สอวช. สำรวจข้อมูลเชิงลึกภาคเอกชน
ปรับหลักสูตรผลิตคนรองรับอุตฯเป้าหมาย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเติบโตได้ไม่เต็มที่ ก็คือ การขาดบุคลากรที่มีความสามารถทักษะชั้นสูงเข้ามารองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ดังนั้น สอวช. จึงได้เข้าไปรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อนำมาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการ
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. ได้สำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม สำหรับปี 2568 – 2572 หรือ “Thailand Talent Landscape” เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการในประเทศไทยกว่า 300 ราย ภายใต้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และนำมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า
โดย ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จะนำข้อไปพัฒนาหลักสูตรหรือคอร์สเรียนต่าง ๆ ให้สามารถพัฒนาบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ ในขณะที่ สอวช. เองก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานฝึกอบรม โดยหน่วยงานที่ส่งบุคลากรเข้าอบรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% และหน่วยงานที่มีการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM สามารถนำค่าจ้างบุคลากรมาลดหย่อนภาษีได้ 150% ในปีที่ผ่านมามีบุคลากรที่ผ่านการรับรองการจ้างงานแล้วกว่า 5,000 ราย ปีนี้ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นไปถึง 10,000 ราย และตั้งเป้าให้มีผู้ที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง 100,000 ราย
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังพบว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีผู้เล่นรายใหญ่ไม่ถึง 100 บริษัท ครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทของไทย และอีกครึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัว หากภาวะเศรษฐกิจไม่เสถียรก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องสร้างผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้โครงสร้างประชากร ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างประชากรของไทยเป็นรูปแบบพีระมิดฐานกว้าง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานของพีระมิด สอวช. จึงได้ทำโครงการ Social Mobility เพื่อยกฐานะทางสังคมของประชากรฐานราก โดยมีเป้าหมายทำให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570
ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงกระทบกับการค้า การลงทุน ซึ่งการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้จะหาทางออกได้ยากหากขาดกำลังคนที่เพียงพอ และกำลังคนที่มีทักษะ หรือมีสมรรถนะสูง