รัฐบาล ลงทุน 6 โครงการใหญ่
ปั้นไทยติด 1 ใน 10 ศูนย์กลาง AI โลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า AI เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีการลงทุนมากกว่า 91.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 65 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 200 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 73 พร้อมมองว่า การนำ AI มาใช้ภายในประเทศ ถือได้ว่าเป็นการสร้าง ‘S curve’ ใหม่ ซึ่งบ่งบอกถึงศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้ ต้องติดตามแนวโน้มที่อาจมีผลกระทบต่อประเทศไทย และดูว่า AI จะสามารถช่วยรัฐบาลไทยได้อย่างไรบ้าง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การผสมผสานของ AI เข้าสู่ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการวิจัยของ Goldman Sachs Investment Research ประเมินว่าประเทศไทยอาจเพิ่มผลิตภาพประจำปี ประมาณ 0.9% หากประเทศยอมรับ AI อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้ในชีวิตประจำวันไม่เหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ต หรือ 5G ต่อให้มีศักยภาพสูง แต่ยังนำความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับภาครัฐ ผลกระทบของ AI สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. การเปลี่ยนแปลงโดยตรงจากการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการทางราชการ และ 2. การเปลี่ยนแปลงทางอ้อม จากการเปลี่ยนแปลงรายได้จากภาษี เนื่องจากโครงการ AI การสร้าง Data Center และการสูญเสียงานในประเทศไทย
ในปี 65 รัฐบาลไทยได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติ ภายใต้การแนะนำของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ยุทธศาสตร์นี้ มีเป้าหมายสำหรับปี 71 โดยหลัก ได้แก่
- สร้างผู้มีความสามารถด้าน AI มากกว่า 30,000 คน 2. สร้างต้นแบบ R&D AI อย่างน้อย 100 โครงการ 3. หน่วยงาน 600 แห่ง ใช้เทคโนโลยี AI 4. เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 10% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนา AI ในภาครัฐและเอกชน และ 5. พัฒนา AI การวิจัย และการใช้อย่างกว้างขวางเพื่อสร้างผลกระทบทางธุรกิจและสังคมอย่างน้อย 48 พันล้านบาท
ในขณะนี้ รัฐบาลได้เริ่มร่างกฎหมายและสร้างความตระหนักแล้ว โดยสามารถเห็นตัวอย่างของการดำเนินการได้จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับบริษัท Microsoft ในปี 67 รัฐบาลมีแผนที่จะเริ่มลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 6 โครงการ ซึ่งต้องการเงินลงทุนรวม 1.5 พันล้านบาท โดยแบ่ง 1 พันล้านบาท เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้าน AI จำนวน 30,000 คน
ทั้งนี้ การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้าน AI จำนวน 30,000 คน ถือเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน เนื่องจากทั่วโลกมีวิศวกร AI เพียง 150,000-300,000 คนเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น 1 ใน 10 ศูนย์กลาง AI ของโลก นอกจากนี้ ยังเพิ่มจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา IT ในประเทศไทยขึ้น 28% จาก 106,000 คน เป็น 136,000 คน ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีนักวิจัย AI ชั้นนำทำงานมากที่สุด โดยมีมากกว่าครึ่งของนักวิจัยทั้งหมด ตามด้วยจีน และสหราชอาณาจักร
นอกเหนือจากทรัพยากรบุคคลแล้ว ประเทศไทยยังต้องลงทุนใน Data Center เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในการดูแลและการประมวลผลข้อมูล ในสหรัฐอเมริกาคาดว่า AI จะใช้พลังงานสูงถึง 25% ของพลังงานทั้งหมด ในตอนนี้ ปริมาณการใช้พลังงานรวมของ Data Center ทั้งหมดในประเทศไทยประมาณ 71 เมกะวัตต์ หรือ 0.2% ของพลังงานที่มีอยู่ในประเทศไทย
หากประเทศไทยต้องการเข้าถึงระดับการนำ AI มาใช้ที่คล้ายกับแผนของสหรัฐอเมริกา จะต้องเพิ่มความจุของศูนย์ข้อมูลขึ้น 114 เท่า ดังนั้น ภาครัฐต้องลงทุนอย่างเต็มที่ในทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น หากต้องการบรรลุเป้าหมาย AI
สำหรับการใช้งาน AI ของภาครัฐในขั้นเริ่มต้น คาดว่าจะเป็นการสร้างระบบงาน และบริการสาธารณะอัตโนมัติของภาคราชการ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรและความซ้ำซากของธุรกรรม เช่น งานธุรการทั่วไป การป้อนข้อมูลด้วยตนเอง หรือการตอบคำถามลูกค้าเบื้องต้น
โดยภาครัฐควรดูตัวอย่างจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่ง Alan Turing Institute คาดว่าจะสามารถทำธุรกรรมอัตโนมัติของภาครัฐได้ถึง 12% โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร ดำเนินการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชน 1 พันล้านครั้ง/ปี ผ่านบริการเกือบ 400 ประเภท ซึ่งมี 120 ล้านรายการ ที่สามารถทำให้เป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างง่ายดาย สิ่งนี้จะช่วยให้ข้าราชการไทยมุ่งเน้นให้บริการงานที่ซับซ้อน แทนงานที่ซ้ำซาก ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลารอคอย และเพิ่มความพึงพอใจของประชาชน เช่น การสร้างบัตรประชาชนใหม่, การย้ายที่อยู่ หรือการประมวลผลภาษีทั่วไป เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนากระบวนการส่วนใหญ่ สามารถเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่แบบ Real Time และการเข้าใจบริบทได้ 3 หลักที่ประเทศไทยสามารถมุ่งเน้นในการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ การจัดการจราจร การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายพลังงาน
ทั้งนี้ หนึ่งในสายงานภาครัฐที่สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเห็นได้ชัด คือ ระบบการจัดการจราจรของกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะสามารถลดโอกาสที่สูญเสียไปได้ถึง 1.7 พันล้านบาทต่อปีได้ ในปัจจุบันประเทศไทยสูญเสียโอกาสไปถึง 11 พันล้านบาทต่อปี เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัด โดยเมื่อเร็วๆ นี้ โครงการ Bangkok Area Traffic Control Project (BATCP) ลดความแออัดของการจราจรลงถึง 15%
โดยการใช้กล้องวงจรปิดและอัลกอริธึม (“Moderato”) แต่ AI สามารถต่อยอดโดยการติดตามข้อมูลภาพแบบเรียลไทม์กับชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (เช่น แนวโน้มและพฤติกรรมของรถเฉพาะโดยใช้ป้ายทะเบียนอ้างอิง เวลาหยุดจอด และอื่นๆ) สิ่งนี้เคยได้รับการทดสอบในเมือง Hull โดย University of Huddersfield และ Simplifai Systems ในสหราชอาณาจักรและสามารถลดความแออัดลงได้ 19% หากนำไปใช้ในกรุงเทพฯ จะมีมูลค่า 1.7 พันล้านบาทต่อปีในการลดโอกาสที่สูญเสียไป
สำหรับอีกสายงานที่สามารถนำ AI มาสนับสนุนได้คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ในตอนนี้ภาครัฐมีการลงทุน 4 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังคงมีส่วนต่างถึง 3.7 ล้านล้านบาท หากภาครัฐต้องการให้สอดคล้องกับความต้องการโครงสร้างพื้นฐานในปี 83 การวางแผนเพื่อบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานโดย AI คาดว่าจะลดการเสียหายลงได้ถึง 70% และลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลงได้ 25% เมื่อเปรียบเทียบกับระบบทั่วไป ซึ่งการลงทุนในบำรุงรักษาผ่าน AI จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถปิดช่องว่างของงบด้านโครงสร้างพื้นฐานได้
สายงานต่อมา คือการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายพลังงานของประเทศไทยโดยใช้ AI ซึ่งในตอนนี้กำลังถูกสำรวจโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) แม้ว่าจะอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังเห็นถึงการลดความจำเป็นในการซื้ออุปกรณ์ใหม่ลงได้ 3-5% พร้อมกับการเพิ่มความพร้อมใช้งานและความยืนยาวของสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ได้ 5% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา
ในส่วนของสายงานหลักของภาครัฐ ที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ จะเป็นงานที่ต้องการความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (เช่น การทูตหรือการเมือง) และการตัดสินใจระดับสูง แม้ว่า AI อาจสามารถให้คำแนะนำทั่วไปได้ แต่การตัดสินใจด้านความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายต่างประเทศของประเทศจะยังคงอยู่นอกขอบเขตของ AI
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอให้ภาครัฐพิจารณาความเสี่ยงเกี่ยวกับ AI ในแนวทางคล้ายกับการกำหนดกรอบกฎหมาย Artificial Intelligence Act ของ EU ที่ได้จัดประเภทความเสี่ยงของ AI เพื่อเพิ่มความปลอดภัยขณะที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยการสร้างกรอบการจัดการความเสี่ยง AI หรือ National Institute of Standards and Technology ของสหรัฐอเมริกา (NIST) สร้างคู่มือความเสี่ยงที่เกิดจาก AI ประเภทสร้างสรรค์ (Generative AI) โดยเสนอให้ต้องดำเนินการมากกว่า 400 การกระทำ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบ AI
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของ AI คือการแพร่กระจายข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ผิดพลาด ในขณะนี้มีวิดีโอและการบันทึกปลอมที่สร้างโดย AI แพร่หลายอยู่แล้ว ตั้งแต่ Paper ถึง Taylor Swift ไม่ต้องพูดถึงผู้นำทางการเมือง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกในการจัดการกับข้อมูลที่ผิดพลาดที่สร้างโดย AI ทั้งในด้านกฎหมายและแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลจีนกำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายเกี่ยวกับ AI แล้ว
ดังนั้น การเพิ่ม “AI literacy for All” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีการนิยามที่ชัดเจนของ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ที่ครอบคลุมถึงการเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI โครงการการศึกษาที่ครอบคลุมเป็นสิ่งจำเป็น โดยเน้นไม่เพียงแต่ทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นในการใช้งานระบบ AI แต่ยังรวมถึงข้อพิจารณาทางจริยธรรมในการโต้ตอบกับเทคโนโลยี AI ด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การนำ AI มาใช้ภายในประเทศ สามารถถือได้ว่าเป็นการสร้าง ‘S curve’ ใหม่ ซึ่งบ่งบอกถึงศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น และจีน) โดยคาดว่าการลงทุนใน AI จะเติบโตขึ้น 26.8% ต่อปี จนมีมูลค่าสูงถึง 28.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 70 เพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนในทุกระดับอย่างมีกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่การสร้างศูนย์ข้อมูล การจัดตั้งทุนการศึกษาท้องถิ่น และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการศึกษา AI
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หวังว่า ด้วยความพยายามเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ ประเทศไทยจะไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง AI แต่ยังเป็นผู้นำที่นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาสู่เศรษฐกิจ และสังคมผ่านการปฏิวัติ AI