ประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทย
พุ่งสู่อันดับ 5 ของโลก
การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center โดยในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปีที่แล้ว และอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 1 ของโลก ซึ่งดีกว่าปีที่ผ่านมาที่ไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยใช้ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2567 มีรายละเอียดที่สำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้
- ด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
ภาพรวมไทยมีอันดับดีขึ้นจากปี 2566 ถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 5 ของโลกในปี 2567 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 23 อันดับ จากอันดับ 29 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 6 ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศ อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ จากอันดับที่ 44 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 39
- ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่แล้ว โดยปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้น คือการคลังภาครัฐ ปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 ปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัย ย่อยคือ นโยบายภาษี อันดับ 8 และกรอบการบริหารสังคม อันดับ 47 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 2 ปัจจัยย่อยคือ กรอบการบริหารภาครัฐ ลดลง 5 อันดับ จากอันดับ 34 มาอยู่ที่อันดับ 39 และกฎหมายธุรกิจ ลดลง 8 อันดับ จากอันดับ 31 มาอยู่ที่อันดับ 39
- ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
ภาพรวมปรับอันดับดีขึ้นจากปี 2566 เล็กน้อย 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 ในปี 2567 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการบริหารจัดการ (ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 22 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 15 และทัศนคติและค่านิยม ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย 1 อันดับ จากอันดับ 19 มาอยู่ที่อันดับ 18
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่แล้ว โดยไม่มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้ว ในขณะที่ มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัยย่อยคือ โครงสร้างด้านเทคโนโลยี อันดับ 25 และการศึกษา อันดับ 54 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 3 ปัจจัยย่อยคือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 22 มาอยู่ที่อันดับ 23 โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 39 มาอยู่ที่อันดับ 40 และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ลดลง 2 อันดับ จากอันดับ 53 มาอยู่ที่อันดับ 55
อย่างไรก็ตามจากเขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ มีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2567 อันดับ 1 ยังคงเป็นสิงคโปร์ และยังเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาเป็นไทย อันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 25 ของโลก อินโดนีเซีย อันดับ 3 ของอาเซียนและอันดับ 27 ของโลก มาเลเซีย อันดับ 4 ของอาเซียน และอันดับ 34 ของโลก และฟิลิปปินส์ อันดับ 5 ของอาเซียน และอันดับ 52 ของโลก
ส่วนผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 ภาพรวมทั่วโลก มีดังนี้
อันดับ 1 สิงคโปร์ ขยับขึ้นมา 3 อันดับ จากปีที่แล้ว
อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ขยับขึ้นมาเล็กน้อย 1 อันดับจากปีที่แล้ว
อันดับ 3 เดนมาร์ก ร่วงลงเล็กน้อย 2 อันดับ จากปีที่แล้ว
อันดับ 4 ไอร์แลนด์ ซึ่งลดลงจากอันดับ 2 ในปีที่แล้ว
อันดับ 5 ฮ่องกง ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2566
อันดับ 6 สวีเดน ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2566
อันดับ 7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดีขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน
อันดับ 8ไต้หวัน ที่อันดับลดลง 2 อันดับ
อันดับ 9 เนเธอร์แลนด์ ลดลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว
อันดับ 10 นอร์เวย์ ที่อันดับดีขึ้น 4 อันดับจากปีก่อน