Business

จีนเตรียมใช้ 5.5G

ในสายการผลิตอัจฉริยะ

 

สำนักข่าว CMG ของทางการจีนเผยว่า ในปี 2567 จีนจะเริ่มประยุกต์ใช้ 5.5G เชิงพาณิชย์ โดยมีความเร็วสูงและความหน่วงเวลาต่ำ 5.5G นั้นจะช่วยให้การควบคุมและตรวจสอบจากระยะไกลและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ในระหว่างการผลิตของอุตสาหกรรม มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น และช่วยผลักดันการพัฒนาการผลิตแบบอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก

 

ระบบ 5.5G นั้นจะช่วยให้ทุกขั้นตอนการผลิต ในห่วงโซ่อุปทานทำงานได้ดีขึ้น เพราะสามารถแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์และประสานงานกับส่วนต่างๆ ได้ โดยระบบห่วงโซ่อุปทานที่ทำงานได้เรียลไทม์นี้ จะช่วยให้วิสาหกิจต่างๆ สามารถปรับปรุงแก้ไขกระบวนการบริหารโกดังและโลจิสติกส์ ได้ทับท่วงทีอย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นสูง และลดการสูญเสีย

 

นายสุ่ย ชาง นักวิจัยทางอุตสาหกรรม โทรคมนาคมของสถาบันวิจัย การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์และอุตสาหกรรมสารสนเทศน์จีนกล่าวว่า ความเร็วสูงและความหน่วงเวลาต่ำของเครือ 5.5G นั้นจะช่วยให้การควบคุมและตรวจสอบจากระยะไกลและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ในระหว่างการผลิตของอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น จนผลักดันการพัฒนาการผลิตแบบอัจฉริยะ

 

นอกจากนั้น 5.5G จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงกัน ระหว่างรถยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้เกิดการบริการแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อีกทั้งการพัฒนาของเครือ 5.5G จะกระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีโอกาสพัฒนาทางดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม

GPSC ปั้นเยาวชนไทย

แข่งขันวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์โอลิมปิก

 

GPSC ส่งเสริมเยาวชนไทย ร่วมแข่งขัน “วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ” ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ระหว่าง 31 ก.ค. -7 ส.ค. 2567 ขยายองค์ความรู้ ก้าวทันเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน วางรากฐาน สร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

โดย นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า GPSC ได้เล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาพลังงานทางเลือกชนิดต่างๆ นอกเหนือจากการศึกษาความเป็นไปได้ในเทคโนโลยีไฮโดรเจน และเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดำเนินการอยู่ เพื่อจะนำมาสู่การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

 

โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม GPSC จึงได้สนับสนุนการดำเนินโครงการ “การแข่งขันวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ” ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ครั้งที่ 1 ร่วมกับสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย (สนท.) โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม 2567 ณ กรุงมะนิลา ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายผลให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ สู่การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงานอีกแนวทางหนึ่ง ทั้งนี้ กำหนดการประกาศรับสมัครเยาวชนเพื่อสอบคัดเลือกในเดือนมีนาคม 2567 จะประกาศบนเว็บไซด์ของสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย www.nst.or.th เร็วๆ นี้

 

“การสนับสนุนการแข่งขันทางวิชาการดังกล่าว เป็นหนึ่งในแนวทางของการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม GPSC ที่จะสร้างเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานให้กับเยาวชนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นประโยชน์กับประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมีความหลากหลายของชนิดพลังงาน เป็นการสร้างโอกาสให้กับเยาวชนไทยในระดับมัธยมศึกษาได้เข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการในเวทีระดับสากล เพื่อพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ นับเป็นเวทีที่นำความรู้ทางวิชาการไปประยุกต์ใช้ เยาวชนไทยจะได้รับการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับเยาวชนนานาประเทศ เป็นการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกัน ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” นายวรวัฒน์กล่าว

 

ทั้งนี้ พลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นหนึ่งในพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในอนาคต เนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ ลดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และที่สำคัญคือไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขณะเดินเครื่อง ฯลฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพลังงานที่คาดว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามเป้าหมายของหลายๆ ประเทศ และหลายๆ องค์กรชั้นนำ ที่กำลังให้ความสำคัญกันอยู่ในขณะนี้

 

ดังนั้น ต้องหาแนวทางเสริมสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้เยาวชนตระหนัก และมีความเข้าใจในพลังงานดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการศึกษาความก้าวหน้าในเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านนิวเคลียร์ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจเชิงบวกให้กับสังคมไทยในระยะยาว และเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการพัฒนาพลังงานแห่งอนาคต นำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์ มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยี SMR (Small Module Reactor) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โมดูลาร์ขนาดเล็ก ที่สามารถผลิตไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อเครื่อง ให้ความสำคัญและต่อยอดในมาตรฐานความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศรัสเซียได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับเทคโนโลยี SMR ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีพลังงานที่สำคัญต่อการลดภาวะโลกร้อน โดยล่าสุด สหภาพยุโรปเตรียมเปิดตัวพันธมิตรอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี SMR เดินหน้าความร่วมมือก่อสร้างทั่วทวีป เพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 90% ในปี 2583 (ค.ศ. 2040)

BBGI ตั้งโรงงานผลิตเนื้อจากการเพาะเลี้ยงเซลล์แห่งแรกในอาเซียน

 

บริษัทจากอิสราเอล Aleph Farms ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cellular Agriculture) ได้ประกาศความร่วมมือกับ BBGI บริษัทผู้นำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ Fermbox Bio บริษัทผู้นำด้านการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์ชีววิทยาสังเคราะห์

 

โดยทั้ง 3 บริษัท ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตเนื้อจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cultivated Meat) แหล่งโปรตีนใหม่แห่งโลกอนาคต โดยจะใช้ฐานผลิตที่โรงงานขนาดใหญ่แห่งแรกในไทย เพื่อยกระดับความยั่งยืน มั่นคงทางอาหาร และสวัสดิภาพของสัตว์

 

ด้าน นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) BBGI เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ Aleph Farms ร่วมกับ BBGI และ Fermbox Bio โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเพิ่มกำลังผลิตเนื้อจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของแพลตฟอร์มการเพาะเลี้ยงเซลล์  ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ บีบีจีไอ ที่กำลังจะTransform ธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง  โดยมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยความร่วมมือเป็นพันธมิตรนี้แสดงถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับโลก

 

สำหรับ BBGI ได้เตรียมความพร้อมด้านโรงงาน โดยเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมาได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ของโครงการก่อสร้างโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ (Contract Development and Manufacturing Organization :CDMO) ด้วยถังหมักผลิตขนาดใหญ่ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ที่ล้ำสมัยที่สุด ซึ่งจะเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

นายดิดิเยร์ ทูเบีย (Didier Toubia) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Aleph Farms กล่าวว่า บริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจทำการเพาะเลี้ยงเซลล์สำหรับเนื้อเพาะเลี้ยงนั้น จะมาจากการเพาะเซลล์ของสัตว์ และเพาะในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมโดยไม่ต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศและไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ ด้วยวิธีการค้นพบใหม่นี้ได้นำไปสู่ห่วงโซ่คุณค่าที่ไม่กระจุกตัว รัดกุม คาดการณ์ได้ และสะดวกในการเข้าถึงผู้บริโภค

 

โดยความก้าวหน้านี้ได้สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารอย่างยิ่งยวดด้วยการลดความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังมีความต้องการโปรตีนและไขมันที่มาจากสัตว์พุ่งขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ด้วยการเพิ่มความสามารถในการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเพื่อช่วยเสริมความยั่งยืน ความร่วมมือนี้ได้ช่วยให้บรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทางเลือกอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอย่างมั่นคง

 

นาย Subramani Ramachandrappa ผู้ก่อตั้ง Fermbox Bio กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ BBGI และ Aleph Farms นี้ สอดคล้องกับพันธกิจธุรกิจหลักของบริษัทในการที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เสริมความแข็งแกร่งให้กับความยั่งยืนของโลก และเอื้อต่ออนาคตในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ด้วยประสบการณ์ของบริษัทที่มีอย่างยาวนานในการออกแบบและปฏิบัติการโรงงานผลิตทางชีวภาพขนาดใหญ่ โดยบริษัทมีความพร้อมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ร่วมกันของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเนื้อเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

นางสาว Orna Sagiv เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า ฉันมั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างบริษัทสัญชาติอิสราเอลที่มีนวัตกรรมระบบนิเวศ FoodTech ที่ล้ำสมัย กับอุตสาหกรรมอาหารที่เติบโตเต็มที่ของไทย ซึ่งเป็น “ครัวของโลก” จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จสำหรับทั้งสองประเทศทั้งนี้ ที่สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้มีการส่งเสริมความร่วมมือ และฉันเชื่อว่าความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จระหว่าง Israel Aleph Farms และ Thai BBGI และ Fermbox จะส่งผลอย่างมาก ไม่เพียงแต่ต่ออนาคตของอุตสาหกรรมอาหารของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึง อนาคตความสัมพันธ์อิสราเอล-ไทย ด้วย