เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ

“เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ”

นวัตกรรมใหม่ ปฏิวัติการขนส่งโลก

รถไฟฟ้า รถยนต์อัตโนมัติ หลีกไป รถบินได้กำลังจะมา ในปัจจุบันนี้ “เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ” ซึ่งหมายถึง ยานบินพลเรือนไร้คนขับที่บินในระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้ UAV (ยานบินไร้คนขับ) eVTOL (เครื่องบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งแบบไฟฟ้า) และยานบินระดับความสูงต่ำอื่นๆ สำหรับการใช้งานต่างๆ กำลังก้าวขึ้นมาเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่จะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปอย่างสิ้นเชิง

 

จีน ผู้นำอุตสาหกรรมการบินระดับต่ำ

โดยเศรษฐกิจการบินระดับต่ำ มีต้นกำเนิดในประเทศจีน จึงทำให้จีนเป็นผู้นำในด้านนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่ง และมีบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเมืองเซินเจิ้นอยู่ในแถวหน้า มีบริษัทประมาณ 1,500 แห่ง ในภาคส่วนนี้ ที่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.5 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ในปี 2022 และไต้ตั้งเป้าภายในปี 2025 จะมีบริษัทที่เข้าสู่ธุรกิจนี้มากกว่า 1,700 แห่ง และมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านหยวน หรือกว่า 4.7 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ นอกจากเมืองเซินเจิ้นแล้ว รัฐบาลจีนยังได้สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ไปยังเมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เช่น กว่างโจว ที่รัฐบาลท้องถิ่นได้อัดฉีดเงินอุดหนุนสำหรับโครงการที่เข้าเงื่อนไข และวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวทางอากาศยานไร้คนขับ เมืองเซี่ยงไฮ้ สนับสนุนการบูรณาการอุตสาหกรรม วิชาการ การวิจัย และการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ มณฑลอานฮุย ได้ปฏิรูปการจัดการน่านฟ้ารองรับอุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และมณฑลหูหนาน เป็นมณฑลแรกที่ได้เปิดเส้นทางการบินระดับความสูงต่ำที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว 97 เส้นทาง สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม โดยมีโครงการเมืองท่องเที่ยวการบินในระดับต่ำ Jiangmen ได้สั่งซื้อ XPeng Aeroht eVTOL จำนวน 100 เครื่อง ในขณะที่เมือง Taiyuan ซื้อ EHang EH-216 eVTOL จำนวน 500 เครื่อง

 

ทั่วโลกตื่นตัว เร่งพัฒนา eVTOL

จากความตื่นตัวในอุตสาหกรรมการบินระดับต่ำนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันระดับโลก โดยมีประเทศสหรัฐฯ ได้เร่งพัฒนา eVTOL อย่างเต็มที่ ซึ่งมีบริษัทผลิตอากาศบินชั้นนำอย่างJoby Aviation เป็นหัวหอกในการพัฒนา eVTOL และยังมีผู้บุกเบิกการขนส่งด้วยโดรน  เช่น Amazon Prime Air และ Wing Aviation โดยสหรัฐฯ มีศักยภาพสูงในด้านเทคโนโลยีและขนาดของตลาด ซึ่งในปี 2023 สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกแนวปฏิบัติด้านการเดินอากาศของ eVTOL ส่งสัญญาณถึงการสนับสนุนด้านกฎระเบียบ ในขณะที่บริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาด eVTOL อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นจากการกีดกันการค้ากับจีน ที่อาจจำกัดโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ

 

ส่วน ในยุโรป ได้มีบริษัทสตาร์ทอัพ eVTOL เช่น Volocopter และ Lilium ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Airbus และ Rolls-Royce; EASA กำลังพัฒนาข้อบังคับสำหรับการรับรองและการดำเนินงาน eVTOL อย่างแข็งขัน โดยประเทศเยอรมนี มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจการบินในระดับความสูงต่ำ โดยเฉพาะเครื่องบิน eVTOL ขนาดใหญ่สำหรับการขนส่งระยะไกล ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และอวกาศที่แข็งแกร่งของประเทศจะเป็นตัวเร่งสำคัญ รวมทั้งสหภาพยุโรปยังได้นำนโยบาย eVTOL มาใช้ในปี 2024 ซึ่งส่งผลดีต่อเยอรมนี

นอกจากนี้ ยังมีสหราชอาณาจักร ที่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมโดรน ซึ่งได้จัดทำกรอบการกำกับดูแลในด้านการขับขี่ eVTOL โดยมีบริษัทอย่าง Rolls-Royce เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา eVTOL ซึ่งการมีเทคโนโลยีด้านการบินและอวกาศที่แข็งแกร่งอาจผลักดันการเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม ขนาดตลาดของสหราชอาณาจักรค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและจีน

ในฝากฝั่งเอเชียแล้ว นอกจากประเทศจีน ก็ยังมีประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ลงทุนในระบบขนส่งในระดับความสูงต่ำ ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงและหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ต้องแข่งขันกับจีนในตลาดเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผ่านมา สตาร์ตอัปญี่ปุ่น SkyDrive เปิดตัวรถยนต์บินได้แบบ eVTOL รุ่น SD-03 ในงาน CES 2022 ซึ่งเป็นการเปิดตัวนอกประเทศครั้งแรก หลังจากผ่านการทดสอบและได้รับการรับรอง และได้เป็นรถยนต์บินได้รายแรกของประเทศญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตจึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการได้ทันภายในปี 2025

 

ขณะที่อินเดีย InterGlobe Enterprises (IGE) ผู้สนับสนุนสายการบิน IndiGo สายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดีย ได้ร่วมมือกับ Archer Aviation สตาร์ทอัพที่พัฒนา eVTOL ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Boeing, United Airlines และ Stellantis โดยได้มีการออกแบบ “Midnight” แท็กซี่บินได้ที่บรรทุกคนได้ 5 คน รวมผู้ควบคุมการบินด้วย โดยสามารถบินได้เป็นระยะทาง 160 กิโลเมตร และทั้งสองบริษัทหวังจะเปิดตัวบริการแท็กซี่บินได้ ภายในปี 2026

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ ถือได้ว่าเป็นผู้นำธุรกิจการบินระดับต่ำของอาเซียน โดยได้ร่วมกับ Volocopter ผู้บุกเบิกการเคลื่อนย้ายทางอากาศในเมือง (UAM) จากยุโรป จากการการศึกษา พบว่า บริการ UAM สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 4.18 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และสร้างงานในท้องถิ่นได้มากถึง 1,300 ตําแหน่งภายในปี 2030 ซึ่งการเปิดตัวครั้งแรกจะเป็นเที่ยวบินท่องเที่ยวเหนืออ่าวมารีน่าและเซ็นโตซ่า จากนั้นขยายเครือข่ายเพื่อรวมเที่ยวบินข้ามพรมแดนไปยังอินโดนีเซียและมาเลเซีย และได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีสถานี VoloCity ให้บริการ 46 แห่ง ภายในปี 2030 โดยกําลังพิจารณาในพื้นที่ Marina South, Sentosa และ Changi

 

ภาคส่วนสำคัญภายในเศรษฐกิจระดับต่ำ

การสัญจรทางอากาศในเมือง (UAM) เกี่ยวข้องกับการใช้ eVTOL สำหรับการขนส่งผู้โดยสารในสภาพแวดล้อมในเมือง ภาคส่วนนี้มีเป้าหมายเพื่อให้บริการแท็กซี่ทางอากาศที่สามารถบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกที่คับคั่งและช่วยให้เดินทางภายในเมืองได้เร็วขึ้น เซินเจิ้นในประเทศจีนได้เปิดตัวเส้นทางแท็กซี่ทางอากาศแล้วหลายเส้นทางแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และการยอมรับของสาธารณะชนในเทคโนโลยีนี้ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารในเมือง

 

นิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา Joby Aviation และ BLADE Urban Air Mobility ร่วมมือกันเปิดตัวบริการแท็กซี่ทางอากาศภายในเมือง โดยเชื่อมต่อแมนฮัตตันกับสนามบิน JFK บริการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ eVTOL ในการลดเวลาเดินทางและบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งในเมืองที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

ปารีส ประเทศฝรั่งเศส Volocopter ร่วมมือกับ Groupe ADP และ RATP Group ดำเนินการทดสอบเที่ยวบิน eVTOL หลายเที่ยวในภูมิภาคปารีส เที่ยวบินดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการบูรณาการบริการ eVTOL เข้ากับเครือข่ายการขนส่งที่มีอยู่ และศักยภาพในการเชื่อมโยงสนามบินหลักกับศูนย์กลางเมือง

 

ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นผู้นำด้านการนำเทคโนโลยี eVTOL มาใช้ โดยที่สำนักงานถนนและการขนส่งแห่งดูไบ (RTA) ร่วมมือกับบริษัท Volocopter ของเยอรมนีเพื่อเปิดตัวบริการแท็กซี่บินได้ โดยเมืองนี้มีเป้าหมายที่จะให้การเดินทางขนส่งทั้งหมด 25% เป็นระบบอัตโนมัติภายในปี 2030 โดย eVTOL จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ

 

เซาเปาโล บราซิล ได้มีโครงการสาธิต Voom UAM ดำเนินการมาเป็นเวลา 4 ปี โดยให้บริการการสัญจรทางอากาศในเมืองโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ มีผู้โดยสารเดินทางด้วยเครื่องบินมากกว่า 15,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของแท็กซี่ทางอากาศในการลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง

 

โดรนขนส่ง ปฎิวัติระบบโลจิสติกส์

นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว การยกระดับโลจิสติกส์ด้วยการใช้โดรนในการขนส่งสินค้า ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำ ซึ่งรวมถึงการขนส่งสินค้าในเมืองเดียวกันและข้ามเมือง สามารถลดเวลาและต้นทุนการจัดส่งได้อย่างมาก บริษัทใหญ่ๆ เช่น Amazon และ DHL กำลังทดลองใช้ระบบการจัดส่งด้วยโดรน ซึ่งมี Amazon Prime Air ของ Amazon กำลังทดสอบโดรนส่งของรุ่น MK27 ซึ่งสามารถบรรทุกพัสดุที่มีน้ำหนักสูงสุด 5 ปอนด์ได้ภายในระยะ 7.5 ไมล์ โดรนรุ่นนี้ใช้เทคโนโลยีตรวจจับและหลีกเลี่ยงเพื่อนำทางอย่างปลอดภัย ส่วน DHL ได้ทำการทดสอบระบบส่งของด้วยโดรน Parcelcopter ในประเทศเยอรมนี และได้ดำเนินการทดลองมาแล้วหลายครั้ง

 

และยังมี Wing ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ดำเนินการบริการจัดส่งด้วยโดรนในออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และสหรัฐฯ โดรนของบริษัทสามารถขนส่งพัสดุที่มีน้ำหนักสูงสุด 3.3 ปอนด์ได้ในระยะ 6 ไมล์ UPS Flight Forward ของ UPS ร่วมมือกับ Matternet เพื่อจัดส่งเวชภัณฑ์ด้วยโดรน โดยโดรน M2 สามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงสุด 5 ปอนด์ และมีระยะทางบิน 12.5 ไมล์

ในขณะที่ FedEx ได้ร่วมมือกับ Elroy Air เพื่อพัฒนาเครื่องบินขนส่งสินค้าไร้คนขับ Chaparral เครื่องบินขนส่งอัตโนมัติแบบไฮบริดไฟฟ้าลำนี้สามารถขนส่งสินค้าหนัก 300-500 ปอนด์ได้ไกลถึง 300 ไมล์ และ SF Express ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งของจีน กำลังทดสอบโดรนขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ในมณฑลยูนนาน โดรนรุ่น FH-98 มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 1.5 ตัน และมีพิสัยการบิน 1,200 กม.

 

ธุรกิจท่องเที่ยวด้วย eVTOL

ในส่วนของการท่องเที่ยวการบินในระดับความสูงต่ำ ได้นำ eVTOL มาให้บริการ เพื่อชมทัศนียภาพทางอากาศและมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ภาคส่วนนี้สามารถมอบทัศนียภาพอันน่าทึ่งและประสบการณ์ที่ดื่มด่ำซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีอื่น โดยใช้รถโดยสารบินได้รุ่น EH216-S eVTOL ของ EHang เพื่อการท่องเที่ยวชมสถานที่สวยงาม เช่น Landing Lake ในประเทศจีน

 

ด้านยุโรป VoloCity ของ Volocopter ซึ่งเป็นบริษัทของเยอรมัน ได้นำเสนอบริการการท่องเที่ยวแบบ eVTOL ในประเทศสิงคโปร์ โดยมอบมุมมองที่ไม่ซ้ำใครให้กับผู้โดยสารเกี่ยวกับเส้นขอบฟ้าของเมืองแห่งนี้ รวมทั้งยังมี eVTOL ของ Joby Aviation ซึ่งเป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ ได้ทำการทดสอบเครื่องบิน eVTOL เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งแกรนด์แคนยอนด้วย

 

การท่องเที่ยวด้วย eVTOL มอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครและน่าตื่นเต้นในการสัมผัสกับทัศนียภาพที่สวยงาม โดยให้ผู้โดยสารได้ชมทัศนียภาพจากมุมสูง ขณะเดียวกันก็เพิ่มการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีดั้งเดิม ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับจุดหมายปลายทางที่ยังไม่เคยสำรวจมาก่อนได้

 

ในด้านภาคเกษตรกรรม โดรนใช้สำหรับการติดตามพืชผล การพ่นยา และการเกษตรแม่นยำ การใช้งานเหล่านี้สามารถเพิ่มผลผลิตพืชผล ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร โดรนที่ติดตั้งเซ็นเซอร์สามารถให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสุขภาพพืชผล สภาพดิน และการระบาดของแมลงศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินการทางการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งในระบบแบบเก่าไม่สามารถทำได้ทั่วถึง

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำ ยังช่วยในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบ โดยโดรนถูกนำมาใช้มากขึ้นในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน การรักษาความปลอดภัย และบริการฉุกเฉิน โดรนสามารถตรวจสอบพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สะพานและท่อส่งน้ำ และให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ในกรณีฉุกเฉิน ความสามารถนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดต้นทุนการตรวจสอบ และทำให้ตอบสนองได้เร็วขึ้นในสถานการณ์วิกฤต รวมทั้งยังได้นำโดรนมาใช้ด้านความปลอดภัยสาธารณะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ตอบสนองเหตุฉุกเฉินและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมาก

 

โดย กรมดับเพลิงลอสแองเจลิส ได้ใช้โดรนจำนวนมากในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การประเมินความเสี่ยง การตอบสนองต่อภัยพิบัติ และปฏิบัติการสืบสวน โดรนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุอันตราย ภารกิจค้นหาและกู้ภัยในเมือง และการกู้ภัยทางน้ำ โดยให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์และมุมมองทางอากาศที่ช่วยปรับปรุงการรับรู้สถานการณ์และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

 

โอกาสทางอาชีพในอุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำ

โดยในอุตสาหกรรมใหม่นี้ จะมีความต้องการนักบิน UAV และโดรน เพื่อถ่ายภาพทางอากาศ การสำรวจ การขนส่ง และการตรวจสอบ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังต้องการนักบิน eVTOL สำหรับบริการการสัญจรทางอากาศในเมือง เช่น แท็กซี่ทางอากาศ วิศวกรและช่างเทคนิค ออกแบบ พัฒนา และบำรุงรักษา UAV และ eVTOL โดยเน้นที่อากาศพลศาสตร์ ระบบขับเคลื่อน อากาศยาน และวัสดุ ตลอดจนความต้องการนักวิเคราะห์ข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญด้านไอที จัดการข้อมูลที่สร้างขึ้นโดย UAV และ eVTOL เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและรับรองความปลอดภัย โดยอุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำ จะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ที่หลากหลาย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่อีกเป็นจำนวนมาก

 

ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคต

แม้ว่าเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น ความปลอดภัยและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ยังคงบดบังการพัฒนาเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำ มาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดและกรอบการกำกับดูแลที่เข้มแข็งมีความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากสาธารณชน

นอกจากนี้จะเป็นเรื่องต้นทุน ซึ่งในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับเครื่องบิน eVTOL และบริการโดรนขนส่งยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการประหยัดต่อขนาด คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว

 

รวมทั้งยังต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาสถานีรับส่งอากาศยานที่บินแนวตั้ง สถานีชาร์จ และระบบ UTM ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรองรับการปฏิบัติการบินในระดับต่ำ และการยอมรับของสาธารณะ เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องเสียง ความเป็นส่วนตัว และมลภาวะทางสายตา จะเป็นสิ่งสำคัญในการได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนสำหรับการดำเนินธุรกิจในพื้นที่เขตเมือง รวมทั้งยังมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานพาหนะการบินในระดับความสูงต่ำ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ระบบการบินอัตโนมัติ และความสามารถในการหลีกเลี่ยงการชน

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำจะสร้างโอกาสในการทำงานที่หลากหลายในด้านวิศวกรรม การดำเนินงาน การวิเคราะห์ข้อมูล การบำรุงรักษา กิจการกำกับดูแล การวางผังเมือง โลจิสติกส์ และอื่นๆ ความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะหลายสาขา เช่น การบิน หุ่นยนต์ และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเศรษฐกิจการบินในระดับต่ำ มีแนวโน้มที่จะปฏิวัติการขนส่งในเมือง โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดยความก้าวหน้าของ UAV, eVTOL และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของการค้า การเดินทาง และชีวิตในเมืองทั่วโลกในอนาคต

 

โอกาสของประเทศไทย

ในส่วนของอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินในระดับต่ำแล้ว ประเทศไทยแม้ว่าจะยังห่างไกลจากเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ก็มีโอกาสพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้โดยเริ่มด้วยการสร้างความร่วมมือกับประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิต เช่น ส่งเสริมผู้ผลิตโดรนภายในประเทศไปสู่การผลิตโดรนเชิงพาณิชย์ ยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไปสู่การผลิตชิ้นส่วนของโดรน หรือ eVTOL ปรับปรุงกฎระเบียบปูทางให้กับธุรกิจการบินในระดับต่ำ รวมทั้งใช้จุดเด่นการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก นำ eVTOL มาให้บริการนักท่องเที่ยว หรือใช้ในพื้นที่เมืองที่มีจราจรติดขัด ซึ่งเมื่อเกิดตลาดภายในประเทศแล้ว ก็ไม่ยากที่จะดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาผลิตภายในประเทศ และอาจจะเห็นไทยขยายจากผู้นำผลิตยานยนต์ในภูมิภาค ไปสู่ฮับอุตสาหกรรมการบินระดับต่ำของอาเซียนได้ในอนาคต