#หุ่นยนต์กรีดยาง #กยท. #มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กยท. เปิดตัวหุ่นยนต์กรีดยาง

ใช้เวลาเพียง 25 วินาทีต่อต้น

 

ปัญหาหลักสำคัญของชาวสานยางในขณะนี้ ก็คือการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือในการกรีดยาง ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ในการศึกษาวิจัยหานวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้

 

โดย ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีองค์รวมและปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการผลิตหุ่นยนต์กรีดยางของการแห่งประเทศไทย หรือ กยท. กล่าวว่า ประเทศจีนได้ผลิตหุ่นยนต์กรีดยากมานานหลายปีแล้ว เพื่อใช้ในสวนยางพาราในบริเวณจีนตอนใต้ และประเทศลาว แต่จากการศึกษาพบว่า หุ่นยนต์กรีดยางของจีนจะต้องติดตั้งหุ่นยนต์กรีดยาง 1 ตัว ต่อยางพารา 1 ต้น โดย 1 ไร่ จะปลูกยางได้ประมาณ 70 ตัน จึงต้องใช้หุ่นยนต์ถึง 70 ตัว ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก และไม่เหมาะสมกับประเทศไทย

 

ด้วย จุดอ่อนในหลายด้านของหุ่นยนต์กรีดยางของจีน ดังนั้น กยท. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยพัฒนาหุ่นยนต์กรีดยางที่เหมาะสมกับเกษตรกรของไทย โดยหุ่นยนต์กรีดยางที่ไทยพัฒนาขึ้น จะใช้หุ่นยนต์กรีดยาง 1 ตัว สามารถกรีดยางได้ทั้งสวน 1 ไร่ 70 ต้น หรือมากกว่า โดยใช้เทคโนโลยีลวดสลิงในการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง และสามารถไต่ความชันขึ้นหรือลงได้สูงถึง 30 องศา และเคลื่อนที่ตามความโค้งของสวนยางพาราได้ และสามารถถอดออกนำไปเก็บได้โดยไม่ต้องทิ้งไว้ในสวนแบบของจีน

 

นอกจากนี้ จะมีตัวประกบช่วยยึดตำแหน่งที่แน่นอน เพื่อให้การกรีดยางได้องศาที่แม่นยำ และมีเซ็นเซอร์ตรวจเช็กให้การกรีดเฉพาะส่วนเนื้อเยื่อไม่ลึกไปจนถึงแก่น โดยในขณะนี้ใช้เวลา 25 วินาทีในการกรีด 1 ต้น แต่ในอีก 2 ปี ที่เหลือของโครงการฯนี้ จะพัฒนาให้เหลือ 15 วินาทีต่อ 1 ต้น ซึ่งหุ่นยนต์กรีดยางนี้มีต้นทุนตัวละ 100,000 – 130,000 บาท คาดว่าจะคืนทุนได้ในระยะเวลา 2 – 3 ปี ทำให้การกรีดยางง่ายขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมีฝีมือ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว รวมทั้งสามารถพัฒนาไปสู่การส่งออกไปยังประเทศที่มีการปลูกยางได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ โครงการหุ่นยนต์กรีดยาง ยังสามารถพัฒนาไปสู่หุ่นยนต์เก็บน้ำยาง หุ่นยนต์ใส่ปุ๋ยยางพาราตามร่องสวน และจะพัฒนาไปสู่หุ่นยนต์เก็บผลไม้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดการใช้แรงงานได้อีกมาก สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันที่แรงงานด้านเกษตรกรหายากมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการวิจัยโครงการหุ่นยนต์กรีดยางนี้ ได้รับการจัดสรรจากองทุนพัฒนายางพารา ที่มีทุนให้กับนักวิจัยของ กยศ. และนักวิจัยทั่วไปปีละ 300 ล้านบาท โดยจะนำผลการวิจัยเหล่านี้มาพัฒนาชาวสวนยางพาราให้มีศักยภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง