#เศรษฐกิจอวกาศ

‘เศรษฐกิจอวกาศ’ แหล่งโอกาสที่น่าจับตามองของไทย

 

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy เป็นโอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคตที่หลายประเทศกําลังจับตามอง การเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในปัจจุบันได้กลายเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานสําคัญในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านข้อมูล การให้บริการอินเทอร์เน็ต ระบบนําทางในรถยนต์ สัญญาณโทรศัพท์ ข้อมูลสภาพอากาศ การจัดการและวางแผนฉุกเฉิน และข้อมูลด้านการเกษตร เป็นต้น ในต่างประเทศได้คาดการณ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะมีแนวโน้มสูงถึง 30 ล้านล้านบาท ในปี 2040 โดยในปี 2021 มีการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศมากกว่า 236,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากบริษัทวิจัย ยูโรคอนเซาท์)

 

โอกาสของประเทศไทยในเศรษฐกิจอวกาศ

 

ปัจจุบันภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยมีความน่าสนใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเริ่มมีนโยบายจากภาครัฐเป็นแนวทาง ยิ่งทําให้ภาคเอกชนและภาคการวิจัยตื่นตัวกันมากขึ้น

 

สําหรับประเทศไทย รัฐบาลกําหนดให้อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศ (New Engine of Growth) ประเทศไทยมีโครงสร้างหน่วยงานที่ร่างนโยบายอวกาศ หน่วยงานด้านสารสนเทศ หน่วยงานวิจัย รวมทั้งการตั้งงบประมาณในส่วนที่รองรับการทํางานด้านอวกาศ ซึ่งความพร้อมของประเทศไทยคงไม่ใช่การสร้างยานอวกาศแข่งกับมหาอํานาจ แต่เป็นการคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

 

THEOS-2 กับการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจอวกาศไทย

 

GISTDA หรือสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของไทย และผู้ให้บริการด้านภูมิสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีอวกาศ จับมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาทั้งในและนอกประเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้ที่อยู่ในสายงานอุตสาหกรรมอวกาศ

 

โครงการพัฒนาระบบดาวเทียมสํารวจโลก หรือ THEOS-2 ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังเป็นการมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีทักษะ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย เตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศผ่านการสร้างนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสําคัญที่ขับเคลื่อนกิจการต่าง ๆ ในทุกมิติของสังคมปัจจุบัน สอดรับกับกระแสเศรษฐกิจอวกาศของโลกในอนาคต

 

ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรแล้ว การสนับสนุนของภาครัฐ การลงทุนในภาคเอกชน รวมถึงการเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีของภาคประชาชน นับเป็นปัจจัยสำคัญสําหรับประเทศไทยในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความเป็นไปของโลกและก้าวสู่เศรษฐกิจอวกาศระดับโลกได้

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือด้านอวกาศกับหลากหลายประเทศ เช่น ความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (The Excellence Centre of Space Technology and Research: ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ In-Space Missions Limited ประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาและยกระดับกิจการด้านอวกาศของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า มุ่งมั่นพัฒนากิจการด้านอวกาศของไทย ต่อยอดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอวกาศ ด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ และการสร้างดาวเทียมในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและเจตนารมย์ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศอย่างรอบด้าน

 

จากความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์หลากหลายด้าน เช่น ในการพัฒนาดาวเทียมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน การพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาไฟป่า และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันในเดือนมีนาคม 2567 และภายใน 2 ปี จะมีการดำเนินการผลิตดาวเทียมร่วมกัน และสามารถใช้งานดาวเทียมได้ภายในระยะเวลา 3 ปี

 

หนึ่งในนั้น ได้แก่ โครงการผลิตดาวเทียม Faraday Dragon ที่เป็นความร่วมมือจากหลากหลายประเทศ ร่วมกับ In-Space Missions Limited เพื่อผลิตดาวเทียมภูมิภาค ที่มีจุดประสงค์ใช้งานในด้านที่เกี่ยวกับรัฐบาล การค้า การเงิน และการศึกษา โดยประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการนี้ รวมถึงโครงการอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิตดาวเทียมร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ การพัฒนากิจการอวกาศ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเทคโนโลยีและสร้างงานให้กับคนไทย ส่งผลดีทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากล และการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูง ทำให้การร่วมมือพัฒนายกระดับด้านอวกาศเป็นสิ่งสำคัญของการเดินหน้าประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

โดย การร่วมมือพัฒนายกระดับกิจการอวกาศ ด้านเทคโนโลยีและดาวเทียม จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าครอบคลุมทุกด้านในอนาคต ซึ่งเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย มีเศรษฐกิจอวกาศที่เติบโต และสามารถสร้างดาวเทียมที่ใช้งานได้จริงภายในประเทศ ภายในอีก2 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประเทศแห่งเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ สามารถผลิตเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล