#โครงการอวกาศไทย #ยานอวกาศไทย #ดาวเทียมไทย

เปิดแผนอวกาศของไทยมูลค่า 3,900 ล้านบาท

สร้างดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2027

 

โครงการอาร์ทิมิสขององค์การนาซ่า ที่ได้ร่วมกับนานาชาติในการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งหลังจากที่ทิ้งดวงดาวแห่งนี้ไปกว่า 50 ปี โดยคาดว่าโครงการอาร์ทิมิสจะเริ่มส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ในช่วงปลายปี 2024 และในปี 2025 จะเป็นปีสำคัญที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะต่างจากครั้งแรกที่มีเป้าหมายทางการเมืองในการจะเป็นชาติแรกที่พิชิตดวงจันทร์ให้ได้ก่อนสหภาพโซเวียด ส่วนการสำรวจเป็นเรื่องที่รองลงมา โดยในครั้งนี้ได้มุ่งมั่นที่จะสำรวจเพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และตั้งฐานที่พักอาศัยบนดวงจันทร์ เพื่อใช้เป็นฐานในการไปสำรวจดาวอังคารต่อไปในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงสหรัฐฯเท่านั้นที่หมายมั่นในการกลับไปดวงจันทร์ แต่ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศหนึ่งที่มีโครงการส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอวกาศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยคาดหวังที่จะเป็นหนึ่งประเทศที่เข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอวกาศที่จะเฟื่องฟูในอนาคต

 

สำหรับโครงการไปดวงจันทร์ของไทย เริ่มขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2020 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศเป้าหมายส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ภายในระยะเวลา 7 ปี หรือ ปี 2027 โดย อว. ได้วางนโยบายและก่อตั้งเป็นภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือโครงการ Thai Space Consortium (TSC) ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วย 12 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(GISTDA) , สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, สวทช. และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เพื่อพัฒนาภารกิจสร้างดาวเทียมไปสำรวจดวงจันทร์

 

โดย โครงการนี้เริ่มต้นจากพัฒนาสร้างดาวเทียม TSC Pathfinder (TSC-P) เป็นดาวเทียมที่ใช้ในการออกแบบและทดสอบเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ไม่ได้ส่งขึ้นไปในอวกาศ ซึ่งได้เริ่มขึ้นในปี 2022 จากนั้นจะสร้างดาวเทียมถ่ายภาพหลายความยาวคลื่น (TSC-1) ซึ่งจะสร้างและปล่อยขึ้นวงโคจรในอวกาศในช่วงปี 2025 โดยจะเป็นโครงการแรกที่พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจากฝีมือคนไทยทั้งหมด ซึ่งจะมีอุปกรณ์หลัก ๆ เช่น กล้องเพย์โหลดไฮเปอร์สเปกตรัม และอุปกรณ์ทดสองด้าน ฟิสิกส์พลังงานสูง ในปัจจุบันไทยมีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง ๆอยู่หลายคน ซึ่งโครงการอวกาศเหล่านี้จะช่วยต่อยอดการวิจัยชั้นสูงของไทยให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

 

หลังจากที่ปล่อยดาวเทียม TSC-1 แล้วจะเดินหน้าสร้างและปล่อยดาวเทียม TSC-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ฝีมือคนไทยภายในปี 2027 โดยหลังจากนี้ในช่วงปี 2029- 2031 สร้างและปล่อยดาวเทียม TSC ลำดับอื่น ๆ รวมถึง TSC-5 ซึ่งจะเป็นดาวเทียมสำรวจอวกาศห้วงลึก (Deep Space) โดยที่งบประมาณในก้อนแรกสำหรับการทำ TSC-Pathfinder นั้นได้รับจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ส่วนโครงการ TSC-1 จะใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท และโครงการ TSC-2 จะใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้รวมมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด และค่าขนส่งไปสู่ห้วงอวกาศ

 

สำหรับโครงการอวกาศของไทยนี้ มีเป้าหมายใหญ่ในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อเข้าร่วมห่วงโซ่อุตสาหกรรมอวกาศกับนานาชาติที่จะเติบโตอีกมาก ซึ่งจะช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล