ไทยจะรับมืออย่างไร กับการก้าวเข้ามาของ
“การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 5”
นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกที่เกิดในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1760 จนถึงขณะนี้ได้ผ่านกาลเวลามาแล้วถึง 264 ปี และก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 5 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่คนไทยจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และปรับตัวให้กับกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด
โดย อุตสาหกรรมยุคที่ 1 เริ่มต้นในปี 1760 – 1870 (มีระยะเวลาประมาณ 110 ปี) เป็นยุคที่เปลี่ยนจากการใช้แรงงานของคนและสัตว์ในระบบการผลิต ไปเป็นการใช้พลังงานเครื่องจักรไอน้ำ
อุตสาหกรรมยุคที่ 2 เริ่มต้นในปี 1870 – 1970 (มีระยะเวลาประมาณ 100 ปี)เป็นยุคที่มีการนำเอาพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหินเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงมีการใช้ระบบการผลิตแบบสายพาน ทำให้สามารถผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ หรือ Mass Production
อุตสาหกรรมยุคที่ 3 เริ่มต้นในปี 1970 – 2000 (มีระยะเวลาประมาณ 30 ปี) เป็นยุคที่นำเอาเทคโนโลยี IT ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน ทำให้เกิดระบบการผลิตแบบอัตโนมัติในโรงงาน หรือ Manufacturing Automation
อุตสาหกรรมยุคที่ 4 เริ่มต้นในปี 2000 – 2020 (มีระยะเวลาประมาณ 20 ปี) เป็นยุคที่ระบบการผลิตถูกบูรณาการเข้ากับเครือข่าย Iot (Internet of Things) ซึ่งส่งผลให้ระบบการผลิตสินค้าเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล และยังมีการใช้ AI มาช่วยให้ระบบการผลิตเกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม
และในปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคที่ 5 ที่เริ่มตั้งแต่ 2020 – ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ผลักดันเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมก้าวไปข้างหน้าอย่าวรวดเร็ว จากการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมยุคที่ 1 ไปยุคที่ 2 ใช้เวลา 110 ปี และจากยุคที่ 2 ไปยุคที่ 3 ใช้เวลา 100 ปี จากยุคที่ 3 ไปยุคที่ 4 เหลือ 30 ปี และจากยุคที่ 4 ไปยุคที่ 5 ใช้เวลาเพียง 20 ปี
ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทย จะก้าวไปตามขั้นตอน และวิธีการแบบเดิมคงต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงไปได้ยาก เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากเกินกว่าจะคาดเดาได้ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาที่ทุกหลักสูตรจะมีระยะเวลาการใช้ที่สั้นมาก ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่ออัปเกรดความรู้จากการเรียนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และสามารถต่อยอดรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ในส่วนของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลดีพอสมควรจากมาตรการส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ทั้งมาตรการด้านการเงิน ภาษี และแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ส่วนที่สำคัญ ก็คือ ภาคเอกชนได้ตระหนักและเร่งปรับตัว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ต่อสู้ได้ในเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5 ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งเรียนรู้ และเตรียมปรับตัวให้ก้าวทันกับยุคที่ 5 นี้ เพราะการเปลี่ยนผ่านจะไปอย่างรวดเร็วมาก หากก้าวตามไม่ทันก็จะถูกทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำ ที่เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก
โดยในอุตสาหกรรมยุคที่ 5 จะเป็นการต่อยอดพื้นฐานเดิมแต่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ว่า “การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ (Collabrolative Robot)” อย่างลงตัว
ดังนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5.0 จึงเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจโลกของการผลิต และมีผลโดยตรงต่อการผลิต การขาย การตลาด และระบบเศรษฐกิจต่างๆ หากว่าบริษัทที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจะกลายเป็นบริษัทสิ่งที่ล้าสมัย และไม่สามารถแข่งกับตลาดได้ เพราะคู่แข่งที่ไปสู่ยุคที่ 5 จะมีต้นทุนน้อยกว่า , ผลิตสินค้าผลิตไวกว่า และสามารถเข้าถึงลูกค้ามากกว่าจากการทำ Digital Marketing ที่ดีกว่า สุดท้ายก็ไม่มีจุดยืนในตลาดและต้องออกจากตลาดไป
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยุค 5.0 จะมีคุณลักษณะที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1. การผลิตแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตรงจุด (Mass Customisation) อุตสาหกรรม 5.0 ทางโรงงานสามารถควบคุมการผลิตและปรับแต่งสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดและราคา ซึ่งผลมาจากการทำระบบ IoT ในการเก็บข้อมูลทั้งในด้านของการเงิน ตลาด และระบบ Autonnomous ที่สั่งการแบบอัตโนมัติมาเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้แบบ Real Time เพื่อให้กำไรของบริษัทหรือโรงงานสูงที่สุด บางที่ในอุตสาหกรรมอาจจะเรียกว่า Advance Control System ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตสินค้าให้เหมาะสมด้วยการปรับแต่งกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่รวดเร็ว
- การปรับไปใช้โคบอท หรือหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติการ มาจากคำว่า Collaborative Robots โดยเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมา เพื่อปฏิบัติการร่วมกับมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม เป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้งานได้หลากหลายลักษณะงาน มีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆได้รวดเร็ว จากระบบ Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพ
- การเพิ่มความสามารถของบุคลากร(Competecny Management) จากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ ที่รวดเร็ว และกระทันหัน ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทั้งสองมุม คือ หุ่นยนต์มาแทนที่คนใช้แรงงาน และคนเหล่านี้จะไม่มีงานทำ และสอง คือขาดคนทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อย่างเหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ การพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้สูงขึ้น จนสามารถที่จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้ ซึ่งหากมีความสามารถมากขึ้นผลตอบแทนก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนในระดับผู้บริหารก็ต้องเป็นคนที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งยุคนี้อาจจะเป็นตำแหน่ง CTO (Chief Technology Officer) ที่ดูด้านเทคโนโลยีต่างๆ แต่ในยุค 5.0 อาจจะต้องมีอีกตำแหน่ง คือ CRO (Chief Robotic Officer) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์โดยเฉพาะ
- ความเร็วและคุณภาพ (Lead Time & Quality) โดยการเข้ามาของหุ่นยนต์ เทคโนโลยี AI การเชื่อมต่อระบบแบบ IoT และระบบควบคุมอัตโนมัติแบบ Autononomous สามารถเข้ามาเพิ่มความเร็ว และคุณภาพได้อย่างแม่นยำมากๆในยุคนี้ จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมได้อย่างมาก ซึ่งหากไปเทียบกับโรงงานที่ยังใช้คนอยู่ใน Scale เท่ากัน โรงงานที่ใช้คนอยู่จะเสียเปรียบในด้านของความเร็ว และคุณภาพ อย่างมาก
- การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment Recognization) ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกในขณะนี้ เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนลงให้ได้มากที่สุด ทำให้มีการออกข้อกำหนดมากมายในอุตสาหกรรม ดังนั้นบริษัทหรือโรงงานจะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านั้น หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานใหม่เหล่านี้ ก็จะไม่สามารถค้าขายในโลกนี้ได้ ดังนั้นการควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำ จะส่งผลให้การปล่อยมลพิษลงได้มาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะมาจากเทคโนโลยียุค 5.0 รวมถึงเรื่องการนำพลังงานสะอาดมาใช้งานในทุกกระบวนการผลิต และการขนส่ง
สำหรับ ประโยชน์ที่ได้จากอุตสาหกรรมยุค 5.0
– ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต
– เป็นบริษัทที่เป็นมิตรและคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม
– เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กร
– เพิ่มความยั่งยืนให้แก่บริษัท
– เพิ่มความสามารถของบุคลากรในบริษัท
ในส่วนของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในยุคอุตสาหกรรม 5.0 นั้น อาจจะต้องระบุว่างานแบบไหนควรจะถูกรับผิดชอบโดยหุ่นยนต์หรือมนุษย์ และงานแบบไหนเหมาะกับหุ่นยนต์รุ่นใด กล่าวคือ ความสำคัญและความรับผิดชอบของฝ่ายนี้จะกว้างและสูงขึ้น โดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะได้รับมอบหมายให้ทำการจัดหาและดูแลรักษาหุ่นยนต์ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นองค์กรอาจจะต้องก่อตั้ง “ฝ่ายหุ่นยนต์” ขึ้นมาเพื่อพัฒนาและรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาความลับข้อมูลที่จะซับซ้อนขึ้นอีกมาก
ด้านสังคมมนุษย์อาจจะพบเจอกับบรรทัดฐานและจริยธรรมใหม่ ซึ่งจะแตกต่างไปจากแค่การคาดหวังให้ทุกคนทำงานหนักและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไปสู่สิ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากการที่หุ่นยนต์นั้นมีความเสียสละ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีความขี้เกียจ และโกหกไม่เป็น
ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงในสังคมจะยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากบางกลุ่มจะสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมมนุษย์ เพราะว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะการณ์ตกงานและรู้สึกว่าถูกคุกคาม แต่บางกลุ่มยังคงต้องการให้มีหุ่นยนต์ที่จะสามารถทดแทนตำแหน่งพนักงาน เพื่อที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม คนมักจะคิดว่าหุ่นยนต์กำลังจะมามีบทบาทแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสำหรับอุตสาหกรรม 5.0 ความเชื่อเหล่านี้อาจจะเกินจริงไปบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงยังจะมีงานหรืออาชีพใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
เนื่องจาก 20-80% ของระบบงานที่นำเอาเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้นั้น ยังไม่สามารถทำได้ด้วยระบบอัตโนมัติแบบ 100% ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายระบบการทำงานสักเพียงใด สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ยังต้องทำงานควบคู่ไปกับหุ่นยนต์อยู่ดี และยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพงานอีกด้วย
รวมถึงมุมมองที่ว่า ผู้บริโภคในอนาคตอาจจะต้องการสินค้าที่มนุษย์มีส่วนร่วม หรือมนุษย์สัมผัส (Human Touch) ดังนั้นในอุตสาหกรรมยุค 5.0 แม้ว่าการผลิตสินค้าจะเป็นการผลิตในครั้งละมากๆ และราคาต่ำ แต่มีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่า บทบาทของมนุษย์จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อันเป็นการตอบโจทย์ค่านิยมอย่างหนึ่งของผู้บริโภคในยุคนั้น
ซึ่งเห็นได้ว่าจากแนวคิดต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ใช่บทสรุปสำหรับการมองภาพอนาคตสำหรับ Industry 5.0 เสียทีเดียว แต่ก็เปิดมุมมองสำหรับผู้ประกอบการให้มีการวิเคราะห์ภาพอุตสาหกรรมในอนาคต และอาจไม่ได้มองถึงความเป็นไปได้ด้านเดียวที่จะเกิดขึ้น
เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่สังคม เศรษฐกิจ สิงแวดล้อม และพฤติกรรมผู้บริโภคถูกแรงขับของเทคโนโลยีเร่งเร้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทว่าที่สุดแล้วเมือถึงจุดหนึ่ง ‘คน’ ต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันจากเทคโนโลยี กฎ ข้อบังคับ ตลอดจนถึงเรื่องจริยธรรมในการทำธุรกิจระหว่างแรงงานคนและหุ่นยนต์ จะมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากขึ้น และถึงตอนนั้นอาจจะถึงจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีอีกครั้ง คือจุดที่คนอาจเริ่มต่อต้านหุ่นยนต์และโหยหาความดั้งเดิมมากขึ้น
แหล่งอ้างอิง : https://piu.ftpi.or.th/ / https://naichangmashare.com/2023/05/02/industry5-0-revolution-history/