#อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ #อาวุธไทย #อุตสาหกรรมทหาร

เปิดแผนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

สร้างมูลค่าเพิ่ม 7 หมื่นล้านบาท

 

ในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ในการนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ เพื่อรักษาความพร้อมรบของกองทัพ มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งจำนวนนี้เป็นการซื้อภายในประเทศเพียง 2%รวมทั้งในปัจจุบันได้มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศต่างต้องพึ่งพาตนเองในด้านความมั่นคงใกขึ้น เพราะเมื่อถึงเวลาคับขันก็ยากที่จะพึ่งพาประเทศอื่นได้

 

ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลได้ยกอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้นเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ต้องให้การส่งเสริมอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาขอรับการลงทุนเพียง 10 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1,271 ล้านบาท ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับแผนเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

โดยล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมาตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล โดยในแผนดังกล่าวมีเป้าหมายให้เกิดการขยายตัวของมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมความมั่นคงไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี และได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาวุธปืน และกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา 2. กลุ่มยานพาหนะรบ และยานพาหนะช่วยรบ 3. กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ (UAV) 4. กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีมากกว่า 225,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการผลิตในประเทศจะมีการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงมากกว่า 69,000 ล้านบาท

 

สำหรับในกลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬาตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่มาก จากผลสำรวจสถิติล่าสุดประจำปี 2566 โดย World population review พบว่าคนไทยมีอาวุธปืนในครอบครองมากถึง 10.3 ล้านกระบอก สูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดภายในประเทศ โดยคาดว่ามูลค่าตลาดในกลุ่มนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่ากว่าเกือบ 40,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตไทยมีศักยภาพในการผลิต และใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 70-80% สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 28,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืน จำนวน 8 บริษัท

 

ส่วน กลุ่มยานพาหนะรบ หรือ กลุ่มยานหุ้มเกราะ ในปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์อยู่ในอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน สามารถนำมาประยุกต์ต่อยอด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์หุ้มเกราะต่อได้ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ศอทพ.) พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความต้องการยานยนต์หุ้มเกราะประมาณ 700 คัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 51,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่จะไปถึงจุดนั้นได้อุตสาหกรรมยานยนต์หุ้มเกราะจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตยานยนต์หุ้มเกราะไม่น้อยกว่า 5 ราย โดยคาดว่ามาก ตลาดของโดรนขนส่งของโลกในปี 2565 มีมูลค่า 530.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 42.6 ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2573 ซึ่งในขณะนี้ไทยมีผู้ผลิตรถเกราะ 5 ราย ที่สามารถต่อยอดเพิ่มศักยภาพในการผลิตได้

 

ด้าน กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ หรือ (UAV) เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลายภาคธุรกิจ ตั้งแต่ภาคการเกษตร การสำรวจพื้นที่ การส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค รวมถึงในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยตลาดของโดรนขนส่งของโลกในปี 2565 มีมูลค่า 530.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 42.6% ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2573 ซึ่งไทยมีผู้ผลิตโตรนประมาณ 9 ราย

 

สำหรับตลาดโดรนของไทย ศอพท. คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรม UAV จะมีขนาดตลาดประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันต้องนำเข้าชิ้นส่วนสูงถึง 80% แต่ทั้งนี้หากในอนาคตไทยมีขีดความสามารถในการผลิตที่สูงขึ้นจะสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

 

ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เช่น การผลิตเรือรบ หรือเรือขนส่ง ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและซ่อมบำรุงเรือรบจำนวน 23 ราย  ซึ่งคาดว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะมีความต้องการเรือรบรวมมูลค่ากว่า 87,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงได้มากกว่า 17,000 ล้านบาท รวมถึงการผลิตเพื่อทดแทนเรือรบที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี ที่มีจำนวนกว่า 17 ลำ มูลค่ากว่า 166,000 ล้านบาท

 

จากสถิติการส่งออกย้อนหลัง ปี 2564 – 2566 ประเทศไทยส่งออกเรือ ปีละ 2 – 4 หมื่นล้านบาท ตลาดที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการส่งออกในมูลค่าที่สูง แต่ประเทศไทยยังขาดดุลมากกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการส่งเสริมอย่างเต็มที่ จะช่วยลดการขาดดุลการค้า สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้

 

สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในภาพรวม ระยะสั้น (1-2 ปี) จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เกิดคล่องตัว ลดอุปสรรค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาฐานอุตสาหกรรมไปสู่การเป็น OEM Plus ที่มีขีดความสามารถในการผลิต และเพิ่มความสามารถในการวิจัยและพัฒนา โดยการผลักดัน ติดตามการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วให้มีผลในการปฏิบัติโดยเร็วแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

 

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดเงื่อนไขให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ หรือการกำหนดสัดส่วน Local Content เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้ง Start-up หรือ กลุ่ม SME เพื่อนำไปสู่ปลายทาง OEM หรือ ผู้รับจ้างการผลิตที่สมบูรณ์ ทั้งการผลิต คิดค้นนวัตกรรม และสามารถประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในภารกิจอื่น ๆ ตลอดจนการสนับสนุนแหล่งเงินทุน และออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน คล่องตัว เปิดกว้างต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อการยอมรับของตลาด

 

ส่วนในระยะกลาง (2-5 ปี) จะเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมจาก OEM Plus ไปสู่ระดับ ODM หรือผู้รับจ้างผลิตที่สามารถออกแบบและผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีของตนเองได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศยกระดับไปสู่ Tier 2 โดยการเพิ่มบทบาทของหน่วยงานเครือข่าย เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ให้เป็น One Stop Service ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในทุกด้าน และเป็นหน่วยบูรณาการด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง

 

รวมทั้งจะต้องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่มีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ เพื่ออำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย และเสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และจัดตั้งศูนย์แนะนำหรือการช่วยเหลือผู้ส่งออก ตลอดจนการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยความร่วมมือของกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน

 

ส่วนในระยะยาว (5-10 ปี) จะมุ่งเน้นให้สามารถยกระดับจาก ODM เป็น OBM หรือผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง ซึ่งจะเป็นการยกระดับสู่ Tier 2 อย่างเต็มตัว และมีความยั่งยืนในระยะยาว โดยจะต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะและคุณภาพ การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยเพื่อยกระดับจาก R&D ไปสู่ R&I หรือการวิจัยเพื่อคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดนโยบายบังคับให้บริษัทที่ส่งอาวุธเข้ามาขายกับประเทศไทยจะต้องชดเชยการเสียดุลทางการค้า ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือมีการลงทุนร่วมกับภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงความร่วมมือในการวิจัย และเชื่อมโยงแผนพัฒนากองทัพ แผนการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน วิจัยออกมาแล้วได้ใช้งานจริง รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการพัฒนากิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างประเทศ เพื่อสร้าความแข็งแกร่ง และลดจุดอ่อนของอุตสาหกรรมนี้