาก และตั้งใจว่าจะหาวิธีส่งข่าวสารให้ได้รวดเร็วกว่านี้ให้ได้สักวันหนึ่ง

 

หลังจากที่ภรรยาของเขาเสียชีวิตก็ทำให้มอร์สเศร้าโศกเป็นอย่างมาก ดังนั้นในปี พ.ศ. 2372 จึงตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศอิตาลี และเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2375 ระหว่างเดินทางกลับจากทวีปยุโรป มอร์ส ได้มีโอกาสรู้จักกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้าหลายท่าน โดยเฉพาะชาร์ล เอฟ. แจ็คสัน (Charles F. Jaxkson) นักเคมีชาวอเมริกัน ได้เป็นผู้ที่คอยตอบปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับผู้สนใจเสมอ ซึ่งมอร์สก็เป็นผู้หนึ่งที่สนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเป็นผู้หนึ่งที่นั่งฟังคำบรรยายเกี่ยวกับไฟฟ้าเสมอ

 

รวมทั้งยังทำการทดลองอย่างง่ายเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับผู้โดยสารบนเรือได้ชม โดยการใช้แท่งเหล็กพันด้วยลวดทองแดง จากนั้นก็ปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ลวดทองแดง ปรากฏว่าแท่งเหล็กนั้นกลายเป็นแม่เหล็กชั่วคราว โดยดูดตะปูเหล็กขึ้นมาได้ แต่เมื่อหยุดปล่อยกระแสไฟฟ้าแท่งเหล็กก็จะกลายเป็นแท่งเหล็กธรรมดา และตะปูก็หลุดร่วมลงบนพื้น นอกจากนี้ มอร์สได้เข้าร่วมฟังการสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ในการส่งข่าวสารในระยะไหล ดังนั้นมอร์สจึงใช้เวลาที่อยู่บนเรือร่างต้นแบบเครื่องส่งโทรเลขขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อมอร์สเดินทางมาถึงกรุงนิวยอร์คเขาเหลือเงินไม่มากนักจึงต้องรับจ้างเป็นครูสอนศิลปะตามบ้านและเวลาว่างส่วนที่เหลือศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องโทรเลข ต่อมาในปี พ.ศ. 2378 มอร์สได้เข้าทำงานมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ในตำแหน่งศาสตราจารย์ทางศิลปะ การทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มอร์สไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน แต่ได้รับสิทธิพิเศษในการเรียนวิชาใดก็ได้ในมหาวิทยาลัยแทน มอร์สเลือกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเข้ามีความรู้พื้นฐานมาบ้างแล้ว

 

แม้ว่ามอร์สจะมีเวลาน้อยลง แต่ะเขาก็คงพยายามประดิษฐ์เครื่องส่งโทรเลขต่อไปมอร์สต้องประสบปัญหาหลายประการทั้งเงินทองและเวลา มอร์สใช้เวลาเฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้นในการทำงาน เนื่องจากกลางวันเขาต้องทำงานในหาวิทยาลัยอีกทั้งมอร์สไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ซื้ออุปกรณ์ทีละมาก ๆ ทำให้ต้องซื้อลวดทองแดงได้ทีละน้อย ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในการสร้างโทรเลข แต่ในที่สุดมาร์สก็สามารถสร้างเครื่องส่งโทรเลขได้เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2380 ซึ่งเขาใช้ระยะเวลาถึง 5 ปี

 

แต่การส่งโทรเลขนั้นไม่สามารถส่งเป็นตัวหนังสือได้ดังนั้นมอร์สจึงคิดเป็นรหัสเพื่อให้แทนตัวหนังสือ โดยสร้างสวิตช์ไฟอย่างง่ายขึ้นทำจากสปริงทองเหลือง ส่วนปลายมีปุ่มสำหรับกด ซึ่งติดอยู่กับสปริงและแม่เหล็กไฟฟ้าอันเล็ก ๆ เรียกว่า “อาร์เมเจอร์” และเมื่อกดปุ่มก็ทำให้กระแสไฟฟ้าเดิน ถ้ายกมือออกจากปุ่มกระแสไฟฟ้าก็จะตัดสวิตช์ชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “สะพานไฟของมอร์ส” ซึ่งมีประโยชน์ในสำหรับส่งกระแสไฟฟ้าออกมาในช่วงสั้น ช่วงยาว ซึ่งทำให้เกิดรหัสในการส่งสัญญาณโทรเลข เรียกว่า “รหัสมอร์ส” คือ กดสั้น เป็นจุด ( . ) และกดยาวเป็นขีด ( _ )

 

โดย มอร์สได้แสดงการส่งโทรเลขครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2416 ภายในห้องประชุมของทางมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค โดยมีระยะทางในการส่งครั้งแรกเพียง 1,700 ฟุต แต่ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะมีผู้คนเข้าชมอย่างมาก อีกทั้งการแสดงครั้งนี้ทำให้มอร์สได้รับการสนุบสนุนเงินทุนในการพัฒนางานโทรเลขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากอัลเฟรด เวลล์ บุตรชายเจ้าของกิจการจำหน่ายเหล็กและทองเหลืองที่รัฐนิวเจอร์ซี มอร์ส ได้ปรับปรุงเครื่องโทรเลขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เขาได้นำผลงานชิ้นนี้เดินทางไปยังกรุงนิวยอร์ค ในปี พ.ศ. 2381 เพื่อเสนอผลงานของเขาต่อสภาคองเกรส ซึ่งครั้งนี้มอร์สสามารถส่งโทรเลขได้ถึง 10 ไมล์ แต่ถึงอย่างนั้น สภาคองเกรสก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องเงินทุนแก่เขา มอร์สได้พยายามขออนุมัติเงินทุกจากสภาคองเกรสอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2386 ซึ่งครั้งนี้ทางสภาคองเกรสได้อนุมัติเงินให้เขาจำนวน 30,000 ดอลลาร์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการวางสายโทรเลขจากกรุงวอชิงตันไปยังบัลติมอร์ รวมระยะทาง 38 ไมล์ ซึ่งการวางสายโทรเลขได้สำเร็จลงในปี พ.ศ. 2387 เมื่อวางสายโทรเลขเสร็จเรียบร้อย จึงมีการทดลองส่งโทรเลขเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2387 ใจความว่า “พระเจ้าทำงานอะไร” ส่วนปลายทางที่บัลติมอร์ตอบกลับมาว่า “เขียนที่สุดปลายทาง” ถือว่าการส่งโทรเลขครั้งแรกประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

 

หลังจากนั้นกิจการโทรเลขก็ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งต่อมาก็ได้เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยด้วย จากผลงานประดิษฐ์เครื่องโทรเลขทำให้มอร์สเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเขาได้เปิดบริษัทร่วมกับเวลล์ผู้ ซึ่งเคยให้การสนับสนุนเขามาก่อน มอร์สยังได้รับรางวัลจากกลุ่มประเทศยุโรปเป็นเงินถึง 40,000 ฟรังก์ นอกจากนี้เขายังได้รับเชิญจากสมาคมวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ใช้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกด้วย

 

มอร์สเสียชีวิตวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2415 ที่กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วย โรคปอดบวม ก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิต 1 ปี สมาคมโทรเลขแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างอนุเสาวรีย์เป็นเกียรติแก่เขาที่สวนสาธารณะในเมืองนิวยอร์ค

Triton เปิดตัวเรือดำน้ำท่องเที่ยวสุดหรู

พร้อมบริการแชมเปญและดินเนอร์ใต้น้ำ

 

เรือดำน้ำในมหาสมุทรรุ่นล่าสุดจากบริษัท Triton ได้รับใอลเรือดำน้ำที่สะดุดตาที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้ แม้ว่าจะไม่สามารถดำน้ำได้ลึกเท่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมบางราย แต่รับประกันว่าผู้โดยสารจะได้รับประสบการณ์ที่หรูหราเหนือระดับ

 

โดยเรือลำใหม่ที่ ได้รับการขนานนามว่า660/9 AVA สามารถดิ่งลงใต้พื้นผิวได้ 600 ฟุต ซึ่งยังไม่ถึงระดับที่เรียดว่าน้ำลึก ที่ต้องมีความลึกตั้งแต่  656 ฟุต ขึ้นไป ซึ่งเรือดำน้ำลำนี้จะทำให้ผู้โดยสารแปดคน และกัปตันเรือหนึ่งคนได้ชมทัศนียภาพอันงดงามของโลกน้ำที่อยู่รอบตัวพวกเขา ในวิดีโอที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเน้นเรื่องเรือดำน้ำ Triton บรรยายว่า660/9 AVAว่าเป็น “เรือแห่งการค้นพบที่สร้างขึ้นเพื่อประสบการณ์พิเศษ” Triton ส่งมอบ660/9 AVA ลำแรก ให้กับบริษัทเดินเรือเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้

 

สำหรับการออกแบบที่ยาวและคล้ายฟองอากาศของเรือลำนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ Triton อธิบายว่าเป็น “ตัวเรืออะคริลิกรูปแบบอิสระ” ลำแรกของโลก ผู้โดยสารจะเดินทางด้วยเรือดำน้ำสุดหรูลงไปสำรวจชีวิตใต้ท้องทะเลได้อย่างมีสไตล์ Triton กล่าวว่า ผู้โดยสารสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมระดับพรีเมียมมากมาย รวมถึง “การดำน้ำค็อกเทล” “การบำบัดด้วยสปา” และ “การเล่นเกมใต้ทะเล” ภาพเรนเดอร์เรือดำน้ำบนเว็บไซต์ของ Triton แสดงให้เห็นว่ามีโต๊ะแบล็คแจ็ค พื้นที่รับประทานอาหาร และแชมเปญมากมาย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับอาหารหรือเล่นแบล็คแจ็คขณะสำรวจพื้นมหาสมุทร

ทั้งนี้ Triton เปิดตัว660/9 AVC ตัวแรก ให้กับบริษัท Scenic Luxury Cruises & Tours และได้รับการตั้งชื่อว่า “Scenic Neptune II” ในอีกสองปีข้างหน้า ผู้โดยสารจะมีโอกาสดำลงสำรวจน่านน้ำทะเลนอกชายฝั่งของนิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย และแม้แต่แอนตาร์กติกาตะวันออก

 

เจสัน เฟลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการล่องเรือและทัวร์หรูหราของ Scenic Luxury กล่าวว่า “ความชัดเจนของตัวเรืออะคริลิกเมื่อจมอยู่ใต้น้ำจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนเป็นหนึ่งเดียวกับน้ำ ซึ่งการได้สัมผัสกับชีวิตทางทะเลอันมีชีวิตชีวาของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และแนวปะการัง Great Barrier Reef ของออสเตรเลียภายใน Scenic Neptune II จะสร้างความทรงจำที่จะคงอยู่ตลอดไป”

 

Titron ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กองเรือดำน้ำของบริษัทได้ถูกนำมาใช้สำหรับทุกสิ่งตั้งแต่การวิจัยใต้ทะเลลึกและการสร้างภาพยนตร์ ไปจนถึงการสำรวจมหาสมุทรที่มีความทะเยอทะยาน ผู้มีชื่อเสียงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบางส่วนในการสำรวจใต้มหาสมุทร เช่น Ray Dalio ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และ James Cameron ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เคยร่วมงานกับบริษัทมาก่อนทั้ง Dalio และ Cameron แสดงความสนใจในการใช้เรือประเภทนี้เพื่อค้นพบส่วนใหม่ๆ ของมหาสมุทรที่ยังคงปกคลุมไปด้วยความมืด

 

ที่มา : https://www.popsci.com/technology/luxury-submersible/

วว.คว้า 8 รางวัล นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ

ในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนี

 

นางสาวศุภมาส อิสรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบเหรียญรางวัล ซึ่ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้น ในโอกาสการร่วมจัดแสดงผลงาน สิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 49 “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมคณะนักวิจัยและคณะผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์จาก วว. ได้แก่ บริษัท เฮอร์บอนิก จำกัด บริษัท Kururo Infinite Co.ltd. บริษัท Clara Innovation Co., Ltd. and ODEESTYLE CO.,LTD. และบริษัท สไมล์ คอร์เนอร์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) เข้าร่วมเป็นเกียรติและรับมอบเหรียญรางวัล เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567

 

โดยผลงานวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วว. ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 8 รางวัล ดังนี้

 

รางวัล Award for outstanding innovation “Prize of Hong Kong Delegation” รางวัล NRTC SPECIAL AWARD for the Excellent Invention และเหรียญรางวัล GOLD MEDAL จากผลงานเทคโนโลยี/นวัตกรรมการจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

รางวัล Distinguished Innovation Award จาก King Abdulahziz University และ เหรียญรางวัล BRONZE MEDAL จากผลงานผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการนอนหลับและบรรเทาอาการกรนด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูไซเร็น

 

เหรียญรางวัล BRONZE MEDAL จาก 2 ผลงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เจลลิ่งเพื่อลดรอยแตกลายผิวหนังหน้าท้องด้วยสารสกัดเพปไทด์จากแพะ และเซรั่มที่มีส่วนผสมของสารสกัดเห็ด กักเก็บในระบบนำส่งสารแบบไฟโตโซมเพื่อยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิดปกติ

 

เหรียญรางวัล SILVER MEDAL จากผลงาน “นาโนแฮร์โทนิคจากสารสกัดดอกคำฝอย” โดยใช้เทคโนโลยีไมโครอิมัลชันของสาร Safflomin A ในสารสกัดดอกคำฝอย เพื่อกระตุ้นการงอกของเส้นผมและลดการเกิดผมร่วง

 

ทั้งนี้งานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 49 ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศทั้งภาครัฐ เอกชน นักลงทุน มากกว่า 50,000 คน และมีผู้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานกว่า 1,000 ผลงาน จากนานาประเทศกว่า 40 ประเทศ โดยมีผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จาก 37 หน่วยงาน เข้าร่วมนำเสนอจำนวน 94 ผลงาน

 

“ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของ วว. อีกวาระหนึ่ง ในการนำความเชี่ยวชาญเข้าไปตอบโจทย์ ช่วยแก้ไขปัญหา พัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ในเวทีนานาชาติ วว. พร้อมเดินเคียงข้างพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของเศรษฐกิจประเทศ” ดร.ชุติมา กล่าว

 

วว. พร้อมให้บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 หรือที่ “วว. JUMP” และ E-mail : [email protected]

กยท. เปิดตัวหุ่นยนต์กรีดยาง

ใช้เวลาเพียง 25 วินาทีต่อต้น

 

ปัญหาหลักสำคัญของชาวสานยางในขณะนี้ ก็คือการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือในการกรีดยาง ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ในการศึกษาวิจัยหานวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้

 

โดย ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีองค์รวมและปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการผลิตหุ่นยนต์กรีดยางของการแห่งประเทศไทย หรือ กยท. กล่าวว่า ประเทศจีนได้ผลิตหุ่นยนต์กรีดยากมานานหลายปีแล้ว เพื่อใช้ในสวนยางพาราในบริเวณจีนตอนใต้ และประเทศลาว แต่จากการศึกษาพบว่า หุ่นยนต์กรีดยางของจีนจะต้องติดตั้งหุ่นยนต์กรีดยาง 1 ตัว ต่อยางพารา 1 ต้น โดย 1 ไร่ จะปลูกยางได้ประมาณ 70 ตัน จึงต้องใช้หุ่นยนต์ถึง 70 ตัว ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก และไม่เหมาะสมกับประเทศไทย

 

ด้วย จุดอ่อนในหลายด้านของหุ่นยนต์กรีดยางของจีน ดังนั้น กยท. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยพัฒนาหุ่นยนต์กรีดยางที่เหมาะสมกับเกษตรกรของไทย โดยหุ่นยนต์กรีดยางที่ไทยพัฒนาขึ้น จะใช้หุ่นยนต์กรีดยาง 1 ตัว สามารถกรีดยางได้ทั้งสวน 1 ไร่ 70 ต้น หรือมากกว่า โดยใช้เทคโนโลยีลวดสลิงในการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง และสามารถไต่ความชันขึ้นหรือลงได้สูงถึง 30 องศา และเคลื่อนที่ตามความโค้งของสวนยางพาราได้ และสามารถถอดออกนำไปเก็บได้โดยไม่ต้องทิ้งไว้ในสวนแบบของจีน

 

นอกจากนี้ จะมีตัวประกบช่วยยึดตำแหน่งที่แน่นอน เพื่อให้การกรีดยางได้องศาที่แม่นยำ และมีเซ็นเซอร์ตรวจเช็กให้การกรีดเฉพาะส่วนเนื้อเยื่อไม่ลึกไปจนถึงแก่น โดยในขณะนี้ใช้เวลา 25 วินาทีในการกรีด 1 ต้น แต่ในอีก 2 ปี ที่เหลือของโครงการฯนี้ จะพัฒนาให้เหลือ 15 วินาทีต่อ 1 ต้น ซึ่งหุ่นยนต์กรีดยางนี้มีต้นทุนตัวละ 100,000 – 130,000 บาท คาดว่าจะคืนทุนได้ในระยะเวลา 2 – 3 ปี ทำให้การกรีดยางง่ายขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมีฝีมือ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว รวมทั้งสามารถพัฒนาไปสู่การส่งออกไปยังประเทศที่มีการปลูกยางได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ โครงการหุ่นยนต์กรีดยาง ยังสามารถพัฒนาไปสู่หุ่นยนต์เก็บน้ำยาง หุ่นยนต์ใส่ปุ๋ยยางพาราตามร่องสวน และจะพัฒนาไปสู่หุ่นยนต์เก็บผลไม้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดการใช้แรงงานได้อีกมาก สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันที่แรงงานด้านเกษตรกรหายากมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการวิจัยโครงการหุ่นยนต์กรีดยางนี้ ได้รับการจัดสรรจากองทุนพัฒนายางพารา ที่มีทุนให้กับนักวิจัยของ กยศ. และนักวิจัยทั่วไปปีละ 300 ล้านบาท โดยจะนำผลการวิจัยเหล่านี้มาพัฒนาชาวสวนยางพาราให้มีศักยภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง

เปิดตำนาน “Boston Dynamics”

ผู้นำเทคโนโลยี ฮิวแมนนอยด์

 

หุ่นยนต์ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่หุ่นยนต์ในโรงงานที่ไม่ค่อยเหมือนมนุศย์มากนัก เป็นเพียงแขนขนาดใหญ่ที่ใช้หยิบจับเชื่อมต่อโลหะได้อย่างอิสระ จากนั้นก็ค่อย ๆ รุกคืบเข้ามาในครัวเรือนในฐานะหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก จนในปัจจุบันก็เริ่มมีแขน ขา ใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น และเข้ามาช่วยงานในบ้านเรือน ซึ่งถึงแม้จะเป็นสิ่งใหม่ แต่มั่นใจได้ว่าจะเป็นมาตรฐานปกติในอนาคต ที่บ้านเรือนส่วนใหญ่จะมีหุ่นยนต์เข้ามาใช้งาน

 

โดยหนึ่งในผู้บุกเบิกหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์ที่เลียนแบบมนุษย์ ก็คือ Boston Dynamics โดยมีจุดเริ่มต้นจาก Marc Raibert เขาเกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ได้เขาเข้าเรียนที่ North Eastern University เพื่อรับปริญญาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากนั้น Raibert ก็ไปเรียนต่อที่ MIT เพื่อศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษาในปี 1977 ไม่กี่ปีต่อมา เขาทำงานในห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนด้วยไอพ่นของ NASA

 

แต่หลังจากนั้นในปี 1980 ก็ลาออกจาก NASA เพื่อเป็นรองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ ในปี 1986 เขาร่วมงานกับ MIT ในตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์

 

ในขณะที่ทำงานที่ MIT  Marc Raibert ได้ก่อตั้ง Leg Lab ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์แบบมีขาที่มีไดนามิกสูง เดิมที Raibert ก่อตั้ง Leg Lab ในมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon (CMU) แต่ต่อมาเขาย้ายไปที่ MIT

 

โดย แนวคิดเรื่องไดนามิกของบอสตันเกิดขึ้นจาก Leg Lab นี้ ในปี 1992 เขาได้ก่อตั้งบริษัท Boston Dynamics ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจำลองและวิทยาการหุ่นยนต์ โดยเป็นสาขาย่อยของ MIT Leg Lab

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างหุ่นยนต์เช่น Atlas, BigDog, SpotMini และ Handle ทั้งหมดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความคล่องตัวและความคล่องแคล่วที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของสัตว์ แม้ว่า Boston Dynamics จะใช้เวลากว่าทศวรรษในการพัฒนาหุ่นยนต์ตัวแรก แต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจในการสร้างหุ่นยนต์ฮิวเมนนอยด์ตามมาอีกมาก

Atlas

ในช่วงปีแรก ๆ ของ Boston Dynamics มีสำนักงานใหญ่ในเมืองวอลแทม และเริ่มมีชื่อเสียงจากการพัฒนา BigDog ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สี่ขาสำหรับกองทัพสหรัฐฯ บริษัทได้รับเงินทุนจาก DARPA (Defence Advanced Research Agency) สำหรับโครงการนี้ นอกจากนี้ยังพัฒนา DI-Guy ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการจำลองมนุษย์ที่สมจริงในช่วงปีแรก ๆ

 

ในปีต่อๆ มา บริษัทได้ทำงานร่วมกับ American Systems Corporation ภายใต้สัญญาที่ได้รับจาก NAWCTSD (แผนกระบบการฝึกอบรมศูนย์สงครามทางอากาศทางเรือ) บริษัท American Systems Corporation ดำเนินการเพื่อทดแทนวิดีโอการฝึกกองทัพเรือด้วยการจำลองคอมพิวเตอร์ 3 มิติแบบโต้ตอบซึ่งมีตัวละคร DI-Guy

 

ในช่วงที่ Boston Dynamics ทำงานให้กับ DARPA และ Pentagon เป็นหลัก ได้รับเงินทุนในรูปแบบของทุนวิจัย ในระหว่างการร่วมมือกับ DARPA บริษัทมุ่งเน้นไปที่การวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการใช้งานทางทหารเป็นหลัก ในช่วงเวลานี้ บริษัทกลายเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมจริงและสามารถสำรวจภูมิประเทศที่ยากลำบากได้

 

หลังจากนั้นในปี 2013 Boston Dynamics ถูกซื้อกิจการโดย Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ในราคาที่ไม่เปิดเผย พร้อมด้วยบริษัทหุ่นยนต์อีก 8 แห่ง ก่อนการซื้อกิจการ Google มีข่าวฟแผนการสร้างแผนกหุ่นยนต์  ดังนั้นบริษัทหุ่นยนต์ทั้ง 9 แห่งจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของ Replicant ซึ่งเป็นแผนกหุ่นยนต์ใหม่ของ Google ซึ่งนำโดย Andy Rubin ผู้ร่วมก่อตั้ง Android

 

หลังจากการซื้อกิจการบริษัทหุ่นยนต์ 9 แห่ง รวมถึง Boston Dynamics ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการวิจัยภายใต้ Andy Rubin แต่ในเดือนตุลาคม 2014 หรือภายในหนึ่งปีของการก่อตั้งแผนกหุ่นยนต์ Andy Rubin ออกได้ลาออกจาก Google ก่อให้เกิดสุญญากาศความเป็นผู้นำในแผนกหุ่นยนต์ของ Google

 

ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกไม่มั่นใจเกี่ยวกับโครงการหุ่นยนต์ที่ Google จะดำเนินการหลังจากการจากไปของ Andy Rubin ในเดือนมกราคม 2558 James Kuffner ผู้ร่วมก่อตั้ง Replicant ก็ลาออกจากบริษัทเช่นกัน

 

ไม่มีใครรู้ว่า Google ต้องการทำอะไรกับแผนกหุ่นยนต์ของตน หลายคนในอุตสาหกรรมคาดเดากันว่า Google ต้องการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ที่ใช้งานง่ายและราคาไม่แพง แต่ Boston Dynamics ไม่สนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากนัก

 

ดังนั้นวิสัยทัศน์ของทั้งสองบริษัทจึงแตกต่างกันอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้บริหารของ Alphabet ยังตระหนักว่า Boston Dynamics จะไม่สร้างรายได้มากนักในเร็วๆ นี้  หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ลดการลงทุนในโครงการวิจัยที่มีความทะเยอทะยานนี้ เป็นผลให้ทั้งสองบริษัทไม่สามารถประนีประนอมผลประโยชน์ของตนได้ ซึ่งนำไปสู่การแยกทางกันในที่สุด

 

ทั้งนี้ ข่าวที่ว่าGoogle ยินดีที่จะขาย Boston Dynamics นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 มีการคาดเดามากมายเกี่ยวกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ในที่สุด ในเดือนมิถุนายน 2560 SoftBank บริษัทโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ซื้อบริษัทหุ่นยนต์จาก Alphabet ในราคาที่ไม่เปิดเผย

 

โดยทั้งสองบริษัทดูเหมือนค่อนข้างจะเป็นบวกเกี่ยวกับการซื้อกิจการครั้งนี้  ภายหลังการซื้อกิจการ Masayoshi Son ประธานและซีอีโอของ SoftBank Group Corp. กล่าวว่า “หุ่นยนต์อัจฉริยะจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในขั้นต่อไปของการปฏิวัติข้อมูล และ Marc และทีมงานของเขาที่ Boston Dynamics คือผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ชัดเจน ในหุ่นยนต์ไดนามิกขั้นสูง”

 

เขากล่าวเสริมว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ต้อนรับพวกเขาเข้าสู่ครอบครัว SoftBank และหวังว่าจะได้สนับสนุนพวกเขาในขณะที่พวกเขายังคงพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และเติมเต็มมากขึ้น”

 

โดย Marc Raibert ซีอีโอของ Boston Dynamics ยังแสดงความยินดีด้วยคำพูดต่อไปนี้ ” พวกเราที่ Boston Dynamics รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ที่กล้าหาญของ SoftBank และจุดยืนในการสร้างการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งต่อไป และเราแบ่งปันความเชื่อของ SoftBank ที่ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีควรจะมุ่งไปสู่การสร้างประโยชน์ของมนุษยชาติ เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับ SoftBank ในภารกิจของเราในการผลักดันขอบเขตของสิ่งที่หุ่นยนต์ขั้นสูงสามารถทำได้ และเพื่อสร้างแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์ในโลกที่ชาญฉลาดและเชื่อมต่อกันมากขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในเดือนธันวาคม 2563 Hyundai Motor Groupได้เข้าซื้อหุ้น 80% ของ Boston Dynamics จาก SoftBank เป็นมูลค่าประมาณ 880 ล้านดอลลาร์ และในเดือนมิถุนายน ปี 2564 ได้ประกาศว่าฮุนไดเข้าควบคุมสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ ทอย่างเป็นทางการจาก SoftBank แล้ว

 

ในเดือนตุลาคม 2022 บริษัทได้ลงนามในคำมั่นว่าจะไม่สนับสนุนการสร้างหุ่นยนต์ให้เป็นอาวุธใดๆ Boston Dynamics เสนอให้บริษัทหุ่นยนต์อื่นๆ เข้าร่วมคำมั่นสัญญา โดยมีบริษัทอื่นอีก 5 แห่งลงนามด้วยเช่นกัน

 

และล่าสุด ในวันที่ 17 เมษายน ปี 2567 Boston Dynamics ได้ประกาศที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในหุ่นยนต์ Atlas ที่เป็นหุ้นยนตฺที่สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทฯ จาก ไฮดรอลิก และแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบแทน โดย Atlas เวอร์ชันไฟฟ้าใหม่แสดงถึงการก้าวกระโดดครั้งสำคัญในโลกหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ด้วยระดับประสิทธิภาพที่เหนือกว่าระบบไฮดรอลิกรุ่นก่อนอย่างมาก ว่ากันว่ามีความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าและระยะการเคลื่อนไหวที่กว้างกว่ามาก ทำให้สามารถรับมือกับงานที่ซับซ้อนมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่น มีเทคโนโลยีมือจับแบบใหม่ที่จะช่วยให้จัดการกับวัตถุที่หนักกว่าและมีรูปร่างไม่ปกติมากกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการเพิ่มความอเนกประสงค์ของการออกแบบหุ่นยนต์

 

การประกาศอาจดูผิดปกติ เนื่องจากความแตกต่างระหว่างมอเตอร์ไฮดรอลิกและอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างสำคัญ หุ่นยนต์ไฮดรอลิกใช้ชุดลูกสูบและของเหลวเพื่อควบคุมแขนขาของหุ่นยนต์ ในขณะที่รุ่นไฟฟ้าใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อเคลื่อนที่และหมุนชิ้นส่วนของหุ่นยนต์โดยตรง ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนจากระบบไฮดรอลิกไปใช้ไฟฟ้า จึงมีผลกระทบอย่างมากในแง่ของต้นทุนการผลิต การออกแบบ และประสิทธิภาพ

 

โดย มอเตอร์ไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีราคาถูกกว่า ซับซ้อนน้อยกว่า เงียบกว่า และเบากว่ารุ่นไฮดรอลิก แต่มอเตอร์ไฟฟ้าอาจเสื่อมสภาพเร็วกว่า และโดยทั่วไปจะไม่แข็งแรงเท่ากับระบบไฮดรอลิก

 

สำหรับ การตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัทฯ โดยการใช้งานครั้งแรกสำหรับหุ่นยนต์ Atlas ใหม่จะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ซึ่งจะถูกนำไปใช้งานในโรงงานของ Hyundai Motor Co. ซึ่งเป็นเจ้าของ Boston Dynamics

 

บริษัทฯ กล่าวในบล็อกโพสต์ว่า Hyundai เป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบสำหรับ Atlas ใหม่ เพื่อแสดงความสามารถ โดยตั้งข้อสังเกตว่า Hyundai กำลัง “สร้างขีดความสามารถด้านการผลิตยานยนต์รุ่นต่อไป” ซึ่งทำให้เป็น “พื้นที่ทดสอบที่สมบูรณ์แบบสำหรับการใช้งาน Atlas ใหม่”

Atlas เวอร์ชันไฟฟ้า

 

ที่มา : https://techstory.in/the-boston-dynamics-story/

https://siliconangle.com/2024/04/17/boston-dynamics-revamps-humanoid-robot-atlas-electric-motors/

วช. ผลิต “อุปกรณ์รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว”

นวัตกรรมใหม่ที่เหมาะกับสรีระคนเอเชีย

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน NRCT Talk รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 4 ประเภท : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ในผลงาน “อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว” ซึ่งมี นายศรัณย์ ธรรมาศิริกุล นายภวนันท์ ฤทธาเวช และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยลดภาระการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และช่วยลดการสูญเสียของผู้ป่วยโรคหัวใจ

 

โดย นายศรัณย์ ธรรมาศิริกุล ทีมคณะวิจัย กล่าวว่า “อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว” เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้มาก่อน โดยอุปกรณ์นี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากอุปกรณ์อุดรูรั่วที่ผนังหัวใจห้องบนที่ได้วิจัยขึ้นมา โดยงานวิจัยนี้ได้มีความร่วมมือกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันทำการออกแบบ พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน ด้วยการส่งผ่านสายสวนเพื่อติดตั้งระหว่างผนังหัวใจห้องบนซ้ายและขวา เพื่อลดความดันในห้องหัวใจของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติ และถ่างขยายผนังกั้นหัวใจ โดยไม่ทำให้หัวใจสร้างเนื้อเยื่อกลับมาปิดได้อีก ซึ่งเป็นการรักษาที่ตรงจุด และไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ เน้นการออกแบบอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน

 

โดยทำการลดขนาดความหนาของจานด้านซ้าย และด้านขวาให้ขนานกับผนังหัวใจมากที่สุด เพื่อป้องกันการรบกวนการไหลของเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด การออกแบบขนาดของรูบนอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมสำหรับการลดความดันในหัวใจของผู้ป่วย เป็นต้น โดยการออกแบบทั้งหมดได้ออกแบบให้อุปกรณ์มีส่วนโค้งตามข้อต่อต่าง ๆ ของอุปกรณ์ เพื่อง่ายต่อการติดตั้งและเหมาะสมกับสรีระของคนเอเชีย

 

หากในอนาคตประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นเองได้ภายในประเทศ จะนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และช่วยลดภาระการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และช่วยให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดี ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การแข่งขันของเทคโนโลยีวัสดุทางด้านการแพทย์ในระดับสากลได้ในอนาคต