เปิดอก นักวิจัยไทย ผู้หยุดยั้งโรค ASF ในหมู

ไทยเบอร์ 1 วิจัยวัคซีนของอาเซียน แต่……

 

ในภาวะที่โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งคนและสัตว์ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือในทุกด้าน และพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของวัคซีนที่เป็นหัวใจสำคัญในการหยุดการแพร่ระบาด โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการวิจัยพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ ขึ้นมายับยั้งโรค ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ประเทศไทยคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้พร้อม ๆ กับPfizer หรือ Moderna

 

แต่ด้วยความไม่พร้อมในด้านปัจจัยเงินลงทุนเพื่อขยายด้านการทดสอบในคน การขาดแคลนห้องแล็ปวิจัยไวรัสความปลอดภัยสูง ซึ่งมีเพียง 1 แห่ง ทำให้วัคซีนที่ผ่านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยลและหน่วยงานวิจัยของรัฐต้องต่อคิวในการทำการทดสอบทดลองจนเป็นคอขวดที่ทำให้การวิจัยล่าช้า และยังขาดแคลนโรงงานขนาดใหญ่เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งความไม่พร้อมเหล่านี้ ทำให้การพัฒนาวัคซีนเดินหน้าไปได้ช้ากว่าประเทศที่มีความพร้อมและเงินทุนที่มากกว่า

 

ซึ่งในเรื่องเทคโนโลยีการวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเรื่องความมั่นคงของชาติที่สำคัญ เพราะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดจะหวังพึ่งพาต่างชาติได้ยาก เพราะทุกประเทศก็ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของไวรัสในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน และพันธุกรรมของคนแต่ละภูมิภาคก็ต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาวัคซีนที่เป็นของตัวเองจะมีความเหมาะสมมากกว่า และสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วกว่าการรอผลการวิจัยของต่างชาติ และยังช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศจากการซื้อวัคซีนจากต่างประเทศได้มหาศาล

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสัตว์ที่ใช้เงินลงทุน และมีขั้นตอนน้อยกว่าวัคซีนในคนนั้น ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน โดยที่ผ่านมาได้เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในฟาร์มสุกรทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้สุกรล้มตายเป็นจำนวนมากอันตราการคายเกือบ 100% ของจำนวนสุกรในฟาร์ม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และเชื้อนี้จะอยู่กับประเทศไทยตลอด หากสุกรไม่มีภูมิก็จะตายทั้งหมด

 

โดยในช่วงแรกเกิดความแตกตื่นในเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก ทำให้เร่งนำเข้าวัคซีนจากจีนเข้ามาใช้โดยยังไม่ได้ผ่านการทดสอบจากภาครัฐ โดยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นไวรัสเป็นจากธรรมชาติที่ยังมีคุณภาพไม่ดีพอเพราะต้องเร่งรีบในการผลิต เมื่อนำมาใช้ในไทยส่งผลให้เกิดการระบาดติดเชื้อไปทั่วประเทศ

 

ดังนั้น สวทช. โดยไบโอเทคจึงได้เร่งวิจัยผลิตวัคซีนที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์ โดยได้พัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรโดยเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัส ASFV และนำมาเพาะเลี้ยงในเซลล์ที่พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการให้มีปริมาณสูงขึ้น และถูกปรับให้มีคุณสมบัติความร้ายแรงเชื้ออ่อนลง เมื่อเชื้อถูกเลี้ยงเป็นเวลาที่เหมาะสมไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ไม่ก่อโรครุนแรงในสุกรเหมือนเชื้อเริ่มต้น แต่ยังคงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อให้แก่สุกรในรูปของวัคชีนเชื้อเป็น

 

จากการทดสอบในสุกรเบื้องต้นพบว่า วัคซีน ASF ที่พัฒนาขึ้นมีความปลอดภัยสูงในสุกร และสุกรที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอต่อการป้องกันอาการป่วยตายจากการได้รับเชื้อสายพันธุ์รุนแรงตามธรรมชาติ ซึ่งไวรัสวัคซีนต้นแบบดังกล่าวได้ถูกขยายขนาดให้สูงขึ้นในระดับอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดใช้จริงในระดับฟาร์มสุกรต่อไป ซึ่งในอนาคตแม้ว่าเชื้อ ASF จะปรับตัวจนวัคซีนเก่าเริ่มได้ผลลดลง ก็สามารถผลิตวัคซีนใหม่ขึ้นมาต่อต้านได้อย่างรวดเร็ว เพราะเรามีความรู้ที่เป็นของตัวเอง ทำให้ได้เปรียบกว่าชาติอื่นที่ซื้อวัคซีนมาใช้เพียงอย่างเดียว

 

โดย โครงการวัคซีน ASF นี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ เพราะเห็นถึงศักยภาพของวัคซีน รวมทั้งวัคซีนที่ผลิตในประเทศก็ถูกกว่านำเข้ามา และยังสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก ซึ่งจากศักยภาพการวิจัยพัฒนาวัคซีนสัตว์ของไทยทำให้มั่นใจว่าแม้จะเกิดโรคอุบัติใหม่ ไทยก็ยังผลิตวัคซีนขึ้นมาใช้เองได้อย่างรวดเร็ว และมีเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนสัตว์ไม่แพ้ใครในอาเซียน

สามารถติดตาม THE DIMENSION ได้ตามช่องทางต่าง ๆ

related news

LATEST NEWS