นักวิจัยไทย จับมืออินเดีย
ขยายธุรกิจสเปิร์มสัตว์แช่แข็งทั่วโลก
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตด้านการเกษตรชั้นนำของโลก แต่ที่ผ่านมายังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้มุ่งทุ่มงบประมาณการวิจัยเทคโนโลยีด้านการเกษตร และปศุสัตว์ เพื่อให้ไทยพึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเองได้ โดยหนึ่งในนั้น ก็คือ เทคโนโลยีการคัดแยกเพศสัตว์ และการแช่แข็งสเปิร์ม
โดย ผศ.ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ รองคณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนบริษัท สยามโนวาส จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันความต้องการของตลาดปศุสัตว์มีความต้องการวัวเนื้อ และหมู ที่เป็นตัวเมียมากที่สุด เพราะให้ผลผลิตเนื้อที่ดีกว่า จึงเกิดธุรกิจการรับคัดเลือกสเปิร์มเพศเมียมากมายในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการคัดเลือกเพศสัตว์ที่เป็นของไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการแยกเพศในน้ำเชื้อปศุสัตว์แช่แข็งในไทยส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีของต่างชาติ แต่จากการวิจัยของเราทำให้ได้เทคโนโลยีแยกเพศสัตว์ที่ดีกว่าต่างประเทศ โดยได้เริ่มต้นทำการวิจัยในด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ทำให้ผลการแยกเพศดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คัดเลือกเพศได้แม่นยำ 70% ก็ค่อย ๆ สูงขึ้นเป็นกว่า 85% ในปัจจุบัน ทั้งนี้แม้ว่าต่างชาติจะมีความแม่นยำสูงกว่าในอัตรา 90% แต่เทคโนโลยีของเราก็มีโอกาสติดลูกได้สูงถึง 45% ซึ่งสูงกว่าเทคโนโลยีต่างชาติที่จะติดลูกได้ประมาณ 30%
ดังนั้นเมื่อเทียบผลผลิตจากจำนวนการติดลูกและเป็นเพศเมียแล้ว เทคโนโลยีของไทยจะเทียบเท่าหรือดีกว่าเทคโนโลยีของต่างชาติ ในขณะที่ราคาของเราถูกกว่าต่างชาติมาก โดยเกษตรกรจะมีต้นทุนเพียง 250 – 300 บาท ต่อน้ำเชื้อ 1 หลอด ในขณะที่ของต่างชาติจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2,000 บาทต่อหลอด ดังนี้เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่เท่ากัน การใช้เทคโนโลยีของเราจะมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก
ทั้งนี้สาเหตุที่เทคโนโลยีของเราดีกว่า เนื่องจากเทคโนโลยีการแข่แข็งของเราทำให้สเปิร์มมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เพราะการแช่แข็งน้ำเชื้อทั่วไปจะมีสเปิร์มตายไป 40% และเหลือรอดอยู่ประมาณ 60% และถ้าต่ำกว่า 40% จะต้องเททิ้ง เพราะกรมปศุสัตว์ระบุว่าน้ำเชื้อแช่แข็งจะต้องมีสเปิร์มรอดชีวิตมากกว่า 40% แต่ด้วยน้ำยาแข่งแข็งที่เราวิจัยจะมีโอกาสรอด 70% ขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าเทคโนโลยีของต่างชาติ
โดย ในเบื้องต้น บริษัทฯ ได้ตั้งศูนย์ผลิตน้ำเชื้อที่เชียงใหม่แล้ว และจะวิจัยพัฒนาคุณภาพต่อไป เพื่อให้มีความแม่นยำเป็นเพศเมียสูงขึ้น และมีชีวิตรอดมากขึ้น แต่โจทย์หลัก ๆ ที่เราต้องการทำมาก ก็คือ การผลิตน้ำเชื้อแบบแห้งที่ไม่ต้องแช่แข็ง และคัดแยกเพศสเปิร์มได้ ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้ยังไม่มีในโลก หากเราทำได้ก็จะเป็นรายแรกของโลก แต่การวิจัยเหล่านี้จะต้องใช้เวลานานมาก ยิ่งหากเป็นการวิจัยสเปิร์มวัวก็ยิ่งใช้เวลานาน เพราะกว่าวัว 1 ตัวจะตกลูกก็ต้องใช้เวลาเกือบปี และยิ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพแล้ว ก็มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งในเรื่องกำลังคน และเงินทุน
ส่วนแนวทางธุรกิจต่อไปจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดเมืองไทยก็จำกัดมีวัวเพียง 3 ล้านตัว และโตในอัตราที่ต่ำ ซึ่งขณะนี้มีพาทเนอร์จากกัมพูชาเข้ามาแล้ว และได้เริ่มลงทุนสร้างศูนย์รีดน้ำเชื้อในกัมพูชา จากนั้นบริษัทฯก็จะนำเทคโนโลยีเข้าไปดำเนินงาน และยังมีนักลงทุนจากอินเดียที่ได้ตามมาจากผลงานวิจัย ซึ่งอยากให้เรานำเทคโนโลยีนี้เข้าไปตั้งฐานการผลิตที่อินเดีย หากโครงการร่วมลงทุนกับอินเดียสำเร็จก็จะขยายตลาดได้อีกมหาศาล ส่วนในไทยจะนำพ่อวัวเข้ามารีดน้ำเชื้อเอง จากเดิมที่เป็นเพียงการ โออีเอ็ม ให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งที่ลดลงทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยผลกระกอบการที่ผ่านมาเริ่มเป็นบวกมาได้ 2 ปีแล้ว
สำหรับแนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยนั้น ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการซื้อ และส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่จากบริษัทคนไทยให้มากขึ้น รวมทั้งใช้เครื่องมือของภาครัฐทั้งหมดมาช่วยในเรื่องของการตลาด เพราะคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกรไม่ค่อยเชื่อมั่นในสินค้าจากการวิจัยของคนไทย หากภาครัฐนำร่องเข้ามาซื้อและใช้ก่อน ก็จะทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นและเข้ามาซื้อมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการมากที่สุด คือ ตลาดที่คนไทยเข้ามาซื้อและยอมรับในสินค้าของคนไทย