สตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่เศรษฐกิจไทย
อีวี – อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ – ชีวภาพ
จากกระแสความกังวลในด้านการส่งออกของไทย ที่ยังคงจมอยู่กับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่า ที่แข่งขันได้ยากยิ่งในปัจจุบัน และมีมูลค่าต่ำลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้
อย่างไรก็ตาม ความกังวลดังกล่าวก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง และก็มีบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง เพราะภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมานาน จึงได้เร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ตลาดมีความต้องการสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่ไฮเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว แนวนโยบายหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ มาตรการดึงดูด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศ ซึ่งได้ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2560
โดยแบ่งออกเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีฐานการผลิตที่เข้มแข็งให้ยกระดับไปสู่เทคโนโลยีใหม่ และเทคโนโลยีต้นน้ำ ได้แก่ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายไปสู่อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ 2. ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งรวมไปถึงรถยนต์อีวีทุกประเภท 3. เกษตรและแปรรูปอาหาร ที่รวมไปถึงอาหารแห่งอนาคต และฟังชั่นนัลฟู้ด 4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 5. การท่องเที่ยว ที่ขยายไปสู่การท่องเที่ยวรายได้สูง
ส่วนอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ คือ 1. ดิจิทัล 2. การแพทย์ 3. เทคโนโลยีชีวภาพ 4. ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 5. อากาศยาน โดยทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 มียอดเงินลงทุนรวมกว่า 1.94 ล้านล้านบาท และอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยครั้งใหญ่ไปสู่การผลิตยุคใหม่ในสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง และมีมูลค่าสูง
จากการลงทุนที่กล่าวมานี้ ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี อาหารแห่งอนาคต และเทคโนโลยีชีวภาพ มีความโดดเด่นมากที่สุด และมียอดการลงทุนสูงอย่างต่อเนื่อง และจะเข้ามาเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของไทยในอนาคต โดยเฉพาะรถยนต์อีวี ที่ไทยสามารถดึงค่ายรถยนต์อีวีชั้นนำทั่วโลกเข้ามาได้มากที่สุด และกำลังจะเข้ามาอีกหลายราย รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่อีวีต้นน้ำ เช่น CATL ที่เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่อีวีระดับโลก
ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่อุดหนุนทั้งภาคการผลิตครบวงจรไปจนถึงชิ้นส่วนหลักที่มีความสำคัญ และการอุดหนุนตลาดภายในประเทศ ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงรถยนต์อีวีได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิต และตลาดรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คาดว่าจะเห็นยอดส่งออกได้ชัดเจนในช่วงปี 2568 และอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ยังเป็นส่วนสำคัญในการดึงซัพพลายเชนการผลิตชิป และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอีกด้วย
ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาได้มีผู้ผลิตชิปต้นน้ำ และพีซีบี หลายรายได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิต และยังมีอีกหลายรายที่เตรียมจะเข้ามา โดยหลังจากนี้จะทยอยสร้างโรงงานเสร็จและผลิตชิปออกสู่ตลาด และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ก็ประกาศสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิปสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย
ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเทค ก็ได้มีหลายแบรนด์ของต่างชาติเข้ามาลงทุนใหม่ และรายที่อยู่ในไทยอยู่แล้วก็ขยายการลงทุนเพิ่ม ทำให้คาดว่าในอุตสาหกรรมผลิตชิปต้นน้ำ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเติบโตขึ้นมากในอนาคต แต่ในระยะสั้น ไทยยังคงตามหลังประเทศมาเลเซีย และเวียดนามอยู่ เพราะ 2 ประเทศนี้มีต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนอย่างยาวนาน โดยเฉพาะซัมซุง ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามในหลากหลายผลิตภัณฑ์
ในขณะนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ไทยก็มีความโดดเด่นในด้านการผลิตเม็ด และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสูงมาก ซึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลก โดยในอนาคตมั่นใจว่าความต้องการพลาสติกชีวภาพของโลกจะเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากกระแสการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการลดภาวะโลกร้อน ในด้านอุตสาหกรรมชีวภาพชั้นสูงรวมถึงยาและวัคซีนชีวภาพ ก็เริ่มมีการลงทุนในไทยหลายรายทั้งของนักลงทุนไทย และต่างชาติ และในช่วงโควิด 19 ก็เป็นสปริงบอร์ดสำคัญที่ทำให้วัคซีน และยาชีวภาพที่วิจัย และผลิตในไทยเติบโตขึ้นเร็วมาก
ด้าน อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ก็จะเริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญในการนำรายได้เช้าสู่ประเทศ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีเทคสตาร์ทอัพต่างชาตินำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยตั้งโรงงานผลิตเนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในระดับโรงงานเป็นแห่งแรกในอาเซียน และยังมีเทคโนโลยีการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารผู้ป่วย อาหารเสริม อีกมากมายที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
สำหรับอาวุธสำคัญในการดึงดูดการลงทุน ก็คือ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ตั้งต้นกองทุนนี้มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้ใช้ไปหมดแล้วและได้รับอนุมัติวงเงินก้อนใหม่ 15,000 ล้าน โดยกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ และเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะให้เงินสนับสนุนในการสร้างโรงงาน 30 – 50% แล้วแต่การเจรจา การอุดหนุนในการฝึกอบรมเสริมทักษะแรงงานชั้นสูง และการวิจัยพัฒนา ซึ่งผลที่ได้จากการอุดหนุนการลงทุนจะเปลี่ยนกลับมาในรูปแบบภาษีอากร การส่งออก การเพิ่มทักษะแรงงานชั้นสูง และที่สำคัญยังเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศชั้นนำให้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย
ในขณะนี้เงินสนับสนุนกองทุนฯ จะขออนุมัติใหม่เป็นครั้ง ๆ หากเงินกองทุนหมด แต่โดยส่วนตัวมองว่ากองทุนนี้ควรจะมีเม็ดเงินมากกว่านี้ เพราะเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมายเข้ามาตั้งในไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ในอาเซียนยังไม่มี แต่ในประเทศชั้นนำอื่น ๆ ก็มีกองทุนในลักษณะนี้ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ หากไทยมีขนาดกองทุนฯที่เพียงพอและต่อเนื่อง จะเป็นแต้มต่อสำคัญในการดึงดูดการลงทุน เพื่อพลิกฟื้นโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูง
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งขยายการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือการทำข้อตกลงเอฟทีเอ กับประเทศชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้โรงงานที่เข้ามาตั้งในไทยได้สิทธิประโยชน์การส่งออกเทียบเท่ากับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ทั้งนี้หากไทยยังตามหลังคู่แข่งในด้านเอฟทีเอ ก็จะส่งผลต่อการดึงดูดการลงทุน เพราะภาษีที่ต้องจ่ายสูงขึ้นเพียง 10% ก็ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกบางอุตสาหกรรมที่ไทยสูญเสียศักยภาพการแข่งขันไปแล้ว และฟื้นฟูให้กลับมาใหม่ได้ยาก คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เรื่องจากไทยเสียเปรียบคู่แข่งในเรื่องค่าแรงงานอยู่มาก และอุตสาหกรรมเหล่านี้นำเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนได้ยาก ดังนั้นไทยอาจจะเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอเพียงบางด้านเท่านั้น เช่น สิ่งทอทางการแพทย์ และสิ่งทอที่มีฟังชั้นการใช้งานแบบพิเศษ
ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทย ก็แข่งขันได้ยาก เพราะสินค้าเหล็กจากประเทศจีนมีราคาถูกมากจนไม่สามารถผลิตแข่งขันได้ ดังนั้นโรงงานเหล็กที่มีอยู่จึงเพียงแต่ประคองตัวผลิตป้อนให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็ก ยังคงเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดโรงถลุงเหล็กภายในประเทศ เพื่อผสมเหล็กสูตรพิเศษ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต้องการเหล็กเกรดพิเศษ ซึ่งหากไทยผลิตได้ก็จะสร้างความมั่นคงด้านการผลิต และเร่งให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้
จากมาตรการที่กล่าวมาขั้นต้น และความสำเร็จที่เกิดขึ้น พอให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ที่ไปในทิศทางที่ดีขึ้น และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าหากมาตรการดึงดูดการลงทุน และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยังเดินต่อไปได้ตามแผน อุตสาหกรรมไทยก็จะพลิกโฉมกลายเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคต