Innovation

วว. เปิด 7 ต้นแบบ อาหารเสริมโพรไบโอติก

พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนิน โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันสำหรับประชากรวัยทำงานและผู้สูงวัยจากสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ที่มีศักยภาพสูงจากจุลินทรีย์เป้าหมายและทรัพยากรพื้นถิ่น โชว์ความสำเร็จงานวิจัยพัฒนา “ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเสริมโพรไบโอติก” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค พร้อมเสริมแกร่งผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจด้วยผลงานนักวิจัยไทย ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของสังคม เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (functional food/drink) ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์อยู่ในกลุ่มเพื่อสุขภาพนั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการเติมสารสำคัญต่างๆ เช่น สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ หรือสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ วิตามิน หรือสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ รวมทั้งสารอาหารที่ส่งเสริมการทำงานของร่างกายลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

 

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) บูรณาการดำเนินโครงการฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ โดยการเพิ่มคุณค่าโภชนาการของอาหารด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติก (Probiotics) มีประสิทธิภาพช่วยปรับสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ และช่วยยืดอายุการเก็บรักษา โดยการพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดมากขึ้นให้กับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจรักสุขภาพ โดย วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ ดังนี้

 

1) ผลิตภัณฑ์เยลลี่เสริมโพรไบโอติก ไม่แต่งสีและกลิ่น ใช้สารให้ความหวาน มี 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบแผ่น ให้พลังงาน 15 กิโลแคลอรี่ ไม่มีน้ำตาล (Sugar free) ไม่มีคอเลสเตอรอล และไขมันอิ่มตัว มีการเติมโพรไบโอติกประจำถิ่น (ประเทศไทย) ที่มีข้อมูลผลการศึกษาและวิจัยสนับสนุนสรรพคุณต่อสุขภาพหลายประการโดยทีมนักวิจัยจาก วว. จุลินทรีย์ชนิดนี้ไม่มีฤทธิ์ต่อฮีโมไลติก (ไม่ย่อยสลายเม็ดเลือดแดง) ไม่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะต่างๆ เช่น Ampicillin Tetracycline เป็นต้น และมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร มีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

โยเกิร์ตพร้อมบริโภครสสับปะรด มีปริมาณโพรไบโอติกสูงในรูปแบบเม็ดบีดส์ (Gelling beads) ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี่ ไม่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัว มีแคลเซียม มีเนื้อสัมผัสนุ่ม ใส และมีความยืดหยุ่น

 

2) โยเกิร์ตอัลมอนด์พร้อมดื่มยูเอชที (PRO-GO Almond drink) ผลิตจากวัตถุดิบน้ำนมอัลมอนด์ มีปริมาณโปรตีนและไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูง ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและลดน้ำหนัก อุดมด้วยวิตามินอี (vitamin E) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ไม่มีแลคโตส (lactose free) ไม่มีกูลเตน (gluten free) ผ่านกระบวนการหมักให้เป็นโยเกิร์ตด้วยเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบบยูเอชทีและบรรจุกล่องแบบปลอดเชื้อ เก็บได้ที่อุณหภูมิปกติ

 

3) โยเกิร์ตแพลนเบสจากนมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตทำจากพืช คือ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีการศึกษาพบว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ สามารถลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ (NCD) ไม่มีส่วนผสมของสัตว์ หมักโดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ที่เหมาะกับคนไทยและคนเอเชีย ที่ผลิตโดยศูนย์ ICPIM วว. และได้รับการขึ้นทะเบียน อย. เรียบร้อยแล้ว ช่วยในเรื่องระบบทางเดินอาหารและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย

 

4) เครื่องดื่มโยเกิร์ตจากถั่วชิกพีพร้อมชงเสริมโพรไบโอติก ผลิตจากถั่วชิกพีหรือ “ถั่วลูกไก่” อยู่ในตระกูลเดียวกับถั่วลิสง มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูง ไม่มีคอเลสเตอรอล ถูกจัดให้เป็นอาหารฟังก์ชันชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีสังกะสี โฟเลท และใยอาหารสูง โดยนำมาหมักกับหัวเชื้อโยเกิร์ตชนิดวีแกนและเสริมเชื้อโพรไบโอติก มีประโยชน์ต่อระบบย่อยและระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้น้ำตาลแลคโตสจากนม หรือแพ้โปรตีนถั่วเหลือง ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้

 

5) ผลิตภัณฑ์ผงชงดื่มหน่อไม้ฝรั่ง สำหรับผู้บริโภคซึ่งต้องการเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรี่ สามารถชงผสมกับน้ำดื่มทั่วไป มีส่วนผสมของสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล เติมสีและกลิ่นสังเคราะห์ เติมผงสารสกัดฟรักแทน (fructan) ที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกจากหน่อไม้ฝรั่ง เหมาะสำหรับเป็นเครื่องดื่มของผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

 

6) ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปเสริมโพรไบโอติก เป็นผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันจากโพรไบโอติกเพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบสมองสำหรับกลุ่มประชากรเข้าสู่ภาวะสูงวัย ผ่านการทดสอบความปลอดภัย ความเป็นพิษแบบเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง และยังสามารถป้องกันความบกพร่องทางความจำที่ถูกชักนำจาก Aβ25-35 ได้ ผ่านการทดสอบในมนุษย์

 

7) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เมลอนอบกรอบเสริมโพรไบโอติก กัมมี่เสริมโพรไบโอติก ช่วยระบบลำไส้แปรปรวน ช็อกโกเลตเสริมโพรไบโอติก ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล [email protected] หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/

วช.ผลิตเครื่องตรวจกระดูกพรุนแบบพกพา

ช่วยให้ผู้สูงวัยรักษาโรคก่อนลุกลาม

 

ในปัจจุบันคนไทยสูงวัยกว่า ร้อยละ 25 เป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นปัญหาทางการแพทย์ในระยะยาว ดังนั้นหากตรวจพบการเกิดโรคตั้งแต่แรกเริ่มก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบของโรคกระดูกพรุนลงได้มาก โดยล่าสุด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ผลิตเครื่องช่วยคัดกรองผู้ป่วยกระดูกพรุนแบบพกพาสามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ และไม่มีอันตรายจากรังสี ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสาธารณสุขของประเทศ

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. จัดกิจกรรม “NRCT Talk รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 ครั้งที่ 5” เพื่อเชิดชูผลงานที่มีความโดดเด่น และสร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัย ในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ

 

โดยในปีนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่ง ผลงาน “เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็น 1 ในผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567

 

รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 25 เป็นโรคกระดูกพรุนโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว และการคัดกรองโรคกระดูกพรุน สามารถทำได้โดยเครื่องวัดมวลกระดูกใช้รังสีเอกซ์ มีขนาดใหญ่ ราคาแพง มีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีฐานะยากจนหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้

 

จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการคิดค้นเครื่องคัดกรองโรคกระดูกพรุน ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกแบบพกพาด้วยการเรียนรู้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ซึ่งเป็น “เครื่องตรวจคัดกรองเครื่องแรกของโลก” มีระดับความน่าเชื่อถือที่ยอมรับได้สำหรับการคัดกรองเบื้องต้น โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่ แต่มีราคาถูก น้ำหนักเบา เคลื่อนที่สะดวก ง่ายต่อการใช้งาน ทุกคนสามารถใช้ได้ไม่อันตราย ระบบแสงพลังงานต่ำที่ปลอดภัย ไม่ต้องมีนักรังสีเทคนิค และใช้เวลาเพียง 1 นาที โดยผลตรวจออกมาแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ แถบสีเขียว หมายถึง มวลกระดูกอยู่ในภาวะปกติ แถบสีเหลือง หมายถึง กระดูกบาง มีความเสี่ยงต้องระวัง และ แถบสีแดง หมายถึง มวลกระดูกมีความหนาแน่นในระดับที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน

 

ทั้งนี้ เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ เป็นเครื่องที่ไม่ใช้รังสี แต่ใช้แสงพลังงานต่ำไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูล ตัวเครื่องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสามารถเคลื่อนย้ายได้ ปัจจุบันได้ดำเนินการผลิตเครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 10 เครื่อง ได้นำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี แล้ว

 

รวมทั้ง เครื่องมือนี้สามารถใช้งานการแพทย์ทางไกล เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่ห่างไกล ในพื้นที่ ที่มีอินเทอร์เน็ต สามารถใช้งานได้ง่าย เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจวัดมวลกระดูกได้มากยิ่งขึ้น

จีนทำรถบ้านอัจฉริยะใช้ระบบ AI ควบคุมทั้งคัน

 

สำนักข่าว CMG รายงานว่า “หัวเหว่ย” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ของจีน ได้จับมือกับบริษัท Weisu หรือ Vessel ซัพพลายเออร์ ด้านโรงแรม เปิดตัวรถบ้านหรือ RV รุ่นใหม่ ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งเป็น “รถบ้าน” แบบอัจฉริยะเต็มรูปแบบ ช่วยกระตุ้นธุรกิจการพัฒนารถ RV ของจีนให้เติบโต

รถ RV รุ่นนี้ใช้รถ SUV ไฮฟังค์ชั่นของหัวเหว่ยเป็นรถลาก ภายในรถมีการเชื่อมโยงชิ้นส่วนต่างๆ กับระบบซอฟต์แวร์และระบบ OS

 

“HarmonyOS 4” ที่ทันสมัยของหัวเหว่ย รถ RV รุ่นนี้เป็นแบบ Full AI สามารถช่วยให้ผู้ใช้รถควบคุมรถบ้าน RV ผ่านระบบอัตโนมัติอัจฉริยะทั้งคันได้

 

ระบบควบคุมแบบอัจฉริยะบนรถหัวเหว่ยรุ่นนี้ ทำงานผ่าน application ในมือถือและคอมพิวเตอร์ สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะบนรถ RV ทั้งคันจากระยะไกลได้ และใช้พลังงานผ่านแผงโซล่าเซลล์ของตัวเองได้ด้วย

จีนพัฒนาแผ่นเก็บข้อมูลระดับ “เพตะไบต์”

เก็บภาพได้กว่า 10,000 ล้านภาพ

 

ในยุคที่ข้อมูลเปรียมเสมือนขุมทรัพย์ของบริษัทต่าง ๆ และเป็นทรัพยากรที่ทำให้ AI ฉลาดขึ้น ทำให้ทุกประเทศหันมาพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลให้เล็กลง และรองรับปริมาณได้เยอะขึ้น ซึ่งล่าสุดประเทศจีนก้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยได้พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่าสื่อเก็บข้อมูลแสง ที่มีความจุดในระดับ “เพตะไบต์”

 

โดย สำนักข่าว CMG ของจีนรายงานว่า นักวิจัยจีนประสบความคืบหน้า ในการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า สื่อเก็บข้อมูลแสง หรือ Optical data storage (ODS) ในแผ่นดิสก์ขนาดเท่า DVD สามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมหาศาล ในยุค data ล้นโลก

สื่อเก็บข้อมูลแสง ( Optical Storage Device ) คือสื่อเก็บข้อมูลสำรองที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ใช้หลักการทำงานของแสงเข้ามาช่วย การจัดเก็บข้อมูลจะคล้ายกับแผ่นจานแม่เหล็ก แต่ต่างกันที่การแบ่งวงของแทรคจะแบ่งเป็นลักษณะคล้ายรูปก้นหอยและเริ่มเก็บบันทึกข้อมูลจากส่วนด้านในออกมาด้านนอก และแบ่งส่วนย่อยของแทรคออกเป็นส่วนๆ เช่นเดียวกันกับแผ่นจานแม่เหล็ก การอ่านข้อมูลจะอาศัยแสงเลเซอร์ยิงตกไปกระทบพื้นผิวของแผ่นจาน

 

ผลงานดังกล่าวนับเป็นผลคืบหน้ารายสำคัญในด้านสื่อเก็บข้อมูลแสง 3D ที่มีขนาดใหญ่และความละเอียดสูงพิเศษ ไม่เพียงแต่เป็นการบรรลุการเก็บข้อมูลแสงขนาดใหญ่ระดับ เพตะไบต์ ครั้งแรกของโลก หากยังมีความหมายสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของจีนอีกด้วย โดยการพัฒนาครั้งนี้จะช่วยให้จัดเก็บข้อมูลได้ถึง 1.6 เพตะไบต์ (Petabyte)

 

เทคนิคการเก็บข้อมูลแสงนั้นมีความพิเศษ เพราะไม่ปล่อยมลภาวะ ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย น่าเชื่อถือและใช้งานได้ทนทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสมกับการเก็บข้อมูลจำนวนมากในระยะยาวและต้นทุนต่ำ ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานขององค์กรการวิจัยชื่อดังหลายองค์กร เช่น สถาบันวิจัยเครื่องอุปกรณ์ละเอียดแสงวิทยาเซี่ยงไฮ้และมหาวิทยาฟิสิกส์และอุตสาหกรรมเซี่ยงไฮ้

 

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับหน่วยความจำในการจัดเก็บข้อมูล ที่เริ่มจาก เมกะไบต์ กิกะไบต์ และเทราไบต์ โดย 1 เทราไบต์เท่ากับ 1000 กิกะไบต์ แต่เวลานี้ทั่วโลกรวมทั้งจีนกำลังพัฒนาสื่อการจัดเก็บข้อมูลขนาดเกิน 1 เพตะไบต์ โดย 1เพตะไบต์เท่ากับ 1024 เทราไบต์ นั่นหมายความว่า หน่วยงานต่างๆ สามารถเก็บข้อมูลมหาศาลเอาไว้ในบน DVD แบบ ODS นี้ได้เพียง 1 แผ่นเท่านั้น เพตะไบต์ เป็นระดับของข้อมูลจำนวนมหาศาล เปรียบเทียบได้กับจำนวนภาพถ่ายมากกว่า 10,000 ล้านภาพที่มีอยู่บน Facebook คิดเป็นข้อมูลจำนวน 1.5 เพตะไบต์

“นาโนเทค” วิจัยนวัตกรรมส่งยาแม่นยำ

เพิ่มประสิทธิภาพรักษามะเร็งสมอง

 

“มะเร็งสมอง” หนึ่งในมะเร็งในระบบประสาทส่วนกลางที่รักษายากมาก เนื่องจากยารักษาเข้าสู่จุดที่เป็นมะเร็งสมองได้ยาก ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย นาโนเทค สวทช. จับมือศิริราช ใช้นาโนเทคโนโลยีพัฒนา “ระบบนำส่งยาเพื่อการรักษาและการวินิจฉัยมะเร็งสมอง” ออกแบบอนุภาคนำส่งยาแบบมุ่งเป้าข้ามผ่าน “BBB หรือตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง” อุปสรรคสำคัญของการรักษา

 

โดย ผลการวิจัยในสัตว์ทดลองได้ผลดี เป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคมะเร็งในระบบประสาทส่วนกลาง สามารถต่อยอดประยุกต์ใช้กับเปลี่ยนยา โมเลกุลมุ่งเป้า หรือสารทึบรังสี เพื่อให้เหมาะสมกับการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ รวมถึงโรคทางสมอง อาทิ พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

 

ดร. ณัฏฐิกา แสงกฤช หัวหน้าทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การค้นคว้าหาวิธีการและยารักษาโรคที่ดีขึ้นเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งสมอง ซึ่งเป็นหนึ่งในมะเร็งในระบบประสาทส่วนกลางนับเป็นความท้าทายของนักวิจัยทั่วโลก เนื่องจากอุปสรรคสำคัญในการส่งผ่านยารักษาเข้าสู่เซลล์สมอง ทีมวิจัยนาโนเทค จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ. นพ. สิทธิ์ สาธรสุเมธี ภายใต้โครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (Research Network of NANOTEC : RNN) พัฒนา “ระบบนำส่งยาแบบแม่นยำเพื่อการรักษาโรคมะเร็งระบบประสาทส่วนกลาง”

 

ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งสมองคือ กว่า 95% ของยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถที่จะผ่านเข้าไปรักษาโรคในสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในสมองนั้นมีโครงสร้างตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง หรือ BBB (blood-brain barrier) ที่บุและห่อหุ้มหลอดเลือดทุกเส้นในสมอง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้ยารักษาโรคทางสมองเข้าถึงเซลล์สมองส่วนที่เป็นโรคด้วยเช่นกัน

 

“งานวิจัยนี้ต้องการใช้ประโยชน์ของนาโนเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบนำส่งยาเพื่อการรักษาและการวินิจฉัยมะเร็งสมองโดยสามารถข้ามผ่าน BBB โดยได้ออกแบบอนุภาคเพื่อการนำส่งแบบมุ่งเป้า ซึ่งนำเข้าสู่ร่างกายโดยการบริหารยาผ่านเส้นเลือดดำ เพื่อให้ยาเข้าสู่บริเวณเป้าหมายคือสมองโดยข้ามผ่าน BBB สำหรับการบำบัดโรคมะเร็งสมองระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ Primary central nervous system lymphoma (PCNSL) ซึ่งเป็นมะเร็งที่ยังไม่มีความเข้าใจมากนักเกี่ยวกับระบบการวินิจฉัยและรักษา” ดร. ณัฏฐิกากล่าว

 

ทีมวิจัยนาโนเทคยังได้ออกแบบและสังเคราะห์อนุภาคนาโนเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยพร้อมรักษาสำหรับ PCNSL ประกอบด้วยอนุภาคนาโนลิโปโซมที่บรรจุสารทึบรังสี superparamagnetic nanoparticles (SPIONs) สำหรับติดตามเซลล์เป้าหมาย ที่ทำงานร่วมกับแอนติบอดีเพื่อการรักษาชื่อ Rituximab (RTX) สำหรับการกำหนดเป้าหมายและการรักษาที่เฉพาะเจาะจง และมีสารลดแรงตึงผิวเพื่อช่วยให้ระบบนำส่งนี้ข้ามผ่าน BBB ได้

 

จากการประเมินประสิทธิภาพของอนุภาคดังกล่าวพบว่า อนุภาคสามารถข้ามผ่าน BBB ได้จริง มีความจำเพาะในการจับและเข้าเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ RTX ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งแบบ apoptosis ในหลอดทดลองได้และมีผลต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งที่อยู่ภายใต้ BBB ที่จำลองขึ้นในหลอดทดลองดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ร่วมกับ รศ. นพ. สิทธิ์ สาธรสุเมธี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยเวชศาสตร์นาโนวินิจฉัยพร้อมรักษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเบื้องต้นในระดับ pre-clinical เพื่อยืนยันความสามารถในการวินิจฉัยแบบจำเพาะกับมะเร็งสมองในหนูทดลองที่มีอาการโรค โดยทำซีโนกราฟท์ (xenograft) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของมนุษย์ในสมองหนู แล้วฉีดอนุภาคผ่านหลอดเลือดดำที่หาง เพื่อวิเคราะห์ MRI พบสัญญาณของ MRI ชัดเจนที่บริเวณเป้าหมายในสมองหนูทดลอง

 

หลังจากที่ยืนยันคุณสมบัติของอนุภาคที่ออกแบบเพื่อการบำบัดพร้อมวินิจฉัยแล้วนั้น อนุภาคได้ถูกนำมาทดสอบประสิทธิภาพในการรักษาโรค PCNSL ต่อ โดยได้สังเคราะห์อนุภาคลิโปโซมที่ติดโมเลกุลยา RTX ไว้ที่ผิวของอนุภาค (Lip/RTX) ซึ่งเป็นแบบ therapeutic เพื่อทดสอบในหนูทดลองที่ทำการเหนี่ยวนำให้เกิดโรค PCNSL ผลพบว่า อนุภาคลิโปโซมที่ติดโมเลกุลยา RTX ไว้ สามารถเพิ่มระยะรอดชีพของหนูที่เป็น PCNSL ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับด้วยยาหลอกหรือยา RTX ปกติ แสดงให้เห็นว่า ยาถูกนำส่งและข้ามผ่าน BBB ได้ สอดคล้องกับผลจากการทดสอบระดับเซลล์

 

“จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ระบบส่งนาโนชนิดใหม่นี้มีศักยภาพสูง สำหรับการพัฒนาต่อยอดทางคลินิก เพื่อใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาทส่วนกลางปฐมภูมิ นอกจากนี้แล้วอนุภาคที่ออกแบบนี้ยังสามารถนำปรับใช้กับการรักษาโรคความบกพร่องทางสมองชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย โดยสามารถปรับเปลี่ยนยา โมเลกุลมุ่งเป้า หรือสารทึบรังสี เพื่อให้เหมาะสมกับการรักษาโรคตามต้องการได้ รวมทั้งองค์ความรู้ที่ได้ ทีมวิจัยได้นำไปต่อยอดให้การออกแบบระบบนำส่งชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากลิโปโซม ได้แก่ Nano-structured lipid carrier (NLC) เพื่อการกักเก็บ phytochemical drug และ chitosan coated selenium nanoparticle ซึ่งเป็น therapeutic agent เพื่อการรักษามะเร็งสมอง glioblastoma ด้วย”

 

งานวิจัยเรื่อง “ระบบนำส่งยาแบบแม่นยำเพื่อการรักษาโรคมะเร็งระบบประสาทส่วนกลาง” ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติฯ ประจำปี 2567 ในรางวัลผลงานวิจัยระดับดีมาก ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงสามารถสร้างผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ 4 ฉบับและทรัพย์สินทางปัญญา 1 ฉบับ พร้อมแสดงศักยภาพของระบบนำส่งยานาโนชนิดใหม่ในการสำหรับการพัฒนาต่อยอดทางคลินิก เพื่อใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาทส่วนกลางปฐมภูมิ และโรคความบกพร่องทางสมองชนิดอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนยา โมเลกุลมุ่งเป้า หรือสารทึบรังสี เพื่อให้เหมาะสมกับการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วย

 

ดร. ณัฏฐิกา คาดหวังว่า งานวิจัยในครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมให้เกิดวิธีใหม่ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งสมองที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแก่ประชาชนทั่วไปได้ ในขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่า จะสามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงสมองที่ต้องการให้สารสำคัญผ่าน BBB ได้ดีมากขึ้น

 

“สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ งานวิจัยนี้ เป็นการทำงานภายใต้เครือข่ายวิจัย ที่รวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร และแพทย์ เพื่อร่วมกันทำงาน สร้างองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรวิจัย เสริมความเข้มแข็งให้กับงานเวชศาสตร์นาโนให้กับประเทศ เป็นการเพิ่มโอกาสและสนับสนุนการลงทุนเพื่อสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา และเภสัชภัณฑ์ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทยต่อไป” นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ทิ้งท้าย

5 นวัตกรรมทางการแพทย์ เปลี่ยนโลก

 

ในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ได้ถูกนำเข้ามาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้สร้างความก้าวหน้าในด้านการแพทย์อย่างรวดเร็ว จนทำให้การรักษาโรคที่มีความยากในอดีต มีวิธีใหม่ ๆ ในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีที่โดดเด่น ได้เข้ามาสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สำคัญ 5 ด้าน ไดแก่

 

  1. ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

การใช้อัลกอริธึมและแมชชีนเลิร์นนิงในการตรวจจับ วินิจฉัย และรักษาโรคได้กลายเป็นสาขาสำคัญของวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต บางคนเชื่อว่านี่คือการปฏิวัติการดูแลสุขภาพครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 โดย AI สามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และทำให้การวินิจฉัยแม่นยำยิ่งขึ้นได้รวดเร็วกว่าวิธีการทั่วไป เช่น มะเร็งเต้านม AI ช่วยให้การตรวจแมมโมแกรมเร็วขึ้น 30 เท่าด้วยความแม่นยำเกือบ 100% ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการตัดชิ้นเนื้อ

 

ในขณะเดียวกัน อัลกอริธึมการเรียนรู้เชิงลึกที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพ Qure.ai ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งปอดได้ในระยะเริ่มต้น เมื่อใช้ AI ในการตีความรังสีเอกซ์ที่หน้าอกได้แม่นยำกว่า เมื่อเทียบกับการอ่านค่ารังสีวิทยาทั่วไป บริษัทได้ก่อตั้งความร่วมมือกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ AstraZeneca โดยมีเป้าหมายที่จะกระจายเทคโนดลยีนี้ออกไปเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดทั่วโลก

 

  1. การพิมพ์ 3 มิติ

การใช้เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติในการดูแลสุขภาพมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2019 โรงพยาบาลมากกว่า 110 แห่งในสหรัฐอเมริกามีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการพิมพ์ 3D ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ที่มีเพียง 3 แห่ง โดยเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในการสร้างรากฟันเทียม ข้อต่อทดแทน รวมถึงการทำขาเทียมตามขนาดที่ต้องการ การวิจัยเกี่ยวกับการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อผลิตเนื้อเยื่อผิวหนัง อวัยวะ และแม้แต่ยาก็อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน

 

ข้อดีหลักประการหนึ่งของการพิมพ์ 3D ก็คือ ช่วยเร่งกระบวนการผลิตได้อย่างมาก และยังช่วยลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตแบบดั้งเดิมอีกด้วย ตามข้อมูลของสมาคมโรงพยาบาลอเมริกันได้ระบุว่า เทคโนโลยีดังกล่าวได้ลดเวลาในการผลิตเครื่องช่วยฟังจากมากกว่าหนึ่งสัปดาห์เหลือเพียงวันเดียว

 

  1. การแก้ไขยีน CRISPR

เทคโนโลยีการแก้ไขยีน Palindromic Repeats (CRISPR) สามารถเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคได้ มันสามารถช่วยสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคร้าย เช่น มะเร็งและเอชไอวี โดยเทคโนโลยีนี้ทำงานโดย “ควบคุมกลไกทางธรรมชาติ” ของการบุกรุกของไวรัส จากนั้นจึง”ตัด” สาย DNA ที่ติดเชื้อออกด้วยการเปลี่ยนแปลงการกลายพันธุ์ของเซลล์ CRISPR จึงมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาโรคที่หายาก เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส และโรคเคียวเซลล์

 

อย่างไรก็ตาม ในเทคโนโลยีนี้ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของจริยธรรม เนื่องจากสามารถนำไปเปลี่ยนจีโนมในเด็กทารกได้ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์จากจีนต้องถูกดำเนินคดีในปี 2020 ที่ได้อ้าวว่าใช้เทคโนโลยีนี้ในการออกแบบเด็กทารกคนแรกของโลกโดยใช้ CRISPR

 

  1. ความเป็นจริงเสมือน (VR)

ตลาด VR และ AR (ความเป็นจริงเสมือน) กำลังเฟื่องฟูทั่วโลกและเทคโนโลยีทั้งสองมีการใช้งานมากขึ้นในการใช้งานด้านการดูแลสุขภาพ โดยเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ได้หลายวิธีเช่น การผ่าตัดขั้นสูง การช่วยบรรเทาอาการปวด และการรักษาสภาวะสุขภาพจิต ซึ่งศัลยแพทย์ยังสามารถใช้แว่นตา VR เพื่อซ้อมหัตถการ ที่สามารถมองเห็นภายในร่างกายของผู้ป่วยได้ครบถ้วน และเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยให้ผู้คน “ปลดเปลื้อง” ความเจ็บปวดเรื้อรังได้ด้วยการฝึกสมองแบบใหม่

 

นอกจากนี้ VR ยังสามารถช่วยให้ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเอาชนะความกลัวโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมเช่น การเข้ารับการรักษาโรคกลัวความสูงเป็นเวลา 2 ชั่วโมงช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยได้โดยเฉลี่ย 68%

 

  1. ผ้าพันแผลอัจฉริยะ

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาผ้าพันแผลที่ใช้เซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบการหายของบาดแผล “ช่วยให้บาดแผลปิดได้เร็วขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดใหม่ไปยังเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ และช่วยเพิ่มการฟื้นฟูผิวหนังโดยการลดการเกิดแผลเป็นอย่างมีนัยสำคัญ” ตามข้อมูลจากทีมมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยชั้นอิเล็กทรอนิกส์บางๆ บนผ้าพันแผลมีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิที่คอยติดตามบาดแผล หากจำเป็นอาจกระตุ้นการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อเร่งการปิดเนื้อเยื่อ ทั้งนี้ ด้วยการกระตุ้นและการตรวจจับในอุปกรณ์ชิ้นเดียว ผ้าพันแผลอัจฉริยะจะช่วยให้การรักษาเร็วขึ้น และยังคอยติดตามในขณะที่บาดแผลกำลังดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์นี้จำเป็นต้องเอาชนะปัญหาด้านต้นทุนและการจัดเก็บข้อมูล ก่อนที่จะนำเข้าสู่การผลิตจำนวนมาก รวมทั้งจะต้องพัฒนาความสามารถในการช่วยเหลืออย่างมีนัยสำคัญแก่ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องและโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งมักมีบาดแผลที่สมานตัวช้า

ไก่ผงจากพืช ความอร่อยแบบคลีน ๆ

 

เทรนด์การบริโภคอาหารจากพืชหรือ ‘Plant-based food’ กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปัจจุบันและมีแนวโน้มขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคต เพราะไม่เพียงเป็นอาหารที่รักษ์สุขภาพเท่านั้น แต่กระบวนการผลิตยังรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย ล่าสุดนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้พัฒนา ‘ผงไก่จากพืช’ ที่ให้ความอร่อยทดแทนเนื้อไก่ในเมนูอาหารได้สำเร็จ ปัจจุบันถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนผลิตจำหน่ายแล้ว

 

สวทช. วิจัยปั้นโปรตีนถั่วเหลืองเป็นเนื้อไก่ Ve-Chick

 

ดร.กมลวรรณ อิศราคาร นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการบริโภคอาหารรักษ์สุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้บริโภคหันมาสนใจผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนพืช และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนพืชมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี การบริโภคโปรตีนพืชอาจมีเนื้อสัมผัส รสชาติ และกลิ่นที่ไม่ถูกปากในผู้บริโภคบางกลุ่ม ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายที่ทีมวิจัยด้านวัสดุศาสตร์จะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การอาหารและวัสดุศาสตร์พัฒนาอาหารจากโปรตีนพืชเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคให้กว้างขึ้น

 

“เราเลือกใช้โปรตีนถั่วเหลืองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช Ve-Chick โดยอาศัยเทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างอาหารผสานเข้ากับความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของโปรตีนจากถั่วเหลือง เพื่อออกแบบจัดเรียงโครงสร้างของอาหารให้มีลักษณะเป็นเส้นใยเหมือนกับเนื้อไก่ ควบคู่กับการปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติให้เหมือนจริง จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ 2 รูปแบบคือ ‘เนื้อไก่กึ่งสำเร็จรูป (Pre-cooked)’ เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเนื้ออกไก่ชุบแป้งทอดและชิ้นเนื้ออกไก่สำหรับปรุงอาหารทดแทนเนื้อไก่ได้หลากหลาย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ ‘เนื้อไก่แบบผง (Premix)’ ปราศจากกลูเตน สำหรับนำไปขึ้นรูปเป็นเนื้อไก่ด้วยตนเอง ซึ่งมีเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเนื้อไก่แบบผง นำไปผลิตจำหน่ายแล้วภายใต้แบรนด์ต่างๆ อาทิ ‘กรีน สพูนส์’ (Green Spoons)” นักวิจัยกล่าว

 

คุณอารดา วินัยแพทย์ สตาร์ตอัปด้านอาหารสุขภาพเจ้าของแบรนด์ ‘กรีน สพูนส์’ (Green Spoons) เล่าว่า หลังจากเรียนจบปริญญาเอกด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 3 ปี ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของหนูทดลองซึ่งเป็นผลกระทบจากอาหารที่กินเข้าไป

 

ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น กระแสการบริโภค plant-based food มีมากขึ้น จึงเริ่มสนใจอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเราอยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสุขภาพที่ดีต้องเชื่อมกับสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ซึ่งการรับประทาน plant-based food มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับ plant-based food เพราะตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพในปัจจุบันและตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนในอนาคต

 

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากโปรตีนถั่วเหลืองน่าสนใจและน่าจะไปได้ไกล จึงรับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยเราได้วิจัยพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อปรับสูตรให้เข้ากับการผลิตล็อตใหญ่และเหมาะกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์แรกที่ได้คือ เนื้อไก่ปรุงรสชนิดผงแห้งแบบพรีมิกซ์ สามารถนำมาผสมกับน้ำและน้ำมันตามสัดส่วนที่ระบุไว้ และปั้นเป็นชิ้นเนื้อไก่ตามใจชอบได้เลย

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ผงไก่ปรุงรสจากพืช ‘กรีน สพูนส์’ ผลิตจากโปรตีนถั่วเหลืองและใยอาหารจากข้าว ไม่ใส่สารกันบูด ปราศจากกลูเทน ไขมันทรานส์ และคอเลสเตอรอล เป็นผงไก่แบบ DIY ที่ให้ผู้บริโภคขึ้นรูปเป็นชิ้นเนื้อไก่ได้ตามต้องการ ด้วยวิธีการปรุงไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ผสมผงไก่กับน้ำและน้ำมันตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ แล้วปั้นขึ้นรูป ก็จะได้เนื้อไก่จากพืชที่นำไปประกอบอาหารแทนเนื้อไก่ได้ทุกรูปแบบ โดยมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่อร่อยคล้ายกับเนื้อไก่จริง

 

โดย เนื้อไก่ปรุงรสชนิดผงแห้งจากพืชแบบพรีมิกซ์สามารถนำมาปั้นขึ้นรูปได้อย่างง่ายดาย และปรุงอาหารได้หลากหลายตามต้องการ ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าที่ได้ลองชิมผลิตภัณฑ์ของเราส่วนใหญ่จะชอบมาก บอกว่ารสชาติและเนื้อสัมผัสเหมือนกับไก่มาก และคิดว่าน่าจะต่อยอดได้ แต่ด้วยเราเพิ่งจะมาจับธุรกิจทางด้านนี้ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งที่จะหาคู่ค้าหรือธุรกิจต่อยอดในอนาคต ซึ่งเราวางแผนการตลาดไว้ทั้งการขายในประเทศและการส่งออก

 

ตอนนี้ก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างชาติมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ ส่วนในประเทศมีจำหน่ายแล้วที่ร้านอิ่มใจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ห้างไอซีเอส (ICS) ตรงข้ามไอคอนสยาม และร้าน healthy store หลายแห่ง หรือติดต่อสั่งซื้อผ่านไลน์ได้ที่ Line: @greenspoonsonly หรือติดตามได้ที่เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม greenspoonsonly”

 

‘FoodSERP’ พร้อมเสิร์ฟนวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ

 

ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ผงจากพืชแบบพรีมิกซ์เป็นหนึ่งในผลผลิตจาก ‘แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน’ หรือ ‘FoodSERP (ฟูดเซิร์ป)’ ที่ สวทช. จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายกำลังการผลิต รวมถึงการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน แบบ One-stop Service โดยผสานความเชี่ยวชาญของนักวิจัยจากศูนย์แห่งชาติต่าง ๆ ภายใต้ สวทช. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนผสมฟังก์ชัน และเวชสำอางของประเทศให้แข่งขันได้และสอดรับกับทิศทางของอุตสาหกรรมในอนาคต

 

สำหรับบริการด้านอาหาร FoodSERP พร้อมให้บริการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารทั้งในกลุ่มเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืช อาหารปรับเนื้อสัมผัสสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะกลืนลำบาก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ พร้อมบริการวิเคราะห์ทดสอบเนื้อสัมผัสของอาหาร ทดสอบการย่อยและการดูดซึมสารอาหาร และทดสอบประสิทธิภาพของสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานระดับสากล

 

ผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ สามารถติดต่อรับบริการจากแพลตฟอร์ม FoodSERP โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางอีเมล [email protected] หรือเฟซบุ๊ก Foodserp แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน

ชิปความเร็วแสง พลิกโฉมการพัฒนา AI ให้ฉลาดขึ้น
ชิปที่เป็นนวัตกรรมใหม่ใช้แสงเพื่อการคำนวณ AI ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเพิ่มความเร็วในการประมวลผลและความเป็นส่วนตัวแบบก้าวกระโดด
โดย ล่าสุด Penn Engineers ได้พัฒนาชิปใหม่ที่ใช้คลื่นแสงแทนไฟฟ้า เพื่อทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นต่อการฝึก AI ชิปมีศักยภาพในการเร่งความเร็วการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ได้อย่างมากในขณะเดียวกันก็ลดการใช้พลังงานอีกด้วย
ทั้งนี้ การออกแบบชิปซิลิคอนโฟโตนิก (SiPh) ถือเป็นครั้งแรกที่นำงานวิจัยบุกเบิกของศาสตราจารย์ Nader Engheta ของ Benjamin Franklin Medal Laureate และ H. Nedwill Ramsey ในการจัดการกับวัสดุในระดับนาโนเพื่อทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์โดยใช้แสง ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แพลตฟอร์ม SiPh ซึ่งใช้ซิลิคอน ที่เป็นองค์ประกอบราคาถูกและมีมากมายที่ใช้ในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์จำนวนมาก
สำหรับ ปฏิสัมพันธ์ของคลื่นแสงกับสสารถือเป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาแทนที่ข้อจำกัดของชิปในปัจจุบัน ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนหลักการเดียวกันกับชิปจากช่วงแรกสุดของการปฏิวัติคอมพิวเตอร์ในทศวรรษ 1960
ในบทความที่ตีพิมพ์ในวันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ใน Nature Photonics กลุ่มของ Engheta ร่วมกับ Firooz Aflatouni รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและระบบ กล่าวถึงการพัฒนาชิปตัวใหม่ “เราตัดสินใจผนึกกำลังกัน” Engheta กล่าว โดยใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มวิจัยของ Aflatouni ได้บุกเบิกอุปกรณ์ซิลิคอนระดับนาโน
เป้าหมายของพวกเขาคือการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการดำเนินการที่เรียกว่าการคูณเวกเตอร์เมทริกซ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการทางคณิตศาสตร์หลักในการพัฒนาและการทำงานของโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ที่ขับเคลื่อนเครื่องมือ AI ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การออกแบบชิปรูปบบใหม่นี้พร้อมสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว และอาจนำไปปรับใช้ในหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ได้ ซึ่งเป็นความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพัฒนาระบบ AI ใหม่ “พวกเขาสามารถนำแพลตฟอร์ม Silicon Photonics มาใช้เป็นส่วนเสริมได้”
นอกจากความเร็วที่เร็วขึ้นและการใช้พลังงานน้อยลงแล้ว ชิปของ Engheta และ Aflatouni ยังมีข้อได้เปรียบด้านความเป็นส่วนตัว เนื่องจากการคำนวณหลายอย่างสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ จึงไม่จำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลที่ละเอียดอ่อนไว้ในหน่วยความจำในการทำงานของคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ในอนาคตที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดังกล่าวแทบไม่มีใครถูกแฮ็กได้ . “ไม่มีใครสามารถแฮ็กเข้าไปในหน่วยความจำที่ไม่มีอยู่เพื่อเข้าถึงข้อมูลของคุณได้” Aflatouni กล่าว
ที่มา : SciTechDaily

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เผย 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกมีอาการไตทำงานผิดปกติ และมีผู้ป่วยประมาณ 1 ล้านคนที่เสียชีวิตจากอาการไตวายเรื้อรังเนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษา ขณะที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนประชากรเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 17-22 ในปี 2552 (ข้อมูลจาก Thai SEEK) และเพิ่มสูงถึงร้อยละ 26 ในบางพื้นที่ (ข้อมูลจาก CKDNET ในปี 2565) ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทราบว่าตนเป็นโรคไตเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 หรือระยะที่มีอาการป่วยปรากฏให้เห็นแล้ว ทำให้ไม่สามารถบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไตที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละ 200,000 บาทต่อคนต่อปี

 

ดังนั้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรพัฒนานวัตกรรมคัดกรองโรคไต ได้แก่ AL-Strip (อัล-สตริป) ชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพ สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถตรวจได้ง่ายด้วยตนเอง ทราบผลความเสี่ยงได้ภายใน 5 นาที และ GO-Sensor Albumin Test ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทราบผลตรวจได้ภายใน 10-30 นาที

 

ดร.เดือนเพ็ญ เล่าต่อถึงเทคโนโลยีที่สอง GO-Sensor Albumin Test ว่า เป็น ‘ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์’ โดยทีมวิจัยได้พัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ ภายหลังจากเครื่องประมวลผลเสร็จ ระบบจะส่งข้อมูลเข้าสู่แดชบอร์ด (dashboard) ที่ดูได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก

 

ส่วนที่สองคือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไว (sensitive) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญทั้งเครื่องอ่านผลและน้ำยาตรวจผ่านการพัฒนาให้มีราคาที่สถานพยาบาลขนาดเล็กสามารถสั่งซื้อเพื่อใช้งานได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ยังผ่านการออกแบบให้เหมาะแก่การใช้ตรวจทั้งในสถานพยาบาลและการออกตรวจนอกสถานที่ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานด้วย

 

“GO-Sensor Albumin Test จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกสถานพยาบาลเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจเชิงปริมาณเพื่อการดูแลรักษาคนไข้ในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะไปตรวจยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง”

 

เตรียมผลักดันสู่ภาครัฐ มุ่งประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง

 

ปัจจุบันทั้ง AL-Strip และ GO-Sensor Albumin Test มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีในระดับ TRL8 หรือพร้อมแก่การผลิตเพื่อการใช้งานจริงแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน นาโนเทค สวทช. ได้ผลิตอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ‘โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET)’ มาโดยตลอด โดยโครงการนี้มีผู้ดำเนินงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 และเขต 4 ทั้งนี้นาโนเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตอุปกรณ์จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

 

ดร.เดือนเพ็ญ เล่าว่า 2 ปีที่ผ่านมา นาโนเทค สวทช. ได้สนับสนุนอุปกรณ์ ‘AL-Strip’ และ ‘GO-Sensor สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ตรวจคัดกรองโรคไตแก่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นมาโดยตลอด มีผู้เข้ารับการตรวจแล้วมากกว่า 1,000 คน ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีอัตราการเป็นโรคไตสูงได้ทราบถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือความผิดปกติของร่างกายตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมรวม 7.87 ล้านบาท

 

“ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในระดับประเทศ ปัจจุบันนาโนเทค สวทช. กำลังสรรหาบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ รวมถึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการนำผลงานทั้ง 2 เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกส่งเสริมให้สถานพยาบาลจัดซื้อนวัตกรรมทางการแพทย์ที่คนไทยผลิตไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งอาจเป็นช่องทางให้ภาครัฐสนับสนุนให้คนไทยทั้งประเทศเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคด้วยตัวเองอย่างเท่าเทียม ผ่านการติดต่อรับชุดอุปกรณ์ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ดังที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังขับเคลื่อนงานด้วย”

 

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาถึงความพร้อมทางด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย จะเห็นว่าปัจจุบันนอกจากนาโนเทค สวทช. ที่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์มาตรฐาน ISO13485 เป็นของตนเองแล้ว ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐาน ISO13485 ที่พร้อมรับจ้างผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทนี้เช่นกัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการพร้อม ภาครัฐพร้อม การเดินหน้าผลิตอุปกรณ์เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที

 

ดร.เดือนเพ็ญ กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า ในการพัฒนาชุดตรวจทางการแพทย์ ทีมวิจัยไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เฉพาะเพียงเรื่องโรคไตเท่านั้น แต่ยังมองถึงภาพรวมของการสร้างระบบนิเวศในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจโรคที่คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกมีความเสี่ยงสูง

 

โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs ด้วย ตัวอย่างโรคที่มีการพัฒนาชุดตรวจแล้ว เช่น โรคเบาหวาน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ (medical hub) ของเอเชียได้อย่างมั่นคง