#สตาร์ทอัพไทย #พลาสติกชีวภาพ #ฟางช้าว

สตาร์ทอัพไทยต่อยอดงานวิจัย วช.

ผลิตพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูง ย่อยสลายเร็ว

 

ในอดีตที่ผ่านมา มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากไม่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ แต่จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้เร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชน เพื่อนำผลงานวิจัยนวัตกรรมมาผลิตเป็นสินค้า โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็ได้เดินหน้าตามแนวทางนี้ ซึ่งได้นำร่องมุ่งเน้นในด้านการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ การนำงานวิจัยพลาสติกชีวภาพไปสู้สินค้านวัตกรรมที่มีศักยภาพ

 

โดย นายมนตรี อุดมฉวี Co-founder บริษัท สมาร์ทไบโอพลาสติก จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่เป็นนักวิจัยพลาสติกชีวภาพ และได้นำผลการวิจัยของ วช. มาต่อยอดผลิตสินค้า กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้นำผลการวิจัยมาพัฒนาปรับปรุงคุณสมบัติพลาสติกชีวภาพ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเข้ามาเป็นส่วนผสม เช่น ฟางข้าว ซึ่งได้นำร่องผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพจากจากฟางข้าว ที่ใช้ส่วนผสมของฟางข้าวสูงถึง 80 – 90% โดยใช้ฟางข้าวจากการปลูกแบบอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมี นำมาผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง และนำมาผสมกับเม็ดพลาสติกชีวภาพในสัดส่วน 10 – 20%

 

สำหรับ หลอดพลาสติกชีวภาพจากฟางข้าว จะมีคุณสมบัติเหนือกว่าหลอดพลาสติกชีวภาพแบบอื่น ๆ คือ มีความทนทานต่อการใช้ไม่ต่างจากหลอดพลาสติกทั่วไป และสามารถย่อยสลายในหลุ่มฝังกลบตามธรรมชาติได้ 100% โดยไม่เกิดไมโคร พลาสติก ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหรือท้องทะเล รวมทั้งยังมีอัตราย่อยสลายได้เร็วใช้เวลาประมาณ 70 วัน ในสภาวะฝังกลบ เร็วกว่ามาตรฐาน ที่กำหนดไว้ที่ 180 วัน ในสภาวะฝังกลบ

 

นอกจากนี้ ยังเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการลดมลพิษฝุ่น พีเอ็ม 2.5 จากการเผาฟางช้าว และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งแต่เดิมจะขายฟางข้าวได้ก้อนละ 20 บาท แต่บริษัทฯ ไปรับซื้อถึงราคา 100 – 200 บาทต่อก้อน ซึ่งหากหลอดพลาสติกชีวภาพจากฟางข้าวมีคนนิยมใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะช่วยลดมลพิษจากฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ได้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ยังได้วิจัยพัฒนานำไปผลิตพลาสติกชีวภาพในด้านอื่น ๆ เช่น พลาสติกเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะถุงปลูกเห็ดที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกทิ้งในพื้นที่การเกษตรสูงมาก ซึ่งถูกปลูกเห็ดของบริษัทฯ นอกจากจะย่อยสลายได้แล้ว แต่ยังสามารถเพิ่มผลผลิตเห็นให้สูงขึ้นด้วย โดยเห็ดที่ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพของเราจะเริ่มออกดอกให้ผลผลิตเพียงว 28 วัน จากถุงแบบเดิมที่จะเริ่มให้ผลผลิตใน 40 วัน จึงทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเร็วขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น และทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

 

ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะขยายไปผลิตบรรจุภัณฑ์ และช้อนส้อมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากพลาสติกชีวภาพ รวมทั้งวิจัยนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพของเราสามารถนำไปผลิตพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งได้อยางหลากหลาย

 

สำหรับในด้านการแข่งขันกับพลาสติกทั่วไปนั้น ต้องยอมรับว่าพลาสติกชีวภาพจะมีราคาสูงกว่า โดยต้นทุนหลอดพลาสติกชีวภาพของเราจะมีราคา 0.4 – 0.5 สตางค์ต่อหลอด แพงกว่าหลอดจากพลาสติกทั่วไปที่มีราคา 0.1 – 0.2 สตางค์ต่อหลอด แต่เมื่อเทียบกับหลอดพลาสติกชีวภาพทั่วไปนั้นยังสามารถแข่งขันได้

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น จะทำให้พลาสติกทั่วไปมีต้นทุนการกำจัดสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีราคาใกล้เคียงกับพลาสติกชีวภาพ ที่กำหนดให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าจะต้องรับผิดชอบขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น จึงทำให้ในอนาคตพลาสติกทั่วไปจะมีราคาสูงขึ้นจนทำให้พลาสติกชีวภาพแข่งขันได้มากขึ้น

 

ในส่วนของปัญหาหลัก ๆ ที่พบ จะเป็นเรื่องการยอมรับพลาสติกชีวภาพของเกษตรกร ที่ยังคงเชื่อถือแต่สินค้าแบบเดิม ขาดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของคนไทย และมองในเรื่องของราคาเป็นหลัก ทำให้พลาสติกชีวภาพในด้านการเกษตรแข่งขันได้ยาก รวมทั้งปัญหาทุนวิจัยภาครัฐที่ขาดความต่อเนื่อง ทำให้มีหลายโครงการในอดีตที่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การผิตสินค้าได้

 

สำหรับแนวทางการดำเนินกิจการต่อไป จะมุ่งไปสู่การจัดทำมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีผลการวิจัยที่ชัดเจน และมีคุณภาพสูง แต่การที่จะทำให้ตลาดมั่นใจ จะต้องได้รับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยในปีนี้บริษัทฯ จะเดินหน้าจัดทำมาตรฐานในทุกด้านของพลาสติกชีวภาพจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้มั่นใจในคุณภาพทั้งผู้ซื้อในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สินค้าของเรามีแต้มต่อเพิ่มขึ้น และได้รับการยอมรับมากขึ้น

 

รวมทั้งยังได้ร่วมกับบริษัทพาทเนอร์ เข้ามาร่วมมือในการผลิต โดยบริษัทจะเข้าไปให้คำแนะนำอบ่างใกล้ชิด ซึ่งในขณะนี้บริษัทฯมีกำลังการผลิตประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน และมีพาทเนอร์เข้ามาช่วยผลิตมีกำลังการผลิตประมาณ 30 ตันต่อวัน ทำให้มีกำลังขยายตลาดได้อีกมาก